Skip to main content
sharethis

ขณะที่มีคนบางกลุ่มยังเป็นห่วงเรื่อง 'ความขัดแย้ง' และพยายามรณรงค์ให้ 'คนไทยรักกัน' แต่หารู้ไม่ว่าสื่อต่างชาติวิเคราะห์การนำเสนออย่างมีอคติของสื่อไทยเองที่ยิ่งขยายวงความขัดแย้ง โดยยกตัวอย่างฟรีทีวีที่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลทำให้แต่ละฝ่ายต่างหันไปหาเคเบิลทีวีช่องที่สนับสนุนฝ่ายตน

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ไซมอน มอนท์เลค จาก คริสเตียน ไซเอนส์ มอนิเตอร์ (CSM) นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการแพร่ภาพข่าวการชุมนุมกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มเสื้อแดงของไทยในสื่อโทรทัศน์ โดยใช้ชื่อว่า "อคติในสื่อโทรทัศน์ ยิ่งแบ่งแยกผู้ประท้วงชาวไทย" (Biased TV stations intensify divides in Thailand protests)

โดยกล่าวถึงการนำเสนอข่าวอย่างมีอคติของสื่อโทรทัศน์ ที่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล ขณะเดียวกันการเติบโตของเคเบิลทีวี ทำให้สื่อของแต่ละฝ่ายต่างมีที่ทางของตนเอง และนำเสนอในสิ่งที่เน้นมุมมองจากฝ่ายตน

000

ขณะที่การประท้วงในไทยดำเนินไปจนถึงสัปดาห์ที่สองแล้ว สถานีโทรทัศน์ที่เป็นคู่แข่งกันก็รายงานการชุมนุมทั้งวันทั้งคืน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เน้นเรื่องผลกระทบด้านลบของการชุมนุม

กลุ่มเสื้อแดงพากันท่องไปทั่วกรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์, รถกระบะ และ รถจักรยานยนต์ เมื่อวันเสาร์ (20) ที่ผ่านมา ในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งล่าสุด ตำรวจระบุว่ามีผู้ชุมนุมราว 65,000 รวมขบวน ที่มีความยาวหลายไมล์

แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง โทรทัศน์ของไทยที่เป็นสื่อที่คนนิยมดู บอกว่ามีผู้เข้าร่วม 25,000 คน และเช่นเคย ภาพข่าวของผู้ชุมนุมถูกการแถลงข่าวของรัฐบาลคลุมทับไปหมด ไม่มีการนำเสนอเรื่องของผู้ชุมนุมโดยทั่วไป และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีมีผู้ชุมนุมประท้วงด้วยการเทเลือดหน้าทำเนียบรัฐบาล สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลก็พากันโหมเรื่องอันตรายต่อสุขภาพ เรื่องการใช้เลือดในเชิงจริยธรรม ขณะที่สื่อผ่ายต้านรัฐบาลเน้นเรื่องการใช้สัญลักษณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมหลั่งเลือดเพื่อประท้วง

และหลังจากที่การประท้วงดำเนินเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 สื่อกระแสหลักของไทยก็ควรถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งจริงๆ ระยะเวลาที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและการแบ่งขั้ว 4 ปี ที่ผ่านมา ก็น่าจะพิสูจน์ได้แล้ว มีนักวิจารณ์บอกว่าช่องสถานีฟรีทีวีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือกองทัพนั้นเต็มไปด้วยอคติ

ด้วยเหตุนี้เอง ชาวไทยหลายคนเริ่มหันไปหาสื่อที่อยู่ข้างเดียวกันอย่างพวกเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองลึกขึ้น และทำให้การหาจุดร่วมทำได้ยากขึ้น

วันจันทร์ (22) ที่ผ่านมา แกนนำผู้ชุมนุมปฏิเสธไม่ยอมรับการเจรจากับผู้แทนนายกรัฐมนตรี และยืนยันอยากเจรจากับตัวนายกรัฐมนตรีเอง ตัวนายกฯ อภิสิทธิ์เองก็ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้เขายุบสภาและเลือกตั้งใหม่

ก่อนหน้านี้อคติในสื่อไทยก็เคยทำให้เกิดความขัดแย้งมาแล้ว ในปี 1992 (เหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535) เมื่อทหารยิงผู้ชุมนุมใน กทม. ช่องสถานีของรัฐบาลรายงานว่า มีพวกคอมมิวนิสต์ปลุกระดมให้เกิดจลาจล ภาพที่ถูกใส่ความว่าเป็นการต่อต้านเชื้อพระวงศ์ในหนังสือพิมพ์ปี 1976 (เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) ก็ทำให้เกิดการสังหารหมู่นักศึกษาโดยกลุ่มที่ถูกจัดตั้งโดยกองทัพ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มนักกิจกรรมที่ขัดแย้งกันทั้งสองฝ่ายต่างกดดันสถานีโทรทัศน์เรื่องการเสนอข่าว และมีการคุกคามผู้สื่อข่าวที่นำเสนอจำนวนผู้ชุมนุมน้อยกว่าความจริง จากกรณีนี้เองทำให้สื่อบางแห่งหลีกเลี่ยงการประเมินจำนวนผู้ชุมนุม "พวกเราไม่อยากมีปัญหา เราจึงหลีกเลี่ยงการรายงานเรื่องจำนวน" บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งกล่าว

 

สถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอคนละมุม
เรื่องที่ยิ่งทำให้การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพิ่มมากขึ้น คือการที่แต่ละฝ่ายต่างมีสื่อของตัวเอง ฝ่ายเสื้อแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากคนชนบทและจากชนชั้นแรงงานของไทย เปิดสถานีพีเพิลแชนแนล ที่ถ่ายทอดการประท้วงตลอดวันตลอดคืน ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคือเสื้อเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีสิทธิเลือกตั้งก็รับข่าวสารจาก เอเอสทีวี ทั้งสองช่องล้วนแต่มีอคติสูง

สุภิญญา กลางณรงค์ นักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อกล่าวว่า การแพร่ขยายของ 'สื่อใหม่' (new media) ทำให้เกิดการตรวจสอบการควบคุมข่าวสารของรัฐบาล เธอกล่าวอีกว่า สื่อโทรทัศน์ไม่มีพลังในการบิดเบือนความจริงได้มากเท่าในปี 1992 (พ.ศ. 2535) อีกแล้ว เพราะพวกเขาต้องแข่งกับสื่ออื่น ๆ รวมถึงการส่งรูปและข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

"ฉันคิดว่า (รัฐบาล) รู้ว่า หากพวกเขาใช้การควบคุมหรือบงการมากเกินไป ประชาชนจะไม่เชื่ออีกต่อไป" สุภิญญากล่าว

บรรณาธิการข่าวโทรทัศน์ผู้ไม่เอ่ยนามเพราะกลัวถูกคุกคามบอกอีกว่า ความแตกต่างจะทำให้ผู้ชมตกอยู่ในความมืด เขาบอกอีกว่า รัฐบาลแทรกแซงการนำเสนอข่าว ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ "แต่ในตอนนี้มันเลวร้ายกว่าเดิม" เขากล่าว

 

ที่มา: แปลจาก Biased TV stations intensify divides in Thailand protests, Simon Montlake, The Christian Science Monitor, 23-03-2010
http://www.csmonitor.com/World/Asia-Pacific/2010/0322/Biased-TV-stations-intensify-divides-in-Thailand-protests

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net