Skip to main content
sharethis
เทพไท เชื่อ เสื้อแดงจัดฉากทีมเชียร์ ชี้ มวลชนต่างจังหวัดบางส่วนทยอยกลับภูมิลำเนาแล้ว
20 มี.ค. 53 - นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.ที่จะเคลื่อนขบวนไปยังพื้นที่ต่างๆ ใน กทม.ว่า ตนรู้สึกกังวลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในลักษณะดาวกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการกระทบกระทั่งและการต่อต้านจากคนกทม.บางกลุ่ม โดยเฉพาะเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมามีขบวนรถผู้รักสันติที่ใส่เสื้อสีขาวพร้อมชูธงชาติเรียกร้องให้เกิดความสมานฉันท์ ซึ่งเกรงว่าหากมีการเผชิญหน้ากับกลุ่มนปช.จะเกิดการยั่วยุ และท้าทายให้นำไปสู่ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ตนขอเรียกร้องให้คนกทม.ใช้ความอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหากับม็อบเหล่านี้ เพราะคนที่เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันนี้ทางพรรคได้รับโทรศัพท์จากประชาชนชาว กทม.ว่ามีการว่าจ้างรถกระบะในราคา 2,000-3,000 บาท รวมไปถึงการจ้างคนเชียร์ในลักษณะการจัดตั้งไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างน้อยคนละ 500 บาท
 
นายเทพไท กล่าวว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงถ้าอ่านเกมจากท่าที่ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนคิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณกำลังปรับกลยุทธ์ในการชุมนุมค่อนข้างชัด โดยขู่มาทางวีดีโอลิ้งค์คือ1.พ.ต.ท.ทักษิณเห็นว่าคนเสื้อแดงเข้าร่วมการชุมนุน้อยลงจึงตองปรับเอามวลชนคนกทม.เข้าร่วมชุมนุม โดยการวีดีโอลิ้งค์เรียกร้องให้คนกทม.ใส่เสื้อสีอะไรก็ได้ เพื่อให้มาเข้าร่วมการชุมนุมประชาธิปไตย ภายใต้ยุทธศาสตร์ดอกไม้หลากสี ซึ่งตนคิดว่าอาจเป็นการระดมคน กทม.ในส่วนของชุมชนต่างๆ และบริเวณปริมณฑล เช่น จาก จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนนทบุรี ที่มีแกนนำของนปช.ค่อนข้างเข้มแข็งและมีมวลชนของตัวเองที่เป็นรูปธรรม 2.พ.ต.ท.ทักษิณใช้วิธีการให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยมารวมตัวเคลื่อนไหวที่เวทีคนเสื้อแดงในการขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล โดยยุติบทบาทในเวทีสภา ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้นแล้ว
นายเทพไท กล่าวต่อว่า 3.มีการระดมให้แกนนำบ้านเลขที่ 111 อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายนพดล ปัทมะ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา ขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างชัดเจน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ที่จะเดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย 4. จากการที่พ.ต.ท.ทักษิณประเมินว่าจะเป็นการชุมนุมม้วนเดียวจบ แต่วันนี้ได้ปรับกลยุทธ์เป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อซึ่งมวลชนในส่วนของคนต่างจังหวัดได้ทยอยกลับไปบ้างแล้ว จึงทำให้แกนนำนปช.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับดึงมวลชนจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาร่วมชุมนุมแทน โดยมีลักษณะขนคนมาเย็นกลับเช้า ดังนั้น ตนคิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณประเมินเรื่องค่าใช้จ่ายในการชุมนุมประมาณ 20 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งทำให้พ.ต.ท.ทักษิณสามารถทำให้การชุมนุมยืดเยื้อได้ไม่เกิน 1 เดือน และ 5.ปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลค่อนข้างชัดเจน โดยมีการส่งสัญญาณโจมตีทำลายความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ขณะเดียวกันตนคิดว่ากระแสสังคมส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสมานฉันท์ ความปรองดอง และการเจรจา จึงทำให้แกนนำนปช. 3 เกลอออกมาแก้เกี้ยวในลักษณะพร้อมที่จะเจรจากับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขว่าให้รัฐบาลยุบสภาก่อน ดังนั้น จึงไม่มี่เหตุผลที่ต้องคุย แต่หาก 3 เกลอสั่งเลิกม็อบชุมนุมก่อน ค่อยมาเจรจาจะมีทางเป็นไปได้มากกว่า
 
นายเทพไท กล่าวต่อว่า กรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นเวทีนปช.กล่าวพาดพิงรัฐบาลว่า ถ้าตนเป็นนายกฯ ก็จะยุบสภาไปแล้วนั้น ตนอยากถามว่าในวันที่นายสมัยเป็นนายกฯ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่กดดันรัฐบาลนายสมชายรุนแรงกว่านี้ หนำซ้ำเหล่าผบ.เหล่าทัพต่างออกทีวีแนะนำให้ยุบสภา ดังนั้น ขอยืนยันว่าวันนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์หามาตรการดูแลผู้ชุมนุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมายโดยไม่ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อเทียบกับรัฐบาลนายสมชายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
 
ส่วนกรณีการเปิดอภิปรายของ ส.ว.ที่ลงมติตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมตินั้น นายเทพไท กล่าวว่า ถือเป็นการใช้สิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญรัฐบาลยินดีที่จะเข้าชี้แจง แต่แปลกใจกรณีที่นายวิชาญ ศิริขัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ที่ออกมากล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่สนใจนำปัญหาเข้ามาหารือในที่ประชุมสภาฯ แต่รอให้เกิดปัญหาก่อน ขอชี้แจงว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจขอเปิดอภิปรายตามมาตรา 161 แต่เป็นหน้าที่ของ ส.ว.ที่จะขอเปิดได้ ดังนั้น ส.ว.ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ก่อนที่จะมาโทษรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เคยขอเปิดประชุมสภาร่วมตามมาตรา 176 มาแล้วหลังเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ แต่ครั้งนี้หากจะอ้างมาตรา 161 เป็นหน้าที่ของ ส.ว. ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเชื่อมั่นระบบรัฐสภาไม่เคยหนีปัญหา
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนเสื้อแดงทั้งหมดที่ถูกจัดตั้ง ได้รับค่าจ้างทั้งหมดใช่หรือไม่ นายเทพไท กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่มีบางส่วนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งมีไม่มากพอที่จะขับเคลื่อนเห็นเป็นขบวน จึงจำเป้ฯต้องมีการจัดตั้ง เพื่อต่อยอดให้มีจำนวนมากกว่านั้น ทั้งนี้ยอมรับว่าแฟนพันธุ์แท้ของกลุ่ม 3 เกลอน่าจะอยู่ที่ 20,000 คน และมีบางส่วนที่มาจากการจัดตั้งของส.ส.จากต่างจังหวัด ขณะนี้ส่วนใหญ่กลับต่างจังหวัดหมดแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดตั้งมวลชนในลักษณะหมุนเวียนไปมา เพื่อให้อยู่เต็มหน้าเวทีใหญ่ทุกคืน โดยอยู่ที่ราว 15,000.-20,000 คนทุกคืน ที่ผ่านมาทางพรรคได้รับแจ้งจากชาวบ้านย่านมีนบุรีว่ามีการระดมคนจากพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างมาก ซึ่งพรรคก็ติดตามข้อมูลทีได้รับแจ้ง และดูแลเป็นปกติ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ส.กทม.ของพรรคมีค่อนข้างมาก ได้มีการประเมินและเตรียมแผนรองรับไว้อย่างไรกับการที่ม็อบเคลื่อนไหยังพื้นที่ต่างๆ ใน กทม. นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่การชุมนุมของม็อบมา 7 วันได้มีการประชุมส.ส.กทม. ทั้ง 30 คน สก.34 และ สข.อีกกว่า 200 คน เพื่อหามาตรการรองรับใน 3 เรื่องคือ 1.เพื่อรับฟังปัญหาในแต่ละเขตพื้นที่ปัญหา และผลกระทบที่จะตามมา 2.ได้ให้สก. สข.ชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงต่อชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกบิดเบือน เพื่อหวังผลปลุกปั่น เช่น กรณีคลิปเสียงนายกฯ และการแอบอ้างโจมตีสถาบันเบื้องสูง 3.การยังยังกลุ่มมวลชนตามชุมชนต่างๆ ในกทม.ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมและยังติดภาพการสร้างความเสียหายในเหตุสงกรานต์เลือด ซึ่งแต่ชุมชนได้จัดตั้งมวลชนเพื่อปกป้องชุมชนของตัวเอง โดยให้สก สข.ทำความเข้าใจและดูแลเป็นพิเศษ โดยให้ทุกคนอดทนอดกลั้น เพราะมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกไปขยายสร้างสถานการณ์ และขยายประเด็นขัดแย้งได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ให้ล่าสุดแกนนำนปช.ออกมาปฏิเสธคณะกรรมการสิทธิฯ ที่เป็นตัวกลางในการเจราจรกับรัฐบาล เพื่อหาทางออกร่วมกัน จะทำอย่างไรต่อไป นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากทางคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ได้หารือกับแกนนำนปช. และได้รับสัญญาณจากแกนนำนปช.ว่าได้ปฏิเสธในการเจรจาเพื่อนำไปสู่การหารือ ซึ่งตนคิดว่าเมื่อมีสัญญาณดังกล่าวออกมาก็จะมีการหารือกัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมที่จะพูดคุย ซึ่งสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการคือความสงบกลับมาสู่ประเทศชาติ และอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับกติกาของบ้านเมือง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำคัญและไม่ควรมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรีบเร่งออกมาปฏิเสธการหาทางออกให้กับบ้านเมือง
 
เมื่อถามว่า เมื่อส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ แล้วการประชุมสภาฯ จะเริ่มต้นได้อย่างไร นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นการตัดสินใจถูกแล้วที่ไม่เข้าร่วมประชุม เพราะไม่ควรกระทำการใดๆ ที่จะเข้าเงื่อนไขในการเผชิญหน้า แต่ตนเชื่อว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลงก็สามารถเริ่มต้นการทำงานในสภาฯ ได้ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเข้าร่วมประชุมสภาได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าความเสี่ยงลดน้อยลง หากแกนนำนปช.สามารถออกมายืนยันได้ว่าจะไม่เดินทางไปที่หน้าสภาหากนายกฯ มาเข้าร่วมประชุม คาดว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็จะเข้าไปทำงานในสภาได้ตามปกติ
 
เมื่อถามว่า ส.ว.เข้าชื่อเปิดอภิปรายตามมาตรา 161 แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงไม่เข้าร่วมประชุม นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ไม่ แต่การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหารือในชาวง 2 ปีที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายเริ่มก่อน แต่ทั้งนี้ ต้องมั่นใจก่อนว่าจะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ซึ่งการขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภามีหลายช่องทาง แต่รัฐบาลต้องมั่นใจว่าจะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นแน่นอน และรัฐบาลพรอมที่จะศึกษาทุกช่องทางเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์จี้รัฐดำเนินคดีการจ้างผู้ชุมนุม – ชี้เจรจาโอกาสเป็นศูนย์
ด้านนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ได้ให้สัมภาษณ์กระตุ้นให้รัฐบาลใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงโดยเฉพาะในต่างจังหวัดและเขตปริมณฑลกรณีการจ่ายเงินเพื่อว่าจ้างประชาชนให้มาชุมนุมขับไล่รัฐบาล และหากแกนนำที่จ่ายเงินเป็นส.ส.ในพื้นที่ ก็ควรรายงานพฤติการณ์ดังกล่าวให้คณะกรรมการเลือกตั้งรับทราบ
 
“ขณะนี้มีการจ่ายเงินว่าจ้างให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพื่อทดแทนปริมาณผู้ชุนมุมที่ลดจำนวนลงไป โดยแกนนำคนเสื้อแดงต่อการสร้างยอดการชุมนุมให้ได้วันละ10,000-15,000คน เพื่อดึงให้สถานการณ์การชุมนุมยืดเยื้อและรอสถานการณ์พิเศษมาพลิกผันสถานการณ์ที่กำลังถดถอย การจ่ายเงินเน้นหนักที่ภาคเหนือ-ภาคอีสานและเขตปริมณฑล แม้แต่ในจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ของผมก็จ่ายเงินกันอยู่1,000-2,000บาทต่อคน”นายอรรถพรกล่าว
ส.ส.ผู้นี้กล่าวอีกว่า การจัดจ้างผู้ชุมนุมดังกล่าวเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยและทำลายเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำให้ขาดความชอบธรรม เช่นเดียวกับการชูพ.ต.ท.ทักษิณเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ซึ่งขัดแย้งกับการชูประเด็น”ไพร่-อำมาตย์”มาเป็นประเด็นหลัก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มเสื้อแดงเพลี่ยงพล้ำในทางยุทธศาสตร์ ขาดการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ และตนคาดว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะพักการชุมนุมภายในสัปดาห์หน้านี้
 
นายอรรถพร พลบุตร ยังได้ให้ความเห็นต่อกรณีการเปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดงว่า โอหาสที่จะหาข้อยุติได้มีเพียงศูนย์เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจในฝ่ายคนเสื้อแดงคือพ.ต.ท.ทักษิณซึ่งมีเงื่อนไขที่ก้าวไกลเกินกว่าการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา นั่นคือการนิรโทษกรรมและคืนทรัพย์สิน ซึ่งในประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจในทางกฎหมายที่จะตัดสินใจได้ อย่างไรก็ตามตนก็เห็นด้วยที่จะให้มีการเจรจาและรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งถือว่า เป็นประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เพื่อให้ชาติก้าวพ้นวิกฤติไปได้
 
รัฐบาลพร้อมเจรจากลุ่มคนเสื้อแดง แต่ต้องตั้งอยู่บนกติกาพื้นฐานการตกลงร่วมกันก่อน
เวลา 10.00 น. ณ แหล่งสมาคมนายทหาร กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงท่าทีของรัฐบาลในการดูแลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ติดตามดูมาโดยตลอดคือ ประเด็นในการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวมวลชนของทางฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามวิดีโอลิงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พบข้อเท็จจริงว่าขณะนี้แนวทางที่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องของการเจรจากันเพื่อที่จะหาทางออกจากสถานการณ์ที่มีการชุมนุม ที่ประกาศว่าเป็นการชุมนุมยืดเยื้อนั้น ท่าทีที่มีการแสดงออกมาจากฝ่ายของกลุ่มผู้ชุมนุมยังเป็นท่าทีที่ไม่มีความจริงใจ ที่จะมีการเจรจาที่ชัดเจน เนื่องจากล่าสุดได้มีการเรียกร้องให้มีการยุบสภาก่อนจึงจะมีการเจรจากัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเอง เห็นว่าข้อเสนอที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอเข้ามาเป็นตัวประสานการเจรจานั้น รัฐบาลพร้อมที่จะเจรจา แต่ต้องตั้งอยู่บนกติกาพื้นฐานของการที่จะต้องมีการตกลงร่วมกันก่อน เพราะฉะนั้นการสร้างเงื่อนไขของฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการแถลงออกมาเมื่อวานนี้(19มี.ค.53) จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเจรจาได้
 
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันจันทร์นี้ (22มี.ค.53) ทางฝ่ายของวุฒิสภาโดยสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนได้เสนอเข้ามาจะเป็นตัวกลางในการที่จะช่วยประสานการเจรจา โดยจะมีการนัดหมายกันอีกครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มอบหมายให้ตนและคณะเป็นผู้ที่จะไปพบปะกับทางกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ยังไม่ทราบว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะให้บุคคลใดมา ทั้งนี้คิดว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถหาทางคลี่คลายสถานการณ์นี้ให้จบลงโดยเร็ว เพราะขณะนี้เราเห็นว่าแนวทางการชุมนุมนั้น เมื่อมีการประกาศว่าจะมีการชุมนุมที่ยืดเยื้อทำให้เกิดความกังวลใจกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ที่มีความกังวลว่า ถ้าเหตุการณ์ยืดเยื้อก็จะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ
 
"อยากจะเรียนว่ารัฐบาลกำลังพยายามที่จะหาทาง เพื่อให้สถานการณ์ในการชุมนุมนั้น จบลงด้วยดี และจบลงในระยะเวลาที่ประชาชนมีความยอมรับได้ว่าสถานการณ์น่าจะที่จบลงได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นในการที่เคลื่อนไหวของทางฝั่งผู้ชุมนุมนั้น ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณฯ ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนชื่อของกลุ่มผู้ชุมนุมจากกลุ่มเสื้อแดง เป็นกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็ยังเห็นว่าประเด็นในการที่จะขับเคลื่อนในการเคลื่อนไหวทางมวลชนนั้น ก็ยังคงมีเนื้อหาเดิมอยู่ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการเคลื่อนไหว นั่นคือต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณฯ กลับมาสู่ประเทศ เพราะฉะนั้นการที่จะชี้แจงข้อมูลข่าวสารของฝ่ายรัฐเองก็จะกลับประสู่ประเด็นเคลื่อนไหวที่แท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจว่า แท้จริงแล้วการเคลื่อนไหวมวลชนนั้น ยังมีเป้าหมายเพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณฯ กลับมาสู่ประเทศ มีการพูดถึงเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม โดยนายนพดล ปัทมะ อย่าชัดเจน ดังนั้นเข้าใจว่าขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เองรู้ว่ามวลชนมีความสับสนและมีความอ่อนล้า จึงพยายามที่จะยกการเคลื่อนไหวเชิงประชาธิปไตยขึ้นมา หรือแม้แต่การสร้างกิจกรรมในกรุงเทพฯ เป็นการอำพรางเป้าหมายที่แท้จริงในการเคลื่อนว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณฯ ให้สามารถกลับมาได้ และยังมีเป้าหมายในเรื่องของการนิรโทษกรรมให้กับตัวเองอยู่ ซึ่งการชี้แจงต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป " รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
 
ส่วนประเด็นในเรื่องของกรณีวันที่ 20 มีนาคม 2553 นี้ที่มีการเคลื่อนไหวทั่วกรุงเทพฯ นั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลในวันนี้คือการดูแลไม่ให้เกิดการสร้างปัญหาในเรื่องของการจราจร โดยเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.53) ศอ.รส.ก็ได้มอบหมายทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเจรจาในเรื่องของเส้นทางการเดินรถ โดยล่าสุดเมื่อเช้านี้ก็มีข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถอีก ซึ่งทำให้เป็นปัญหาพอสมควรในการที่จะจัดการจราจร โดยขณะนี้ก็ยังมีการเจรจากันอยู่ เพื่อให้เส้นทางนั้นเป็นไปตามที่มีการประกาศกันมาในช่วงตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลก็ต้องป้องกันไม่ให้มีการปะทะกันของกลุ่มคนซึ่งอาจจะไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย
 
ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ TNN และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในช่วงบ่ายของวันนี้ว่า วัตถุประสงค์คือรัฐบาลต้องการที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ถึงความเข้าใจในการดูแลความเรียบในเรื่องของการจราจร และการพูดคุยเพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อให้การจราจรไม่ติดขัดมากเกินไปในถนนสายธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งตรงนี้นายกรัฐมนตรี ได้มีการชี้แจงรายละเอียดไปบ้างแล้ว ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้ที่มาชุมนุม ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมอาจจะไม่ได้ใช้เนื่องจากจำนวนผู้ชุมนุมอาจจะเปลี่ยนแปลงไปนั้นก็จะมีการเจรจาขอคืนพื้นที่ในบางส่วนด้วย โดยเฉพาะในบริเวณที่จะต้องมีการจัดงานต่างๆ
 
พร้อมกันนี้ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องของการรักษาความปลอดภัยว่า ยังดำเนินการเช่นเดิม โดยจะมีสายตรวจและชุดเคลื่อนที่เร็วมาดูแลพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนการชี้แจงในเรื่องของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของการเข้าถึงบริการและสิทธิ รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจไปบางส่วนแล้วว่าระบบของเรา ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย เพียงแต่อาจจะมีปัญหาหรือช่องว่างในบางส่วนในเรื่องของการเข้าถึงบริการ ซึ่งตรงนี้ก็เกิดขึ้นทุกรัฐบาล อย่างไรก็ตามรัฐบาลนี้ก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปรับปรุงดำเนินการต่อไป รวมทั้งยินดีรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนกับรัฐบาล
 
ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้การรายงานข่าวของสื่อต่าง ๆ รวมถึงสื่อต่างประเทศมองว่า ผลกระทบในระยะสั้นมีไม่มากนัก ทั้งนี้ถ้าดูตัวเลขในด้านการท่องเที่ยวนั้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 14 และ16 มีนาคม 2553 ตัวเลขยังเป็นบวกยกเว้นวันที่ 15 ที่ตัวเลขติดลบเล็กน้อยประมาณ 0.62 ถ้าเทียบกับปีที่แล้วก็เข้ามาประมาณ 26,000 - 27,000 ในแต่ละวัน ส่วนตัวเลขที่เป็นบวกนั้นสูงสุดประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าเราสามารถที่จะบริหารจัดการเรื่องของความเรียบร้อย การจราจรและภาพลักษณ์ที่ดีได้ ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคการท่องเที่ยวอาจจะมีน้อย โดยเฉพาะในช่วงนี้ก็ต้องขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อที่จะไม่ให้กระทบกระเทือนต่อภาคธุรกิจเอกชน
 
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเจตนาของกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงว่า คงจะยังใช้วิธีการที่จะขัดขวางไม่ให้รัฐบาลทำงานได้ เช่น การประกาศเมื่อวานนี้(19มี.ค.53) ว่า ถ้าไปทำงานที่ไหนก็จะไปเรียกร้องและปิดล้อม ซึ่งท่าทีของนายกรัฐมนตรีก็ชัดเจนคือเราจะไม่ให้มีการจับสังคมเป็นตัวประกัน แต่ขณะนี้ก็มีความพยายามจับสังคมเป็นตัวประกัน และใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวต่อรอง ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็พยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเดือดร้อนจากการจราจร จากการใช้พื้นที่ที่มากเกินกว่าจำนวนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้ ซึ่งตรงนี้ก็ประสบผลสำเร็จในเรื่องของการขอคืนพื้นที่บริเวณลานพระราชวังดุสิตแล้ว แต่จากนี้ไปรัฐบาลก็จะพยายามทุกทาง โดยการเจรจาก็เป็นอีกทางออกหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เราต้องรอความจริงใจจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเชื่อว่าคงรอสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณฯ ว่าพร้อมที่จะมีการเจรจา เพื่อหาทางออกในในเรื่องนี้หรือไม่
 
แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุมทุกครั้งเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลนั้นก็พยายามที่จะวางเป้าหมายว่าทำอย่างไรจะสามารถลดเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนลงให้ได้มากที่สุด และให้มีพื้นที่การชุมนุมเท่าที่จำเป็นและสร้างความเดือดร้อนให้น้อยที่สุด ซึ่งตรงนี้คิดว่าการปฏิบัติการพูดคุยกันหรือการเชื่อมโยงให้มีการเจรจากันเพื่อหาทางออกนั้น น่าจะต้องหาทางเร่งให้เกิดกระบวนการที่จะจบลงโดยเร็ว โดยเฉพาะในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่จะถึงนี้ เนื่องจากในสัปดาห์หน้ารัฐบาลมีอีกหลายงานที่จะต้องทำ ทั้งการประชุมสภา และการประชุมคณะรัฐมนตรี จึงมีความจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้นการที่จะพยายามใช้สังคมและความเดือดร้อนเป็นตัวประกันก็จะเป็นวิธีการซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะแก้ปัญหา เพราะเห็นว่าวิธีการดังกล่าวของผู้ชุมนุมนั้นจะไม่ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาใด ๆ ได้ นอกจากก่อให้เกิดความตึงเครียดที่อาจจะเผชิญหน้ากันมากขึ้น ฉะนั้นเรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องที่ต้องหาทางดำเนินการทุกทาง เพื่อที่จะลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความตึกเครียดเหล่านั้น
สำหรับกติกาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ พยายามจะสร้างขึ้นนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการเจรจากันต้องลดก่อน เช่น การไม่ไปปิดล้อมสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตพระราชฐาน ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ราชการอื่น เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ยังพยายามที่จะดำเนินการต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่สามารถจะเอื้ออำนวยให้ทำได้ แต่ถ้าหากมีการดำเนินการในลักษณะที่ยังพยายามที่จะขยายเรื่องของการสร้างความเดือดร้อนต่อไปนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่ฝ่ายรัฐต้องเจรจาและหาทางควบคุมความเดือดร้อนดังกล่าวให้อยู่ในปริมาณที่ไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนการเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณฯ นั้น ส่วนตัวยังเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่เห็นช่องทางที่เปิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณฯ แต่อย่างใด เหลือแต่เฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเท่านั้น ซึ่งยังกังวลว่ายังมีความแตกแยกกันอยู่สูง แต่เราก็ต้องพยายามหาทางเจรจากับคนที่สามารถจะเจรจาได้โดยภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลไม่ละเลยที่จะต้องควบคุมพื้นที่การชุมนุมหรือการสร้างความเดือดร้อนให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายก็เริ่มมีความรู้สึกว่าทำไมจึงปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อมาขนาดนี้ ตรงนี้ก็ต้องมีการทำความเข้าใจกัน เพราะสถานการณ์อย่างนี้มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหว ซึ่งไม่ง่ายในการที่จะทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย แต่ก็ต้องพยายามเพราะรัฐบาลมีหน้าที่โดยตรงในการที่จะต้องรักษาความสงบของสังคม โดยนายรัฐมนตรีก็ได้มีการประเมินในเรื่องนี้และพยายามทุกวิถีทางในการที่จะต้องคลี่คลายสถานการณ์นี้ให้จบลงโดยเร็ว
 
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงหากมีการชุมนุมยืดเยื้อว่า เรื่องการขยายดังกล่าวยังไม่ได้มีการหารือกัน ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ ซึ่งเข้าใจว่าช่วงบ่ายนี้ถ้าสอบถามนายกรัฐมนตรี คาดจะให้ความกระจ่างได้มากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มต่าง ๆ นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ยังไม่ไว้วางใจ โดยยังต้องมีการดูแลอย่างเต็มที่ต่อไป
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวยืนยันถึงกระแสข่าวลอบฆ่านายกรัฐมนตรีว่า ไม่ใช่การปล่อยข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่มีข้อมูล ซึ่งในสถานการณ์ขณะนี้อ่อนไหวต้องระมัดระวังทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่วนการประชุมครม.นั้นต้องรอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะเป็นสถานที่ใด อย่างไรก็ตามต้องทำงานให้ได้และทำให้สถานการณ์กลับเข้าภาวะสู่ปกติให้เร็วที่สุด
 
โฆษกปชป. เรียกร้อง 5 ข้อ เพื่อความสงบของบ้านเมือง
ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวการชุมนุมในกรุงเทพฯของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันนีว่า พรรคประชิปัตย์ ขอ งเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะให้เกิคความเสี่ยง และนำไปสู่ความวุ่นวายจากการเคลื่อนขบวน โดยขอเรียกร้อง 5 ข้อ กล่าวคือ 1. จะต้องเคลื่อนขบวนโดยไม่มีการปิดจราจรเป็นอันขาด เพราะเหตุการณ์ปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเคยเป็นตัวอย่างให้เกิดความวุ่นวาย รุนแรงให้เห็นแล้ว 2.ต้องไม่กระทำการใดๆที่เป็นการยั่วยุ ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการใช้สิ่งปฏิกูลขวางสัญลักษณ์ สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ใดๆ ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว 3 .ต้องไม่ออกนอกเส้นทางตามที่ได้ระบุไว้ว่าจะมีการเคลื่อนขบวน โดยเฉพาะการแบ่งขบวนเข้าในซอย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าของคนไทยด้วยกันเอง 4.ต้องไม่ปลุกกระดมด้วยข้อมูลเท็จ โดยเครื่องขยายเสียง เช่นการเปิดคลิปเสียง หากมีการฝ่าฝืนจะมีการดำเนิ นคดีโดยเด็ดขาด และ 5. ต้องไม่เข้าใกล้โรงพยาบาลศิริราช เพราะขณะนี้มีการตรึงกำลัง และมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการเผชิญหน้า ซึ่งจากการรายงานมาทราบว่าอาจจะมีการวางแผน ที่อาจมีสถานการณ์เกิดความวุ่นวายจนถึงขั้นปะทะกัน และจะอ้างเหตุว่าจะเข้าถวายรายงานดังที่แกนนำนปช. เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเห็นว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะผ่านไปด้วยดี หากการเคลื่อนขบวนดังกล่าวไม่มีการกระทำความเสี่ยงใน 5 ลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ตนยังได้รับรานงานมาว่ามีการเตรียมการนอกเหนือจากการเคลื่อนขบวนโดยประชาชนคนเสื้อแดง ในลักษณะเตรียมจัดฉาก สร้างกองเชียร์ เพื่อสร้างภาพว่าชาวกรุงเทพฯให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนปช. เพื่อหวังผลในการสร้างกระแสดึงประชาชนในต้างจังหวัด เข้ามาสมทบการชุมนุมเพิ่มเติม จึงขอเรียกร้องว่าขอให้การเคลื่อนขบวนเป็นไปตามธรรมชาติ รัฐบาลยืนยันจะดูแลสภาพการจราจร และไม่ให้เกิดความวุ่นวายในการเคลื่อนขบวน และอยากให้การเคลื่อนขบวนยุติลงในวันนี้
“คำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เอาชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ เป็นตัวประกันว่า รถจะติดต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ สิ่งนี้ถือว่าเป็นการประกาศเจตนาที่จะกดดัน เกินเลยการเคลื่อนขบวนที่แกนนำประกาศว่าจะสิ้นสุดลงในวันนี้ เพราะฉะนั้นก้ขอให้แกนนำรักษาคำพูดของตัวเอง และอดทนต่อคำชัดจูงของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้เหตุการณ์นำไปสู่ความวุ่นวายมากกว่าการชุมนุมโดยสงบ”โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการหารือและเจรจา ว่าขณะนี้สังคมอยากเห็นความสงบเกิดขึ้น อยากเห็นทุกฝ่ายยอมรับกติกาของบ้านเมือง และอยากเห็นกระบวนการหารือเริ่มต้น แต่เงื่อนสำคัญอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และเอกภาพของแกนนำว่าจะเข้าสู่กระบวนการโดยให้ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความวุ่นวายจากการชุมนุมในระหว่างนี้ โดยเฉพาะ พ.ตงท.ทักษิณ เองว่า จะให้โอกาสประเทศชาติร่วมแสวงหาข้อยุติ เพื่อเป็นทางออกของวิกฤติหรือไม่
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าเพราะฉะนั้นวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าการหารือนั้น ไม่ดีตรงไหน เหตุใดจึงออกมาปฏิเสธ ต่อต้าน หรือกลัวว่าคดีความส่วนตัวนั้น สังคมจะไม่ยอมให้นำมาใช้เป็นเงื่อนไข ในลักษณะที่เป็นบทคำขาดจากกระบวนการหารือและเจราจา สิ่งเหล่านี้จะได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการหารือนั้น หากตัวเองไม่ได้ประโยชน์ ก็ถือว่าหการเคลื่อนไหวทั้งหมดไปได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมตามที่อ้าง แต่เป็นไปเพื่อคดีความผิด และทรัพย์สินของตนเองทั้งสิ้น
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ในทางกลับกันหาก พ.ต.ท.ทักษิณไม่ทำตัวเป็นอุปสรรค ตนเชื่อว่าหากภายในสุดสัปดาห์นี้ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น กระบวนการที่จะเดินหน้าจะสามรถใช้กระบวนการคู่ขนานระหว่างการทำงานของคณะกรรมการสิทธิ์ฯในการหารือ คู่กับ กระบวนการของรัฐสภา เพื่อจะเริ่มต้นสร้างความสมานฉันท์ และยุติความรุนแรงในวันนี้ได้
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนา ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ตนเห็นว่าเป็นสาระ หรือเนื้อหาที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของทางออกในอนาคตได้ แต่ในวันนี้ สิ่งที่สำคัญที่ไม่ใช่สาระ แต่เป็นเรื่องกระบวนการก่อน ว่ากระบวนการใดที่ทุกฝ่ายยอมรับ และเข้าร่วมได้ อันนี้ถือเป็นหลักสำคัญที่รัฐสภา และคณะกรรมสิทธิฯพยายามแสวงหา และต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนา ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น เหตุผลที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ในขณะนี้ เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยได้ถอนตัวจากกระบวนการดังกล่าว และการเจรจาในวันนี้ จะเกิดขึ้นได้อยาก หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นผู้กำหนด และไม่ยอมให้ แกนนำกลุ่มนปช.ที่อยากหาทางออกโดยสันตินั้น เข้าร่วมกระบวนการ
 
“ผมเชื่อว่าการร่วมหารือเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งมวลชนคนเสื้อ ก็เห็นพ้องว่าควรจะเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยกัน แต่หากคุณทักษิณ ยังสนับสนุนวิธีการบิดเบือนความจริง เช่นการออกมาพูดถึงคลิปเสียงทุกวัน หรือ ออกมาบอกว่าการเคลื่อนไหวเป็นไปเพื่อประชาธิปไตย คุณทักษิณต้องตอบให้ได้ว่า เมื่อครั้งมีอำนาจเหตุใดจึงทำลาย และแทรกแซง กระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ จนระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไม่ได้ เมื่อคุรทักษิณมีอำนาจความเลื่อมล้ำก็สูงสุด กลุ่มคนที่อยู่ข้างล่างสุด เป็นหนี้สูงสุด ในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ตนเองและพวกพ้องร่ำรวยสุดในประวัติศาสตร์”โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว และว่า เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก้ไม่อยากให้ใช้เป็นข้ออ้างในการแบ่งแยกสังคมโดยใช้คำว่าสงครามชนชั้น เพราะยุคที่สังคมแตกแยกมากที่สุดมาจากพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่บังคับให้คนเลือกข้าง เลือกปฏิบัติ และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานว่า หากไม่ยอมเข้ามาเป็นมิตรก็ถือว่าศัตรูของผู้มีอำนาจ”
 
"ชวน" หวั่น "เสื้อแดง" ชูสงครามชนชั้น
ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค จ.ตรัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลก็พยายามรักษากติกาแก้ปัญหาด้วยวิธีสันติ หากใครก่อความรุนแรงเจ้าหน้าที่ก็ดูแลอยู่ ส่วนกรณีที่มีบางกลุ่มกล่าวหาว่า รัฐบาลเป็นคนสร้างสถานการณ์ นายชวนตอบว่า รัฐบาลจะทำไปทำไม เพราะตัวเองก็เดือดร้อนอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาความขัดแย้งจะบานปลายจนนำสู่สงครามระหว่างชนชั้นหรือไม่ นายชวน เชื่อว่า ยังมีคนพยายามทำอยู่ เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่จะยั่วยุจูงใจให้ชาวบ้านเกิดความอึกเหิม แต่สังคมไทยผ่านจุดนั้นไปแล้ว หากทุกฝ่ายยึดความจริง ความถูกต้อง บ้านเมืองในอนาคตก็จะไปได้ดี
 
นายชวนยังกล่าวอีกว่าตอนนี้เป็นประสบการณ์ช่วงหนึ่งของประชาธิปไตยประเทศไทยซึ่งแต่ละประเทศต่างก็มีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน วันนี้เป็นประสบการณ์ที่รัฐบาลเหนื่อยหน่อย แต่วันข้างหน้าถ้ารัฐบาลผ่านพ้นวิกฤติเหล่านี้ไปได้ ประชาธิปไตยของไทยก็จะไปได้ดี เพราะเราผ่านความยากลำบากมาแล้ว โดยไม่ทิ้งหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อยู่ที่รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่อย่างไร แต่นายกอภิสิทธิ์ เป็นผู้ที่ยึดกฎหมายบ้านเมือง และยึดความถูกต้องของบ้านเมืองเป็นหลัก ฉะนั้น คงไม่มีปัญหาอะไร
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวรู้สึกกังวลใจต่อสถานการณ์ขณะนี้ในเรื่องใดหรือไม่ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดอ่อนที่ผ่านมาคือ หลังรัฐประหารปี 49 ไม่มีการอธิบายเหตุผลความจำเป็น 4 ประการที่ต้องเกิดรัฐประหารให้ประชาชนได้เข้าใจกระจ่างชัด เพราะตนเคยพูดมาแล้วว่า การให้ความรู้ความเข้าใจเป็นแก่ประชาชน เป็นเรื่องจำเป็นตลอด หากไม่ทำจะย้อนกลับมากระทบความมั่งคง เพราะคนที่ไม่เข้าใจยังมีอยู่มาก
 
ฉะนั้นการให้ประชาชนรับรู้ความจริง จึงยังคงเป็นความจำเป็น ส่วนเรื่องการยุบสภาและปฏิวัติรัฐประหาร นายชวน กล่าวยืนยันว่า คงไม่มี เพราะเสียงพลังเงียบของประชาชนมีส่วนสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า ไม่ชอบการใช้วิธีรุนแรง ไม่ชอบวิธีนอกกฎหมาย ไม่ชอบวิธีเกินความเหมาะสมพอดี รวมทั้งการปาสิ่งปฏิกูล เพราะทำให้ประชาชนรู้สึกเครียด หรือไม่ชอบพฤติกรรมเหล่านี้ และพยายามให้หันมาสู่วิธีประชาธิปไตยมากขึ้น ตนยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคงแก้ได้ไม่ง่าย แต่เชื่อว่าถ้าใครยึดหลักความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งไม่เคยทำให้ใครเสียหาย สุดท้ายทุกอย่างก็จะดีเอง
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์คมชัดลึก,พรรคประชาธิปัตย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net