Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
“บรรดาควายทั้งหลาย อย่าหลงเศษหญ้า เศษฟางที่เขาโปรยหว่านให้”

(กวีศรีรัตนโกสินทร์, มติชนสุดสัปดาห์)

              
“เป็นโอกาสแรกที่พวกเขาจะได้มาเห็นกรุงเทพฯ โดยมีรถฟรีและเงินใส่กระเป๋ามาให้อีกด้วย”
(พิธีกรสถานีโทรทัศน์เสื้อเหลืองช่องหนึ่ง)

                  
“คนพวกนี้มันเลวยิ่งกว่าหมาข้างถนนเสียอีก”  
(องค์ศาสดานักรบหน้าไมค์ท่านหนึ่งบนเวทีพันธมิตรฯ)

 

ฯลฯ
 

 

 
            คำกล่าวประณามดูถูก เหยียดหยาม พี่น้องเสื้อแดงของบรรดาองค์ศาสดานักรบหน้าไมค์ คนชั้นกลางในเมือง ฯลฯ ซึ่งได้ลดทอนความเป็นคน การสร้างความเป็นคนอื่นในแก่ผู้คนในชนบทเป็นสิ่งที่เราได้ยินมาตลอดระยะเวลาในช่วงสงครามสี 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ และคงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้เราต้องมาช่วยกันทำความเข้าใจคนเสื้อแดง
 
            ประเด็นที่จะพูดทั้งหมดคือ อย่าเข้าใจคนในชนบทด้วย ทฤษฎีจูงวัวควาย”
 
            การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในชนบท คนจน คนรากหญ้า ฯลฯ ถูกครอบงำมายาวนานด้วยกรอบการอธิบายที่ขอเรียกว่า “ทฤษฎีจูงวัวควาย” ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากงานของ Riggs เรื่องรัฐราชการ (Bureaucratic Polity) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1966 บางท่านเรียก ทฤษฎีอำมาตยาธิปไตย เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจทางการเมืองไทยอยู่ที่อำมาตย์หรือข้าราชการตลอดมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475
 
            อีกชิ้นหนึ่งคือ งานของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย” ที่มองว่าคนชนบทซึ่งมีจำนวนมากเป็นพวกไพร่ มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย คนพวกนี้จึงเป็นฐานเสียงผู้ตั้งรัฐบาลอัปรีย์ชน ส่วนคนในเมืองจำนวนน้อยแต่ฉลาด หลักแหลม ฯลฯ เป็นผู้ตรวจสอบ กำกับและล้มรัฐบาล
 
Riggs พบว่า สังคมไทยไม่องค์กรนอกภาครัฐ (Extra-Bureaucratic Polity) ประชาชนโดยทั่วไปมีลักษณะเฉื่อยชาทางการเมือง แต่งานของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เรื่อง “มองการเมืองไทยผ่านองค์กรธุรกิจ” พบว่า ในช่วงตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นต้นมา ภาคธุรกิจได้เติบโตและเข้ามาแบ่งอำนาจทางการเมืองกับพวกอำมาตย์
 
กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาจารย์เอนก พบว่า สังคมไทยเกิดองค์กรนอกภาครัฐขึ้นมาแล้ว แต่มีเพียงภาคธุรกิจเท่านั้นที่สามารถเข้ามาแบ่งอำนาจทางการเมืองและการตัดสินตกลงใจในกระบวนนโยบายสาธารณะมาจากรัฐราชการ
 
ส่วนชาวบ้านโดยเฉพาะในชนบท แม้จะมีการรวมกลุ่มก้อน หรือสังกัดเครือข่ายองค์กร แต่ก็มีลักษณะเป็นองค์กรจัดตั้งและกำกับโดยรัฐ หรืออยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์-ลูกน้อง ไม่ได้มีลักษณะเป็น “เสรีชน” ผู้ซึ่งหลุดพ้นจากวัฒนธรรมประเพณีที่ล้าหลัง เหมือนคนชั้นกลางในเมือง
 
 งานเหล่านี้เป็นฐานทางวิชาการให้กับนักวิเคราะห์ทางการเมืองที่ใช้มองการเมืองของผู้คนในชนบทมายาวนาน และยังมีอิทธิพล ครอบงำ มาสู่การวิเคราะห์การเมืองของมวลชนที่กำลังขับเคี่ยวกันในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้
 กรอบดังกล่าวนี้มองว่า ชาวบ้านในชนบทที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เพราะถูกลากพา หรือจูงจมูกเหมือนวันเหมือนควาย ไม่ว่าอธิบายแง่ไหน มุมไหน ยังไงคนพวกนี้ก็ยังถูกเข้าใจว่าเป็นไพร่วันยันค่ำ
 
 ในมิติการเมืองในกระบวนการเลือกตั้ง แม้ผู้คนเหล่านี้จะมาลงคะแนนเสียงด้วยสัดส่วนร้อยละที่สูงมาก แต่พวกเขามาลงคะแนนเลือกตั้งก็เพราะถูก “ลากพา” มาด้วยยุทธวิธีการขนคนของหัวคะแนน และแรงจูงใจด้านการซื้อสิทธิ-ขายเสียง
 
