Skip to main content
sharethis

ในวันที่ 23 มีนาคมซึ่งเต็มไปด้วยกระแสข่าวลอบยิงเอ็ม79 ใส่กระทรวงสาธารณสุข บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีคนกลุ่มหนึ่งขะมักเขม้นแปะภาพถ่ายคนเสื้อแดงกันตั้งแต่หัววัน เพื่อให้ทันการเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย “Red Shirts Unseen” ในช่วงเย็น

  

 

งานนี้ไม่ใช่งานใหญ่ และไม่ได้จัดโดยแกนนำใดๆ หากแต่เป็นกลุ่มนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และช่างภาพอิสระที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มไม่ต้องจ้าง เราอยากทำ” พวกเขามีที่มาที่แตกต่างหลากหลาย แต่มีจุดร่วมกันในประสบการณ์การคลุกคลีกับการชุมนุมครั้งนี้ตั้งแต่ต้น การชุมนุมซึ่งถูกตราหน้าแต่แรกเรื่องอามิสสินจ้าง และความรุนแรง เขาแทรกตัวอยู่ที่นั่น ถ่ายภาพคนที่นั่น แต่กลับมองเห็นสิ่งที่ต่างออกไป

“ผมไปราชดำเนินไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนพวกเขา พวกเขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของกรุงเทพพอๆ กับที่ผมมีสิทธิ์ แต่ที่ไปก็เพราะเผื่อจะพอช่วยสื่อสารเล่าเรื่องของคนที่มาชุมนุมได้บ้าง ก็ไม่ใช่ให้คนกรุงรับรู้เป็นหลัก แต่หวังว่ามันอาจพอจะไปกระตุกเตือนสื่อหลักที่มีศักยภาพในการสื่อสารได้มากกว่า ให้หันมาสนใจเรื่องราวคนเล็กคนน้อยที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศนี้ บนโลกใบนี้ได้บ้าง”             

ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ ช่างภาพและนักข่าวอิสระที่ตระเวนลงไปทำงานในสามจังหวัดภาคใต้มาโดยตลอดให้ความเห็นอย่างอ่อนน้อม และเป็นมุมมองที่สะท้อนวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ด้วย นั่นคือ 1.เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้คนจากจังหวัดอื่นๆ ต่างมีความชอบธรรมในการเรียกร้องประชาธิปไตย 2.เพื่อเป็นกระจกสะท้อนภาพที่มักถูกละเลย 3. เพื่อลดอคติและการเหมารวม ต่อคำว่า เป็น "คนกรุงฯ" เป็น "ชนชั้นกลาง" เป็น "คนต่างจังหวัด" เป็น "คนไม่มีการศึกษา และใช้ความรุนแรง" ฯลฯ

 

ประเด็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมถูกตั้งคำถามตัวใหญ่และท้าทายด้วยเสียงดังมากขึ้นในเวทีเสวนาเล็กๆ ประกอบนิทรรศการนี้ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่เคยทำงานในองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่ให้ความเห็นว่า สังเกตเห็นความผิดปกติของสื่อโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ตั้งแต่หลังการรัฐประหารแล้ว มีความพยายามยัดเยียดคำว่า “รัก” และ “สามัคคี” ให้ผู้คนตลอดเวลา โดยละเลยที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคมด้วยกันอย่างแท้จริง

“ผมว่าสื่อหลักๆ ค่อนข้างละเลยการคุยกับคนเสื้อแดงอย่างจริงจัง เราจะรักกันโดยไม่คุยกันก่อนได้ยังไง มันจะเข้าใจกันได้ยังไง ที่พักผมอยู่ใกล้ที่ชุมนุม ได้ฟังตลอด 24 ชั่วโมง เสียงปราศรัยดังไปถึงห้องนอน ประเด็นที่พูดหนักแน่นมาก เป็นหลักการประชาธิปไตยง่ายๆ ซึ่งถ้าไม่ปิดหูปิดตาจนเกินไปก็จะเข้าใจได้ ปัญหาหลักคือ ทุกวันนี้ดูเหมือนสื่อจะกลัวทักษิณจนขึ้นสมอง” สุเจน วิเคราะห์อาการเอียงข้างแบบแปลกๆ ของสื่อที่เขาสังเกตเห็น โดยเขาเองก็ออกตัวว่าได้ตั้งคำถามกับนายกฯ ที่ชื่อ “ทักษิณ”มากมาย แต่สุดท้ายไม่อาจยอมรับการรัฐประหารในการแก้ไขปัญหาได้  

