Skip to main content
sharethis

ตามคำเรียกร้อง ถ้อยคำแบบเต็มๆ ของ “พฤกษ์ เถาถวิล” คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี หนุ่มต่างจังหวัดที่มาส่งข่าวสารบางประการเพื่อสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน จากงานเสวนา “ทำไมต้องทำความเข้าใจการชุมนุมของคนเสื้อแดง” ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา

 

 
พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
 

“ผมอยากจะมาคุยในฐานะคนต่างจังหวัดที่อยากจะมาส่งข่าวสารบางประการเพื่อสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยรูปธรรมที่เกิดขึ้นใน จ.อุบลราชธานี

คือว่าในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ผมได้ไปคลุกคลี ติดตามร่วมกิจกรรมในบางครั้ง ไปพูดคุยกับคนเสื้อแดง จ.อุบลฯ หลังสงกรานต์เราพบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมีความคึกคักขึ้น มันมีการขยายตัวของคนเสื้อแดง ปัจจุบันมีประมาณ 7-8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มก็ยึดสถานีวิทยุท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง แล้วก็ทำงานมวลชนด้วยการพูดคุย มีลักษณะของการสร้างความสัมพันธ์ มีการไปงานศพ มีการไปงานแต่ง บางคนมีเรื่องราวเกี่ยวกับคดีความ ไม่รู้จะพึ่งใครก็มาพึ่งสถานีวิทยุ สถานีวิทยุก็พาพวกไปช่วยเหลือ

บางกลุ่มก็จัดเวทีในท้องถิ่น ส่วนกลุ่มหนึ่งที่หลังๆ ผมไปคลุกคลีบ่อยกว่ากลุ่มอื่น ในช่วงก่อนปีใหม่มีการจัดโรงเรียน นปช. มี อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย มีหมอเหวง โตจิราการ โรงเรียน นปช.มี 2 วัน วันแรกก็ประวัติศาสตร์การเมือง คุยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนในวันที่ 2 ก็คุยวิเคราะห์ปัญหาว่า ทางออกของประเทศไทยคืออะไร

ประเด็นของผมคือว่า มันไม่ใช่ง่ายๆ ที่จะมาคุยเรื่องแบบนี้กัน เมื่อก่อนก็มีพรรคคอมมิวนิสต์ฯ พยายามจะทำ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าได้มากน้อยแค่ไหน แล้วในแต่ละเวทีมีคนมาร่วมเกินความคาดหมาย แล้วเรียนว่า คนที่มาเป็น active citizen ของแต่ละหมู่บ้าน คือคนที่มีเสียงมาร่วมเวที ปริมาณนี่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าความมีอิทธิพลของของเขาในแต่ละหมู่บ้าน ผมว่าอยู่ที่คนเหล่านี้

บอก “ชาวกรุง” ว่า “เสื้อแดง” ไม่ได้มาเที่ยว “กรุงเทพฯ” หากถูกปราบ มันคือ “กลียุค”
หลังจากครั้งที่ว่านี้ กลุ่มนี้ยังได้จัดกิจกรรมอีกหนึ่งครั้งในเขตอำเภอต่างๆ ในอุบล ก็รวบรัดตัดตอนเหลือวันเดียว มีชาวบ้านมาล้นหลาม ที่ผมยกรูปธรรมมายืดยาวก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า ที่เขามากันวันนี้ ไม่ได้มาเที่ยว หรือถูกจับใส่รถมา แต่เขามาเพราะเขามีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ ข้อเท็จจริงคือว่า ทุกคนควรจะทบทวนความคิดที่ว่าชาวบ้านถูกจ้างมา ชาวบ้านเชื่อว่าเขาจะพามาเที่ยวสวนสัตว์ ผมว่าความคิดแบบนี้มันน่าจะตกสมัยไปเสียที...!! นี่คือที่อุบลฯ จังหวัดเดียว แล้วผมก็คิดว่าจังหวัดอื่นก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก

ประเด็นของผมก็คือ ถ้าเขาไม่ได้อะไรที่เขาพอใจ หรือว่ามี “การทำ” ให้กลับไปด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ เรื่องนี้ก็ไม่จบ หรือถ้าเลวร้ายอย่างที่สุดนะครับ คือมีความรุนแรงเกิดขึ้น ผมคุยกับชาวบ้านเขาก็บอกคำเดียวว่า “กลียุค”


