Skip to main content
sharethis

ผลวิจัยพบผู้ให้บริการทุกรายคิดค่าบริการผิดพลาด เกินมาตรฐาน กทช. ขณะที่เกือบครึ่งของผู้ใช้บริการไม่ตรวจสอบใบแจ้งหนี้ พบเด็กมัธยมศึกษาต่างมีมือถือของตัวเองส่วนปัญหาใหญ่ของตู้โทรสาธารณะไทยคือ มีครึ่งหนึ่งที่คอยกินตังค์ผู้บริโภค

นายแพทย์ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจคนไทยทั่วประเทศจำนวน ๘,๐๐๐ คน จาก ๔ ภูมิภาค ๓๙ จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จำแนกเป็นเพศชายและหญิงในอัตราส่วนร้อยละ ๕๑ และ ๔๙ ใกล้เคียงกับโครงสร้างประชากรของประเทศ โดย สบท. ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ศึกษาวิจัยเรื่องความตระหนักรู้และความพึงพอใจของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ในบริการโทรศัพท์มือถือ พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเองร้อยละ ๘๕ ขณะที่เด็กก่อนวัยเรียนจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเองร้อยละ ๒๔  ส่วนพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือได้น้อยที่สุดคือ พื้นที่ภาคเหนือ
ผลการสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย ยังไม่สามารถปฏิบัติได้มาตรฐานตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง  ซึ่งกำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าบริการผิดพลาดได้ไม่เกินร้อยละ ๑ ของใบแจ้งค่าใช้บริการทั้งหมด เนื่องจากภาพรวมของทุกเครือข่าย มีผู้ใช้บริการที่พบการเรียกเก็บค่าบริการผิดพลาดในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ ๖ ของผู้ใช้บริการทั้งหมด แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือ มีผู้ใช้บริการร้อยละ ๔๗ ไม่เคยตรวจสอบใบแจ้งค่าใช้บริการ

สำหรับการสำรวจในบริการโทรศัพท์สาธารณะ พบว่า มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะร้อยละ๔๑  กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มที่ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะมากที่สุด ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่า โทรศัพท์สาธารณะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน  โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนโทรศัพท์สาธารณะมากที่สุด ระดับความพึงพอใจต่ำที่สุดของผู้ใช้บริการโทรสาธารณะ คือ เรื่องความรวดเร็วในการซ่อมแซม โดยร้อยละ ๘๔ ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะพบปัญหาในการใช้งาน และปัญหาที่พบมากที่สุดคือ โทรศัพท์กินเงินมีสัดส่วนร้อยละ ๔๙ 
 ส่วนการสำรวจเรื่อง ความพึงพอใจของผู้บริโภคในการใช้บริการโทรศัพท์บ้านพบว่า  มีครัวเรือนถึงร้อยละ ๑๖ ไม่สามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์บ้านได้ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงบริการโทรศัพท์บ้านมากที่สุด  ทั้งนี้ประเทศไทยมีครัวเรือนที่ติดตั้งโทรศัพท์บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๒๙ ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนของครัวเรือนไทยที่ติดตั้งโทรศัพท์บ้านต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์อย่างชัดเจน ประเทศสิงคโปร์ มีสัดส่วนของครัวเรือนที่ติดตั้งโทรศัพท์บ้านถึงร้อยละ ๙๖ 

ทั้งนี้จากการสำรวจกลุ่มครัวเรือนที่ยังไม่มีโทรศัพท์บ้านในปัจจุบัน จำนวน ๕,๖๔๒ ครัวเรือนพบว่า มีครัวเรือนจำนวน ๔๖๓ ครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ ๘ ที่มีความต้องการใช้โทรศัพท์บ้าน แต่ไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากพื้นที่การบริการยังเข้าไปไม่ถึง หรือมีบริการเข้าถึงพื้นที่แต่จำนวนคู่สายไม่เพียงพอ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net