Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปกติผมเป็นแฟนประชาไทตัวจริงครับ เปิดคอมพิวเตอร์ทีไร สองเว็บแรกที่จะต้องเปิดดูก่อนเลยก็คือเว็บประชาไท กับเฟซบุค เวลามีบทความไหนเนื้อหาถูกใจ หรือผมเห็นว่าน่าเผยแพร่ (ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่การรับรู้ของคนกรุงเทพฯ และนักเรียนไทยในต่างแดนจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการเมืองไทยติดอยู่กับกรอบความคิด ม็อบ = ความวุ่นวาย, ม็อบแดง = ทักษิณจ้างมา/ถูกหลอก-โง่/ล้มเจ้า ฯลฯ) ผมก็จะโพสต์ลงในหน้าเฟซบุคของผม โดยที่ไม่บ่อยนัก “เพื่อน” ในลิสต์ผมจะมาสนใจหรือแสดงความคิดเห็นเป็นจริงเป็นจัง อย่างมากก็มากด “like” (แสดงความปลาบปลื้ม) หรือแซวเล่นๆ ขำๆ สั้นๆ ด้วยความที่ (ผมคิด) ว่า “เพื่อน” เหล่านั้นส่วนหนึ่งคงถือคติ “เป็นกลาง” ทางการเมือง (กุไม่รู้ กุไม่สน กุเมา -- ฮา) อีกส่วนหนึ่งคงเป็นนักเรียนไทยในต่างแดนที่งานที่อาจารย์สั่งก็เยอะพอแล้ว ไม่มีเวลามาถกเถียง และอีกกลุ่มหนึ่งก็น่าจะเป็นคนที่เกลียดทักษิณ เกลียดเสื้อแดงเข้าไส้ แต่ไม่อยากมาโพสต์เถียงกับผมเรื่องการเมือง เพราะคงกลัวผม (และตัวเอง) เสียความรู้สึก เนื่องด้วยความแตกต่างทางความคิด

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ผมได้โพสต์บทความ “คนเสื้อแดง ‘ก้าวพ้น’ ทักษิณแล้ว คุณล่ะ?” (http://www.prachatai.com/journal/2010/03/28352) ในหน้าเฟซบุคของตัวเอง ปรากฏว่ามีเพื่อนนักเรียนไทยในต่างแดน (ศึกษาต่อในสหรัฐฯ เหมือนกัน) ได้ให้เกียรติมาแสดงความคิดเห็นต่อบทความชิ้นนี้ ความว่า:

“เห็นด้วย ในกรณี ที่รัฐบาล ควรลองมองข้ามเงื่อนไขที่ชื่อทักษิณ แล้วดูว่า ผู้ชุมนุมที่มาเพราะความเดือดร้อนจิงๆ นั้น เค้าต้องการอะไร ทำยังไงถึงจะช่วยเค้าได้ เพราะนั่นคือหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว

“แต่ไม่เห็นด้วย ที่บอกว่าคนเสื้อแดงก้าวพ้นทักษิณ แล้ว เพราะการปราศรัยทุกวันของเสื้อแดงมีคำว่าทักษิณ เยอะยิ่งกว่า preposition รวมถึงคำพูดของแกนนำก็กล่าวอ้างทักษิณตลอดดด และเงื่อนไขของเสื้อแดงอีกอันหนึ่งก็คือ การนำทักษิณกลับประเทศ อย่างงี่จะบอกว่าก้าวข้ามได้ไง??

“และอีกอันที่เราไม่เห็นด้วยนะ ก็คือ เราไม่คิดว่าการยุบสภา และให้เลือกตั้งใหม่ จะเป็นการแก้ไขอะไรได้ ยุบสภา-->ซื้อเสียง--> ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ทักษิณก้อต้องหาวิธีปลุกปั่นใหม่ ว่ามีอำมาตย์ คุณท้าวอะไรอยู่เบื้องหลัง ถ้าเพื่อไทยได้ เสื้อเหลืองก็ออกมาอีกก --???? vicious cycle!!!!