บอก “ชาวกรุง” ให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจ “ปรามาส”

คนที่มานั้น อย่างที่บอกก็คือเป็น active citizen ของหมู่บ้าน แล้วก็มีคนที่ไม่สามารถมาได้เพราะติดภารกิจอีกเยอะ ถามเขาว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ภาษาชาวบ้านก็จะบอกว่า ทั้งบ้านนั่นแหละ คือเกินครึ่ง สิ่งที่อยากจะบอกชาวกรุงเทพฯ ก็คือ ตอนนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง แล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิด, เชิงคุณภาพ ที่เราไม่อาจปรามาส หรือกอดคำอธิบายที่มันอาจจะทำให้เราไม่สบายใจได้อีกต่อไป นี่คือประเด็นที่หนึ่งที่ผมอยากจะพูด

ประเด็นต่อมา ผมคิดว่าที่พูดไปเมื่อสักครู่นี้ต้องการคำอธิบายมากขึ้นว่า ทำไมคนถึงลุกขึ้นมา ทำไมถึงมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น จะต้องย้อนไปดูพัฒนาการการเมืองไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมเอาปี 35 เป็นตัวตั้ง เป็นปีที่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไล่มาจนถึงรัฐธรรมนูญ 40 จนถึงทักษิณ 2 สมัย ในช่วง 35-48 มันมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากในชนบท คนชนบทถ้ารุ่นพ่อ รุ่นอายุ 40-50 ปี จะรู้ว่าก่อนหน้านั้นชาวบ้านไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าคนที่ถูกทางการสั่งให้มาประชุม

เพลง "ผู้ใหญ่ลีตีกลอง” มีความถูกต้อง คือทางเศรษฐกิจที่ไร้อำนาจ ในทางการเมืองก็ถูกสั่ง ถูกกำกับควบคุมสอดส่องตลอดเวลา ที่ผ่านมาชาวบ้านจะเป็นคล้ายๆ “สัตว์” ในทางการพัฒนา เป็นผู้ที่ “ถูกพัฒนา” ถูกทำให้ “โง่-จน-เจ็บ” แล้วชีวิตจะแวดล้อมไปด้วยกระทรวงต่างๆ มาจำแนกแจกแจง แล้วก็จะมีกฎเกณฑ์มากำกับควบคุมว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะมีส้วมร้อยเปอร์เซ็นต์.. ควรจะอ่านหนังสือออกร้อยเปอร์เซ็นต์.. ควรอย่างโน้น...ควรอย่างนี้... แต่ว่าเมื่อมีการเลือกตั้งในท้องถิ่นเกิดขึ้น มันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือจากคนที่ไม่มีปากไม่มีเสียงไม่มีตัวตนอยู่ข้างเวที เขาได้กระโดดขึ้นมาบนเวที ได้เป็นผู้เล่น ได้เป็นผู้เลือก ถ้าเรามองด้วยกรอบของนักประชาธิปไตยจากเมืองกรุง เราก็อาจจะมองว่า “เลือกเพราะได้เงิน” แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นของพวกเขา

บอก “ชาวกรุง” ถึงเวลาที่ “เดรัจฉาน” อาจหาญก้าวขึ้น “เวที”
ความหมายของชาวบ้านก็คือว่า วันหนึ่งที่ “เดรัจฉาน” จะกลายเป็นคนที่จะเลือกเองได้ เป็นคนที่จะเล่นเองได้ ไม่ใช่มีหน้าที่ฟังเสียงอย่างเดียว การเลือกตั้งหลายครั้งหลายระดับที่ผ่านมา มันทำให้ชาวบ้านมีประสบการณ์ สิ่งใหม่เกิดขึ้นกับชีวิตเขา มันคือการเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากแบบเดิม แล้วเมื่อล่วงถึงสมัยทักษิณ การเมืองระดับชาติกับระดับท้องถิ่นมันเริ่มเชื่อมเข้าหากัน การเชื่อมต่อกันมันทำให้ชาวบ้านได้เห็นว่า อำนาจของประชาชนไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เลือก อบต. มันสามารถที่จะโยงใยไปถึงอำนาจที่มันไกลออกไป แล้วก็พรรคการเมืองที่เขาเลือก มันได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ปมคือว่ามันเป็นมาตรฐานใหม่ของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม

แล้วผมก็คิดว่าอันนี้แหละ คือคำอธิบายของขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ว่าทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์สงกรานต์เลือดที่ผ่านมาแล้วมันถึงยังไม่เลิก แล้วจะมาคิดว่าฉันจะทำอย่างไรให้มันกลับไป... แล้วก็คิดว่ามันจะจบ... มันไม่จบนะครับ…!!!

อุปมาให้เห็นภาพพจน์อย่างหนึ่งในเวทีของประเทศนี้นะครับ เมื่อก่อนมันจะมีชนชั้นสูง ชนชั้นกลางเป็นผู้เล่นเต็มเวทีไปหมด ชาวบ้านก็อยู่ตามขอบเวที แต่ว่าสิบปีที่ผ่านมามันทำให้เสียงเล็กๆ ของพวกเริ่มขยายใหญ่ขึ้นๆ จนถึงตอนนี้ คุณจะให้เขาลงเวที เขาไม่ลงแล้ว เพราะเขารู้สึกว่าเวทีนี้มันดีสำหรับพวกเขา ประชาธิปไตยได้ทำให้พวกเขาเล่นได้ เขาก็อยากจะเล่นต่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาอยากจะบอกกับคนที่เคยชินกับการครองเวทีนี้มาตลอดว่า มันถึงเวลาแล้ว ถึงแม้ว่าพวกคุณจะไม่ชอบก็ตาม แต่ว่าคุณปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้มันมีคนเหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนเวที แล้วพวกเขาก็รู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของเวที จะไล่ก็ไม่ลง...!!!

แล้วผมก็อยากจะบอกว่าชาวบ้านติดประชานิยม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ 30 บาทรักษาทุกโรค บ้านเอื้ออาทร แต่ว่ามันมีบางอย่างที่อยู่เหนือผลประโยชน์คือ “อำนาจ” ทำไมประชาธิปัตย์ทำประชานิยมแล้วชาวบ้านไม่เฮ.. เขาก็ให้เหมือนกัน คือไทยรักไทยให้อำนาจเขา มันทำให้เขารู้สึกว่า เขาเลือกแล้วเขาได้ นี่คือความเคยเคยชินแบบใหม่ นี่คือประเด็นที่สอง


บอก “ชาวกรุง” ว่า “รักทักษิณ” ที่แท้ก็แค่ “ตัวแทน”

ประเด็นที่สาม คือ มีคนสงสัยว่าชาวบ้านสู้เพื่ออะไร ชาวบ้านสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ผมไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ผมก็อิหลักเหลื่อเหมือนกัน ถามว่าทำไมมาร่วมกับเขา บอก “รักทักษิณ” คือมันก็ขัดกับนักประชาธิปไตย นักประชาธิปไตยมันต้องรัฐธรรมนูญ มันต้องอะไรที่ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. ผมก็พยายามคุยกับเขา ที่เขารักทักษิณก็เพราะว่ามันมีสามสิบบาท มันมีอะไร ผมก็เลยเก็ตว่า อ๋อ ชอบ “นโยบาย” อีกอย่างหนึ่งคือชอบความสามารถในการบริหาร ทักษิณทำได้จริง ที่แน่ๆ ไม่ได้ชอบเพราะ “หล่อ” หรือชอบเพราะ “ดี”

นี่มันแปลว่าอะไร ผมก็พยายามใช้ความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่เรียนมาว่ามันแปลว่าอะไร นี่คือ “ความภักดี” ทางการเมือง เราอยากเห็นไม่ใช่เหรอ active citizen ทางการเมือง เขาก็แสดงให้เห็นแล้วไง ผมก็มาคิดต่อว่า “ทักษิณ” นี่คือ “representation” ทางการเมือง คือ “อำนาจ” คือส่วนแบ่งของอำนาจที่เขามี ต่อไปนี้ใครจะมาชมทักษิณ ผมเลยฟังได้โดยไม่กระอักกระอ่วนใจ

