แถลงการณ์สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเรื่องเหตุผลในการฟ้องคดีมาบตาพุด ครั้งที่ 2

ศรีสุวรรณ จรรยาจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนส่งแถลงการณ์ชี้แจงถึงเหตุผลที่สมาคมร่วมกับชาวบ้านที่ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐต่อศาลปกครองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่รวมถึงการให้ระงับโครงการใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่อีก 9 โครงการ

 
แถลงการณ์
 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 
เรื่อง เหตุผลในการฟ้องคดีมาบตาพุด ครั้งที่ ๒
.......................................................
                  ตามที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง จังหวัดระยองรวม ๓๕ รายร่วมดำเนินการยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐ ๙ หน่วยงาน ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรอีกครั้งเป็นครั้งที่ ๒ ในวันพุธที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ก็ด้วยเหตุผลสำคัญ ๕ ประการ ดังต่อไปนี้ 
 
                ๑)ด้วยเพราะชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง ได้ร้องเรียนมายังสมาคมฯ มาอย่างต่อเนื่องว่าได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากกิจกรรมของการก่อสร้างและการประกอบการโครงการหรือกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ทั้งใหม่และเก่าในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และใกล้เคียงในจังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้รับความเหลียวแลหรือดูแลเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างจริงใจ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านพยายามบอกกล่าวและร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้ามาดูแล แก้ไขแล้วแต่ก็ยังเพิกเฉย
 
          ๒)ด้วยเพราะตลอดระยะเวลาแห่งการเป็นคดีในชั้นศาลปกครอง และมีการตั้งคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายที่มี ฯพณฯอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นประธานเพื่อไก้ไขปัญหาตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง พบว่ามีเหตุการณ์อุบัติภัยก๊าซรั่วแพร่กระจายในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว และไม่มีทีท่าว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบจะสามารถค้นหาแหล่งกำเนิดหรือตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาได้ หรือกระทำการลงโทษที่สาสมกับผู้กระทำผิดได้ รวมทั้งขาดความรับผิดชอบและเยียวยา ฟื้นฟูชาวบ้าน คนงานที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจังได้ไม่ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเฉยเมยต่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริงปล่อยให้โรงงานเก่าหรือเดิมในพื้นที่มาบตาพุดที่มีกว่า ๑๑๗ โรงงานดำเนินการประกอบการต่อไปได้อย่างสบายใจ โดยไม่มีมาตรการอะไรออกมารองรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้าน หรือสร้างความยำเกรงให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเดิมได้เลย ทั้งไม่เคยแยแสต่อกระแสสังคมและความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วย 
 
                ๓)ด้วยเพราะตั้งแต่สมาคมฯและชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง ๔๓ ราย ได้ฟ้องร้อง ๘ หน่วยงานภาครัฐให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง โดยบังคับให้ ๗๖ โรงงานในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียงปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ นั้น พบว่าตั้งแต่วันที่ฟ้องร้องมาจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังได้ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่องโดยไม่สนใจเลยว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าอย่างไร ยังคงให้ความเห็นชอบ EIAโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงใหม่อีกมากมาย 
 
                ๔)เป็นการตอบโต้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยเพราะตลอดเวลาที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราวชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงตามคำขอของสมาคมฯและชาวบ้าน โดยสั่งการให้หน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีสั่งการให้ผู้ประกอบการทั้ง ๗๖ และหรือ ๖๕ โรงงานตามลำดับ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อนนั้น พบว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ได้มีความพยายามขอปลดล็อคโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวจากศาลให้เอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยการยืมมืออัยการซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน มาดำเนินการแก้ต่างให้ผู้ประกอบการเอกชนอย่างไม่ละอาย ทั้ง ๆ ที่อัยการกินเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ล่าสุดสามารถทำให้ศาลเห็นใจจนปลดล็อคได้อีก ๙ โครงการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลนั้น สมาคมฯถือว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะบังคับให้เอกชนเจ้าของโรงงานปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สมาคมฯและชาวบ้านจึงตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีกครั้งพร้อมเสนอให้ศาลระงับโครงการใหม่ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนเพิ่มอีก ๙ โรงงาน 
 
                ๕)ด้วยเพราะผู้ประกอบการเอกชนและตัวแทนของกลุ่มนายทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานองค์กรเศรษฐกิจโพ้นทะเลของญี่ปุ่นนาม “เจโทร” พยายามเดินสายพบรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อกดดัน บีบคั้นให้รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย สมาคมฯถือว่าเป็นการแทรกแซงและก้าวล่วงอำนาจของกระบวนการยุติธรรมของประทศไทยอย่างชัดแจ้ง เป็นการลบหลู่ไม่ให้เกียรติเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทยและคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างเปิดเผย หากพฤติการณ์ของเจโทรยังดำเนินการเช่นนี้อีกการฟ้องร้องรอบที่ ๓ จะตามมาและจะมุ่งเน้นแต่เฉพาะโครงการของผู้ประกอบการญี่ปุ่นเป็นหลักอย่างแน่นอน 
 
          สมาคมฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการอื่นทั่วประเทศกว่า ๑๘๑ โครงการที่ได้รับความเห็นชอบ EIA ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จะได้ย้อนกลับมาน้อมนำเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง มาปฏิบัติใช้โดยเร็ว รวมทั้งกลับไปพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒ เสียให้ถ้วนถี่ เพราะไม่ว่าโครงการนั้น ๆ จะได้รับการประกาศหรือไม่ประกาศจากหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นโครงการประเภทรุนแรงหรือไม่ ถ้าโครงการนั้น ๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน ๆ ก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลที่จะบังคับให้ผู้ประกอบการโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศเหล่านั้น ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง ได้อยู่แล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการทั้ง ๑๘๑ โครงการข้างต้นไม่ควรชะล่าใจ ควรที่จะเร่งรีบกลับไปดำเนินการจัดทำ HIA ใน EIA เพิ่มเติม จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบโครงการ และให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบเสีย หากยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ผู้ประกอบการทั้งหลายคงจะทราบดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น...และเมื่อถึงวันนั้นกว่าจะกลับตัวได้...ก็อาจจะสายเสียแล้ว
 
 
จึงประกาศและแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
 
 
นายศรีสุวรรณ จรรยา
 นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 
๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท