Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

5 เรื่องที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับมลพิษ โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 1.คนแข็งแรงไม่เท่ากัน 2.ไม่เกินค่ามาตรฐานไม่ได้แปลว่าปลอดภัย 3.รับน้อยๆ แต่ยาวนาน 4.รับหลายตัว และการผสมกันเอง 5.มีสารพิษอีกมากที่ยังตรวจไม่ได้

จากทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่ไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอย่างน้อย 2 ประเภทจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาสู่ประเทศไทย นั่นคือ

1.อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก เนื่องจากค่าแรงงานถูกกว่า สิทธิแรงงาน มาตรการความปลอดภัย และสวัสดิการสังคมที่ต้องจ่ายน้อยกว่า

2.อุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษมากๆ และเป็นมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากจะทำการควบคุมหรือปล่อยออกมาให้น้อยที่สุดก็มีต้นทุนสูงในการควบคุมกำจัด

จากทิศทางการเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมนั้น ทำให้ปัญหาสุขภาพจากสารมลพิษมีให้เห็นได้โดยทั่วไป ดังนั้นความเข้าใจพื้นฐานที่เกี่ยวกับสุขภาพและสารก่อมลพิษนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ควรรับรู้ไว้เป็นกรอบคิดในการเข้าใจปัญหา ซึ่งประเด็นที่สำคัญมี 5 ประการคือ

1.คนแต่ละคนมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน
ในสังคมหรือชุมชนหนึ่งๆ จะมีทั้งคนที่อ่อนแอกว่าประชากรปกติ คนที่แข็งแรงโดยทั่วไปซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ และคนที่แข็งแรงมากเป็นพิเศษ เมื่อมีสารมลพิษเข้ามาในชุมชน หากปริมาณที่มีความเข้มข้นมาก เป็นเวลานาน คนที่แข็งแรงกว่าปกติก็อาจป่วยได้ แต่หากเข้ามาในปริมาณน้อยและไม่นานนัก แม้คนทั่วไปจะทนได้โดยไม่ปรากฏอาการ แต่กลุ่มคนที่อ่อนแอกว่าคนปกติในชุมชน เช่น คนแก่ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจจะป่วยได้ หรือบางคนที่ดูแข็งแรงมาก แต่เป็นผู้ที่มีความไวต่อสารมลพิษชนิดนั้นเป็นพิเศษ ก็สามารถล้มหมอนนอนเสื่อได้ เพราะอาจเนื่องจากมีสารพันธุกรรมที่ตอบสนองต่อมลพิษนั้นอย่างรุนแรง

ดังนั้น จะคิดแบบเหมาโหลว่า คนในชุมชนโดยเฉลี่ยมีความแข็งแรงพอประมาณไม่ได้ สุขภาพเป็นเรื่องเชิงคุณภาพ เป็นเรื่องส่วนบุคคล จะนำมาหาค่าเฉลี่ยเป็นตัวเลขกลางแล้วบอกว่าโดยเฉลี่ยประชากรในชุมชนนี้แข็งแรงสามารถอยู่กับสารมลพิษได้นั้น คิดเช่นนี้ไม่ได้ เพราะทุกชุมชนล้วนมีคนที่อ่อนแอ เราต้องปกป้องสิทธิของคนเหล่านั้นด้วย

2.ไม่เกินค่ามาตรฐานไม่ได้แปลว่าปลอดภัย
มีคำอยู่คำหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมอ้างอิงของภาคอุตสาหกรรม นั่นคือคำว่า ไม่เกินค่ามาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม การตั้งค่ามาตรฐานนั้น มีหลักวิชาการในการตั้งอยู่ 2 ประการสำคัญคือ

1.ด้วยความรู้ที่มีอยู่ในขณะนี้ ความเข้มข้นขนาดดังกล่าวของสารนั้นๆ เชื่อว่าไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้สัมผัสส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มปกติในชุมชน