แต่ว่าถ้าเรารู้สึกว่า ทักษิณคือนักการเมืองโกงกินเราก็จะรับไม่ได้ ชนชั้นกลางจะมีความหมายของทักษิณแบบนี้ แต่ชาวบ้านมีความหมายของทักษิณแบบที่ผมบอก คุณก็เลยไม่เข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านถึงเชียร์คนขี้โกงได้อย่างไร โกงไม่โกงไม่รู้ แต่เขาเป็น representation ของผม คุณมีสิทธิอะไรคุณจะไปไล่ representation ของเขา เขาจะผิดจะโกงก็ว่าไป ไม่ใช่ไม่เป็นไร แต่ว่าเราไม่มีอำนาจที่จะไปตัดทอนช่องทางที่จะเข้าถึงอำนาจทางการเมืองของพวกเขาได้ ไปยุบพรรคของพวกเขา เขาโกงคุณก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ก็ว่ากันไป แต่คุณไปทำแบบนี้มันไม่จบ นี่คือความหมายของ “ทักษิณ” ในความเข้าใจของชาวบ้าน


บอก “ชาวกรุง” และ “นักวิชาการ” ให้พูดถึง “ทักษิณ” บ้าง อย่ากลัว “ราคาตก”

ชาวบ้านก็อยากจะฝากถึงปัญญาชน ถึงเพื่อนๆ ของผมด้วยนะครับ จะกระดากนิดหนึ่งว่า ถ้าพูดถึงเสื้อแดงจะเป็นนักวิชาการที่เชียร์นักการเมือง แล้วมันจะดู “ราคาตก” ถ้าพูดถึงทักษิณแล้วดูราคาตกทันที ผมก็ไม่ค่อยมีราคาเท่าไหร่ ผมคิดว่ามันมี “Thaksin Plus” คือ ความหมายมันเขยิบ เมื่อก่อนคำว่า “ไพร่” มันพูดกันได้ที่พรรคคอมฯ พูดกันไปถึงโน่น “สงคราม" "กองทัพ” พูดกันได้ที่ไหน คำอย่าง “อำมาตย์” อย่างนี้ มันเป็นภาษาการเมืองแบบประชาธิปไตย ชาวบ้านไม่รู้หรอก รัฐธรรมนูญ เพื่ออะไร องค์กรอิสระทำหน้าที่อะไรไม่รู้ แต่ก็มีสองสามคำมันอธิบายได้

ลึกลงไปผมคิดว่า 3 คำนี้มันเป็นหัวใจ คือคำว่า “ความเท่าเทียม” “ความเสมอภาค” และ “ความเป็นธรรม” แล้วสามคำนี้ไม่ใช่เหรอที่เป็นบรรทัดท้ายๆ ของคำว่า “ประชาธิปไตย” แล้วนี่เขากำลังพูดภาษาประชาธิปไตยของเขาอยู่ แล้วเราก็บอกว่า...พูดจาไม่ค่อยเพราะเลยไอ้พวกนี้ แต่นี่คือ “Thaksin Plus”


“บอก” สุดท้าย อยากให้ “ชาวกรุง” เปลี่ยนโลกทัศน์ที่ครอบงำ

ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่จริง ถึงเราจะไม่ชอบมันก็ตาม แต่เราก็ปฏิเสธมันไม่ได้ ถึงเวลาที่เราจะคิดว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เราไล่เขาลงจากเวทีไม่ได้ เวลานั้นมาถึงแล้ว

ผมขอพูดทิ้งท้ายไว้ว่า ตอนนี้มันมีภาษาทางการเมืองชุดหนึ่ง มีเจตจำนงทางการเมืองชุดหนึ่งซึ่งเป็นภาษาของชาวบ้าน เป็นความต้องการของชาวบ้าน เป็นอำนาจของเขา ผมไม่ได้บอกว่าชาวบ้านต้องถูกหมด ไม่ได้บอกว่า ที่มานี่มาด้วยใจเต็มร้อยกันทุกคน ไม่ใช่อย่างนั้น ผมกำลังจะบอกว่า เราควรทบทวนโลกทัศน์ในการมองโลก ในการเข้าใจโลกของเราที่ครอบงำเราอยู่ “เปิดใจ” ที่จะรับฟังเสียงของพวกเขา
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net