Skip to main content
sharethis

1
“ขบวนคนเสื้อแดงเป็นขบวนใหญ่แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน..
เราต้องทะนุถนอมคนเสื้อแดงเหมือนเราถนอมแก้วตา
เราจะไม่ยอมให้แก้วตาเสียหาย เราจะไม่พาเขาไปในทางที่จะทำให้เขาเสียหาย”

จรัล ดิษฐาอภิชัย

                      2
                     “พวกเราไม่ได้ปิดถนน เราเคลื่อนอย่างสงบ
                     แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เราไปก็ถือว่าปิดถนนเสียเอง
                     ส่วนอีแต๋นนั้นมาแน่ๆ แต่อาจจะมาช้าหน่อยเพราะต้องค่อยๆ ขับ”

                     สุพร อัตถาวงศ์

 3
“ผู้ร่วมชุมนุม ชาย หญิง เด็ก แก่ ตักน้ำมนต์นั้นราดรดบนพื้น
เพื่อสื่อนัยยะการหลั่งน้ำสิโนทกของพระนเรศวรที่ประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง
ถือเป็นการประกาศอิสรภาพจากระบอบอำมาตย์ของคนเสื้อแดง
ไม้หนึ่ง ก.กุนที

                     4
                     “ผมย้ำนะว่าเราจะไม่มีการกระทำใดๆ ที่รุนแรงแน่นอน
                     หน้าที่ของเราคือป้องกันความปลอดภัยให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด
                     มีการ์ดคอยคุ้มกัน สอดส่อง มีการตรวจจับอาวุธอย่างเข้มงวด
                     แต่ถ้ารัฐบาลปราบ เราก็ไม่มั่นใจว่าจะคุมการตอบโต้จากประชาชนได้แค่ไหน”

                     อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง

0 0 0
 

หลังจากกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะเริ่มชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม โดยกระจายชุมนุม 6 จุดในกรุงเทพฯ ตั้งเป้าว่าจะมีคนร่วม 1 ล้าน ความวิตกกังวลเรื่องความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้น อาจเพราะประสบการณ์เลวร้าย เมื่อครั้ง 7 ตุลาคม 2551 และ เมษายน 2552 ยังตามหลอกหลอน ขณะที่ทิศทางข่าวสารก็ช่วยเพิ่มอัตราการสะกดจิตหมู่สังคมให้มุ่งไปในทางความรุนแรงอย่างไม่หยุดหย่อน ในบรรยากาศการพูดคุยตั้งแต่นักวิเคราะห์จบนอกยันลุงขายข้าวแกงก็มีความเห็นไปต่างๆ นานา บ้างว่านี่คือแผนยึดกรุงเทพ บ้างคาดการณ์ว่าจะล้มรัฐบาลต้องถูกปราบหนักกว่าเดือนเมษาฯ บ้างสรุปว่าการเคลื่อนไหวนี้เต็มไปด้วยแผนป่วนเมือง บ้างเตือนว่า ทหารจะออกมาปฏิวัติท่ามกลางความโกลาหล ฯลฯ

ก่อนจะวิเคราะห์ต่อยอดความกลัวกันเพิ่มเติม ต่อไปนี้คือปากคำของแกนนำอีกบางส่วนที่มีบทบาทร่วมคิดร่วมกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณา และตรวจสอบระดับ "ความรุนแรง" ที่บรรยากาศสังคมกำลังพากันมุ่งหน้าไป

จรัล ดิษฐาอภิชัย หนึ่งในแกนนำ นปช. วิเคราะห์แนวทางสันติวิธีที่เขายืนยันมาโดยตลอด สรุปคร่าวๆ ได้ว่า
1.จำนวนคนร่วมยิ่งเยอะยิ่งปลอดภัย

“ทำไมคราวนี้เราตั้งเป้าล้านหนึ่ง เพราะเราใช้สันติวิธี การต่อสู้ด้วยสันติวิธีมันชี้ขาดที่จำนวนคน ขนาดเดือนเมษาคนสองแสนกว่ายังไม่สำเร็จ ปริมาณคนจะชี้ขาดชัยชนะของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ถ้า นปช.ไม่ใช้สันติวิธี ไม่ต้องใช้คนเยอะขนาดนั้น สองหมื่นคนฝึกดีๆ ก็สู้กันได้แล้ว”