2.ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจวัดสารนั้น รวมทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เช่นหากตั้งค่ามาตรฐานให้ต่ำมาก แต่เครื่องมือไม่สามารถวัดได้ หรือวัดได้แต่ต้นทุนการวัดแพงมากหรือยากมาก ก็ไม่สามารถเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ดังนั้น ค่ามาตรฐานจึงเป็นเพียงค่าเฉลี่ย ไม่ใช่ค่าที่จะมายึดติดว่า ต่ำกว่ามาตรฐานแล้วจะปลอดภัยเสมอไป อีกทั้งในปัจจุบัน ค่ามาตรฐานในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ประเทศทางยุโรปมาตรฐานสูงคือ ค่ามาตรฐานจะต่ำมาก เช่น ปริมาณฝุ่นขนาด 10 ไมครอน (ซึ่งเป็นฝุ่นเล็กที่เข้าไปฝังตัวในปอดได้) ค่ามาตรฐานของประเทศไทยอยู่ที่ไม่เกิน 120 แต่ในประเทศในยุโรปอยู่ที่ไม่เกิน 50 เป็นต้น และมีแนวโน้มต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะมีข้อมูลใหม่มาบ่งชี้ความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้น แม้ตรวจพบระดับสารมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็อาจทำให้เกิดโรคได้โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่อ่อนแอ หรือแม้ไม่เกิดโรคซึ่งต้องใช้เวลานานในการเกิดโรค ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพในระดับอาการแสดง เช่น ไอเรื้อรัง คันตามผิวหนังเรื้อรัง คัดจมูกได้เป็นต้น

3.ปัญหาการรับสารมลพิษในขนาดน้อยๆ แต่ต่อเนื่องยาวนาน
การได้รับสารมลพิษนั้น โดยทั่วไปแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1.การได้รับสารมลพิษในปริมาณมากโดยฉับพลัน ซึ่งส่วนมากเกิดจากการรั่วไหล หรือการเกิดอุบัติเหตุระเบิดไฟไหม้ต่างๆ การได้รับพิษหรือผลกระทบอย่างเฉียบพลัน แม้จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่โอกาสที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขนั้นมีมาก เพราะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ตระหนัก รับรู้ในอันตราย และมีความเดือดร้อนกันอย่างชัดเจน

2.การได้รับสารพิษปริมาณน้อยๆแต่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า Chronic Low Dose Exposure นั้น แม้จะไม่มีอาการแสดงเด่นชัดในระยะแรก แต่ความน่ากลัวก็อาจจะมากกว่าข่าวคราวการรั่วไหลของสารพิษซึ่งคนส่วนใหญ่จะหนีได้ทัน แต่การได้รับพิษครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆเป็นระยะเวลานานๆนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครในชุมชนรู้ว่าตนได้รับสารพิษอยู่ หรือรู้ว่ามีสารพิษในระดับไม่เกินค่ามาตรฐาน ก็เรียกร้องอะไรไม่ได้ จำต้องทนอยู่ในพื้นที่ต่อไป

ในเบื้องต้นจะมีผลต่อร่างกายในระดับอาการก่อน แต่ปัญหาไม่ชัด จึงมักไม่ได้รับการแก้ไข และใช้เวลาหลายสิบปีจึงอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งก็พิสูจน์ได้ยากมากว่า มะเร็งก้อนนั้นเกิดจากสารมลพิษหรือไม่

4.การรับสารมลพิษหลายตัวพร้อมกันและการผสมกันเองของสารมลพิษ
ปัจจุบันมีการสร้างเงื่อนไขให้โรงงานมาตั้งรวมกันเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อความสะดวกในการควบคุมกำกับและการบำบัดสารก่อมลพิษร่วมกัน แต่การมาอยู่รวมกันของโรงงานนั้น ก็ทำให้สารมลพิษที่มีการปล่อยออกมานั้นมีหลายตัว และในบางสภาวะ สารมลพิษเหล่านั้นก็สามารถผสมสร้างปฏิกิริยาทางเคมีกันเองได้ เช่น อากาศที่ร้อน มีความชื้นสูง คือมีไอน้ำมาก มีแสงเพียงพอ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารมลพิษหลายตัวได้ ก่อให้เกิดสารมลพิษตัวใหม่ที่มีพิษมากกว่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมก็ได้

