Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนหน้าที่นายโคทม อารียา จะเรียกร้องให้รัฐและเสื้อแดงไม่ใช้ความรุนแรง เขาได้เรียกร้องให้เสื้อแดงไม่ใช้ความรุนแรงข้างเดียว จนถูกฝ่าย นปช. โดยนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ตอบโต้ว่า ต้องเรียกร้องฝ่ายรัฐด้วย จึงมาสู่การประชุมในวันที่ 10 มีนาคม กับ นปช.และรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรและกลุ่มเสื้อขาว ‘เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย’ เครือข่ายไม่เอาสงครามกลางเมืองได้ออกมารณรงค์ให้เสื้อแดงไม่ใช้ความรุนแรง (ถ้าเป็นไปได้ไม่ต้องมาชุมนุม) ที่สอดรับกับการสื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่งที่พยายามปลุกกระแสให้คนกรุงเทพฯ ออกมาต่อต้านการมาชุมนุมของเสื้อแดงครั้งนี้

ในการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ได้เกิดคำถามจากฝ่ายเสื้อแดงว่า นายโคทมและเอ็นจีโอมีสิทธิในการต่อต้านหรือไม่
 

ความจำต่อจราจล “สงกรานต์เลือด” ที่แม่นยำ
เครือข่ายกลุ่มนี้ได้พยายามชี้ภาพการชุมนุมของเสื้อแดงที่นำไปสู่ความรุนแรงในเดือนเมษายน ปีที่แล้ว ตั้งแต่การปิดอนุสารีย์ชัยสมรภูมิ การปิดสามเหลี่ยมดินแดง การบุกสถานที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่นำไปสู่การล้มของการประชุมครั้งนั้น จนถึงความพยายามบุกทำร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในรถประจำตำแหน่งที่กระทรวงมหาดไทย (จนวันนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ อยู่ในรถคันนั้นหรือไม่)

นปช. และเสื้อแดง พยายามอธิบายว่า พวกเขาตกกับดักในแผนสลายการชุมนุม แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์แวดล้อมอื่นไม่อำนวยให้คำชี้แจงฟังขึ้น การโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กล่าวถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นและตัวเขาพร้อมจะเข้ามานำการต่อสู้ การปราศรัยบนเวทีที่ปลุกเร้าด้วยคำว่า “สงครามประชาชน” ที่สร้างความฮึกเหิมและชัยชนะที่อยู่แค่เอื้อม

ท่าทีของ นปช. และเสื้อแดงเหล่านี้ จึงนำไปสู่การตีความในสังคมว่า พวกเขามีจุดหมายก่อให้เกิดความรุนแรงด้วยความยั่วยุให้เกิดความรุนแรง โดยหวังว่าผู้ก่อความรุนแรงจะเป็นผู้พ่ายแพ้

แต่นั่น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา
 

ไม่มีความจำต่อ “ทหารขู่ทำรัฐประหาร” ที่แสนใกล้
เมื่อเดือนมกราคม ฝ่ายกองทัพ ได้นำรถถังมาจอดบนถนนกรุงเทพฯ จนสร้างความตื่นตระหนักให้คนในประเทศและทั่วโลก ว่าอาจจะเกิดรัฐประหารอีกแล้วในประเทศนี้

เอเซีย เซนติเนล เสนอบทความกล่าวว่า ประเทศไทยป่วนอีกครั้งด้วยข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการเหตุผลในการเคลื่อนไหว และสื่อที่ต้องการข่าวเป็นผู้สร้างให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเสียเป็นส่วนใหญ่ บรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างพากันออกมาปฏิเสธว่า มีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ แต่คำพูดเหล่านั้นไม่มีความหมายอะไร เนื่องจากพวกเขาก็ออกมาพูดทำนองนี้ก่อนที่จะทำรัฐประหารโค่นอำนาจอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ลงเมื่อปี 2549

