เอ็นแอลดียังไม่ตัดสินใจจะลงเลือกตั้งหรือไม่ -ไฟไหม้ค่ายผู้ลี้ภัยคะเรนนี เผาวอด 60 หลัง

เอ็นแอลดียังไม่ตัดสินใจจะลงเลือกตั้งหรือไม่
พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ ขณะที่นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคไม่เห็นด้วยกับการลงทะเบียนพรรคการเมืองภายใต้กฎหมายเลือกตั้งของพม่าที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ภายในพรรค

ด้านนายเนียนวิน ทนายความของนางซูจีกล่าวว่า ตามข้อปฏิบัติแล้ว ทางพรรคไม่จำเป็นที่จะรับฟังการตัดสินใจของนางซูจีอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของนางอองซาน ซูจีมีขึ้นหลังมีข่าวการแตกคอกันภายในพรรค ซึ่งเจ้าหน้าที่ในพรรคเอ็นแอลดีระบุว่า ไม่แน่ใจว่า การหารือของผู้นำพรรคจำนวนมากกว่าร้อยคนในวันที่ 29 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะสามารถหาข้อสรุปว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่

ตามข้อมูลของแหล่งข่าว นายอ่องฉ่วย ประธานพรรควัย 92 ปีซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากนางซูจี และสนับสนุนให้พรรคลงเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวกับบรรดาผู้นำในพรรคว่า เขาไม่ต้องการให้มีระบบการโหวตในการประชุมพรรคในวันที่ 29 มีนาคมนี้  โดยเขาต้องให้สมาชิกมีการถกเถียงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นไปได้ว่า การหารือกันอาจจะยังคงไม่ได้ข้อสรุป

ด้านนายวินติ่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนหนึ่งของพรรคแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าหากนางซูจีและนายอ่องฉ่วยไม่สนับสนุนให้พรรคลงทะเบียนเลือกตั้ง เชื่อว่าการหารือกันจะได้ข้อสรุป ซึ่งเป็นการหารือกันรอบสุดท้าย และการแสดงความคิดเห็นของนางซูจีต่อกฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาล นายวินติ่นมองว่าเป็นการแสดงความรอบรู้ด้านการเมืองและภาวะผู้นำของนางซูจี
ขณะนี้พรรคเอ็นแอลดีอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างการลงเลือกตั้งโดยไม่มีนางซูจี หรือว่าปฏิเสธลงเลือกตั้งเนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งไม่ชอบธรรม โดยระบุว่า พรรคการเมืองจะไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ หากสมาชิกในพรรคคนใดคนหนึ่งยังต้องโทษจำคุก

ด้านนายโอง จ่าย เจ้าหน้าที่จากพรรคเอ็นแอลดีคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้นางซูจีและนายอ่องฉ่วยมักจะให้ลูกพรรคมีส่วนร่วมและตัดสินใจด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้วจะไม่สามารถทางออกได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสอง

ด้านผู้สังเกตการณ์มองว่า การที่นางซูจีปฏิเสธกฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาลอย่างชัดเจน จะยิ่งทำให้พรรคเอ็นแอลดีลังเลในการตัดสินใจ และหากทางพรรคไม่ลงทะเบียนเลือกตั้งภายใน 60 วันตามที่รัฐบาลกำหนด พรรคเอ็นแอลดีมีความเสี่ยงที่จะต้องถูกยุบพรรค ตามข้อกำหนดในกฎหมายเลือกตั้งที่ระบุว่า พรรคการเมืองใดที่มีสมาชิกพรรคต้องโทษจำคุกจะต้องถูกยุบพรรค

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในย่างกุ้งที่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวน 374 คน พบว่า จำนวน 166 คน ( ร้อยละ 44 ) มองว่าพรรคเอ็นแอลดีไม่ควรลงเลือกตั้ง ซึ่ง หากลงเลือกตั้ง หมายความว่า พรรคเอ็นแอลดียอมรับรัฐธรรมนูญปี 2551 ของรัฐบาลพม่า ซึ่งพรรคจะต้องขับไล่นางซูจีและนักการเมืองที่ถูกคุมขังออกจากพรรค และถึงแม้จะลงเลือกตั้งก็จะไม่มีเสรีภาพที่แท้จริง

ขณะที่ 146 คน(ร้อยละ39) เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยหากเอ็นแอลดีลงเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า อย่างน้อยก็ยังเหลือสถานภาพของพรรคการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นพรรคเอ็นแอลดีก็จะถูกยุบ และจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ยังคงยืนข้างพรรคเอ็นแแอลดี และถ้าหากไม่มีพรรคเอ็นแอลดี ประชาชนก็จะถูกทิ้งโดยไม่มีความหวังใดๆ

ขณะที่เหลืออีก 62 คนไม่ต้องการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มแรงกดให้ต่อพรรคเอ็นแอลดีมากกว่านี้ และเคารพการตัดสินใจของสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี (Irrawaddy 24 มีนาคม 2553)
 

ไฟไหม้ค่ายผู้ลี้ภัยคะเรนนี เผาวอด 60 หลัง 
 

กลางดึกของคืนวันที่ 22 มีนาคม 53 ที่ผ่านมา เกิดเหตุไฟไหม้ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย  แคมป์1 จ.แม่ฮ่องสอน เป็นเหตุให้บ้านพักของผู้ลี้ภัยจำนวน 60 หลังถูกไฟไหม้เสียหายและผู้ลี้ภัย 300 กว่าคนต้องไร้ที่อยู่

มีรายงานว่า ที่พักของผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่สร้างจากไม้ ไม้ไผ่และพลาสติก และสร้างติดๆ กันทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง

นายอ่องหม่อง ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายดังกล่าวเปิดเผยว่า สาเหตุอาจมาจากการจุดเทียนทิ้งไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บนอกจากสัตว์เลี้ยง โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการประกาศเตือนให้ผู้ลี้ภัยระวังเหตุไฟไหม้ เนื่องจากใกล้หน้าร้อน 

ในค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าวมีบ้านพักของผู้ลี้ภัยจำนวน 3,200 หลังคาเรือน แบ่งเป็น 40 เขต และมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่จำนวนกว่า 14,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวคะเรนนี โดยเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้เกิดขึ้นในเขตที่ 4

ทั้งนี้หลังเกิดเหตุ ทางการไทยได้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายและแจกจ่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ครั้งนี้แล้ว ขณะที่ผู้ที่ไร้ที่อยู่บางส่วนไปอาศัยอยู่กับญาติ บางส่วนต้องพักอยู่ในโรงเรียนเด็กเล็ก ด้านคณะกรรมการในค่ายผู้ลี้ภัยประกาศจะช่วยสร้างบ้านให้แก่ผู้ลี้ภัยที่สูญเสียบ้าน

จากข้อมูลขององค์กร Thailand Burma Border Consortium (TBBC) ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย -พม่า ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 140,000 คน จากค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย - พม่า 
(Mizzima 23 มีนาคม 2553)

สามารถบริจาคเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ลี้ภัยคะเรนนีได้ที่ คณะกรรมการค่ายผู้ลี้ภัยคะเรนนี (Karenni Camp committee) 089-5531295 หรือช่วยเหลือผ่านทาง องค์กรThailand Burma Border Consortium (TBBC) 053-614127

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท