Skip to main content
sharethis
บุกช่วย 23 พม่าเหยื่อค้ามนุษย์
สยามรัฐ (15 มี.ค. 53) -
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.53 พล.ต.ท.วุฒิลิปตพัลลภ ผบช.สตม.สั่งการให้ พล.ต.ต.มนู เมฆหมอก ผบก.สส.ตม.และ พ.ต.อ.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ ผกก.2 บก.สส.สตม.นำกำลังเข้าตรวจสอบภายในเรือประมงสุทธิพงษ์ชัย (เค เอ็ม มาริบู 88) ซึ่งจอดอยู่บริเวณท่าเรือ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังสืบทราบว่าเรือดังกล่าว มีการบังคับแรงงานต่างด้าวให้ทำงานอย่างทารุณกรรม เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ โดยสามารถเข้าช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าได้ทั้งสิ้น 23 คน
สอบสวนทั้งหมดรับสารภาพ ลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก จากนั้นมีนายหน้าชาวไทยมารับโดยบอกว่าจะส่งไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแต่กลับส่งตัวมาทำงานบนเรือประมงแทน พร้อมบังคับให้กินนอนอยู่ในเรือประมงโดยสั่งคนเฝ้าไว้ไม่ให้หลบหนี ที่ผ่านมาทำงานยังไม่เคยได้รับเงินค่าจ้าง เบื้องต้นอยู่ระหว่างการสอบสวนหาตัวเจ้าของเรือประมงเพื่อขออนุมัติหมายจับมาดำเนินคดี ส่วนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนเพื่อทำการผลักดันออกนอกประเทศต่อไป
จนท.กัมพูชาออกคำเตือนห้ามแรงงานเข้าไทย
เว็บไซต์คมชัดลึก (15 มี.ค.53) -
กระทรวงกิจการต่างประเทศของลาว ได้ประกาศเตือนพลเมืองเรื่องการเดินทางมายังประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุง เทพฯ ที่กำลังมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ โดยหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ นิวส์ รายงานว่า กระทรวงกิจการต่างประเทศได้เตือนสาธารณชนทั่วไป , เจ้าหน้าที่ทางการ , นักธุรกิจ และนักศึกษา ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย ในขณะที่ยังมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน
รัฐบาลไทยได้กำหนดให้กรุงเทพฯและอีก 7 จังหวัดในเขตปริมณฑล อยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน ตั้งแต่วันที่11-23มีนาคม ในกรณีที่อาจเกิดความรุนแรงจากการประท้วง รายงานระบุว่า ผู้ประท้วงราว 1 แสนคน ได้ไปชุมนุมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อพยายามบีบให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่
ขณะนี้ มีราว 30 ประเทศแล้ว ที่ประกาศเตือนให้พลเมืองหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพฯ ในเดือนนี้ ถ้าเป็นไปได้ กระทรวงกิจการต่างประเทศของลาว ได้เตือนไปยังพลเมืองที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วยว่า ไม่ให้ไปยังพื้นที่ที่มีการชุมนุมประท้วง ซึ่งจากการประเมิน พบว่า มีคนลาวเข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทยราว 120,000 คน ซึงแม้ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจเบ่งบานกว่าลาว แต่ระบบการเมืองกลับมีเสถียรภาพน้อยกว่า
ลาวถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียว มาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2518 และไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการก่อการประท้วง หรือความสงบทางการเมือง ในประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดต่อทางน้ำและมีประชากรประมาณ 6 ล้านคนแห่งนี้มาก่อนเช่นกัน
นายยง เนี๊ยะ อายุ 40 ปี พ่อค้าชาวกัมพูชา ที่เข้ามาขายสินค้าในตลาดโรงเกลือ ฝั่งไทย ด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กล่าวว่าตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาเที่ยวตลาดโรงเกลือ ลดลงกว่า 50% ปกติเคยขายสินค้าได้วันละประมาณ 10,000 - 20,000 บาท ต่อวัน แต่ปรากฏว่าในช่วงนี้ขายได้วันละประมาณ 5,000 บาท เท่านั้น และช่วงนี้ผู้ค้าในตลาดโรงเกลือ ต่างติดตามข่าวสารการชุมนุมตลอดเวลา เพราะกลัวเหตุการณ์ปรพท้วงในไทยจะลุกลาม ส่งผลให้เกิดการปิดด่านพรมแดน เนื่องจากมีข่าวลือออกมาเป็นระยะว่าจะมีแกนนำคนเสื้อแดง เดินทางหนีเข้ากัมพูชา