“ประชาธิปไตย ใครๆ ก็อยากได้ ทุกๆ ที่ในโลกรู้ว่ามันเป็นระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศที่สุดตอนนี้ แต่ก็อย่าลืมว่า initial condition แต่ละที่มันไม่เหมือนกัน แล้วอีกอย่าง การเลือกตั้งก็เป็นแค่ tool หนึ่งในประชาธิปไตยเท่านั้น ประชาธิปไตย ไม่ได้แปลว่าเลือกตั้ง”

ด้วยเหตุที่นานๆ ทีจะมีคนแวะมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านกับบทความที่ผมโพสต์ (และมาด้วยอารมณ์ “รักชาติ”) ผมจึงยอมสละเวลา 2 ชั่วโมงของวันดังกล่าวเพื่อ “แลกเปลี่ยนความคิดเห็น” ทางการเมืองกับเธอโดยเฉพาะ โดยมีใจความดังนี้

“เรื่องก้าวข้ามทักษิณรึเปล่าเนี่ย จริงๆ แล้วมันก็มองได้หลายแง่ แต่โดยทั่วไปเนี่ย การชุมนุมทางการเมืองมันมีหลาย component คนหลากหลายกลุ่มมีเป้าหมายย่อยๆ แตกต่างกัน แต่มี "จุดร่วม" บางอย่างเหมือนกัน อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในขณะที่คนเสื้อแดงประกอบด้วยคนจำนวนมากที่นิยมทักษิณ แต่คนอีกจำนวนไม่น้อยก็เข้าร่วมไม่ใช่เพราะรักทักษิณ แต่มันมีสิ่งที่เรียกว่า "สองมาตรฐาน" จริงๆ ในการเมืองไทยครับ เริ่มตั้งแต่สื่อมวลชนไทย ตอนพธม.ยึดสนามบิน ยึดทำเนียบฯ กลับไม่ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ หรือไม่ฉายภาพ "ผู้ร้าย" ดังเช่นที่กระทำกับเสื้อแดงเมื่อเร็วๆ นี้ ตอนนั้นจำได้เลยว่าได้ฟังวิทยุพธม.ในช่วงนั้น การปราศรัยมีแต่คำหยาบคาย สัตว์เลื้อยคลานเต็มไปหมด (ในขณะที่เสื้อแดงอย่างมากก็ด่า "พวกพันธมาร", อีแอบ) ลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายทักษิณอย่างมาก แต่สื้อก็ไม่ได้นำเสนอในจุดนี้เท่าที่ควรจะเป็น หรือแม้กระทั่งหลังจากเหตุการณ์ยึดสนามบิน แกนนำพันธมิตรฯ บอกว่า ไม่ได้ยึด เดินเข้าไปเฉยๆ แต่ผอ.สนามบินฯ เป็นคนสั่งปิดเอง ทำไมสื่อฟรีทีวีไทยเงียบเฉย แถมคดีนี้ก็เงียบหายไปเลย (คือไม่เป็นข่าว) ในขณะที่คนเสื้อแดงขยับนิดหน่อยก็โดนจับผิดแล้วน่ะครับ หรือแม้กระทั่งเรื่อง GT 200 เนี่ย นี่ก็ทุจริตเห็นๆ แต่ทำไมเงียบไปครับ หรือเป็นเพราะผู้นำทหารไม่ใช่ฝ่ายเสื้อแดง เขาจึงทำอะไรก็ไม่ผิด ฉะนั้น หลักใหญ่ใจความของคนเสื้อแดงที่มีร่วมกันก็คือเรื่องนี้ครับ ความอยุติธรรม เลือกที่รักมักที่ชังของกระบวนการยุติธรรมไทย รวมถึงสื่อมวลชนกระแสหลักในกทม.ครับ และการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยน่ะครับ 1 คน 1 เสียง เป็นหลักประกันว่าพลเมืองแต่ละคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเสียงดังกว่าใคร แถมเป็นวิธีการให้ได้มาซึ่งผู้แทนประชาชนอันเป็นวิถีทางที่สันติที่สุด ในขณะที่การรัฐประหารเป็นไปในทางตรงกันข้าม เสียงของคนถือปืนสำคัญที่สุด แม้รัฐประหารที่เกิดขึ้นในปี 49 ไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บล้มตายอะไร แต่ความสงบที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมันหมายถึง "ไม่รุนแรง" เหรอครับ การเมืองสงบ เพราะคนชุมนุมไม่ได้ เนื่อกจากกลัวปืน-รถถัง ก็เหมือนกับความเงียบของการที่โจรถือปืนเข้าบ้านเรา แล้วเอามาจ่อปากเราแหละครับ เขายังไม่ยิงเลยนะ แต่เราก็ต้องเงียบ ถ้าคุณโดนกระทำแบบนี้อยู่ แล้วมีเพื่อนบ้านคุณเดินผ่านมาบอกว่า "เออ สงบดีเนอะ ไม่มีอะไรรุนแรงเลย" คุณจะรู้สึกยังไงครับ