โชคร้ายของเหล่าทหาร ที่ยังไม่มีอะไรสาบสูญไปไหน ทั้งข่าวลือเรื่องรัฐ ประหาร และมหาเศรษฐีซีอีโอ ผู้ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับการแต่งตั้งโดยนายฮุนเซ็นให้เป็น “ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจ” แค่ข้ามพรมแดนไปในกัมพูชาเท่านั้น การกำจัดอิทธิพลของทักษิณให้สิ้นซากน่าจะเป็นเหตุผลที่พอสันนิษฐานได้ของการทำรัฐประหารอีกครั้ง กองทัพน่าจะเข้าคุมอำนาจและกำจัดทักษิณออกไปเป็นครั้งสุดท้าย ถึงแม้ว่า สังคมไทยจะไม่อาจทำให้การทำรัฐประหารลดความสำคัญลงโดยสิ้นเชิงได้ แต่การทำรัฐประหารในตอนนี้มีความเสี่ยงอย่างสูง และยากจะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ทั้งนี้ น่าจะเลวร้ายกว่าเมื่อสี่ปีก่อนมาก [1]

บีบีซี รายงานความเห็นว่า ทหารไทยมีประวัติศาตร์ยาวนานในการควบคุมอำนาจในมือ ล่าสุดคือ กันยายน 2549 [2]

ท่ามกลางความแตกตื่นของคนในสังคมไทย มีเพียงเสื้อแดงและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ไปประท้วงต่อต้านหน้ากองทัพบก เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์
 

รัฐประหารคือ ความรุนแรง
รัฐประหารย่อมเป็นความรุนแรงที่ผู้มีอาวุธใช้กระทำต่อคนในสังคมอย่างแน่นอน โดยผ่านการกระทำต่ออธิปไตยของรัฐ จึงเป็นสิ่งที่นักสันติวิธีและผู้ไม่ปรารถนาความรุนแรงต้องแสดงการต่อต้านอย่างจริงจัง ในช่วงดังกล่าวไม่พบว่าเอ็นจีโอและนักสันติวิธี มีความแข็งขันในการประนามการข่มขู่ด้วยรัฐประหาร

จากข่าวเท่าที่รวบรวมได้ เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยเริ่มกลับมาเป็นข่าวเมื่อก่อนหน้าตัดสินดคียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ นายปริญญา และเสื้อขาวจึงออกมารณรงค์ ตามด้วยเครือข่ายไม่เอาสงครามกลางและนายโคทม อารียา ด้วยความรู้สึกเดียวกัน “หยุดใช้ความรุนแรง หยุดทำร้ายประเทศไทย”

นอกจากนี้ ถ้าเกิดรัฐประหารในช่วงนี้ ที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่สงครามกลางเมืองจากการต่อต้านรัฐประหารของคนเสื้อแดง ถ้าเหตุการณ์นี้เป็นจริง เครือข่ายไม่เอาสงครามกลางเมือง จะกล่าวว่า เสื้อแดงเป็นผู้ก่อสงครามกลางเมืองหรือไม่ ถ้าพวกเขาออกมาต่อต้านรัฐประหาร


ตอบคำถามนี้ก่อนใช้สิทธิกล่าวหา เสื้อแดงใช้ความรุนแรง
นักสันติวิธีและเอ็นจีโอควรตอบให้ชัดเจนก่อนใช้สิทธิในการกล่าวหาว่า เสื้อแดงใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกัน การที่พวกท่านไม่แสดงท่าทีต่อการข่มขู่การรัฐประหารของฝ่ายกองทัพก็ทำให้เกิดคำถามว่า

1. ท่านสนับสนุนระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเห็นว่า การข่มขู่ด้วยการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติและสามารถกระทำได้

2. ท่านสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่หวาดกลัวต่ออำนาจกองทัพ จึงไม่ออกมาต่อต้านการข่มขู่ด้วยการรัฐประหารครั้งนั้น

คำตอบแรก ถ้าพวกท่านตอบอย่างชัดเจน คนในสังคม รวมถึงเสื้อแดงจะไม่สงสัยว่า ทำไมพวกท่านไม่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นความรุนแรง และมีความถูกต้อง แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

คำตอบที่สอง ถ้าท่านหวาดกลัว ก็เท่ากับว่าท่านไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ย่อมไม่สิทธิใช้ข้อกล่าวหา ”ความรุนแรง” กับเสื้อแดงในการชุมนุมครั้งนี้

หรือท่านมีคำตอบอื่น โปรดชี้แจง

 
 
 
อ้างอิง
[1] Asia Sentinel, Thai Coup Rumor Recur, 8 February 2010
[2] BBC, Thailand coup rumours circle Thaksin assets ruling, 26 February 2010
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net