Skip to main content
sharethis

นายกฯให้นโยบายเพิ่มสัดส่วนผู้จบสายอาชีพจาก 40% เป็น 60% ภายในปี 61
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (
7 มี.ค. 53) - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ถึงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2ว่า การปฏิรูปครั้งนี้จึงได้เน้น 4 ด้านใหญ่ ๆ ที่จะถือว่าเป็น 4 ใหม่ ในแต่ละด้านนั้น คือ พลเมืองยุคใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ และการบริหารจัดการใหม่ ในรอบนี้จะมีการกำหนดตัวชี้วัด หรือตัวบ่งชี้อย่างชัดเจน เพื่อที่จะทำให้คนทำงานนั้นสามารถตรวจเหมือนกับเป็นการบ้านสำหรับตัวเองได้ ว่าแต่ละเรื่องนั้นมีทิศทาง มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่อย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ใหม่แรก ก็คือผู้เรียนรู้หรือคนไทยในยุคใหม่ ซึ่งเราต่อยอดจากแนวคิดที่บอกว่าเด็กไทย เยาวชนไทย และคนไทยจะเติบโตมาแล้ว เก่ง ดี มีความสุข เราเพิ่มในเรื่องของการดำรงความเป็นไทย และการก้าวทันหรือรู้เท่าทันโลก และมีมาตรฐานที่เป็นสากลด้วย ซึ่งในเรื่องนี้เราก็จะมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน บางตัวนั้นเชื่อว่าเราสามารถจะผลักดันได้ เช่น จำนวนปีการศึกษาที่คนไทยได้รับโดยเฉลี่ย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 9 ปี ก็จะผลักดันให้ได้เป็น 12 ปี ในทศวรรษต่อไปเราจะสิ้นสุดถึงปี 2561 อย่างนี้เป็นต้น จำนวนการศึกษาต่อในแต่ละช่วงชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็น ม.ต้น ม.ปลาย เข้าสู่อุดมศึกษาเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ต้องการที่จะกลับสัดส่วนในส่วนของการศึกษาสายอาชีพกับสายสามัญ เพราะพบว่าปัจจุบันมีผู้ที่จบการศึกษาสายสามัญออกมาแล้วหางานทำไม่ได้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจและสังคมกลับขาดแคลนแรงงานทางด้านที่จะต้องมีทักษะหรือได้รับการฝึกฝนทางอาชีพมา ซึ่งจะกลับสัดส่วนจาก 40 : 60 เป็น 60 : 40 ภายในปี 2561 ซึ่งไม่ง่ายนัก เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องค่านิยม และเรื่องอื่น ๆ แต่ได้ตั้งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ว่าที่สำคัญที่สุดคือว่าในด้านนี้จะมีการตั้งตัวชี้วัดที่เป็นเรื่องของคุณภาพโดยตรง โดยได้กำหนดตัวชี้วัดชัดเจนว่าเด็กทุกคนต้องสามารถผ่านในสาระหลักของวิชาความรู้ได้ และตั้งเป้าไว้ว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมจะต้องขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 55 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 กว่า ๆ หรือใกล้เคียงร้อยละ 40 อย่างนี้เป็นต้น
บริษัทมินีแบเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใช้แรงงานต่างด้าว
สำนักโฆษก (
8 มี.ค. 53) - นาย โยชิฮิสะ ไคนูมะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มินีแบ (Minebea Co.Ltd.) ประเทศญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลนายไคนูมะ แสดงขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าพบ พร้อมกับกล่าวถึงความเป็นมาของบริษัท โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในไทยมากว่า 30 ปี ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนตลับลูกปืนวงแหวน และพัดลมมอเตอร์ ฯลฯ โดยมีมูลค่าการลงทุนโดยรวมกว่า 62,800 ล้านบาท และพนักงานกว่า 27,418 คน นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนในการสนับสนุนการให้ทุนการศึกษากับนักเรียนนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์กว่า 931 คน ด้วยมูลค่าทุนการศึกษากว่า 37 ล้านบาทในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา บริษัทได้เผชิญกับปัญหาการลดจำนวนของแรงงาน ค่าจ้างแรงงาน และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันมาตรการจูงใจของรัฐบาลยังคงที่ในขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป บริษัทจึงขอเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้แรงงานจากต่างชาติเป็นร้อยละ 50 % ของโรงงานที่มีอยู่ และ การใช้แรงงานต่างชาติเต็มจำนวนในโรงงานแห่งใหม่ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยลดมาตรการภาษีในระดับที่น้อยกว่าร้อยละ 10 การให้ส่วนลดจากปริมาณการใช้น้ำและไฟฟ้า รวมทั้ง เงินอุดหนุนสำหรับโปรแกรมการพัฒนาผู้นำองค์กรในพื้นที่ นอกจากนี้ บริษัทยังเผชิญกับปัญหาการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI กับ กรมสรรพากร ทั้งที่การลงทุนของมินีแบได้ตั้งอยู่บนฐานของพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนมาโดยตลอด จึงได้ขอให้รัฐบาลได้เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทางบริษัทมินีแบที่ยังคงยึดมั่นในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้มีความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทางเศรษฐกิจได้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนประเด็นต่างๆ ที่บริษัทได้กล่าวมา ทางรัฐบาลไม่ได้มีความนิ่งนอนใจ โดยได้ทำงานอย่างหนักและจะได้หารือกันในเรื่องนี้ และในส่วนของมาตรการทางภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังหาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจทางภาษี และแนวนโยบายใหม่ๆ ต่อนักลงทุน ในส่วนของมาตรการทางภาษีระหว่าง BOI และ กรมสรรพากร นายกรัฐมนตรีจะได้นำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในวันพุธนี้ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป
“กลุ่มสตรีแรงงาน” พบนายกฯเรียกร้องสิทธิสตรี เนื่องในวันสตรีสากล
เว็บไซต์แนวหน้า (8 มี.ค. 53)
- เมื่อเวลา 10.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อาทิตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด มหาชน และกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ประมาณ 100 คน เดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 ถนนพิษณุโลกโดยปิดเส้นทางจราจร 1 ช่องทาง ทำให้การจราจรติดขัด เนื่องด้วยในวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่าง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน และต้องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการเจรจาต่อรอง ซึ่งได้มีการส่งตัวแทน 15 คนได้เดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวภายหลังการเข้าพบนายอภิสิทธิ์ ว่า นายกฯได้รับปากจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องอย่างเต็มที่ อีกทั้งมีเรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก ที่มีการเรียกผู้ประกอบการมาพูดคุยกับรัฐว่าจะกำหนดระเบียบออกมาได้หรือไม่ อีกทั้งมีสิ่งจูงใจให้กับนายจ้างว่าหากมีการสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กก็จะสามารถลดภาษีได้ และเรื่องคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน ที่จะต้องมีสัดส่วนหญิงชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งในส่วนนี้นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมต.กระทรวงแรงงาน ก็รับปากจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหารือว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ถึงแม้ว่าทั้งนายกฯและรมต.จะรับปากแล้วก็ตาม แต่เราจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามการทำงานต่อไปด้วย
กรมการจัดหางานหาตำแหน่งงานรองรับนักศึกษาจบใหม่กว่า 130,000 อัตรา
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (
8 มี.ค. 53) - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ส่งผลให้มีการขาดแคลนแรงงานพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแรงงานส่วนหนึ่ง ที่ถูกเลิกจ้างกลับภูมิลำเนา และเข้ารับการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ จากโครงการต้นกล้าอาชีพ
