Skip to main content
sharethis

‘ดิอีโคโนมิสต์’ นิตยสารทางเศรษฐกิจชื่อดังของโลก เสนอบทความเกี่ยวกับประเทศไทยเรื่อง “กรุณาใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพน้อยๆ หน่อย” ในคอลัมน์ ‘Reader debate’ เผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา โดยตอนท้ายจดหมาย ‘ดิอีโคโนมิสต์’ ได้ชวนผู้อ่านถกเถียง โดยทิ้งท้ายว่า 

“เราพูดถูกหรือไม่? กรุณาโพสต์ความคิดเห็นของคุณท้ายบทความของเรา เราจะไฮไลท์ข้อถกเถียงที่ดีที่สุดในวันต่อไป  

‘ประชาไท’ ได้แปลและเรียบเรียง โดยมีเนื้อความ ดังนี้...

 

0 0 0

ดิอีโคโนมิสต์
คอลัมน์แลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้อ่าน

กรุณาใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพน้อยๆ หน่อย

ในสัปดาห์นี้ขอแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้อ่านว่า กฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ควรมีที่ยืนในประเทศไทยยุคใหม่หรือไม่

ทางตันและความปั่นป่วนรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ได้กลายมาเป็นนิยามการปกครองของไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ตั้งแต่สถาปนารัฐสมัยใหม่ในปี 1932 (พ.ศ.2475) เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เคยราบเรียบเลย ประเทศไทยมีรัฐประหารเกิดขึ้น 18 ครั้ง แต่ด้วยการปูเส้นทางของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอันน่าประทับใจในปี 1997 มันได้สร้างความเป็นได้สำหรับนักการเมืองในการใช้นโยบายต่างๆ ภายใต้พรรคการเมือง เพื่อเรียกการสนับสนุนให้เกิดความนิยม

ทักษิณ ชินวัตร เล่นในสนามนี้อย่างมีความสามารถมากกว่าคนอื่นคนใด ในปี 2005 เขากลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ แต่คนที่มีการศึกษาสูงและพลเมืองผู้ทรงอิทธิพลหลายๆ คนมองเห็นว่า เขาเป็นคนโกงและเป็นหน่อของทรราชย์ ผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันโดยใช้สัญญลักษณ์สีเหลือง ซึ่งอ้างอิงถึงราชสำนัก พวกเขาปูทางการขับเขาออกจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหารในปี 2006

หลังจากความพยายามอย่างผิดๆ พลาดๆ ของกองทัพต่อรัฐบาล กองทัพถอนออกจากใจกลางเวที แต่เมื่อพรรคการเมืองที่นำโดย “ตัวแทน” ของทักษิณชนะการเลือกตั้งครั้งต่อมาในเดือนธันวาคม 2008 รัฐบาลถูกไล่ออกจากทำเนียบโดยการเดินขบวนประท้วงของกลุ่ม “เสื้อเหลือง” พร้อมกับการแยกตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนในรัฐสภา รัฐบาลปัจจุบัน นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขึ้นมาบริหารประเทศด้วยการสนับสนุนจากกองทัพโดยรู้อยู่แก่ใจ และเมื่อเดือนเมษายนปีก่อน การเดินขบวนประท้วงจากฝ่ายตรงกันข้ามรัฐบาล ผู้ที่สวมเสื้อสีแดงและยังภักดีต่อทักษิณได้กดดันให้การประชุมสุดผู้นำของภูมิภาคต้องยกเลิกไป

ดูเหมือนว่า ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถปรองดองกันได้ ด้วยประการทั้งหลายทั้งปวง แต่พวกเขาเคารพนับถือพระมหากษัตริย์ ในฝั่งสีเหลืองพวกเขาทำให้ตัวเองเป็นประกายแวววาวโดยใช้สีของพระราชวัง ส่วนฝ่ายสีแดงไม่ได้เป็นแบบนั้น ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์ท่านต้องทรงครองราชย์และเป็นที่เคารพอย่างสูง อันเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวกันบ่อยครั้งว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวประเทศไทยเข้าไว้ด้วยกัน

ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ ความเป็นกลางของพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ถูกคุ้มครองโดยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่เข้มงวดรุนแรงที่สุดในโลก พลเมืองคนใดก็ตามสามารถแจ้งความจับกุมผู้กระทำผิดโดยใช้กฎหมายนี้ และมีโทษจำคุกถึง 15 ปี

กระทรวงต่างประเทศ เคยแถลงถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า กฎหมายนี้มีความจำเป็นในการปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการถูกโจมตีทางการเมือง

เนื่องจากกฎหมายนี้ทำให้ ‘ดิอีโคโนมิสต์’ ฉบับที่แล้ว ไม่ได้จำหน่ายในประเทศไทย เพราะมีเนื้อหาขยายการถกเถียงไปในเรื่องการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่า “ทำร้ายพระมหากษัตริย์” นอกเหนือจากเรื่องการสืบสันตติวงศ์แล้ว ยังพยายามจะชี้ให้เห็นประเด็นอื่นๆในบทความอื่นที่เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่มีทางที่จะมีการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากนี้ได้

การทำให้การถกเถียงในปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับว่า อะไรจะเกิดขึ้น และอะไรเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมีกฎหมายจำกัดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีปิดกั้นคนไทยและผู้ที่สนใจ แม้จะเป็นเรื่องที่มีฐานอยู่บนข้อเท็จจริงก็ตาม

กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่แย่ กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม และเป็นกฎหมายที่อุดปากการถกเถียงที่สำคัญอย่างยิ่งยวด

เรายืนยันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทยควรถูกยกเลิก กฎหมายนี้มีผลเสียต่อประเทศไทยเอง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ กฎหมายนี้จึงควรถูกยกเลิก

เราพูดถูกหรือไม่? กรุณาโพสต์ความคิดเห็นของคุณท้ายบทความของเรา เราจะไฮไลท์ข้อถกเถียงที่ดีที่สุดในวันต่อไป  

 

 

หมายเหตุประชาไท  : หากสนใจแลกเปลี่ยน โปรดคลิกที่นี่

      

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net