Skip to main content
sharethis

“ให้ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าของกลุ่มบุคคล”
น.ส.สุภาพร สัมโย ม.5 ร.ร.สายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ฯ

“ควรจำกัดพื้นที่ในการชุมนุมให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านการจราจร
ไม่ควรไปชุมนุมในสถานที่สำคัญและสถานที่ราชการ”
น.ส.สิริวรรณ เรือนคำ ม.5 ร.ร.นวมินทราชินูทิศเบญจมราชาลัย 

“ไม่ควรใช้ความรุนแรงและไม่ใช้คำที่ไม่เหมาะสม ปลุกระดมผู้ร่วมชุมนุมให้ทำสิ่งที่รุนแรง”
น.ส.จารุภา วัชรานุเคราะห์ ม.4 ร.ร.ยอแซฟอุปถัมภ์ สามพราน

“ใช้วิจารญาณในการแก้ปัญหาดีกว่าการใช้ความรุนแรง และควรนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาใช้”
น.ส.วลัยกร ไชยภักดี  ม.5 ร.ร.สภาราชินี 2  จ.ตรัง 

“อย่าเอาการเมืองไปยุ่งกับเรื่องอื่น เช่น เรื่องกีฬา”
นายกฤษฏิ์ วีระฉันทะชาติ ม.5  ร.ร.นิรมล ชุมพร

 

 0 0 0

นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องจากเยาวชน ที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงที่เคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภา สถานการณ์ดังกล่าวมีทั้งการชุมนุมที่ใช้แนวทางแบบสันติและวิธีการที่ดูเหมือนว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง เป็นภาพปรากฏให้เห็นทางสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเยาวชนให้ความสนใจติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

นอกจากข้อเรียกร้องข้างต้นแล้ว ยังมีเสียงจากเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งสะท้อนความห่วงใยต่อสถานการณ์ว่า

“อยากให้ทุกฝ่ายหันมาพูดคุยโดยเปิดใจให้กัน รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย คือ แตกต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก”

“ลืมอดีตและเลิกอคติกับเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่นำเรื่องในอดีตที่รัฐบาลทุจริตมาพูดอีก เพราะจะทำให้ยืดเยื้อไม่รู้จักจบ”

“การชุมนุมทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก วุ่นวาย ไม่สงบสุข และจะส่งผลให้เศรษฐกิจแย่ลง เพราะต่างประเทศไม่กล้ามาลงทุน”

“การชุมนุมทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยกทางความคิด เกิดความหวาดระแวงว่าจะไม่มีความปลอดภัย การจราจรติดขัด การดำเนินชีวิตยากลำบากมากขึ้น”

“สื่อต้องมีความเป็นกลางและนำเสนอข่าวตามความเป็นจริง รวมถึงสถาบันการศึกษาก็ต้องวางตัวเป็นกลางด้วย”

“นักการเมืองควรวางตัวให้เหมาะสมกับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่เจาะจงเฉพาะพื้นที่หาเสียงของตน”

“ควรหันมาให้ความสนใจปัญหาเยาวชนบ้าง เช่น การปฏิรูปการศึกษา GAT- PAT / O-NET”

ข้อเรียกร้องและความคิดเห็นดังกล่าว เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมค่ายยุวสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริมความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชน และการจัดการความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี

ค่ายยุวสิทธิมนุษยชนมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ทางสังคมแก่เยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ในช่วงปิดภาคเรียนเดือนมีนาคมและตุลาคม และในครั้งนี้เป็นค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 7 ที่ ยส.จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 -18 มีนาคม 2553 ที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าฯ จ.ระยอง โดยมีเยาวชนจาก 17 โรงเรียนทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวน 36 คน

จากการทำกิจกรรมที่หลากหลายในค่ายฯ เยาวชนได้เรียนรู้ถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และไม่มีใครแย่งชิงไปจากใครได้ เช่น สิทธิที่จะได้รับการดูแลจากครอบครัว สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการมีงานทำ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง การรวมกลุ่มและการชุมนุมโดยสงบ สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ได้เรียนรู้เรื่องความเสมอภาคและความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมเรียนรู้ถึงการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง การไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่คิดต่างจากตน เรียนรู้ถึงความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกันอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ

นอกจากนี้ ค่ายฯ ยังได้จัดกิจกรรมให้เยาวชนได้ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ วิกฤติทางสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย บริโภคนิยม ขณะเดียวกัน ยังได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง ทำให้เยาวชนได้แง่คิดว่ามนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติ จึงควรใช้อย่างรู้คุณค่า รู้จักจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาชีวิตและไม่ทำลายโลกด้วย

 

 

           

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net