กรมการจัดหางานได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ ในเดือนมีนาคม 2553 มีตำแหน่งงานว่างทั้งสิ้น 136,047 อัตรา ในตำแหน่งผู้จัดการ จำนวน 2,655 อัตรา ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น พยาบาล นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิกฯลฯ จำนวน 6,902 อัตรา ช่างเทคนิค เช่น ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ จำนวน 12,367 อัตรา เสมียน / เจ้าหน้าที่การเงิน /บัญชี จำนวน 8,006 อัตรา พนักงานบริการ พนักงานขายของในร้าน จำนวน 15,047 อัตรา ผู้ปฏิบัติงานด้านการเกษตรและประมง จำนวน 529 อัตรา ผู้ปฎิบัติงานโดยใช้ฝีมือ อาทิ ช่างเครื่องกล ช่างก่อสร้าง ช่างเหล็ก ช่างเชื่อม จำนวน 14,682 อัตราผู้ควบคุมเครื่องจักรจำนวน 16,062 อัตรา และพนักงานทั่วไป จำนวน 42,578 อัตรา สำหรับผู้ที่สนใจสมัครงาน สามารถเตรียมหลักฐานการสมัครงานไปติดต่อได้ที่สำนักงานจัดงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วน 1694
กสร.ชี้ดูแลแรงงานหญิงเต็มที่ โวข้อเรียกร้องของแรงงานสตรีแก้หมดแล้ว
เว็บไซต์แนวหน้า (
8 มี.ค. 53) - ที่กระทรวงแรงงาน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ที่กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ที่ยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงาน ในวันสตรีสากล ว่า ข้อเรียกร้องสำคัญๆ ของกลุ่มแรงงานสตรีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้รับการแก้ไขหมดแล้ว เหลือแต่เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ซึ่งเรื่องนี้รัฐจะต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันจำนวนประชากรหญิงมีมากขึ้น จะเห็นได้ชัดจากจำนวนผู้ประกันตนที่มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องที่ขอให้รัฐจัดสัดส่วนระหว่างหญิงและชายในคณะกรรมการไตรภาคีอย่างเท่าเทียมกันนั้น กระทรวงแรงงานตั้งคณะทำงาน เพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าว โดยมอบหมายให้สำนักคุ้มครองแรงงาน รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ เพื่อจัดตั้งคณะทำงานในการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ซึ่งจะให้ผู้หญิงจากหลากหลายอาชีพเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานชุดดังกล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องการลงนามสัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีมีมติรับหลักการในการลงนามสัตยาบันแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะให้ที่ประชุมกระทรวงแรงงานพิจารณาต่อไป ส่วนข้อร้องเรียนที่ให้มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชนย่านนิคมอุตสาหกรรม กสร.มีการสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมและความเหมาะสม เนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าเงินเดือนของผู้หญิงได้น้อยกว่าชายนั้น ในปัจจุบันนายจ้างปฏิบัติตามข้อกฎหมายแรงงานมากขึ้น ปฏิบัติต่อแรงงานชาย-หญิงเท่าเทียมกัน แต่หากแรงงานหญิงคนใดมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ให้แจ้งไปทางเจ้าหน้าที่ กสร.ซึ่ง กสร.ก็พร้อมที่จะดูแล อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้หญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายเนื่องจากสรีระ ข้อจำกัดสภาพครอบครัว
รถยนต์ฟื้นขาดแรงงานอีกเพียบชี้ต้องการเพิ่มอีกแปดหมื่นอัตรา
พิมพ์ไทย (
8 มี.ค. 53) - นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์เปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ปี 53 กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนจะมีรายได้รวม 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นยานยนต์ 7 แสนล้านบาท และอะไหล่รถยนต์ 4 แสนล้านบาท เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นในปี 54 ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อาจเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์เป็น 1.6 ล้านคัน สูงกว่าเป้าผลิตในปีนี้ถึง 2 แสนคัน ส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานขนาดเล็ก (อีโคคาร์) อีก 3 ค่ายประกอบด้วย ฮอนด้า ซูซูกิ และโตโยต้า เพิ่มจากนิสสันที่ประกาศดำเนินการในกลางปีนี้