ปาลิดา ประการะโพธิ์ ว่าที่เฟรชชี่ในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมวงเสวนา และให้ความเห็นว่า เยาวชนก็ดูเหมือนจะมีปัญหาการรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างบิดเบี้ยว เพราะวัฒนธรรมไทยเน้นแต่การเชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิด ได้ตั้งคำถาม จนต่อมความคิดฝ่อ ทำให้ได้ยิน ได้เห็นอะไรที่รายงานมาจากคนที่น่าเชื่อถือก็พลอยเชื่อไปหมด


ฐิตินบ

ฐิตินบ โกมลนิมิ อดีตผู้สื่อข่าวที่เคยทำงานในสื่อหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนานและเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมชมนิทรรศการ ถูกถามถึงเสียงสะท้อนเช่นนี้ เธอเองก็ดูเหมือนจะเห็นด้วย ทั้งยังเล่าถึงการเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุมตั้งแต่คืนแรกจนถึงตีสี่ ซึ่งเต็มไปด้วยภาพความยากลำบากของ “ผู้อพยพต่างถิ่น” ที่เข้ามาปักหลักชุมนุม มันอาจเป็นการทำหน้าที่ค้นหา “มิติ” ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณเก่าแก่ของอดีตผู้สื่อข่าว  

“เขามาเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา คุณก็ยังบอกอีกว่าเขาทำให้ท่อระบายน้ำตันบ้าง อะไรบ้าง อคติมันเต็มไปหมดในชีวิตประจำวันของคนเล็กคนน้อย ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีการจ่ายเงินค่าน้ำมันบางส่วนให้ชาวบ้าน พี่บอกว่ารับไปเถอะ คราวนี้มันใช้ทรัพยากรสูงมาก คุณต้องมาช่วงวันที่ 11-12  นั่งรถปิกอัพมากันยัดทะนาน ช่วงตีสองบางที่เขาเอาผักมาลง ม็อบครั้งนี้ไม่มีกองทัพธรรมมาทำครัวให้นะ ต่างคนต่างต้องทำครัวเอง อีกไม่น้อยที่มากันเป็นครอบครัว ก็ต้องเอาผ้าปูนอนกับพื้นถนนข้างรถ ต้องประดิษฐ์ห้องน้ำใช้เอง เพราะเค้ารู้ว่าคนกรุงเทพฯ คงไม่ต้อนรับเขา ไม่เตรียมให้เขา แล้วเขาก็จัดเวรกันทำความสะอาด คุณต้องมาเห็นชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งไม่มีในภาพสื่อ” ฐิตินบว่า

เธอยังตั้งคำถามเทียบเคียงกับประสบการณ์ภาคสนามของตัวเอง สมัยที่เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเบ่งบาน นักข่าวทำข่าวสมัชชาคนจนอย่างเข้มข้น เสนอประเด็นปัญหา พยายามทำความเข้าใจ พยายามอธิบาย สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคมอย่างมาก แต่ทำไมการชุมนุมทางการเมืองสื่อจึงไม่เปิดพื้นที่การเรียนรู้เหมือนกับที่เคยทำครั้งสมัชชาคนจน ?

“ตัดแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมจัดตั้งออกเสียเลยก็ได้ ผมมองแต่คนที่มาด้วยความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า คนด้อยโอกาสที่จน เจ็บ และอาจถูกมองว่าไม่ได้ได้ฉลาดอะไรมากนักในการชุมนุมครั้งนี้” ปิยศักดิ์เสริม

ท่ามกลางการปาฐกถา การอภิปรายที่มีคนฟังจำนวนหนึ่งคอยปรบมือชอบใจอยู่โดยรอบๆ คนอีกจำนวนไม่น้อยก็ผลัดเปลี่ยนกันเดินดูรูปภาพเหล่านั้นอย่างพินิจพิจารณา บ้างรู้ข่าวจากการประกาศที่เวทีใหญ่ แล้วเคลื่อนย้ายตัวเองจากหน้าเวทีมาเดินสำรวจ บ้างเดินมาเจอโดยบังเอิญ

“ผมปลื้มใจ” ต้อยชายหนุ่มจากศรีสะเกษที่มาชุมนุมตั้งแต่วันแรกบอกความรู้สึกเพียงสั้นๆ ก่อนจะเดินดูรูปอื่นต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจคำถามที่เหลือ

ขณะที่ต้น (นามสมมติ) เด็กหนุ่มในเสื้อสีแดง อดีตนักศึกษาวิศวะปี 2 (ออกกลางคัน เพราะตกเลข) บอกว่า “ประทับใจแล้วก็ภูมิใจนะ มันเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่มีที่ไหนในโลก ตอนนี้กำลังมองหารูปตัวเองอยู่” (หัวเราะ)