“การเลือกตั้งอาจมิใช่วิธีการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ดีที่สุด แต่มันก็เป็นวิธีการที่เลวน้อยที่สุดนะครับ ปัญหาสำคัญในการเมืองไทยก็คือ ภาพของ "ตัวร้าย" ของระบบเลือกตั้งมีเพียงกลุ่มเดียวคือ พรรคของฝ่ายทักษิณ ทั้งๆ ที่เลือกตั้ง 50 ที่ผ่านมา ผมเป็นคน ตจว. ชาวบ้านในจังหวัดผมก็มีการร้องเรียนเรื่องการซื้อเสียงของพรรคเก่าแก่ แต่คดีกลับเงียบหาย สื่อไม่ตามติด กระบวนการยธ.ยื้อเรื่อง กลายเป็นว่าพรรคเก่าแก่เป็นพระเอก มือสะอาด ซื่อสัตย์ ไม่ซื้อเสียง แต่คนส่วนใหญ่ไม่เลือก เพราะดันพากันไปเลือกพรรคที่ซื้อเสียง ด้วยเหตุนี้การเลือกตั้งจึงถูกกระบวนการลดทอนความสำคัญลง เพราะมันไม่ได้ทำให้ "คนดี" เข้ามาบริหารประเทศ ญาติผู้ใหญ่ผมเป็นคนใต้เยอะเหมือนกัน ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมท่านบ่อยๆ ก็ได้รับรู้มาว่าพรรคเก่าแก่ก็ซื้อเสียงเหมือนกัน ฉะนั้น ปัญหาสำคัญก็คือว่า

1. ซื้อเสียงกันหมดแทบทุกพรรค แต่ทำไมโดนคดีอยู่แต่พรรคที่ไม่ใช่พรรคเก่าแก่?

2. ภาคอีสาน-เหนือ พรรคเก่าแก่ก็มีซื้อเสียงเหมือนกัน แต่ทำไมคนก็ยังไม่เลือก (แพ้เลือกตั้งอยู่ดี)?

“ประเด็นที่หนึ่งเป็นหนึ่งใน "ที่มา" ของคนเสื้อแดงครับ แต่ประเด็นสองก็สำคัญครับ ทำไมคนบ้านนอกไม่เลือกพรรคคนหล่อล่ะ? คำตอบที่ผมพอจะให้ได้ ณ ที่นี้ก็คือ เพราะประวัติศาสตร์ (หรือ "กรรม" ในอดีต) มันไล่ล่าพรรคคนหล่อครับ ในอดีต สมัยนายหัวชวน ชาวบ้านเกษตรกรภาคอีสานไปชุมนุมหน้าทำเนียบฯ เพราะเดือดร้อนเรื่องปากท้อง แต่กลับถูกปฏิบัติด้วยการเอาสุนัขตำรวจไปไล่กัดเขา นั่นก็ดอกหนึ่ง พอตอนไล่ทักษิณก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยา คนหล่อก็ออกไปเรียกร้อง ม.7 ก็เป็นอีกดอกหนึ่ง และพอหลังเกิดรปห. พรรคคนหล่อก็เงียบ เพราะได้ประโยชน์จากระบอบทหาร ก็เป็นอีกดอก และกรณีการขึ้นสู่อำนาจโดยการหนุนหลังของ "เครือข่ายเสื้อเหลือง" (กระบวนการยธ.-ทหาร-พธม.) และการที่คนหล่อไปกอดกับเนวิน ก็เป็นอีกดอกหนึ่ง ทั้งนี้ไม่นับการที่พรรคคนหล่อวิจารณ์นโยบาย "ประชานิยม" ของฝ่ายตรงข้ามมาตั้งแต่สมัยปี 47 แต่สุดท้ายตัวเองก็ก็อปมาแทบทั้งดุ้นตอนเลือกตั้ง 50 (แค่เปลี่ยนชื่อนิดหน่อยในหลายๆ โครงการ) สิ่งเหล่านี้มันทำให้ชาวบ้านจำนวนมาก "เอือม" และมองว่าพรรคคนหล่อ "สะตอเบอรี่" น่ะครับ