2.ก่อนหน้านี้ นปช.มีท่าทีชัดเจนในการพยายามรักษาขบวนโดยกันผู้ที่มีแนวคิดรุนแรงออกไป ไม่ว่าจะเป็น เสธ.แดง พล.อ.พัลลภ 3. การวางแผนครั้งนี้ แกนนำได้มีการประชุมหารือกันอย่างหนักตลอดเดือนและไม่ใช่เฉพาะการวางแผนจากส่วนกลางอย่างเดียวเหมือนครั้งก่อน แต่มีการลงไปประชุมร่วมกับแกนนำภูมิภาคด้วยอย่างต่อเนื่อง 4.การจัดการการชุมนุมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แกนนำจะลงไปอยู่กับมวลชนของตนเอง การเคลื่อนไหวเฉพาะหน้าใดๆ ต้องผ่านการลงมติ

หมอเหวง โตจิราการ กล่าวว่า แกนนำที่ร่วมกันวางแผนการเคลื่อนไหวมีราว 40 คน มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งหมดมีมติร่วมกันชัดเจนในแนวทางสันติวิธี และพยายามอุดช่องว่างในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ในการชุมนุมครั้งนี้จะมีการโซนนิ่งผู้ชุมนุมแบ่งเป็นแต่ละภูมิภาคชัดเจน แต่ละภูมิภาคจะประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีหน่วยรักษาความปลอดภัยและหน่วยรักษาพยาบาลเบื้องต้นของตนเอง ที่สำคัญ มีหน่วยสันติวิธีราว 2,000 คนที่จะคอยเรียงรายตลอดพื้นที่ชุมนุม หรือเคลื่อนที่ไปยังจุดเกิดเหตุกระทบกระทั่ง

“เราอบรมกันในเชิงหลักการ ให้ควบคุมอารมณ์ของเราให้ได้เวลามีปัญหา เพื่อให้เงื่อนไขการเผชิญหน้าต่างๆ มันทุเลาไป แต่เชิงปฏิบัติการยังไม่มี เช่น ถ้าทหารยิงจะทำยังไง เรายังไม่ถึงขั้นนั้น ไม่ต้องการให้ดูน่ากลัว” เหวงกล่าว

นอกจากหน่วยสันติวิธี คราวนี้จรัลบอกว่า นปช.มีการ์ดทั้งส่วนภูมิภาค และส่วนกลางซึ่งฝึกมาอย่างดี และการฝึกที่ว่า คือการเข้าอบรมสัมมนาทำความเข้าใจภาระหน้าที่ ท่าทีต่อประชาชน และการรับมือเหตุการณ์ปั่นป่วนเล็กๆ น้อยๆ ขณะที่ในส่วนของมวลชน โรงเรียน นปช.ที่จัดกันหลายครั้งในรอบหนึ่งปีนี้ก็ถือเป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจกับประชาชน และทำให้พวกเขาเข้าใจว่าต้องเคลื่อนไหวอย่างมีวินัยมากขึ้น

วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย กล่าวว่า “ตอนสงกรานต์เรามีบทเรียน พี่น้องเราบางส่วนต้องการชัยชนะอย่างรวดเร็วจึงเคลื่อนไหวอีกทางหนึ่งด้วยความปรารถนาดี แต่คราวนี้เราจะไปด้วยกัน ไปพร้อมๆ กัน ดาวกระจาย หรือการขยายไปพื้นที่โดยรอบก็จะไม่มีแล้วเพื่อไม่ให้เป็นจุดอ่อนในการสร้างสถานการณ์”

