Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิสตรีและสิทธิทางเพศสภาพในเชียงใหม่หลายกลุ่มร่วมจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล ออกแถลงการณ์ระบุสตรีต่อสู้มาอย่างยาวไกลแล้ว แต่ยังไม่ไกลพอเพราะยังมีข้อยกเว้นสำหรับผู้หญิงอีกมาก จึงต้องเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงต่อไป

 

ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation)

 

เย็นวานนี้ (8 มี.ค.) ที่ จ.เชียงใหม่ กลุ่มสตรีเพื่อการเปลี่ยนแปลงและกลุ่มผู้หญิงต่างๆ หลายชาติพันธุ์จากทั่วประเทศไทยได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล ซึ่งวันสตรีสากลนี้มีการเฉลิมฉลองร่วมกันทั่วโลก โดยในปีนี้ประเด็นหลักในการรณรงค์คือ “ผู้หญิงเพื่อการเปลี่ยนแปลง” เนื่องจากในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ผู้หญิงกลุ่มต่างๆ จากทั่วโลกได้ร่วมกันต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคและการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิงมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งและสามารถได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำในระดับต่างๆ, กฎหมายสากลที่ปกป้องความเสมอภาครวมทั้งการทำให้การเลือกปฏิบัติกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย สิทธิการลาคลอด เป็นต้น

โดยกิจกรรม เริ่มต้นด้วยการเดินรณรงค์โดยผู้หญิงจากกลุ่มต่างๆ กว่า 300 คนจากสวนสาธารณะหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ไปยังลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ พร้อมกับแจกแผ่นพับคำแถลงการณ์ให้กับประชาชนตลอดสองข้างทางซึ่งให้ความสนใจขบวนรณรงค์

เมื่อไปถึงข่วงประตูท่าแพ วงดนตรี “ภราดร” ซึ่งเป็นวงดนตรีของแรงงานไทยและส่วนใหญ่ของนักดนตรีเป็นผู้หญิง ได้บรรเลงเพลงต้อนรับขบวนรณรงค์ แล้วผู้ร่วมขบวนได้ร่วมกันเต้นรำไปตามจังหวะดนตรีที่เร้าใจและสร้างขวัญกำลังใจให้กับการต่อสู้ของแรงงานหญิง หลังจากนั้นผู้ร่วมงานทั้งหมดได้ร่วมกิจกรรมถนนแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่ได้รวบรวมตัวอย่างสิ่งที่ผู้หญิงอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น สหภาพผู้หญิง ที่จำลองลูกโลกขนาดใหญ่ แล้วได้รับการตกแต่งด้วยเรื่องราวและรูปภาพของการต่อสู้ของผู้หญิงจากทั่วโลก อาบอบนวด ที่จำลองสถานบริการที่มีความยุติธรรมให้กับคนทำงาน เช่น กฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานบริการทางเพศ ไม่มีการทลายสถานบริการเป็นต้น

The Other Barbies ที่มีกล่องตุ๊กตาบาร์บี้ บรรจุภาพของผู้หญิงในบทบาทที่เราอยากให้เป็น เช่นผู้หญิงนักเดินทาง ผู้หญิงนักต่อสู้ ผู้หญิงผู้มั่นใจในตนเอง พร้อมคำบรรยายถึงศักยภาพและความสามารถ ความมั่นใจของผู้หญิง ที่ไม่ได้มีเพียงความสวยงาม หลังจากนั้นเป็นการแสดงของกลุ่มผู้หญิง คือการฟ้อนดาบ และการแสดง Multi Ethnic แล้วตามด้วยการกล่าวคำแถลงการณ์

ก่อนจบการแสดงวงดนตรีภราดรได้บรรเลงเพลงเกี่ยวกับผู้หญิง แรงงาน และการต่อสู้ ผู้เข้าร่วมงานได้เต้นรำไปด้วยกันอย่างสนุกสนาน ในตอนท้ายได้ปิดกิจกรรมโดยการปิดถนนแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยมีการกวาดถนนเพื่อแสดงว่า ผู้หญิงจะร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง และจะขจัดสิ่งอยุติธรรม เพื่อนำมาซึ่งความถูกต้องต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งและไม่ย่อท้อ