การเข้ามาร่วมเคลื่อนไหว ชุมนุม ก็เพราะมีพวกมือที่สามไปจ้างวานให้มาร่วมชุมนุม การเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนสีเสื้อไหนก็แล้วแต่ ก็เป็นเพราะถูกลากจูงมาด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ได้มาด้วยความคิดอุดมการณ์ หรือความเข้าใจในระดับนามธรรมที่สูงไปกว่าผลประโยชน์ที่มองเห็นได้ตรงหน้าเล็กๆ น้อยๆ
 
            เหตุการณ์และปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะการออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงบทบาททางการเมืองของผู้คนในชนบท ควรนำมาสู่การตั้งถามต่อกรอบการวิเคราะห์แบบทฤษฎีจูงวัวควายเสียที
 
            ประการแรก ควรทำความเข้าใจสภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นในชนบทว่า ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงภาพของสังคมเกษตรกรรม กล่าวคือ ชีวิตต้องพึ่งพึงภายนอกทั้งด้านตลาด นโยบายการแก้ไขปัญหาหรือการช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐและองค์กรภายนอก รวมทั้งการดิ้นรนเข้าไปอยู่ในโรงงานหรือการพึ่งรายได้นอกภาคเกษตรกรรม ฯลฯ
 
สภาพเช่นนี้ ทำให้ผู้คนต้องเข้าไปสัมพันธ์การเข้าสังกัดกลุ่ม องค์กร รวมทั้งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือนโยบายสาธารณะทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เพราะได้กลายเป็นเงื่อนไข/ปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตอยู่รอด
 
ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏขึ้นในชนบทก็คือ ผู้คนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างใกล้ชิดแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านเข้าสังกัดกลุ่มองค์กร และเครือข่ายการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย เช่น เครือข่ายหนี้สินชาวนา สมัชชาเกษตรรายย่อย สมัชชาคนจน ฯลฯ
 
รวมทั้งเข้าไปสังกัดกลุ่มองค์กรที่รัฐเข้าไปสนับสนุน ที่สำคัญคือ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการสังกัดกลุ่มองค์กรในอดีต กล่าวคือ ไม่ได้มีลักษณะเป็นแบบกลุ่มที่จัดตั้งและควบคุมโดยรัฐ (state corporatism) ภาพของกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทเพียงจัดแถวเตรียมต้อนรับหรือส่งข้าราชการชั้นสูงเริ่มหายหมดไปแล้ว
 
ประการที่สอง นโยบายสาธารณะ โครงการพัฒนาของรัฐ  การจัดหรืออะไรก็แล้วแต่ กลายเป็นทรัพยากรสำคัญเกี่ยวกับการผลิต และสภาพสวัสดิการ ฯลฯ ไม่ว่าจะเรียกประชานิยมชีวิตความเป็นอยู่หรือการทำมาหากินของผู้คน มีนัยสำคัญต่อสภาพดำรงชีพของผู้คน
 
แต่ผู้คนจะเข้าถึงได้ต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชุมชนด้วย เช่น เข้าสังกัดกลุ่มองค์กร เข้าไปสัมพันธ์กับหัวคะแนน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. ฯลฯ หรือมีความจำเป็นต้องเข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
 
 สิ่งเหล่านี้ จึงควรนำมาสู่ข้อสรุปใหม่เสียทีหรือไม่ว่า คนในชนบทเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ และความรับรู้ทางการเมือง ตลอดจนท่าทีหรือความโน้มเอียงทางการเมือง และการเข้าไปมีส่วนในปฏิบัติการทางการเมือง ทั้งในระดับการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ  
 
            การเข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองจึงไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นวัวเป็นควาย แต่เพราะเงื่อนไขด้านสภาพชีวิตและวิถีการทำมาหากินทำให้ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งมีมาก่อนหน้าที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 4-5 ปีนี้แล้ว
 
การทำความเข้าใจเช่นนี้จึงนำไปสู่การแบ่งพวกเขา พวกเรา ด้วยการสร้างอารมณ์ของความเป็นอันหนึ่งเดียวของแต่ละฝ่ายได้ง่าย และจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระยะยาวที่จะยิ่งฝังลึกจนกลายเป็นสิ่งที่ยากจะแก้ไข           
           
             ดังผลพวงของการมองคนชนบทเป็นคนอื่น การลดทอนความเป็นมนุษย์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่นำมาสู่การแรงเคลื่อนในการชุมนุมครั้งนี้อย่างชัดเจน ผู้คนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า เขามีตัวตน มีที่มีทางในสังคม โดยได้บุกเข้ามาเหยียบเมืองหลวงอย่างมีศักดิ์ มีศรี ให้คนในเมือง คนชั้นกลางได้เห็นหัวพวกกูบ้าง ดังที่เราเห็นได้จากชุมนุมตั้งแต่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา
 
 
“”””””””””

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net