ทั้งนี้ หากเพิ่มกำลังการผลิตอีก 2 แสนคัน ภาคอุตสาหกรรมต้องรับแรงงานอีก 7-8 หมื่นคน จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 3.5 แสนคน แต่ยอมรับว่าในอนาคตแรงงานกลุ่มนี้เริ่มขาดแคลนเนื่องจากส่วนหนึ่งกลับเข้าไปทำงานในภาคการเกษตร เพราะมีผลตอบแทนที่ดีกว่าจากกรณีที่สินค้าเกษตรมีราคาปรับตัวสูง ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องสะดุดลง ซึ่งล่าสุดก็หันไปใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากแล้ว และมีเป้าเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานฝีมือในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอีก 2 แสนคนเพื่อรองรับกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตรถยนต์
แรงงานพอใจต่างด้าวขอใบอนุญาตตามเป้า
เว็บไซต์เดลินิวส์ (
9 มี.ค. 53) - เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงตัวเลขการดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวมาขอใบอนุญาตทำงาน และยื่นความจำนงพิสูจน์สัญชาติว่า ล่าสุดมียอดแรงงานต่างด้าวแสดงความจำนงแล้ว 900,000 คน ถือเป็นตัวเลขตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยจำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่หายไปก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมียอดแรงงานต่างด้าวหายไปประมาณร้อยละ 20 อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นกรมการจัดหางานจะหารือกับกรมการปกครองเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป และจะรายงานยอดให้คณะรัฐมนตรีทราบภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้
รมว.แรงงานขู่ปรับ-จำคุกนายจ้างปล่อยแรงงานต่างด้าวร่วมชุมนุม
เว็บไซต์แนวหน้า (
9 มี.ค. 53) - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวก่อนการประชุมครม. ถึงกรณีที่มีการจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงว่า กรมการจัดหางานได้ทำหนังสือแจ้งสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่ห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน หากเคลื่อนย้ายจะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะการเคลื่อนย้ายจะต้องขออนุญาตก่อน
ทั้งนี้หากมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาร่วมชุมนุมนายจ้างจะต้องรับผิดชอบ รวมทั้งตัวของผู้ใช้แรงงานเองก็จะหมดสิทธิ์ที่จะอยู่ในประเทศ อย่างไรก็ตามตนยังไม่ได้รับรายงานจากจังหวัดต่างว่ามีการเคลื่อนไหวของแรงงานต่างด้าว ขณะนี้อยู่ในความเรียบร้อยดี
“โทษของการนำแรงงานต่างด้าวมาเข้าร่วมชุมนุมนั้นถ้ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยที่ไม่แจ้ง จะมีความผิดทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ลูกจ้างก็จะต้องหมดสภาพการเป็นลูกจ้างพร้อมกับโดนปรับ2หมื่นถึง1 แสนบาท และจำคุก 5 ปี ส่วนนายจ้างหากให้ลูกจ้างที่หมดสภาพการอนุญาตให้ทำงานต่อไปจะต้องมีความผิดปรับตั้งแต่ 1หมื่น – 1 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน
คนงานไทยในโปแลนด์เดินทางกลับแล้ว ร้องนายหน้าจ่ายค่าเสียหาย
ประชาไท (
9 มี.ค. 53) - เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. คนงานหญิงไทย 11 คน ที่ไปทำงานที่โปแลนด์ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้วที่ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ โดยก่อนหน้านี้แรงงานหญิงกลุ่มแรก 17 คนได้เดินทางมาถึงก่อนตั้งแต่เมื่อเมื่อวาน (8 ส.ค.53)
ทั้งนี้คนงานส่วนใหญ่ได้ชี้แจงว่าถูกทางการโปแลนด์ยกเลิกวีซ่าทำ งาน เนื่องจากบริษัทนายหน้าได้พาคนงานออกไปทำงานเขตที่กำหนดไว้ โดยได้นำไปทำงานในเขตที่ติดกับชายแดนของประเทศรัสเซีย ให้ทำงานวันละ 13 ชั่วโมงและต้องจ่ายค่าอาหารเองทำให้คนงานไม่มีเงินพอจะซื้ออาหาร โดยลักษณะงานเป็นการทำงานในฟาร์ม และได้ค่าแรงต่ำกว่าสัญญาที่ระบุไว้ 650 ดอลลาร์ต่อเดือน เพราะคนงานต้องไปทำงานตามฟาร์มต่างๆ แล้วแต่จะมีคนเหมาค่าแรงผ่านบริษัทที่โปแลนด์
 
ซึ่งก่อนไปทำงานที่โปแลนด์นั้นคนงานหญิงเหล่านี้ต้องไปกูเงินกับนายทุน เงินกู้นอกระบบ โดยส่วนใหญ่แล้วมีหนี้สินจากการไปทำงานที่โปแลนด์นี้มากกว่า 250,000 บาทต่อราย ทางด้านผู้บริหาร บริษัท กิตติบาร์เดอร์ กล่าวในเบื้องต้นว่าจะจ่ายเงินเดือนค้างจ่าย 2 เดือนคืนคนงาน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องรอการพิจารณาอีกครั้งเมื่อแรงงานทั้งหมดกลับมา ซึ่งทำให้คนงานที่กลับมาแล้วนั้น ต้องการให้บริษัทนายหน้าที่จัดส่งพวกตนไปจ่ายคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมเกือบ 400,000 บาท
