Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องต่อการยึดทรัพย์สิน สิ่งที่อาจต้องขบคิดกันให้มากขึ้น ก็คือ จะทำอย่างไรให้เกิดการตรวจสอบที่สม่ำเสมอของอภิสิทธิ์ชนทางการเมืองทุกฝ่าย ไม่ใช่จำกัดไว้เพียงนักการเมืองแต่กลุ่มเดียว โดยไม่แตะผู้มีอำนาจทางการเมืองกลุ่มอื่น

ในการยึดทรัพย์สินของนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นการดำเนินการกับบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่กระทำไปโดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายแบบที่ไม่ปกติ 

การยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายหลังจากที่เสียชีวิต และจอมพลถนอม กิตติขจร ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการอาศัยอำนาจตาม "มาตรา 17" ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515

แม้จะเป็นอำนาจตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร แต่ธรรมนูญการปกครองทั้ง 2 ฉบับก็ล้วนเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารโดยมิได้มีขั้นตอนของการจัดทำที่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย หากยืนอยู่บนหลักการของ "อำนาจคือความถูกต้อง" ด้วยการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารจัดทำขึ้น อันเป็นปัญหาความชอบธรรมขั้นพื้นฐานของธรรมนูญการปกครอง 

นอกจากในแง่ปัญหาด้านที่มาของธรรมนูญการปกครองแล้ว บทบัญญัติของมาตราดังกล่าวก็นับว่ามีเนื้อหาสาระที่ขัดแย้งต่อทั้งหลักนิติธรรม และหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ด้วยการรับรองการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่ได้กระทำไปให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ภายใต้ข้ออ้างถึงความมั่นคงของประเทศชาติ ประโยชน์ของส่วนรวม และอีกหลายเหตุผล

อันเป็นการเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้อย่างกว้างขวาง โดยที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบหรือความรับผิดใดทั้งสิ้น นับเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันนำมาซึ่งการใช้อำนาจสั่งยึดทรัพย์อดีตจอมพลและนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คน

สำหรับการยึดทรัพย์ในสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองขึ้นมาทำการยึดทรัพย์กับนักการเมืองที่ถูกยึดอำนาจ 

อย่างไรก็ตาม ได้มีคำวินิจฉัยของศาลปฏิเสธความชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้น ทำให้การยึดทรัพย์ในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ

การยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก็เกิดขึ้น และดำเนินไปด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารภายหลังการยึดอำนาจสำเร็จ

การยึดทรัพย์สินของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สะท้อนความหมายใดได้บ้าง

คำตอบที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาย่อมหมายถึงว่าระบบกฎหมายของสังคมไทยในการเผชิญหน้ากับปัญหานี้มีความอ่อนแอเป็นอย่างมาก อาจมีบางคนที่ถูกลงโทษจากการทำทุจริตแต่ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นระดับปลายแถว ขึ้นมาถึงกลางแถว เมื่อใดที่ต้องเจอกับผู้มีอำนาจตัวจริง ระบบกฎหมายที่มีอยู่ก็ดูไร้น้ำยาไปอย่างสิ้นเชิง

ประเด็นที่ต้องขบคิดกัน ก็คือ ทำไมจึงไม่มีการสร้างระบบตรวจสอบในระบบที่เป็นปกติให้บังเกิดขึ้น ในเมื่อมีนักกฎหมายมหาชนอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง (ผู้ซึ่งมักผูกขาดคำอธิบายการจัดโครงสร้างขององค์กรรัฐในห้วงระยะเวลาทศวรรษ ที่ผ่านมา) ทั้งได้เห็นบรรดาบุคคลเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในรัฐบาลมาอย่างต่อ เนื่องทั้งในฐานะของที่ปรึกษาบ้าง รัฐมนตรีบ้าง ไม่ว่าจะภายใต้การนำของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือคณะรัฐประหารที่มาจากการยึดอำนาจ

เมื่อไม่สามารถสร้างระบบกำกับตรวจสอบตามระบบให้เกิดขึ้น จึงทำให้เห็นภาพของการยึดทรัพย์สินปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง ภายหลังจากการรัฐประหาร แม้ว่าหลายครั้งอาจประสบความสำเร็จในการยึดทรัพย์สินของบางคน แต่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อรูปแบบการปกครองโดยรวม

น่าสนใจว่าการยึดทรัพย์สินแม้มีมูลค่าหมื่นล้านบาทก็ตาม จะคุ้มค่าหรือไม่กับความชะงักงันของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ที่ต้องล้มลุกคลุกคลานมาอย่างต่อเนื่อง (บางทีเพื่อให้เกิดความรอบด้านควรจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายแก่สังคมไทย อันเนื่องมาจากการรัฐประหารบ้าง ก็จะเป็นสิ่งที่ดีไม่น้อย)

ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องต่อการยึดทรัพย์สินอย่างอึงมี่ สิ่งที่อาจต้องขบคิดกันให้มากขึ้น ก็คือ จะทำอย่างไรให้เกิดระบบการกำกับตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ที่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมาจัดการกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตเกิดขึ้นอีก

อีกทั้งจะทำให้เกิดการตรวจสอบที่สม่ำเสมอของอภิสิทธิ์ชนทางการเมืองทุกฝ่ายได้อย่างไร ไม่ใช่จำกัดไว้เพียงนักการเมืองแต่กลุ่มเดียวเท่านั้น โดยที่ไม่ได้แตะผู้มีอำนาจทางการเมืองกลุ่มอื่น ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของการแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบในการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

 

....................................... 
หมายเหตุ  : เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ 4 มีนาคม 2553

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net