โดยแถลงการณ์ของกลุ่มสตรีเพื่อการเปลี่ยนแปลง อันประกอบด้วยกลุ่มสิทธิสตรีและสิทธิทางเพศหลายกลุ่มได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในงานดังกล่าว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ผู้หญิงเพื่อการเปลี่ยนแปลง 2453-2553 

วันสตรีสากล เป็นเรื่องราวของผู้หญิงธรรมดาสามัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นการเฉลิมฉลองให้กับการปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคโดยผู้หญิง หากย้อนกลับไปยังยุคกรีกโบราณ ได้มีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งรวมตัวกัน (ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับสามีหรือคนรัก) เพื่อกดดันให้เหล่าผู้ชายหยุดยั้งการทำสงคราม จนกระทั่งเมื่อเพียงปีที่แล้ว ผู้หญิงชาวเคนยาก็ได้กระทำแบบเดียวกันเพื่อหยุดยั้งความโกลาหลทางการเมืองที่บรรดาผู้ชายได้สร้างขึ้น ในปี 2537 แรงงานผู้หญิงในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิลาคลอดหลังจากการต่อสู้เรียกร้องมาอย่างยาวนาน อันส่งผลให้แรงงานหญิง (ในระบบ) รุ่นหลังได้รับสิทธิดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นในปี 2550 ในประเทศพม่า กลุ่มแม่ชีได้ร่วมเดินขบวนไปตามท้องถนนกับพระสงฆ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศของตนโดยไม่เกรงกลัวต่อสถานการณ์การจับกุม คุมขังและการสูญหายของผู้ชุมนุมประท้วง และ ณ วันนี้ แรงงานจากโรงงานสิ่งทอและแรงงานอื่นๆ นับพันคนในกรุงย่างกุ้งกำลังชุมนุมประท้วงกันอย่างกล้าหาญเพราะค่าจ้างอันน้อยนิด และสภาพการทำงานที่ย่ำแย่

การเฉลิมฉลองวันสตรีสากลเริ่มขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้วในการประชุมนักสังคมนิยมสากล ณ กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งนับเป็นการเฉลิมฉลองครั้งแรกในกลุ่มประเทศยุโรป ในวันที่ 19 มีนาคม 2453 โดยมีกลุ่มผู้หญิงเรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง สิทธิในการได้รับเลือกตั้ง หรือการเป็นผู้นำ และสิทธิในการทำงานโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ หลังจากนั้นไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานผลิตเสื้อผ้าในกรุงนิวยอร์ก และได้คร่าชีวิตแรงงานผู้หญิงข้ามชาติไปมากกว่า 140 คน ดังนั้นสิทธิในการมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยของผู้หญิง รวมทั้งสิทธิของผู้อพยพหญิง จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของวันสตรีสากลนับแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้นผู้หญิงได้ร่วมต่อสู้มาด้วยกันอย่างยาวไกล... แต่ก็ยังไม่ไกลพอ ตอนนี้เรามีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง เรามีกฎหมายสากลที่จะปกป้องความเสมอภาคของพวกเราและทำให้การเลือกปฏิบัติกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งเรามีกฎหมายเพื่อสิทธิเสมอภาคในการทำงาน...

แต่... เราทุกคนต่างรู้ดีว่า ยังมีข้อยกเว้นต่างๆ อีกมากมายสำหรับผู้หญิง... ดังนั้นในวันนี้เราจะไม่มีการยกเว้นใดๆ พวกเราเพียงแต่มาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลง ความก้าวร้าวและความรุนแรงของผู้ชาย เปลี่ยนแปลง การยอมทนต่อการทำร้ายผู้หญิง

เปลี่ยนแปลง การใช้ความสวยงามของผู้หญิงไปในทางที่ผิดเพื่อการโฆษณาสินค้าและมองผู้หญิงเป็นสินค้า เปลี่ยนแปลง การที่บุคคลอื่นตัดสินใจในร่างกายของเรา

เปลี่ยนแปลง กฎหมายแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานทุกประเภทที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็น แรงงานเกษตร แรงงานทำงานบ้าน แรงงานรับงานไปทำที่บ้าน และแรงงานบริการทางเพศ

เปลี่ยนแปลง กฎหมายที่ทำให้แรงงานบริการทางเพศผิดกฎหมาย และเปลี่ยนแปลง รัฐบาลทหารที่ละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net