โดยคนงานหญิงเหล่านี้ยังคงอยู่เรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับในกรุงเทพฯ ยัง ไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาในขณะนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพคนทำงานต่างประเทศในการประสานงานทั้งที่ โปแลนด์และประเทศไทยในการเรียกร้องค่าเสียหายไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สินค่า ใช้จ่ายก่อนไปทำงาน และค่าจ้างเต็มที่ควรจะได้รับจากสัญญาจ้างกว่า 2 ปี แต่กลับได้ทำงานจริงแค่ 3 เดือนทางบริษัทปลายทางก็ทำผิดสัญญาจนต้องส่งกลับ อนึ่งยังคงมีแรงงานไทยที่ถูกจับกุมและไม่ถูกจับกุมในโปแลนด์ที่ยังอยู่รอเดินทางกลับประเทศไทยอีกหลายสิบคน
พิษน้ำโขงลดกรรมกรเชียงแสน 300 ชีวิตถูกเลิกจ้าง
เว็บไซต์คมชัดลึก
(10 มี.ค. 53) - ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แจ้งว่า หลังจากกระแสน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงจนทำให้การเดินเรือขนส่งสินค้าจากประเทศจีนเข้ามายังท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากเรือขนส่งไม่สามารถแล่นผ่านมาได้ สาเหตุมาจากความลึกของน้ำไม่เพียงพอกับการเดินเรือที่ต้องใช้ระดับน้ำตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่าร่องความลึกของน้ำสูงไม่ถึง 1 เมตร แม้ว่าล่าสุดจะมีระดับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถนำเรือออกจากท่าได้
นายวีระ จินนิกร ผู้จัดการ ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ตอนนี้มีเรือขนส่งสินค้าของจีนจอดอยู่ที่ท่าน้ำประมาณ 10 ลำ โดยเรือทั้งหมดได้ขึ้นสินค้ารอไว้เพียงแค่ระดับร่องน้ำมีความลึกพอที่จะเดินเรือได้ก็จะทำการออกเรือทันที การที่เรือจากจีนยังไม่สามารถเดินเรือออกจากท่าได้เพราะต้องใช้ระดับน้ำลึก 2 เมตร ขึ้นไป แต่ตอนนี้มีความลึกเฉลี่ยที่เมตรกว่าๆ
นายทอง ผาจร อายุ 46 ปี หัวหน้ากรรมกรท่าเรือเชียงแสน กล่าวว่า ตั้งแต่แม่น้ำโขงลดระดับลง จนส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ ทำให้เรือขนสินค้าไม่สามารถแล่นได้ต้องจอดรอนานกว่า 1 เดือน แล้ว ส่งผลให้กรรมกรที่ท่าเรือกว่า 300 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันรับค่าจ้างเฉลี่ยที่ 250 บาท / วัน ถูกเลิกจ้างชั่วคราว บางรายต้องไปแย่งอาชีพ รับจ้างปลูกนาแทน คนอื่นทำ เพราะไม่มีเรือเข้ามาจอดทำให้ขาดรายได้ส่วนคนขับเรือจีนเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะต้องขึ้นมาซื้ออาหารจากฝั่งไทยไปเลี้ยงดูลูกเรือทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะแต่ก่อนที่บริเวณนี้จะคึกคักแรงงานแทบจะไม่พอต่อการขนสินค้าลงเรือแต่ปัจจุบัน ที่ท่าเรือกลับเงียบเหงา
รายงานข่าวแจ้งว่า จากภาวะน้ำในแม่น้ำโขงลดลง ทำให้ภาคการขนส่งทางน้ำต้องหยุดไปบรรดาร้านค้าต่างๆในบริเวณท่าเรือเชียงแสนต้องปิดกิจการลงชั่วคราว เนื่องจากไม่มีเรือเข้าออกทำให้ไม่มีลูกค้าเข้ามาติดต่องาน และที่บริเวณริมทางติดริมแม่น้ำโขงร้านค้าที่นำผลไม้จากจีนมาวางจำหน่ายเรียงกันหลายร้านก็ปิดลง มีเพียงไม่กี่ร้านที่เปิดเป็น เพราะบรรดาร้านต่างๆไม่มีผลไม้จากประเทศจีนนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้า
นำร่องจัดฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบ
เว็บไซต์คมชัดลึก (
10 มี.ค. 53) - นายสุนันท์ โพธิ์ทอง ที่ปรึกษาวิชาการแรงงานเป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบ “ฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบเพื่อการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ” มีเจ้าหน้าที่ที่ใช้งานระบบฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 38 จังหวัดนำร่อง โดยให้แนวทางการดำเนินงานระยะแรก ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานต้องมีความรู้ความเข้าใจการใช้งานระบบฐานข้อมูล ให้ความสำคัญและร่วมมือในการปรับปรุงข้อมูลให้สมบูรณ์ มีมาตรฐานเดียวกัน เป็นข้อมูลที่ทันสมัยที่ทุกหน่วยงานจะสามารถใช้ประโยชน์ได้แท้จริง
และความคาดหวังระยะยาวที่กระทรวงแรงงานจะสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรฐานข้อมูลแห่งชาติ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล สะท้อนปัญหาความต้องการของแรงงานนอกระบบ ทราบตัวตนที่แท้จริงของกลุ่มแรงงานนอกระบบ สู่การพยากรณ์แนวโน้มแรงงานนอกระบบในอนาคต รวมถึงการดำเนินงานในการส่งเสริม พัฒนา การตรวจคุ้มครอง ให้ความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ และขับเคลื่อนการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความคุ้มครองดูแลแรงงานนอกระบบต่อไป 
ทางด้านนางอุษณีย์ ตันสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานเศรษฐกิจแรงงานมหภาค กล่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แรงงานนอกระบบเป็นประเด็นสำคัญที่มีการบรรจุในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และนโยบายกระทรวงแรงงานได้กำหนดเรื่อง “ฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบ” ไว้ในแผนแม่บทด้านแรงงาน (พ.ศ.2550-2554) ในยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่แรงงาน
โดยเมื่อปี 2552 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน จัดจ้างบริษัท บิซโพเทนเชียล จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบ รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบกับ 8 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานภายในกระทรวง 4 หน่วยงาน คือกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานภายนอก 4 หน่วยงาน คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อุตสาหกรรมเพิ่มกำลังผลิต 80%
เดลินิวส์ (12 มี.ค. 53) -
นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 53 (ก.ค.-ก.ย.) ภาคอุตสาหกรรมไทยเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตจาก 60-65% เป็น 70-80% เนื่องจากมีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐ กิจโลก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เกษตรแปรรูป, อาหาร, เซรามิก, พลังงานทดแทน, ยา เป็นต้น ดังนั้นภาคเอกชนไม่ต้องการให้ปัญหาการประท้วงเกิดความรุนแรง เพราะทำให้ต่างชาติประเมินว่าไทยอาจผลิตสินค้าไม่ทันตามกำหนดจึงหันไปสั่ง สินค้าจากเพื่อนบ้านแทน
“ออร์เดอร์มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่แนวโน้มการสั่งสินค้าพบว่าเริ่มเข้ามามากแล้ว จนผู้ผลิตจำเป็นต้องทยอยเพิ่มกำลัง การผลิตและรับคนงาน แต่ยอมรับว่าเกือบทุกสาขามีปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะสิ่งทอ, ชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ จนบางส่วนหันไปพึ่งแรงงานต่างด้าวมากขึ้น”
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า การเมืองจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้นภาคเอก ชนไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง เพราะทำให้นโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง
รายงานข่าวจากสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การประชุมเศรษฐกิจโลกได้รายงานการค้า ของแต่ละประเทศจำนวน 121 ประเทศในปี 52 พบว่าดัชนีภาคการค้าของประเทศไทยอยู่ที่ 4.18 อยู่ในอันดับที่ 50 ซึ่งเป็นระดับปาน กลาง หากพิจารณาเฉพาะในประเทศที่อยู่ ในทวีปเอเชียไทยอยู่อันดับที่ 6 รองจากสิงคโปร์, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย และจีน
“เพื่อนบ้านของไทยมีการพัฒนาภาคธุรกิจอย่างมากโดยเฉพาะสิงคโปร์ที่อยู่ อันดับ 1 ของโลก และฮ่องกงอันดับที่ 2 และมาเลเซีย อันดับที่ 28 ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องพัฒนาเอสเอ็มอีทั้งการบริหาร จัดการ, พัฒนาองค์กร, ประสิทธิภาพการผลิตสินค้า และการตลาด”
สำหรับประเด็นที่เอสเอ็มอีไทยต้องพัฒนาคือด้านการตลาดเพราะแม้ดัชนีการค้า ไทยอยู่อันดับที่ 50 แต่ความสามารถในการเข้าตลาดกลับไปอยู่อันดับที่ 98 ซึ่งเป็นจุดอ่อนของไทย โดยยังด้อยกว่ากัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่คะแนนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของไทยอยู่ในอันดับที่ 59 แต่คุณภาพสินค้าอยู่ในระดับที่ดีเช่นเดียวกับประเทศผู้นำทางการค้าโลก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net