"ในช่วง 2-3 วัน นี้ เจ้าหน้าที่ของกัมพูชา ประจำปอยเปต ได้สั่งห้ามแรงงานชาวเขมรที่จะเดินทางไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ห้ามเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงนี้จนกว่าเหตุการณ์ประท้วงสงบ เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายได้ " ผู้ค้ารายนี้ ระบุ ส่วนบรรยากาศในฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา และเจ้าหน้าที่กัมพูชาประจำกรุงปอยเปต ต่างให้ความสนใจติดตามข่าวสาร เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างใกล้ชิด โดยมีการเปิดทีวี และติดตามทางอินเตอร์เน็ต อยู่ตลอดเวลา
ขาดแรงงานลามเข้าปั๊มน้ำมัน สงขลา รร.อ่วมหนักรอบ 10 ปี
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (16 มี.ค. 53) -
นายจรัญ ขาวหนูนา กรรมการผู้จัดการ หจก.วัฒนฐากูร กรรมการชมรมผู้ประกอบการค้าน้ำมันจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ปัจจุบันขาดแคลนแรงงานในสาขาภาคบริการของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จะเห็นว่าหลายแห่งมีการประกาศรับสมัครพนักงานบริการ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดแคลน เนื่องจากยางพาราที่ราคาดีอยู่ขณะนี้ ทำให้แรงงานเหล่านี้หันไปทำงานกับภาคเกษตรกรรม บางรายมีรายได้ 2,000 บาทต่อวัน ดังนั้น จึงเป็นข้อแตกต่าง ที่ส่งผลมาถึงการจ้างงาน
"ที่ปั๊มต้องหาทางออกเอง โดย หจก.วัฒนฐากูร ให้ลูกค้าเติมน้ำมันเอง และให้ส่วนลด 20 สตางค์ต่อลิตร แต่ด้วยนิสัยคนไทยก็ไม่ยอมที่จะทำด้วยตนเอง ก็ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งหายไปด้วย แต่ปั๊มจำเป็นต้องปรับตัว และเชื่อว่าปัญหาเดียวกันนี้พบกันทุกแห่ง ขณะนี้ เจอเหมือนกันทุกปั๊ม ตอนนี้พนักงานที่ปั๊มจ้างกันที่ 6,000 บาทต่อเดือน เริ่มต้นทั้งที่ไม่เป็นงานอะไร ส่วนลูกค้าที่เข้ามานอกจากต้องการเติมน้ำมันส่วนหนึ่ง ก็ต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องการเช็คลมยาง และบริการอื่นๆ ซึ่งต่อไปอาจจะไม่มีให้ ในอนาคตลูกค้าเองก็ต้องปรับตัวด้วย" นายจรัญกล่าว
นายสมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร นายกสมาคมธุรกิจโรงแรมนครหาดใหญ่-สงขลา เปิดเผยว่า ในภาคธุรกิจโรงแรมในรอบ 10 ปี นี้พบว่าประสบปัญหาการไหลเวียนของพนักงาน กล่าวคือ พนักงานโรงแรมส่วนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถ ก็จะลาออกเพื่อหางานใหม่และที่ได้เงินเดือนสูงกว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศและมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูงกว่าสงขลา
"โรงแรมเกือบทุกโรงแรมมีปัญหาเรื่องพนักงานไม่เพียงพอ โดยกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคบริการ มาจากสาเหตุเรื่องของสวัสดิการที่พนักงานเหล่านี้ที่จะได้รับ ซึ่งตลาดในจังหวัดที่มีศักยภาพมีสวัสดิการที่เป็นเหตุจูงใจสำคัญ"
นายกสมาคมธุรกิจโรงแรม กล่าวว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่ธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ขาดแคลน คือ พนักงานฝ่ายต้อนรับ ห้องอาหาร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้น "ปัญหาที่เกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้ เราเองก็ต้องยอมรับและเข้าใจว่าพนักงานทุกคนต้องดิ้นรนอยากได้เงินเยอะๆ ทำให้ปีนี้ เป็นปีที่ขาดพนักงานมากที่สุด" นายสมชาติระบุ
แรงงานขาด 3 แสนคน อุตฯ จี้สอบผู้ท้าชิง สอท.
ไทยโพสต์ (
16 มี.ค. 53) - นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานแรงงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์แรงงานในปีนี้ถือว่าเป็นวิกฤติขาดแคลนภาคแรงงานหนักสุดในรอบ 10 ปีเมื่อเทียบจากสถิติที่ผ่านมา เพราะอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี เฉลี่ยแต่ละปีมีการปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในภาคแรงงานนั้นก็ถือว่าเติบโตไม่มากนักหรือไม่หวือหวา ซึ่งขณะนี้ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมกำลังขาดแคลนแรงงานประมาณ 2-3 แสนคน เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมมียอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากต่างประเทศเข้าเฉลี่ยประมาณ 20-30% จึงส่งผลทำให้ทุกโรงงานมีความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้นตามด้วย
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการประสานงานกับกระทรวงแรงงาน ขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่จะมีแรงงานเข้ามาแจ้งขอรับความจำนงตามที่กระทรวงแรงงานประกาศไว้เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งหันไปทำอาชีพการเกษตร โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ด้าน นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ในวันที่ 16 มี.ค.นี้ จะมีการเชิญนายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน และนายสุรพร สิมะกุลธร 2 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ที่ร้องเรียนว่ากระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใสเข้ามาสอบถามข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นที่ร้องเรียนเข้ามา และในวันพุธที่ 17 มี.ค.นี้ทางคณะกรรมการฯ ก็จะเชิญนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่อีกรายเข้ามาให้ข้อมูล นอกจากนี้ก็จะทยอยเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลประกอบด้วย เช่น เจ้าหน้าที่ของ ส.อ.ท.
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กระบวนการเลือกตั้งคณะกรรมการ ส.อ.ท.ชุดใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มี.ค.นี้ก็ยังเดินหน้าตามปกติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการแจ้งจากทางคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่เลย ซึ่งก็ยังมั่นใจว่าทางกลุ่มของตนยังมีคะแนนเสียงสูงกว่า
เผยปัญหาแรงงานหญิง งานหนักแต่รายได้น้อย
เว็บไซต์ไทยโพสต์ (
16 มี.ค. 53) - นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ปัญหาของแรงงานหญิงที่มักเกิดขึ้นคือ จะได้รับค่าตอบแทนน้อยแต่งานหนัก ขาดความต่อเนื่อง ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป และการเลือกปฏิบัติทางเพศ เป็นต้น ซึ่ง กสร.ได้พยายามเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานหญิงให้มีคุณภาพชีวิตและได้รับความคุ้มครองเท่ากับแรงงานชาย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ หรือการเลือกปฏิบัติทางเพศก็ไม่ชัดเจนและไม่รุนแรงเท่ากับในอดีต เพราะถ้าผู้หญิงมีความรู้ความสามารถมากก็ไม่มีใครสกัดกั้นบทบาทความเท่าเทียมได้ จึงอยากให้แรงงานหญิงมุ่งมั่นพัฒนาตนเองและเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ เพื่อจะได้มีโอกาสคัดเลือกเป็นผู้แทนหรือผู้บริหารองค์กรในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากตอนนี้ ซึ่งมีตัวแทนจากแรงงานชายมากกว่า
นางอัมพรกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กสร.ได้ทำหน้าที่ดูแลผู้ใช้แรงงานทั้งชายและหญิง เช่นค่าจ้างที่เท่าเทียม สวัสดิการต่างๆ การลาคลอด ซึ่งในอีกบทบาทหนึ่งแรงงานหญิงต้องเป็นแม่ด้วย กสร.เข้าใจในภาระส่วนนี้ ประกอบกับที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในเขตชุมชนย่านอุตสาหกรรม ขณะนี้ กสร.ได้จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการรวม 58 แห่ง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แรงงานหญิงเดือนละ 3,000 บาท
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานโดย กสร.ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานสตรีขึ้นในวันสตรีสากล 8 มีนาคม เป็นประจำทุกปี เพื่อให้สตรีทำงานทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง สามารถปรับตัวพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลก ก้าวทันเหตุการณ์และเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม และเพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักถึงความสำคัญของสตรี ทำงานโดยช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมให้สตรีทำงานอย่างมีความสุขและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
