Skip to main content
sharethis

สนนท.และองค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐให้ยุติการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมและวอนต่อสื่อมวลชนว่าอย่าร่วมมือกับรัฐบาลนำพาวิกฤติการเมืองครั้งนี้ไปซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

 
แถลงการณ์ร่วมต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดง
10 มีนาคม 2553
 
“ผู้ที่ควรถูกเรียกร้องและกดดันไม่ให้ใช้ความรุนแรงมากเสียยิ่งกว่าประชาชนผู้ชุมนุม คือ รัฐบาล”

"วอนสื่อมวลชนอย่าร่วมมือกับรัฐบาลนำพาสถานการณ์ย้อนทวนไปสู่จุดจบแบบ 6 ตุลา 2519"

"ประชาชนทุกคนในสังคม ไม่ว่าคุณจะมีจุดยืนทางการเมืองเช่นไร โปรดยืนยันให้รัฐบาลทราบว่า 
คุณจะไม่ผ่านใบอนุญาตให้รัฐบาลก่ออาชญากรรมต่อประชาชน"
 
             ทันทีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ประกาศจะเริ่มต้นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ ในวันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป  เหตุการณ์และกระแสข่าวอันไม่ปกติมากมายก็ได้โหมปะทุขึ้นรายวัน   อาทิ  เกิดเหตุปาระเบิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายจุด  ตามด้วยกระแสข่าวการวางแผนก่อวินาศกรรมของคนบางกลุ่ม  การปาสิ่งปฏิกูลใส่บ้านนายกรัฐมนตรี การหายไปของอาวุธสงครามจำนวนหนึ่งจากคลังแสงในกองพันทหารช่าง 401 จังหวัดพัทลุง   รวมถึงความพยายามจุดประเด็นเรื่องภาวะกระสุนปืนขาดตลาดของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล   โดยเหตุการณ์และกระแสข่าวเหล่านี้ล้วนถูกเชื่อมโยงไปสู่การนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. ที่กำลังใกล้จะมาถึงทั้งสิ้น    และเป็นที่น่าแปลกใจว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดปรากฏการณ์สื่อมวลชนแทบทุกสำนักนำเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกันซ้ำไปซ้ำมาราวกับนัดหมาย   ยังไม่นับรวมถึงกระแสกดดันทางสังคม โดยเฉพาะจากคนกรุงเทพมหานคร ที่ถูกโหมกระพือผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ  ซ้ำแล้วซ้ำเล่า    มีการกล่าวอ้างถึงผลกระทบและความเดือดร้อนต่างๆ นานาที่คาดว่าคนกรุงเทพฯ จะได้รับจากการชุมนุมดังกล่าว   นำไปสู่กระแสกีดกันการเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครอันเป็นพื้นที่นัดหมายชุมนุมของกลุ่ม นปช. จากทั่วสารทิศ
 
              อย่างไรก็ตาม   ข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ยังตั้งอยู่บนฐานของการใช้กลไกรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย   ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถเรียกร้องเสนอต่อสังคมได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ   และการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของตนนั้น   ก็ถือเป็นสิ่งปกติอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย  
 
              รัฐบาลพยายามบอกกับสังคมมาโดยตลอดว่าต้องการสร้างความสงบ สันติ และความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ   ทั้งยังเรียกร้องหาความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง รวมถึงความรักชาติจากกลุ่มผู้ชุมนุม   แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้   กลับเป็นการพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อจะนำไปสู่ความรุนแรงเสียเอง   จนเป็นที่ตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งที่รัฐบาลและเครือข่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลกำลังทำอยู่นี้  เป็นการปูทางไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงเพื่อยุติปัญหาและการชุมนุมดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาหรือไม่     หากเป็นเช่นนั้น ก็นับว่าสังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตอีกครั้งหนึ่ง     เพราะฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ถือครองอำนาจรัฐ    มีเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมความรุนแรงครบถ้วน  ทั้งเครื่องมือทางกฎหมาย สื่อมวลชน ตำรวจ ทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์    การจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ในการนัดหมายชุมนุมของประชาชนครั้งนี้ จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประชาชน    และจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา   ก็ได้แสดงให้เห็นว่า  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับการชุมนุมทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6  ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภา 2535   หรือแม้กระทั่ง เหตุการณ์เมษายน 2552 ที่ผ่านมา    ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล้วนแล้วมาจากฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น!  ดังนั้นฝ่ายที่ควรถูกเรียกร้องและกดดันไม่ให้ใช้ความรุนแรงเสียยิ่งกว่าฝ่ายผู้ชุมนุม   ก็คือรัฐบาล
       