ต้นน่าสนใจตรงที่เขามาที่นี่คนเดียว โดยปลีกตัวจากการช่วยดูแลธุรกิจสิ่งทอที่บ้านมา เขาบอกว่า การชุมนุมเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นไม่ได้เข้าร่วม เพราะดูรุนแรงจนที่บ้านเป็นห่วง แต่คราวนี้ที่บ้านยอมให้มาได้ เขาบอกอีกว่าเขาไม่ค่อยเห็นภาพเหล่านี้ในสื่อหลักๆ มากนักหรือหากปรากฏก็เป็นเชิงเสียดสีเสียมากกว่า

“ที่ผมไม่ชอบที่สุดก็ตรงที่เขาสัมภาษณ์อะไรก็ลงไม่ตรง เอาไปสร้างความเสียหายมากกว่า บางทีมีเรื่องอะไร ไม่มีหลักฐานก็โทษพวกเสื้อแดง”

เมื่อพยายามไถ่ถามว่าเขาอคติกับสื่อมากเกินไปหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมนี่ดูโคตรเยอะเลย เอเอสทีวีก็ดู สื่อในประเทศก็ดู สื่อต่างประเทศก็ดู เว็บเอย บล็อกเอย ผมเข้าไปดูหมด ฟังสองฝ่ายแล้วก็มาวิเคราะห์ของเราเอง”

ทำไมถึงสนใจการเมือง “เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยได้สนใจ ผมเกิดมารุ่นหลัง ในอดีตผมก็ไม่รู้ได้ว่าเป็นยังไง แต่เริ่มสนใจการเมืองก็เพราะประทับใจปรีดี” ต้นว่า และสำหรับการเข้าร่วมชุมนุม (รายสะดวก) นั้นเพิ่งเริ่มในปีนี้ 

ส่วนเอกภพ พัทธเสมา ชาวเพชรบูรณ์ที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และมาร่วมกินนอนในที่ชุมนุมหลายวันแล้วบอกว่า ภาพที่เขาเห็นอยู่นี้ก็เหมือนกับภาพที่เขาได้สัมผัสด้วยตัวเองในการเคลื่อนขบวนวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา

“ชอบรูปเด็กยืนมองตำรวจ ตลกดี” เอกภพว่า

ส่วน นาซิน คาน เด็กหนุ่มมาดเซอร์จากปัตตานีผู้มาศึกษาในรั้วรามคำแหงบอกว่าเขาไม่ต้องการอะไรมาก ขอเพียงให้สื่อรายงานตามข้อเท็จจริง เปิดพื้นที่ให้เท่าเทียมกัน ให้ภาพ ให้ชีวิตของพวกเขาได้ปรากฏด้วยก็เพียงพอแล้ว


นาซิน คาน ถ่ายคู่กับรูปที่เขาชอบที่สุดในนิทรรศการ


ยุกติ

นี่เป็นความพยายามเล็กๆ ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็น “อีกผู้โหยหาประชาธิปไตย” ดังที่เหวง โตจิราการ นิยามไว้

นี่เป็นความพยายามเล็กๆ ที่อาจนับได้ว่าเป็นสันติวิธี โดยไม่ได้เอ่ยอ้างคำว่าสันติวิธี ดังที่ยุติ มุกดาวิจิตร ได้กล่าวในช่วงหนึ่งของการเปิดงานไว้ว่า มายาคติที่มีต่อคนเสื้อแดงว่าคลั่งทักษิณและเต็มไปด้วยความรุนแรงนั้น เป็นการกระทำรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่เลวร้าย และปูพื้นไปสู่การกระทำรุนแรงทางตรงที่เลวร้ายยิ่งกว่า พวกเขาคือผู้ตื่นตัวทางการเมืองกลุ่มใหม่ที่ต้องการหลุดจากโครงสร้างความสัมพันธ์ดุจไพร่-อำมาตย์ ความสัมพันธ์ซึ่งคนชั้นนำทั้งหลายพยามสร้างสังคมชนชั้น และสร้างวาทกรรมที่ทำให้พวกเขาเป็นคนโง่

นี่เป็นความพยายามเล็กๆ ท่ามกลางค่ำคืนที่มีทหารเข้าประจำการเพิ่มมากขึ้นโดยรอบพื้นที่ และบรรยากาศเต็มไปด้วยความหวั่นไหว หวาดระแวง ....


หมายเหตุ – รายชื่อช่างภาพ : พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, เบญจมาศ บุญฤทธิ์, ขวัญระวี วังอุดม, ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์, บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล, คิม ไชยสุขประเสริฐ, พิณผกา งามสม, กานต์ ณ กานท์, ปาลิดา ประการะโพธิ์, พันธวิศย์ เทพจันทร์, ศรายุธ ตั้งประเสริฐ

(รายละเอียดใน http://www.gallery.in.th/redshirtsunseen/gallery ) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net