Skip to main content
sharethis

ขอเขียนชเลียร์หัวโตหน่อย (ฮา) ถูกต้องแล้วคร้าบ ที่เสื้อแดงควรยุติการชุมนุมแล้วปรับขบวนใหม่ (อ่านประกอบที่นี่)

ที่จริงผมมีความเห็นส่วนตัวว่าเสื้อแดงมีทางลง 2 ทางคือ หนึ่ง ม็อบไปถึงวันแดงเดือด (ฮา) หรือสอง ม็อบไปถึงวันที่ 24 มี.ค. แล้วเลิก เพราะอะไร ก็เพราะกฎหมายความมั่นคงประกาศใช้ถึงวันที่ 23 มี.ค. เสื้อแดงควรแสดงให้เห็นว่าสามารถม็อบได้อย่างสันติ โดยไม่ต้องมีกฎหมายความมั่นคง (แล้วคราวหน้ามาใหม่อย่าประกาศใช้อีกนะ)

แต่พอดี๊ ฟังทักกี้ปลุกม็อบเมื่อวันที่ 17 บอกให้อยู่อีก 7 วันจะชนะ (คือวันที่ 24 พอดี) ผมเลยถอนความเห็นเดิม มาเชียร์หัวโตดีกว่า ว่าให้ดาวกระจายขอบคุณชาวกรุงเทพฯ แล้วเลิกม็อบ เพราะผมมองไม่เห็นเลยว่า อีก 7 วันชนะของทักษิณคืออะไร ทักษิณจะทำอะไร จะนำไปสู่ความรุนแรงอีกหรือไม่

เสื้อแดงควรยุติการชุมนุมได้ เพราะแม้ไม่ชนะ ในแง่ของข้อเรียกร้องให้ยุบสภา แต่ก็ชนะในแง่ของการแสดงให้เห็นว่าสามารถต่อสู้โดยสันติ ชนะใจคนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อย (ไม่เห็นมีชาวบ้านบางระจัน มีแต่หนังบางระจันภาค 2 โฆษณาหนังนี่หว่า)

ถ้าย้อนไปตั้งแต่ก่อนม็อบ ผมก็เขียนอย่างนี้มาตลอด แสดงพลัง แสดงความมุ่งมั่น ยืนหยัดสันติวิธี แม้จะแสดงอารมณ์บ้าง แต่ไม่เกินขอบเขตของ “อารยะขัดขืน” ผลที่ออกมายังดีกว่าที่ผมคิดด้วยซ้ำ คือเสื้อแดงฝ่ายสันติวิธีสามารถแสดงตนยึดกุมการเคลื่อนไหวได้ การประกาศไล่เสธแดงกับสุรชัยออกไป ทำให้สังคมยอมรับว่าเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องการต่อสู้อย่างสันติ

อันที่จริง ถ้ายกเว้นการแสดงพลังของมวลชนที่เป็นแง่ดี การนำของม็อบเสื้อแดงในตอนแรกก็แทบไม่ยกระดับจากเดิม ยังสับสน ยังมั่ว ไม่มียุทธวิธีที่เป็นเอกภาพ มาตรการหลายๆ อย่างไม่ได้คิดมาก่อน เช่นกรีดเลือด ก็ดูเหมือนจะคิดได้บนเวที และทั้งที่การเคลื่อนไหวใน 3-4 วันแรกต้องถือว่าประสบความสำเร็จทางการเมือง ก็ยังมีพวกที่ใจร้อนโวยวายว่าไม่ชนะ เพราะคิดกันว่าจะเอามวลชนเข้ามาให้ถึงล้านคน โห! ตลก ถ้าไม่พูดอย่างนั้นเสียก่อน นี่คือม็อบที่มีคนมามากที่สุดแล้วนะครับ พธม.ที่อ้างว่าเป็นแสน นับจริงๆ ไม่เคยถึง แค่สื่อช่วยตีปี๊บ เพราะคนเต็มสนามหลวงอย่างแน่นสุดก็ 8 หมื่น เสื้อแดงครั้งนี้อย่างน้อยก็แสนขึ้น ส่วนตอนกลางวันแดดจ้าน่ะ คุณไปดูเหอะ ผีหลอกเหมือนกัน แกนนำก็กลับไปนอนบ้าน มีแต่คนแก่เฝ้าเต้นท์

แต่ “แกนนำ” ที่ผมคิดว่าไม่ใช่คนเดียวหรือ 2-3-4-5 คน แต่เป็นความคิดและประสบการณ์ที่ตกผลึกของขบวนคนเสื้อแดง ในการต่อสู้หลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนการเปิดโรงเรียนการเมืองในหลายพื้นที่ ก็ทำให้ฝ่ายสันติ ฝ่ายที่มีหัวคิด สามารถกุมสถานการณ์และยืนหยัดต่อสู้ได้ นี่เป็นข้อสำคัญ ที่จะนำไปสู่การ “ปรับขบวน” อย่างหัวโตท่านว่า

ฉะนั้นเมื่อมองถึงความสำเร็จที่ได้มา การเลิกม็อบในวันเสาร์หรืออาทิตย์ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะประเด็นที่เรียกร้อง คือการยุบสภา ม็อบได้จุดประกายไว้แล้ว เป็นประเด็นที่ต่อสู้เรียกร้องต่อไปได้ ทั้งในรัฐสภา ในเวทีสาธารณะ หรือแม้แต่การกลับมาม็อบอีกครั้ง ขณะที่ประเด็นความเป็นธรรม ความยุติธรรม ก็ส่งผลสะเทือนพอสมควรในวงกว้าง

อยู่ต่อไปอาจเป็นอย่างหัวโตว่า คือคนกรุงอาจกลับมาเบื่อหน่าย ไม่พอใจ แถมถ้าอยู่ครบ 7 วันตามที่ทักกี้เรียกร้อง ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น การไม่ฟังทักกี้ กลับเป็นเรื่องดีเสียกว่า ที่แสดงให้เห็นว่าเสื้อแดงไม่ได้เดินตามใบสั่ง แต่ถ้าทักกี้ต้องการให้ม็อบอยู่อีก 7 วันจริง ก็ต้องขยายความ ต้องบอกให้แกนนำและมวลชนเข้าใจว่าจะได้ชัยชนะมาอย่างไร ไม่ใช่อุบไว้คนเดียวแล้วสั่งซ้ายหันขวาหัน

ความสำเร็จของม็อบอีกอย่างที่เป็นผลพลอยได้คือ ได้เห็นความน่าขันของพวกสันติวิธีขาวนวลกว่าต้ม ตามศัพท์ อ.พิชญ์ ซึ่งอันที่จริง พวกขาวนวลแทบไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากออกจอ การที่ม็อบไม่รุนแรงเป็นเพราะความเติบโตมีประสบการณ์ของพวกเขาเอง รวมทั้งคำตักเตือนจากผู้ที่เห็นใจฝ่ายเสื้อแดงทั้งหลาย

ยกตัวอย่างกรรมการสิทธิฯ นะครับ บอกก่อนว่าไม่ได้ปฏิเสธความปรารถนาดี ไม่ได้คิดว่าท่านไม่จริงใจ และไม่ถึงกับเป็นฝักถั่วอย่างทักกี้ว่า (เพราะทักกี้ไปเหมารวมกับกรรมการชุดเดิม) แต่การเคลื่อนของกรรมการสิทธิฯ ที่มีหมอชูชัย ศุภวงศ์ เป็นตัวประสาน แค่เริ่มต้นก็มีคำถามแล้วในฐานะที่หมอชูชัยคือรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหน้าแหลมฟันดำ พอเข้าไปเจรจากับเสื้อแดงแล้วเปิดแถลงข่าว กำหนดข้อตกลงว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ หมอเหวงยังโวยว่าอ้าว มีโผล่มา 2-3 ข้อโดยไม่ได้ตกลงกันก่อน แต่เขาก็รับ ไม่ว่าอะไร พอมาเจรจากับรัฐบาล ดูเหมือนจะไม่ได้เจอะไรเลย ปล่อยให้อภิสิทธิ์แย่งซีนพูดเป็นพระเอก อาจารย์อมราเสียท่าได้เป็นแค่ตัวประกอบ (แม่พระเอก-ฮา) กรรมการสิทธิฯ ทำไมไม่ตำหนิรัฐบาลที่ไอ้เทือกไอ้ไทออกมาพูดถึงท่อน้ำเลี้ยง เลือดคนเลือดสัตว์ ทั้งที่นั่นคือการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

ไม่อยากพูดเลยนะครับ แต่ย้อนไปที่ออกหมายจับอริสมันต์ ใครแจ้งจับ-วีระ สมความคิด ตอนแรกผมก็ไม่คิดอะไร เพราะสมความคิด ถ้าคุณวีระไม่แจ้งจับอริสมันต์สิเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่กลับมานึกได้อีกทีตอนเห็นกรรมการสิทธิฯ ออกมาเดินท่อมๆ อ้าว เฮ้ย คุณวีระเป็นอนุกรรมการสิทธิชุดหมอนิรันดร์นี่หว่า (อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง)

คือมันไม่ผิดหรอกครับ แต่เขาเรียกว่าไม่เหมาะ ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ คุณมีหน้าที่เข้ามาเป็นตัวกลาง เจรจา รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิ แต่คุณไปแจ้งจับผู้นำม็อบเสียเอง พธม.คนอื่นมีเยอะไป ก็ให้เขาแจ้งจับกันไปสิ

มันน่าสนุกนะครับถ้าสมมติม็อบเสื้อแดงมีเรื่องร้องกรรมการสิทธิ แล้วไปเข้าอนุฯ ที่มีทั้งคุณวีระ สมความคิด, คุณสมชาย หอมลออ, คุณนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ณ NBT

ขบวนประชาธิปไตย

การปรับขบวนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย และขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

พูดง่ายๆ ว่าคุณเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แล้วเอาพ่อไอ้ปื๊ดมาเป็นนายกฯ เนี่ยนะ

พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคไทยรักไทย ที่จุดเด่นคือความมีประสิทธิภาพ มีความเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีบุคลากรที่โดดเด่นด้านต่างๆ รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ได้ยุบพรรคตัดสิทธิไปถึง 2 ครั้ง บุคลากรที่เหลืออยู่ตอนนี้จึงมีแต่พวกหางแถว พวกนอมินี พวกที่ไร้ฝีมือไร้ชื่อเสียงเป็นส่วนใหญ่ จะทำอย่างไรให้ได้คนโดดเด่นเข้ามานำพรรค ไม่ใช่แค่ 1-2 คน แต่เป็นกลุ่มที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและคนทั่วไป ว่าบริหารประเทศได้ ดีกว่า ปชป. ผมยังมองไม่เห็น

ลองนึกชื่อดูสิ ในฝ่ายเพื่อไทยและเสื้อแดง ใครเหมาะจะเป็นนายกฯ มากที่สุด คำตอบคือจาตุรนต์ ที่โดนตัดสิทธิไปแล้ว

พรรคเพื่อไทยต้องปรับ เสื้อแดงก็ต้องปรับ เป็นองค์กรคู่ขนานกับพรรคเพื่อไทยอย่างหัวโตท่านว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างพรรคการเมืองใหม่ เพราะต้องยอมรับว่านักการเมืองเพื่อไทย จำนวนไม่น้อยไร้คุณภาพ แต่ในภาวะที่ไม่มีตัวเลือก ก็ต้องเลือกจุดร่วมสงวนจุดต่าง

พลังคู่ขนานในเสื้อแดงจะต้องมี 3 ส่วน ส่วนที่ 3 คือการเคลื่อนไหวของจาตุรนต์ และบ้านเลขที่ 111 คนอื่นๆ ที่ยังรักษาระยะห่างกับเสื้อแดง การรักษาระยะห่างนั้นถูกแล้ว เพราะทำให้จาตุรนต์ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากกว่า พูดง่ายๆ ว่าคนเกลียดตู่มากกว่าเกลียดจาตุรนต์เยอะ แต่จุดไหนที่จาตุรนต์จะก้าวเข้ามาได้เต็มตัว ต้องถามพี่อ๋อยเอง เพราะแกเป็นคนที่ถ้าไม่มั่นใจอะไร 150% แล้วไม่ทำ (ฮา)

ฉะนั้นคนอื่นๆ ก็ควรเข้าร่วมกับจาตุรนต์ (หรือเคลื่อนไหวแข่งกับจาตุรนต์ก็ได้) เพื่อผลักดัน วางแนวคิดแนวทาง (คนเก่งทั้งนั้น กลายเป็นทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้อย่างหัวโตว่า)

อย่างไรก็ดี พลังสำคัญที่จะต้องมีบทบาทคู่ขนานกับเสื้อแดงในขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งผมขอแยกออกมาเป็นอีกส่วน ก็คือพลังของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ที่เรียกว่าเป็นฝ่าย 2 ไม่เอา

ผมยืนยันเสมอมาว่าทักษิณมีปัญหาความไม่ชอบธรรม แม้ถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรมด้วยอำนาจรัฐประหาร (ซึ่งไปสร้างความชอบธรรมให้ทักษิณ) ปัญหานี้ก็ยังเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ทักษิณเป็นฝ่ายชนะ และกลายเป็นอุปสรรคของเสื้อแดง ซึ่งมีทักษิณเป็นปานมาแต่กำเนิด

ลำพังเสื้อแดงจึงไม่สามารถชนะ ผมไม่เคยคิดว่าเสื้อแดงจะชนะได้ แต่เป้าหมายคือประชาธิปไตยชนะได้ ยิ่งทักษิณยิ่งไม่มีทางชนะได้ แต่คุณอาจจะได้รับความเป็นธรรม ได้ความยุติธรรมคืน โดยหมดโอกาสที่จะกลับมามีอำนาจ

ขบวนการประชาธิปไตยจะชนะ ต้องประกอบด้วย 2 ส่วนคือมวลชนเสื้อแดง กับพลังเหตุผลของนักวิชาการนักเคลื่อนไหวฝ่าย 2 ไม่เอา ซึ่งเคยคัดค้านความไม่ชอบธรรมของทักษิณ แล้วก็คัดค้านรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ เพราะแม้คนเหล่านี้จะมีจำนวนหยิบมือ แต่มีเหตุผล เช่น การโต้แย้งคดียึดทรัพย์ของ อ.เกษียร อ.วรเจตน์ มีน้ำหนัก ส้งคมรับฟังมากกว่าที่ทนายทักษิณหรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทยพูด

ปัญหาก็คือจะเพิ่มบทบาทคนเหล่านี้ได้อย่างไร ตั้งแต่บุคคลระดับ อ.นิธิ อ.เกษียร อ.วรเจตน์ ดร.สมศักดิ์ มาจนถึง สนนท. หรือคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่อยู่ในเว็บประชาไท ฟ้าเดียวกัน ซึ่งผมเชื่อว่าจำนวนมากเชียร์แดง แต่ไม่ยักไปม็อบ เพราะยังมีจุดต่าง

เรามีคนฝ่ายนี้มากนะครับ แต่กระจัดกระจาย และแน่นอนว่าไม่ใช่คนที่จะรวมตัวกันไปก่อม็อบ เพราะต่างก็มีภาระในบทบาทของตน เช่นคุณจะให้ อ.วรเจตน์ขึ้นเวทีปราศรัย แกก็ไม่เอาด้วย แกขอวิจารณ์เรื่องกฎหมายเท่านั้น (เราต้องไม่เอาอย่าง พธม.ที่เอาบทบาทหน้าที่ไปรับใช้การเคลื่อนไหวทางการเมือง) ฉะนั้นปัญหาน่าจะอยู่ที่ model ว่าพลังส่วนนี้จะแสดงออกได้อย่างไร จะเสริมบทบาทของคนรุ่นใหม่ ที่คิดเห็นอย่างมีเหตุผล ให้แสดงออกต่อสังคมได้อย่างไร

ไม่คิดเรื่องนี้ ประชาธิปไตยไม่ชนะ เพราะบอกแล้วว่าลำพังเสื้อแดงไม่ชนะ ทักษิณยิ่งไม่ชนะ มีแต่พลัง 2 ไม่เอาที่จะโน้มน้าวคนชั้นกลางคนรุ่นใหม่ได้

ผมไม่เคยคิดว่ารูปแบบของชัยชนะคือเสื้อแดงยึดอำนาจ ปกครองประเทศ โค่นล้มโน่นนี่ แต่รูปแบบชัยชนะของประชาธิปไตยคือ สังคมกลับมาสู่ความมีเหตุผล ปฏิเสธความสุดขั้วสุดโต่งที่เกิดจากรัฐประหาร ล้างมลทินที่เกิดจากรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ไล่อำมาตย์กลับไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่คืออย่ายุ่งกับการเมือง และต้องอยู่ใต้อำนาจประชาชน วางกติกาใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ปลอดการแทรกแซง แล้วเดินหน้าต่อไป วันนั้นใครจะชนะเลือกตั้งไม่สำคัญ จะเป็น ปชป. จะเป็นเพื่อไทย แต่ถ้าให้ดี อยากเห็นพรรคเพื่อไทยแข่งกับพรรคการเมืองใหม่ โดย ปชป.กลายเป็นพรรคท้องถิ่น (ฮา)

อ้อ ลืมไป พลังที่จะล้มอำมาตยาธิปไตย นอกจากเสื้อแดง สองไม่เอา ที่จริงต้องมีแนวร่วมมุมกลับ คือพันธมิตรด้วย หัวโตคงบอกว่าผมเพ้อฝัน แต่ผมน่ะสังสรรค์กับหัวแถวพันธมิตรมากกว่าพวกหางแถวที่มาคอยเขียนด่าผม ซึ่งได้แต่นั่งฟังอยู่หน้าเวที เอาไว้ว่างๆ จะเขียนถึงแนวคิด Power Play ของพันธมิตรส่วนที่ไปจาก NGO จากภาคประชาชน แต่โดยสรุปคือ เขาหยุดไม่ได้ ด้านหนึ่งเขาปกป้อง “ระบอบไม่เอาทักษิณ” ที่พวกเขาร่วมสร้างขึ้น ให้มีอำนาจ และแชร์อำนาจ แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ยังไม่พอใจในอำนาจที่มีอยู่ ไม่พอใจในระบอบที่เป็นอยู่ ฉะนั้นพวกเขาก็ต้องต่อสู้ ต่อรอง เหมือนอย่างกรณีมาบตาพิษที่เป็นหอกข้างแคร่รัฐบาล เป็นปัจจัยเสี่ยงคู่ขนานกับม็อบเสื้อแดง

พันธมิตรน่ะเป็น “ตัวป่วน” ชั้นดีเลยละครับ จี้ก้นไว้อย่าให้เขาหยุดก็แล้วกัน

ใบตองแห้ง
19 มี.ค.53

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net