             ด้วยเหตุนี้  “เรา”   นิสิต นักศึกษา และประชาชนคนหนุ่มสาวผู้ปรารถนาจะเห็นประชาธิปไตย อันเป็นรากฐานของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงบนดินแดนนี้   จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลบนฐานของเจตนารมณ์ที่พ้องต้องกัน 2  ประการ  คือ
 
            1. การชุมนุมของประชาชนกลุ่ม นปช. นั้น มีความชอบธรรมตามหลักสิทธิและเสรีภาพที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย   ทั้งยังถูกรับรองไว้อย่างแข็งขันในหลักสิทธิมนุษยชนสากล   ที่ทุกสังคมทั่วโลกยอมรับและยึดถือปฏิบัติ    รัฐบาลมีหน้าที่ประกันสิทธิเสรีภาพนี้แก่พลเมืองในรัฐทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ให้การสนับสนุนและรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม  และปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในฐานะที่ผู้ชุมนุมทุกคนเป็นพลเมืองแห่งรัฐ  ไม่ใช่ศัตรูแห่งรัฐ ในทุกกรณี
 
            2.  กฎหมายความมั่นคงทุกฉบับ ไปกันไม่ได้กับสังคมประชาธิปไตย ถือเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน จนอาจกล่าวได้ว่า  เป็นเครื่องมือรับรองความชอบธรรมในการก่อการร้ายของรัฐ    ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ไม่ว่าฉบับใด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือขัดขวางยับยั้งการชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน  โดยไม่มีข้อยกเว้น
 
             นอกจากข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 2 ข้อ ดังได้กล่าวมาแล้ว    “เรา” ยังขอเรียกร้องต่อ “สื่อมวลชนทุกแขนง ทุกสำนัก”  ให้นำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง ตรงไปตรงมา ไม่ทรยศต่อจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน  การร่วมมือกับรัฐบาลหรือยอมตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล นำเสนอข่าวบิดเบือนสร้างภาพลบให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุม  เท่ากับเป็นการผลักกลุ่มผู้ชุมนุมไปเป็นอื่น และเป็นการป้ายสีความเป็นปีศาจให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุม   ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ไม่ต่างจากเหตุการณ์เดือนเมษายนที่ผ่านมา   หรือไม่ก็อาจนำไปสู่จุดจบอันเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  
 
              และเราขอเรียกร้องต่อประชาชนทุกคนในสังคม ไม่ว่าคุณจะมีจุดยืนทางการเมืองเช่นไร ต้องไม่มีอคติต่อการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนด้วยกัน  และแม้ไม่เกลียดชัง แต่การแสดงความวางเฉยไม่เพียงพอต่อสถานการณ์เช่นนี้   หากแต่สิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องแสดงออกในภาวการณ์วิกฤตเช่นนี้   คือ   เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อประชาชนด้วยกัน   และโปรดยืนยันให้รัฐบาลทราบว่า คุณจะไม่ผ่านใบอนุญาตให้รัฐบาลก่ออาชญากรรมต่อประชาชนด้วยกัน 
 
 
รายชื่อองค์กร
 
1.       สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
2.       เครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน (คพช.)
3.       กลุ่ม Try-Arm
4.       กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์
5.       สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน
6.       สถาบันอีสานภิวัตน์
7.       สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย
8.       สถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค
9.       สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อสังคม
10.   โครงข่ายภาคประชาสังคมนนทบุรี
11.   สมัชชาสังคมก้าวหน้า (Social Move Assembly)
12.   องค์กรเลี้ยวซ้าย
13.   กลุ่มกรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย
14.   สถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนประชาธิปไตย
15.   สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก
16.เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภา
17.สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย
 
 
       

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net