Skip to main content
sharethis

ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายเลือกตั้งที่รัฐบาลพม่าประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งมีเนื้อหาจงใจกีดกันนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี และผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนอื่นๆ ไม่ให้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่มีท่าทีใด 

นาย Alberto Romulo เลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์กล่าวว่า การกีดกันนางอองซาน ซูจีและพรรคของเธอเข้าร่วมชิงชัยเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ค้านกับแผนการโร้ดแม็ปเพื่อประชาธิปไตย  ด้านนาย Teuku Faizasyah โฆษกกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวจะไปทำลายการเลือกตั้งของพม่าเสียเอง

ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีเพียงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเท่านั้นที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาลพม่า 

ด้านนักวิเคราะห์ รวมถึงนิตยสาร The Economist ชี้ว่า ประเทศอินโดนีเซียที่เคยมีการปกครองแบบเผด็จการมาก่อน ซึ่งและกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่อันดับ 3 ของโลก อาจเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่รัฐบาลพม่าในการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า รัฐบาลพม่าจะได้เรียนรู้จากอินโดเซียในช่วงที่นายซูฮาโต้เป็นประธานาธิบดี(ค.ศ. 1968 – 1998) โดยได้จัดตั้งสมาคมเพื่อการพัฒนาและความเป็นเอกภาพ (Union Solidarity and Development Association หรือ USDA) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับพรรค Golkar ของอินโดนีเซีย

ด้านประธานธิบดีซูซิโล บังบังยุดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ของอินโดนีเซีย มีแผนที่จะส่งนาย Marty Natalegawa รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียไปเยือนพม่าในเดือนนี้ โดยคาดการณ์กันว่า อินโดนีเซียจะยังยืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ รวมถึงเห็นด้วยกับคำเรียกร้องของประเทศตะวันตกที่ว่าการเลือกตั้งควรมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม  จนถึงขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อการประกาศกฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาลพม่า ซึ่ง Debbie Stothard ผู้ประสานงานเครือข่ายอาเซียนทางเลือกระบุว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลืออาจกำลังตกใจกับกฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาลพม่า ซึ่งเป็นเหมือนการปฏิเสธจากรัฐบาลพม่าต่อคำเรียกร้องของอาเซียนที่ต้องการเห็นการเลือกตั้งในพม่าโปร่งใสและยุติธรรม 

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสุรินทร์พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวไว้ว่าอาเซียนคาดหวังให้การเลือกตั้งในพม่าโปร่งใสและน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงในเรื่องรายละเอียดได้ 

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการลงทุนในพม่ามากที่สุดกำลังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนทางการเมืองเนื่องจากมีการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร  ยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีใดๆ 

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปจะมีเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมอาเซียนในวันที่ 8-9 เมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า จะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องพม่ามาหารือหรือไม่

ส่วนประเทศมหาอำนาจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่าอย่างจีนและอินเดียยังไม่มีท่าทีในเรื่องนี้  รัฐมนตรี เหวินเจียเป่าของจีนมีแผนจะเดินทางเยือนพม่าเร็วๆ นี้ แต่คาดว่าจะมีการหารือเรื่องธุรกิจและอาจมีการหยิบยกประเด็นความตึงเครียดระหว่างชนกลุ่มน้อยตามชายแดนจีน – พม่ากับรัฐบาลพม่า ด้านรัฐบาลอินเดียออกมาประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ว่า เตรียมลงทุนในด้านโครงการก๊าซในพม่าอีก 1.35 พันล้านดอลลาร์ (Irrawaddy 15 มีนาคม 2553)

พม่าจับ 8 ทหารคะฉิ่น ส่อเค้าตึงเครียด
        
ทหารพม่าในรัฐคะฉิ่นได้จับกุมทหารของกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) จำนวน 8 นาย ท่ามกลางกระแสข่าวลือแพร่สะพัดว่าอาจเกิดการเผชิญหน้ากันในเร็วๆ นี้
     
แหล่งข่าวรายงานว่า ทหาร KIA ทั้ง 8 คนที่ถูกจับ มีทหารยศร้อยโทรวมอยู่ด้วยหนึ่งนาย ซึ่งทั้งหมดประจำการอยู่ที่ค่ายทหารในหมู่บ้านดอว์พำยาง (Daw Hpum Yang) ภายใต้กองพลที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองมิตจีนาและเมืองบะหม่อ ใกล้ชายแดนจีน 
     
ขณะนี้ ทหารทั้ง  5 นายซึ่งรวมทั้งทหารยศพลโท ถูกคุมขังในหมู่บ้านดอปัมยางเมื่อสามวันก่อน
ส่วนที่เหลืออีก 3 นายถูกส่งตัวไปยังกรุงเนย์ปีดอว์เมื่อวานนี้ โดยไม่มีใครทราบสาเหตุของการจับกุม
     
องค์กรคะฉิ่นอิสระ(Kachin Independent Organization หรือ KIO) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการเมืองของ KIA ยังคงถูกกดดันอย่างหนักจากรัฐบาลพม่าให้ถ่ายโอนอำนาจเป็นกองกำลังรักษาชายแดน(Border Guard Force) ซึ่งแม้ว่าKIA และรัฐบาลพม่าได้หารือกันถึง 12 ครั้งนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองกองทัพเพิ่มมากขึ้น 
     
นับตั้งแต่ KIA ทำสัญญาหยุดยิงรัฐบาลพม่าทหารพม่าเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ทหารของ KIA ถูกทหารพม่าลอบสังหารและจับกุมไปเป็นจำนวนมาก โดยเดือนมีนาคม 2544 ทหาร KIA ถูกสังหารในรัฐฉานจำนวน 9 นาย   ส่วนในเดือนมกราคม 2549 ทหาร KIA ถูกสังหารในเมืองหมู่เจ้ ทางภาคเหนือของรัฐฉาน อีก 5 นาย  ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2550 เจ้าหน้าที่และทหารของ KIA หลายคนถูกทหารพม่าจับกุม แต่สามารถหนีรอดออกมาได้ในเวลาต่อมา
     
ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด ทหารพม่าเพิ่มกำลังทหารจำนวนกว่า 200 นายในหมู่บ้านดาลอ ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ KIA ในเมืองไลซา ใกล้ชายแดนจีน หลังเกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองกลุ่มอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้ นอกจากนี้ ทหารพม่าจากกองพันที่ 521 และกองพันที่ 74 ได้เพิ่มกำลังทหารกว่า 730 นายพร้อมอาวุธหนักเข้าประจำตามทางหลวงระหว่างเมืองมิตจีนาและมัณฑะเลย์ โดยได้นำปืนใหญ่มาประจำไว้ในเขตปาเจา นาพอบัม (Pajau-Nahpaw Bum) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองไลซา และเคยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ KIA ในอดีต  
      
ด้าน KIA ได้สั่งเจ้าหน้าที่ของตนในหมู่บ้านดาลอให้เดินทางออกจากพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า การจับกุมทหาร KIA รัฐบาลอาจต้องการยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน
      
อย่างไรก็ตาม  KIO ต้องการให้รัฐบาลพม่าทบทวนสัญญาป๋างโหลง ที่ผู้นำชนกลุ่มน้อยได้ทำไว้กับนายพลอองซาน วีรบุรุษของพม่า วีรบุรุษที่ทำให้พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ บิดาของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ยังคงถูกกุมขังขนถึงปัจจุบัน แต่รัฐบาลพม่ากลับกดดันให้กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยทั้งหมดเป็นกองกำลังรักษาชายแดน(Border Guard Force )ภายใต้กองทัพพม่า (KNG 16 มีนาคม 53)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net