หันมองกลุ่มแท็กซี่ ซึ่งเคยเป็นกลุ่มแนวหน้าที่ไปปิดล้อมอนุเสาวรีย์ก่อนใครจนกระทั่งแกนนำ นปช.ต้องแถลงแบ่งผู้ชุมนุมไปร่วมด้วยเมื่อครั้งเมษายนคราวที่แล้ว ซึ่งสร้างทั้งคำชื่นชมในการปิดจุดยุทธศาสตร์และคำตำหนิที่ทำให้เสียขบวน มาคราวนี้ ชินวัตร หาบุญพาด แกนนำกลุ่มวิทยุแท็กซี่ยืนยันว่าไม่มีการจัดตั้งกันเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่คาดว่าจะมีแท็กซี่จำนวนไม่น้อยออกมาชุมนุมเสมือนมวลชนทั่วไปที่ต้องการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ความเป็นประชาธิปไตยและขับไล่ร่างทรงระบอบอำมาตย์

อย่างไรก็ตาม หากหันดูในรายละเอียดการเคลื่อนไหว วันที่ 12 มีนาคม นับเป็นวันแรกของการเคลื่อนไหว ซึ่งกำหนดว่าจะกระจาย 6 จุดทั่วกรุงเทพฯ และสร้างความวิตกอย่างยิ่งว่าการจราจรในกรุงเทพฯ อาจเป็นอัมพาต หรือคนเสื้อแดงอาจตั้งใจยึดเมืองหลวงของประเทศไทย

จรัลบอกว่า “ยุทธศาสตร์วันที่ 12 คือ ทำให้เกิดแรงสะเทือนเหมือนกับแผ่นดินไหว มากันทุกทิศทุกทาง เราจะรวมเป็นจุดๆ เพราะเราคาดว่าเราอาจถูกสกัด และเราต้องการให้เกิดภาพการไหลมาทุกสาย มากันทุกทิศทุกทาง”

โดยหลักของกิจกรรมแล้ว หลายคนกล่าวตรงกันว่าจะมีเพียงพิธีกรรมและการปราศรัยจนถึงช่วงเย็นประมาณ 18.00 น. หากจุดไหนที่คนน้อยอาจเลิกราแยกย้ายกันกลับก่อนเวลาก็ได้ และเตรียมพร้อมสำหรับการชุมนุมใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้า

ไม้หนึ่ง ก.กุนที แกนนำด้านศิลปวัฒนธรรมที่คุมเชิงด้านฝั่งธน นครปฐม สมุทรสาคร และบางส่วนของภาคตะวันตกระบุว่า เมื่อเพื่อนๆ จากต่างจังหวัดทั่วประเทศเริ่มออกเดินทางในวันที่ 12 ดังนั้น คนกรุงและคนใกล้กรุงจึงต้องเคลื่อนไหวในบรรยากาศเดียวกัน วันเดียวกันด้วยเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวไม่เอาเปรียบกัน โดยกำหนดเวลา 12.12 น.ของวันที่ 12 มีนา ในการรวมพลและทำพิธีตามจุดต่างๆ

ในพื้นที่กรุงเทพฯ มี 6 จุด ได้แก่ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หลักสี่, อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่, สามเหลี่ยมดินแดง, สวนลุมพินี, บางนา, ทุ่งสองห้อง และอาจมีจุดย่อยเพิ่มเติมอีก 4-5 จุด

ในวันนี้แกนนำจำนวนหนึ่งจะกระจายไปอยู่จังหวัดหัวเมืองแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมมวลชน ขณะที่บางส่วนจะกระจายไป 6 จุดในกรุงเทพฯ ยกเว้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารอยู่ที่สถานีพีเพิล ชาแนล

กิจกรรมต่างๆ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละที่ พื้นที่ที่ดูเหมือนจะคึกคักเป็นพิเศษคือ วงเวียนใหญ่ ซึ่งจะจัดให้มีโองการพลเมืองแทนโองการแช่งน้ำ โองการพลเมืองนี้จะยกย่องอาชีพต่างๆ แทนการยกย่องเทพยา คนแต่งโคลงโบราณอย่างไม้หนึ่งระบุว่าเตรียมบทสรรเสริญไว้ ทั้งอาชีพ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ คนเลี้ยงสัตว์ แม่ค้าหาบเล่แผงลอย กรรมกร คนขับรถขนส่ง แน่นอนว่ารวมไปถึงคนขับแท็กซี่ที่ชื่อ นวมทอง ไพรวัลย์ ด้วย และอ่างน้ำมนต์ขนาดใหญ่ก็จะใช้เครื่องมือทำมาหากินจอบเสียมมาจุ่มแทนศาสตราวุธ จากนั้นจะให้ผู้ร่วมชุมนุมชายหญิงเด็กแก่ตักน้ำมนต์นั้นราดรดบนพื้นเพื่อสื่อนัยยะการหลั่งน้ำสิโนทกของพระนเรศวรที่ประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ถือเป็นการประกาศอิสรภาพจากระบอบอำมาตย์ของคนเสื้อแดง และส่งตัวแทนตีฆ้อง 7 ครั้งประกาศต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้ไม่มีวันหยุด 7 วันต่อสัปดาห์

