Skip to main content
sharethis

“นพ.นิรันดร์” นำกรรมการสิทธิฯ นัดประชุมรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายในประจวบฯ ประเด็นสิ่งแวดล้อมพฤหัสฯ นี้ ที่ห้องประชุม อบจ. ด้าน “กรณ์อุมา พงษ์น้อย” หวัง กสม. เป็นตัวกลางให้พูดคุยกับราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ความร่วมมือในพื้นที่ระหว่างกัน

เวลา 9.00 น. วันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) ที่ห้องประชุม อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะจัดการประชุม “รับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา และปรึกษาหารือกรณีร้องเรียนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์”

โดยประเด็นการประชุม จะเป็นเรื่องที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวนทั้งหมด 13 พื้นที่ โดยเป็นพื้นที่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประจวบคีรีขันธ์ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกับองค์จากส่วนกลางและในระดับจังหวัด โดย นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการสิทธิด้านที่ดินและป่า และ คณะอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชน จะลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันนี้ (24 มี.ค.)

ในกำหนดการนั้น นพ.นิรันดร์ และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กสม. จะเดินทาจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงบ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 18.00 น. วันนี้ และจะหารือร่วมกับแกนนำเครือข่ายประชาชนเพื่อเตรียมการประชุม และจะเข้าพักที่ครัวชมวาฬ บ้านบ่อนอก กิจการของนางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษรนักอนุรักษ์ผู้ล่วงลับ ส่วนคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กสม. ได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันนี้แล้ว

สำหรับเครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่จะเข้าประชุมนั้น ประกอบด้วยกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด, กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก, กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก, กลุ่มอนุรักษ์ห้วยยาง, กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นกุยบุรี-สามร้อยยอด, เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอ่าวน้อย

ขณะที่หน่วยงานราชการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชิญมาชี้แจง ในส่วนของหน่วยงานส่วนกลางได้แก่ 1. สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 4. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 5. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน 7. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 8. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9. กรมป่าไม้ 10. กรมชลประทาน 11. กรมเจ้าท่า 12. กรมโยธาธิการและผังเมือง 13. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 14. กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนหน่วยงานในพื้นที่ประกอบด้วย 1. ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3. สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) 4. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี 5. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 6. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 7. สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8. สำนักบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน 9. อบต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ. ประจวบคีรีขันธ์ 10. อบต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์ 11. อบต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ. ประจวบคีรีขันธ์ 12. อบต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์

สำหรับการประชุมดังกล่าว นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกให้ความเห็นว่า “เราอยากจะทำให้เป็นวัฒนธรรม ให้หน่วยงานหลัก ๆ ในจังหวัดในฐานะตัวแทนฝ่ายบริหาร รับรู้เจตจำนง ของประชาชน และดำเนินโยบายที่สอดคล้องกับเจตจำนงเหล่านั้น เราคาดหวังว่าถ้าคุยกันรู้เรื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องมีการงัดง้าง เดิมภาพของชาวบ้านในความรับรู้ของคนอื่นคือความรุนแรง แต่เราหวังว่าในการสร้างวัฒนธรรมใหม่นี้จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานกับรัฐในรูปแบบใหม่ การนัดเจอกันในลักษณะนี้ถือเป็นครั้งแรก โดยมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นตัวกลาง ที่ผ่านมาโดยลักษณะโครงสร้างทางอำนาจหน่วยงานของรัฐในระดับจังหวัด อำเภอ และ ตำบล ทำหน้าที่เพียงรองรับคำสั่งจากด้านบน เมื่อกล่าวถึงความหมายของความเป็นประชาธิปไตย เราเชื่อว่ากลไกมีมากกว่ารูปแบบของการใช้เลือกผู้แทนและหย่อนบัตรเลือกตั้ง”

“หากฝ่ายบริหารรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็จะนำมาสู่ความร่วมมือ เช่น ในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่หลายฝ่ายต้องการให้เกิดขึ้นในจังหวัดประจวบฯ การร่วมกันพัฒนา ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เปรียบเสมือนผู้ที่มาเยือน กับ เจ้าภาพที่แท้จริงซึ่งก็คือประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นก็จะเกิดขึ้น

เราหวังว่าหลังการทำการประชุมในวันที่ 25 มีนาคมนี้ จังหวัดและประชาชนจะมีการทำสัญญา คล้ายๆ ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU ระหว่างจังหวัดและประชาชน โดยผลจากการตกลงร่วมครั้งนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรจะนำเสนอต่อรัฐบาลส่วนกลางผู้กำหนดนโยบาย โดยมีคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นเสมือนพยานและผู้ประสานงาน เราถือว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการรับความคิดเห็นที่ไม่ได้มีเฉพาะแต่พิธีกรรม แต่มีผลต่อความสงบสุข และ ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่” นางกรณ์อุมา กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net