ดังนั้น แม้ว่าการปล่อยมลพิษจากโรงงานนั้นจะไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นคำที่แสลงใจชุมชนรอบข้างอย่างที่สุด เพราะเป็นการมองอย่างแยกส่วน เช่น มี 5 โรงงานที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ทุกโรงงานปล่อยของเสียไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่จมูกของเรา ผิวหนังของเรา ลำคลองของเรา ปลาในคลอง และควายในนาของเราเป็นองค์รวม เพราะจะกี่โรงงานที่ไม่เกินมาตรฐาน ล้วนเข้าจมูก 2 รูที่เป็นองค์รวมของเรา แม้สารทุกตัวจะไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าการรับสารมลพิษตัวเดียว ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Cocktail Effect ซึ่งมักไม่มีใครกล้ารับรองว่าจะไม่เป็นอะไร เพราะไม่มีใครทำงานวิจัยที่ต้องเก็บข้อมูลในลักษณะที่ซับซ้อนเช่นนี้

5.สารที่ตรวจวัดได้ มีเพียงไม่กี่ร้อยชนิด สารพิษอีกจำนวนมาก ยังตรวจวัดไม่ได้
ในปัจจุบัน แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่ามนุษย์จะรู้จักและเข้าใจสารเคมีทุกชนิด สารพิษจำนวนมากยังไม่สามารถพัฒนาการตรวจวัดในห้องปฏิบัติการได้ เพราะการจะวัดค่าความเข้มข้นของสารพิษนั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก ต้องการเทคนิคเฉพาะ ตั้งแต่วิธีเก็บตัวอย่าง ช่วงเวลา และตำแหน่งที่เหมาะสมในการเก็บตัวอย่าง วิธีการขนส่งตัวอย่าง วิธีการตรวจตัวอย่างให้มีความแม่นยำ และการแปลผล  หากไปศึกษาในรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA นั้น จะพบว่า โรงงานส่วนใหญ่จะมีการตรวจวัดสารมลพิษในอากาศเพียง 5 ตัวตามมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเฝ้าระวังทางสุขภาพ

ดังนั้นการที่บอกว่าคุณภาพสารก่อมลพิษพบน้อยมากนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า มีการตรวจวัดสารมลพิษกี่ชนิด ครอบคลุมสารพิษรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือไม่ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการแหกตาประชาชนว่ามีตรวจสารมลพิษแล้ว แต่ตัวที่รุนแรงอาจไม่มีการตรวจวัดก็ได้ หรือยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอที่จะตรวจวัดก็ได้

ความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างสารมลพิษกับสุขภาพ จะช่วยให้เราสามารถคิดทั้งเชิงรุกและการตั้งรับในโลกที่กำลังมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและผลกำไรเป็นหลักได้ดีขึ้น และจะได้ร่วมกันสร้างกรอบความคิดใหม่ในโลกที่ควรจะต้องยึดเอาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มีผลกำไรและตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นรองให้จงได้ เพื่อโลกในอนาคตที่คนรวยคนจนมีคุณภาพชีวิตและคุณค่าการดำรงอยู่ที่เท่าเทียมกัน

เราไม่ได้ปฏิเสธอุสาหกรรม แต่สังคมต้องการอุตสาหกรรมที่คิดถึงเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง อุตสาหกรรมที่ทำให้สังคมทั้งมวลแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ทำให้คนส่วนใหญ่อ่อนแอลง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม มีเพียงคนไม่กี่คนเท่านั้นที่ร่ำรวยขึ้น นั่นไม่ใช่อุดมการณ์ของมนุษยชาติที่ควรจะเป็น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net