“ที่สำคัญ พวกเราจะชูพระพุทธเจ้าเป็นไอดอลประชาธิปไตย เพราะเสนอความคิดเท่าเทียมกันทุกชนชั้น อนุญาตให้คนไร้วรรณะ หรือวรรณะต่ำสุดคือจัณฑาลบวชได้เท่าเทียมกัน อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีได้” ไม้หนึ่งกล่าว

ส่วนด้านอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือวงเวียนหลักสี่ก็มีพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์สาปแช่งผู้มีส่วนทำให้ประเทศไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยที่หลักสี่ถือเป็นจุดหลักในวันนั้นก็ว่าได้ จากนั้นจุดไหนมีคนเข้าร่วมจำนวนมากอาจปราศรัยจนเย็นย่ำแล้วแยกย้ายกลับ อย่างไรก็ตาม แกนนำบางส่วนยืนยันว่าจะไม่มีการปิดถนน มีเพียงการทำพิธีและปราศรัย ณ จุดนัดพบ แต่การจราจรน่าจะมีปัญหาในช่วงวันที่ 14 ซึ่งจะมีคนเดินทางเข้ามายังจุดชุมนุมจากทั่วสารทิศ ทั้งรถยนต์ เรือ และการเดินเท้า

ทั้งนี้ จรัลคาดว่า เสื้อแดงกรุงเทพจะเข้าร่วมชุมนุมไม่น้อยกว่า 4 หมื่นคน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่คนภาคกลางลุกขึ้นสู้ เพราะอยู่ใกล้ศูนย์กลางและได้รับความคิดศักดินาอย่างเข้มข้น แต่เวลานี้เขาเห็นภาพของคนภาคกลางลุกขึ้นสู้จำนวนมาก ทั้งยังมีลักษณะต่างกับภาคอีสานกับเหนือซึ่งโดยมากเริ่มจากความรักทักษิณ หากแต่ภาคกลางเริ่มจากการทนไม่ได้กับสองมาตรฐาน ความไม่เป็นประชาธิปไตย

ขณะที่แรมโบ้ อีสาน หรือสุพร อัตถาวงศ์ เป็นกำลังหลักที่ดูแลในภาคอีสาน เขายืนยันว่าขณะนี้แกนนำในแต่ละจังหวัดได้แจ้งยอดผู้ลงทะเบียนมาร่วมชุมนุมรวมแล้วประมาณ 3 แสนชื่อ พวกเขาต่างเตรียมรวบรวมเสบียงอาหาร และเสื้อผ้ามาพร้อมแล้วสำหรับ 1 สัปดาห์

“คนอยากมาเยอะมาก แต่ปัญหาคือรถไม่พอ หลายพื้นที่พยายามระดมกันเองแต่ก็ยังไม่พอ เพราะกระทรวงคมนาคมไปขู่พวกบริษัทขนส่งไม่ให้บริการพวกเรา ถ้าใครรับคนเสื้อแดงเข้ากรุงเทพจะไม่ต่อใบอนุญาตขนส่งให้” แรมโบ้อีสานกล่าว

เมื่อถามถึงด่านตรวจจำนวนมากนั้น แรมโบ้อีสานกล่าวว่า พวกเขามีจำนวนมากเกินว่าที่เจ้าหน้าที่จะสกัดกั้นได้ และหากมีความพยายามสกัดกั้นก็จะยิ่งทำให้การจราจรเลวร้ายเป็นอัมพาตโดยเจ้าหน้าที่เอง

“พวกเราไม่ได้ปิดถนน เราเคลื่อนอย่างสงบ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เราไปก็ถือว่าปิดถนนเสียเอง ส่วนอีแต๋นนั้นมาแน่ๆ แต่อาจจะมาช้าหน่อยเพราะต้องค่อยๆ ขับ” สุพรกล่าว

“กระแสมันไปสูงมากตอนนี้ ชาวบ้านเขาไม่เอาแล้ว 3 ปีผ่านมาชีวิตเขาลำบาก ส่วนเรื่องปฏิวัติถ้าจะมีอีกก็ลองดู เขารู้หมดแล้วว่าที่ผ่านมาปล้นอำนาจไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง กระแสโลกก็ไม่เอา ประชาชนทั่วไปก็ไม่เอา และจะต้องเจอการตอบโต้อย่างรุนแรงจากคนเสื้อแดงอีก ผมท้าให้เขาทำพรุ่งนี้เลย” แรมโบ้ว่า

แม้โดยส่วนใหญ่แกนนำจะพยายามอธิบายแนวทางสันติวิธีที่ตนยึดถือ แต่ก็มีบ้างที่ออกอาการกราดเกรี้ยวจนถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องความรุนแรง อาทิ กรณีที่อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง กล่าวปราศรัยให้ประชาชนเตรียมขวดและน้ำมันเข้ามาต่อสู้กรณีมีรัฐประหารหรือการปราบปรามคนเสื้อแดง

“ผมพูดในบริบทว่า ถ้ามีการทำร้ายประชาชน ถ้ามีการปราบปรามประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิจะต่อสู้ น้ำมันก็อยู่ในรถที่เขาเอามา ขวดก็มีอยู่ทั่วไป นี่คือการพูดกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าเราตั้งใจจะก่อความรุนแรงก่อนเราไม่จำเป็นต้องระดมคนมาเยอะขนาดนี้ ฝ่ายรัฐประเมินตอนนี้ 6 แสน 8 หมื่น แต่เราประเมินถึงล้านแน่ เราอาจมีปัญหาเรื่องเงิน แต่ประชาชนก็พร้อมจ่ายกันเอง ช่วยเหลือกันเอง” อริสมันต์กล่าว

“ผมย้ำนะว่าเราจะไม่มีการกระทำใดๆ ที่รุนแรงแน่นอน หน้าที่ของเราคือป้องกันความปลอดภัยให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด มีการ์ดคอยคุ้มกัน สอดส่อง มีการตรวจจับอาวุธอย่างเข้มงวด แต่ถ้ารัฐบาลปราบ เราก็ไม่มั่นใจว่าจะคุมการตอบโต้จากประชาชนได้แค่ไหน เราเริ่มจากสันติอหิงสา สงบ ปราศจากอาวุธ ถ้ามีการปราบปราม ก็ถือเป็นการยกระดับการชุมนุมไปเป็นจลาจล และมันไม่ใช่เรื่องจบง่ายๆ ว่าฝ่ายไหนจะแพ้หรือชนะ”

แน่นอน คำถามเกี่ยวกับความรุนแรงเป็นคำถามยอดฮิตที่ถาโถมเข้าใส่คนเสื้อแดง เมื่อถามคำถามนี้กับนักต่อสู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานอย่างจรัล เขากล่าวว่า

“จะมีเรื่องไหม..จะมีหรือไม่มี เราก็พยายามอย่างเต็มที่ให้ไม่มีเรื่อง เพราะเราไม่อยากให้มีเลือดตกยางออก ไม่อยากให้มีคนบาดเจ็บ คนเสียชีวิต ขบวนคนเสื้อแดงเป็นขบวนใหญ่แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาจจะใหญ่ที่สุดในโลก แต่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแน่ๆ ขบวนนี้ในทางคุณภาพ ในทางอุดมการณ์มันไปไกลมากแล้ว เราต้องทะนุถนอมคนเสื้อแดงเหมือนเราถนอมแก้วตา เราจะไม่ยอมให้แก้วตาเสียหาย เราจะไม่พาเขาไปในทางที่จะทำให้เขาเสียหาย เพราะถ้าเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้จะเสียหายมาก และไม่รู้จะฟื้นเมื่อไหร่ อินโดใช้เวลา 30 ปีกว่าจะฟื้น”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net