โดยปีนี้ได้จัดงานวันสตรีสากลเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ภายในบริเวณกระทรวงแรงงาน ภายใต้ชื่องานว่า "แรงงานสตรี มีส่วนร่วมพัฒนา ผลผลิตก้าวหน้า นำพาเศรษฐกิจเข้มแข็ง" ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กราบทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประทานโล่รางวัลแก่สตรีทำงานดีเด่น ประจำปี 2553 ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ จากตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551 ประเทศไทยมีแรงงานสตรีที่อยู่ในระบบจำนวน 6.33 ล้านคน และมีแรงงานสตรีที่อยู่นอกระบบอีก 11.09 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานสตรีที่อยู่ในความคุ้มครองดูแลของกระทรวงแรงงาน 3.8 แสนคน
พนง.กว่า 1 พันตบเท้าฟ้องกทท.จ่ายเงินล่วงเวลากว่า1,400ล้าน
พิมพ์ไทย (
16 มี.ค. 53) - จากกรณีพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รวม 29 คน ได้ยื่นฟ้องการท่าเรือฯต่อศาลแรงงานกลาง โดยขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาบังคับให้การท่าเรือฯ จ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้การท่าเรือฯจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท
นายระวัง อินทรกล่อม พนักงานการท่าเรือฯ เปิดเผยกับ" ทีมข่าวเฉพาะกิจพิมพ์ไทยรายวัน" ว่า ขณะนี้ตนและเพื่อนพนักงาน กทท.ทั้ง 29 คนได้ตั้งทนายเพื่อฟ้องร้องคดีอาญากับนางสุนิดา สกุลรัตนะ อดีตรักษาการผอ.การท่าเรือฯ พร้อมพวก ฐานร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยสั่งห้ามตนทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการริดรอนสิทธิ และมีเจตนากลั่นแกล้งตนเอง ในขณะที่พนักงานคนอื่นๆ กลับได้รับสิทธิทำงานล่วงเวลาตามปกติ ซึ่งการกลั่นแกล้งของผู้บริหารฯ ครั้งนี้ ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย จึงต้องดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดผู้บริหารฯ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมคืนมา
ด้านแหล่งข่าวจากพนักงานการท่าเรือฯ กล่าวกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจพิมพ์ไทยรายวัน" ว่าพนักงานของการท่าเรือฯ ในกลุ่ม 29 คน ไม่เพียงแต่นายระวังเท่านั้นที่ถูกผู้บริหารฯ ตามเช็กบิล ใครที่ยังไม่ปลดเกษียณต่างก็โดนกลั่นแกล้งในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในส่วนของนายระวัง ถือเป็นความกล้าหาญที่ออกมาฟ้องร้องผู้บริหารฯ ทำให้ผู้บริหาร กทท.ไม่พอใจอย่างมาก
ขณะเดียวกันการประชุมพนักงานที่ปฏิบัติงานล่วงเวลา เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2553 มีมติว่า 1.พนักงานฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าล่วงเวลาตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยด่วนที่สุด 2.หากพนักงานที่ปฏิบัติงานล่วงเวลาที่ฟ้องศาลถูกหน่วยงานต้นสังกัดลงโทษให้พักล่วงเวลา จะดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้สั่งการหรือผู้ที่มีส่วนสนับสนุนสั่งการ
อย่างไรก็ตาม หากผู้บริหาร กทท.ยังไม่ยกเลิกคำสั่งพักล่วงเวลาภายในวันที่ (15 มี.ค.) พนักงานการท่าเรือฯ จะเข้าร้องเรียนต่อพล.ต.สนั่นขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.แรงงาน รวมถึงคณะ กมธ.แรงงานสภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสต่อไป
"ทีมข่าวเฉพาะกิจพิมพ์ไทยรายวัน" รายงานด้วยว่า จากการลงพื้นที่การท่าเรือฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกปมร้อนดังกล่าว พบว่าขณะนี้ได้มีพนักงานการท่าเรือฯ กว่า 1,400 คน จากการท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง กำลังทยอยยื่นฟ้องผู้บริหารการท่าเรือฯ ขอให้จ่ายเงินชดเชยค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งคิดเป็นเงินที่การท่าเรือฯ ต้องควักจ่ายให้พนักงานกว่า 1,400 ล้านบาท
ห้ามส่งคนงานไทยไปอิสราเอลพบมีการเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง
พิมพ์ไทย (
18 มี.ค. 53) - นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมหารือร่วมระหว่างพลตำรวจเอกเฉลิมเดชชมพูนุท อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ในฐานะตัวแทนสหภาพแรงงาน Histadurt (ฮิส-ตา-ดุส) กับผู้รับอนุญาตจัดหางานไทย กว่า 30 บริษัท ว่าเป็นการเรียกบริษัทที่ได้รับอนุญาตจัดส่งแรงงานไทยไปประเทศอิสราเอล มากำชับและทำความเข้าใจในการเรียกเก็บค่าบริการจัดส่งไม่เกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ อัตราค่าจ้าง 5 เดือน หรือเกิน 220,000 บาท พร้อมทั้งแนะนำให้บริษัทที่จะส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลสมัครสมาชิกสหภาพแรงงานHistadurt ให้กับคนงาน เพื่อให้ได้รับการดูแลคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานท้องถิ่น ซึ่งต้องเสียค่าสมาชิกเดือนละ 300 บาท
ขณะที่พลตำรวจเอกเฉลิมเดช กล่าวว่า คนหางานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน Histadurt จะได้รับการคุ้มครองครอบคลุมไปถึงการดูแลเรื่องสภาพความเป็นอยู่ อัตราค่าจ้าง สวัสดิการต่างๆรวมไปถึงช่วยเหลือเรื่องกฎหมายหากมีการเกิดคดีความ
ด้านนายวีระ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการบริษัทจัดหางาน อีโคโนมิคส์ คอร์ปอเรชั่นจำกัด ผู้ได้รับอนุญาตจัดหางานไทยไปทำงานอิสราเอล กล่าวว่า หากสหภาพแรงงาน Histadurt สามารถดูแลผู้ใช้แรงงานได้จริง บริษัทที่ได้รับอนุญาตจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลก็พร้อมที่จะสมัครเป็นสมาชิก พร้อมแนะนำให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้รอบครอบ ซึ่งการที่จะดูแลไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าบริการที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และควบคุมการเรียกเก็บค่าตำแหน่งของอิสราเอลไม่ให้สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดด้วย
จับแรงงานเถื่อน 17 คนหนีเข้ากทม.
เว็บไซต์สยามรัฐ (18 มี.ค. 53) -
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2553 ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ปิดล้อม ติดตามจับกุมแรงงานพม่า 17 คน แยกเป็นชาย 5 คน และหญิง 12 คน พร้อมนายยอดชาย คีรีประณีต ญาติกำนันคนหนึ่งในพื้นที่เป็นคนขับรถยนต์ และผู้นำพา ได้ในพื้นที่รับผิดชอบบริเวณบ้านแม่โขะ หมู่ที่ 5 ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง ขณะกำลังโดยสารรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า สีเขียว หมายเลขทะเบียน 2800 ตาก เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และหาทางเข้ากรงเทพมหานคร
โดยเจ้าหน้าที่ได้นำมาสอบสวนที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 บ้านวังแก้ว ตำบลแม่ปะ อ.แม่สอด ซึ่งทางพันเอกนภดล วัชรจิตบวร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด สั่งให้ทหารตรวจสอบบุคคลต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองทุกรายว่า จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ หลังจากนั้นให้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเองจังหวัดตากเพื่อดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
เผยหนุ่มขอนแก่นเสียชีวิตจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่อิสราเอล
แนวหน้า (
19 มี.ค. 53) - นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่แรงงานไทยในประเทศอิสราเอลถูกจรวดของกลุ่มติดอาวุธอันซาร์ อัล ซันนา จนเสียชีวิตระหว่างการทำงาน ว่า แรงงานไทยที่เสียชีวิต คือ นายมณี สิงห์เมืองพล อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 5 ต.กุดขอนแก่น อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น โดยนายมณีได้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2549 ผ่านบริษัท เซฟกรุ๊ป จำกัด ซึ่งขณะเกิดเหตุนายมณีกำลังทำงานปลูกผักอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทอยู่ระหว่างการประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เพื่อดำเนินการส่งศพกลับประเทศ
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นทราบว่าทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินสิทธิ ประโยชน์ จากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ในอัตราเหมาจ่ายไม่เกิน 40,000 บาท ได้รับเงินประกันที่บริษัทนายจ้างทำให้อีกประมาณ 140,000 บาท นอกจากนี้ ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการอิสราเอล เนื่องจากเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานประมาณ 900,000 – 1,200,000 บาท อีกด้วย
นายไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงแรงงานมีมาตรการรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศ อิสราเอล ที่ปัจจุบันมีแรงงานไทยกว่า 13,636 คน โดยจะกำชับให้บริษัทนายหน้าที่นำแรงงานงานไทยไปทำงานอยู่ในอิสราเอลดูแลแรง งานไทยอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นต้องให้แรงงานไทยหยุดงานทันที ทั้งนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวมีแรงงานไทยทำงานอยู่ใกล้พื้นที่การสู้รบจำนวน 16 คน ซึ่งได้สั่งการณ์ไปยังสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศประสานกับนายจ้าง สั่งพักงานคนงานไทยที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแรงงานไทยแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศแต่อย่างใด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทางสถานทูตไทยในอิสราเอลจะไปรับตัวคนงานออกนอกพื้นที่ทันที
ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า ในปี 2552 แรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปในประเทศอิสราเอล จำนวน 2,966 คน ในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จำนวน 980 คน ขณะที่มีการคาดการว่ามีแรงงานไทยทำงานในอิสราเอลประมาณ 13,636 คน
คนงานไทรอัมพ์ฯรับมอบจักรประเดิมล็อตแรกจำนวน 197 ตัว
ประชาไท (18 มี.ค. 53) -
หลังจากนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงานนายธวัช สุรินทร์คำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงาน และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ลงนามร่วมกันในข้อตกลงการมอบจักรเย็บผ้าจำนวน 250 ตัวเพื่อช่วยเหลือในการประกอบอาชีพให้กับอดีตคนงานบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ฯ ที่กระทรวงแรงงาน
นางสาวจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 จังหวัดสมุทรปราการนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และนายธวัช สุรินทร์คำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ส่งมอบจักรเย็บผ้าจำนวน 197 ตัว ให้กับคนงาน โดยทั้งสองระบุว่า จักรที่เหลืออีก 53 ตัวนั้นให้มารับเพิ่มในวันที่ 24 มี.ค.ที่จะถึงนี้
นางสาวจิตรา ระบุว่า จักรที่ได้รับนั้นเป็นจักรที่พวกเธอเคยใช้ในโรงงานของไทรอัมพ์ฯมาก่อน โดยจักรทั้งหมดยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ สำหรับชุดชั้นในยี่ห้อ Try Arm ของพวกเธอผลิตนั้น ขณะนี้ได้ที่ทำการผลิตแล้วอยู่ที่สุขุมวิท 115 นอกจากนี้ ยังได้เปิดเว็บไซต์www.tryarm.org เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าด้วย
ทั้งนี้ อดีตคนงานบริษัทบอดี้ แฟชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ จำนวน 1,959 คน ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของคนงานทั้งหมดที่โรงงานบางพลี ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 31 ส.ค.52 ได้ชุมนุมต่อเนื่องที่บริเวณใต้ถุนอาคารกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.52 เป็นต้นมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรวมถึงกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาการเลิกจ้างปัจจุบันได้ยุติการชุมนุมและย้ายออกจากบริเวณดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา
“ไพฑูรย์” กำชับนายจ้างอิสราเอลดูแลแรงงานไทย หลังคนงานสังเวยชีวิตที่ปาเลสไตน์
เว็บไซต์แนวหน้า (20 มี.ค. 53) -
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่แรงงานไทยในประเทศอิสราเอลถูกจรวดของกลุ่มติดอาวุธอันซาร์ อัล ซันนา จนเสียชีวิตระหว่างการทำงาน ว่า แรงงานไทยที่เสียชีวิต คือ นายมณี สิงห์เมืองพล อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 5 ต.กุดขอนแก่น อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น โดยนายมณีได้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2549 ผ่านบริษัท เซฟกรุ๊ป จำกัด ซึ่งขณะเกิดเหตุนายมณีกำลังทำงานปลูกผักอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทอยู่ระหว่างการประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เพื่อดำเนินการส่งศพกลับประเทศ
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นทราบว่าทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินสิทธิประโยชน์ จากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ในอัตราเหมาจ่ายไม่เกิน 40,000 บาท ได้รับเงินประกันที่บริษัทนายจ้างทำให้อีกประมาณ 140,000 บาท นอกจากนี้ ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการอิสราเอล เนื่องจากเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานประมาณ 900,000 – 1,200,000 บาท อีกด้วย
นายไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงแรงงานมีมาตรการรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล ที่ปัจจุบันมีแรงงานไทยกว่า 13,636 คน โดยจะกำชับให้บริษัทนายหน้าที่นำแรงงานงานไทยไปทำงานอยู่ในอิสราเอลดูแลแรงงานไทยอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นต้องให้แรงงานไทยหยุดงานทันที ทั้งนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวมีแรงงานไทยทำงานอยู่ใกล้พื้นที่การสู้รบจำนวน 16 คน ซึ่งได้สั่งการณ์ไปยังสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศประสานกับนายจ้างสั่งพักงานคนงานไทยที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแรงงานไทยแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศแต่อย่างใด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทางสถานทูตไทยในอิสราเอลจะไปรับตัวคนงานออกนอกพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า ในปี 2552 แรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปในประเทศอิสราเอล จำนวน 2,966 คน ในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จำนวน 980 คน ขณะที่มีการคาดการว่ามีแรงงานไทยทำงานในอิสราเอลประมาณ 13,636 คน
กสร.ดึงแรงงานนับแสน ถวายสัตย์ปฏิบัติธรรม แด่พ่อหลวง 26 มีนาคมนี้
แนวหน้า (
20 มี.ค. 53) - นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่ กสร.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำโครงการแรงงานไทยร่วมใจถวายสัตย์ปฏิบัติธรรมน้อมนำถวายแด่องค์พ่อหลวงของปวงประชา เพื่อเผยแผ่หลักธรรมทางศาสนาพุทธไปสู่นายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 นั้นในวันที่ 26 มีนาคม 2553 นี้ กสร.จะจัดพิธี และปฏิบัติธรรมร่วมกัน โดยมีนายจ้างและลูกจ้าง เข้าร่วมโครงการ ที่บริเวณอุโบสถกลางน้ำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
สำหรับที่มาของโครงการดังกล่าว นั้น อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวว่า ด้วยปี 2552 เป็นปีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2552 กสร. จึงร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง โครงการแรงงานไทยร่วมใจถวายสัตย์ปฏิบัติธรรมน้อมนำถวายแด่องค์พ่อหลวงของปวงประชา
ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นายจ้าง และลูกจ้าง ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน ด้วยการฟังพระธรรมเทศนา ปฏิบัติธรรม และศึกษาหลักธรรมทางศาสนาพุทธ เพื่อน้อมนำเอาหลักธรรมคำสอนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิต สร้างวิถีชีวิตที่ถูกต้อง นำความสงบสุขสู่ชีวิตครอบครัวและสังคม
โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 และต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี 2553 ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกสร.ตั้งเป้าหมายว่าจะผู้เข้าร่วมโครงการ 7.6 หมื่นคน โดยล่าสุด ต้นเดือนมีนาคมนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 4.6 หมื่นคน
ว่างงาน! รีบขึ้นทะเบียนด่วน เกิน 30 วัน รับประโยชน์ทดแทนไม่ครบถ้วน
บ้านเมือง (20 มี.ค. 53)
- สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระตุ้นผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง หรือออกจากงานให้รีบขึ้นทะเบียนหางาน ณ. สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างเพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากขึ้นทะเบียนล่าช้าเกิน 30 วัน ประโยชน์ทดแทนที่ได้รับจะลดลงตามระยะเวลาที่ยื่นล่าช้า โดยเตรียมหลักฐานได้แก่ รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 2 รูป บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการออกจากงานหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน
สำหรับประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนว่างงานได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ การบริการจัดหางาน การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน โดยผู้ประกันตนจะได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่หากมีตำแหน่งงานที่เหมาะสม หรืออาจได้รับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานหากจำเป็น และผู้ประกันตนจะต้องไปรายงานตัวต่อสำนักจัดหางานของรัฐเดือนละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้การจ่ายเงินทดแทนระหว่างว่างงาน กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนร้อยละ50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ครั้งละไม่เกิน 180 วัน ใน 1 ปี ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้างไว้แน่นอน จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในระยะเวลาไม่เกิน 90 วันทั้งนี้ สปส. จะจ่ายเงินทดแทนโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนเป็นรายเดือนหากผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการ หรือปฏิเสธงานที่จัดหาให้ และไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด สปส. จะงดจ่ายประโยชน์ทดแทนทันที
หากผู้ประกันตนประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-20)ด้วยตนเองได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้าง ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะนำส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท ศูนย์สารนิเทศ สอบถามประกันสังคม โทร. 1506 www.sso.go.th
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net