“สิ่งที่เล่ามาจนถึง ณ ตอนนี้ก็คือพยายามจะบอกว่า ใน sense ของคำว่าการข้ามพ้นทักษิณของเสื้อแดงนั้น ก็คือการข้ามพ้นในแง่การให้ความสำคัญที่ตัวบุคคลน่ะครับ ทำไมชาวบ้านเค้าจะไม่รู้ว่าใครโกงไม่โกง เผลอๆ เค้ารู้ดีกว่าเราด้วยซ้ำว่าพรรคเก่าแก่ทุ่มซื้อเสียงเยอะกว่าพรรคอื่นมากเท่าไหร่เมื่อตอนเลือกตั้ง 50 ในขณะที่คนกทม.ก็ยังมองพรรคเก่าแก่ว่าเป็นพระเอก ใสซื่อมือสะอาด แต่เนื่องจากพรรคของฝ่ายทักษิณทำให้พวกเขารู้สึกว่า การเลือกตั้งมีความหมาย เลือกผู้แทนระดับชาติแล้วเขาทำตามสัญญา นโยบายเป็นรูปธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านได้มากกว่าที่เคยเป็นมาในยุครัฐบาลผสมในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 ฉะนั้น มองโดยผิวเผินก็จะเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเชียร์ทักษิณ แต่ลึกๆ แล้วเจตจำนงของคนเสื้อแดงโดยภาพรวมคือการพยายามยืนยันถึง "ระบอบ" ที่ประกันว่า สิทธิและความเป็นมนุษย์ของคนไทยควรจะเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน และ "หลักการ" ว่าด้วยเรื่อง 1 คน 1 เสียง และความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้ากันครับ ถ้าคนเสื้อแดงโดยภาพใหญ่ขึ้นอยู่กับทักษิณเพียงคนเดียว ก่อนคดียึดทรัพย์เค้าก็คงชุมนุมโวยวาย เผาบ้านเผาเมือง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดรปห.แล้วครับ แต่นี่เขาเลื่อนชุมนุมออกไปเป็นช่วงหลังวันตัดสินคดี เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร) ที่จ้องจะปราบเขาทุกเมื่อ

“ผมได้เรียนรู้อย่างนึงว่า ประชาธิปไตยคือการอดทนกับความคิดเห็นที่แตกต่างครับ ตอนช่วงปี 47 ผมก็อินไปกับกระแสต่อต้านทักษิณครับ ผมซื้อหนังสือแนว "รู้ทัน" เยอะแยะ พอกลับบ้านที่อุบลฯ ผมก็เอาเอกสารแบบนี้ไปให้พ่อผมอ่าน (พ่อผมนิยมทักษิณ) ผมก็ถือว่า ความคิดคนเราเปลี่ยนยาก แต่มันเปลี่ยนได้ อาจใช้เวลานานหน่อย สุดท้าย ถ้าพ่อผมอ่านสิ่งที่ผมให้ไป แต่ยืนยันจะเลือกทักษิณเช่นเดิม ผมก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของพ่อครับ ไม่ใช่ว่า "พ่อยังจะเลือกทักษิณอยู่อีกเหรอ งั้นขังพ่อไม่ให้ไปเลือกตั้งดีกว่า" ที่เล่าให้ฟังก็เหมือนกับสภาพการเมืองไทยในช่ว 3-4 ปีที่ผ่านมานี่แหละครับ สิ่งที่ "เครือข่ายเสื้อเหลือง" กระทำมาตลอดนับตั้งแต่รปห. 49 จนถึงปัจจุบันก็เหมือนการที่ผม (ถ้าเป็นเสื้อเหลือง) ไปกักขังพ่อไม่ให้ออกไปเลือกตั้ง เพียงเพราะกลัว (หรือรู้ว่า) พ่อจะเลือกทักษิณนั่นแหละครับ

“สำหรับผม การเมืองไทยจะตัดวงจรอุบาทว์ได้ในเบื้องต้นก็คือ การที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจและอดทนกับความไม่สมบูรณ์แบบ (imperfection) ของระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งครับ ยอมรับว่าคนเรามีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เขาไม่เลือกคนหรือพรรคที่เรานิยมชมชอบก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยเราทำหน้าที่ watchdog และผู้วิจารณ์ที่อดทนอดกลั้น จนกว่าคนส่วนใหญ่เหล่านั้นจะคล้อยตามข้อมูลที่เรานำเสนอ ส่วนพรรคการเมือง (เช่นพรรคเก่าแก่) ก็ต้องนำเสนอนโยบายที่ชนะใจประชาชน (และทำได้จริงๆ) ให้ได้ คนเราจะทำให้คนอื่นมารักใคร่ชอบพอเราต้องทำตัวเองให้ดีให้เขามารัก ไม่ใช่ไปกำจัดคนที่เขารัก เพื่อให้เขามารักเรา ตรรกะการคิดแบบหลังนี้จะเห็นว่า มันไม่เวิร์คทั้งในชีวิตคนระดับปัจเจก และในทางการเมืองครับ สื่อมวลชนไทยก็มีบทบาทสำคัญโดยสามารถทำหน้าที่ educate สังคมโดยรวมให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน จะยกย่องเชิดชูหรือวิพากษ์วิจารณ์ใครก็ต้องมีความเป็นกลาง หากหลังเลือกตั้ง พธม. ยังออกมาสร้างความวุ่นวายก็ต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาให้สังคมรู้ว่า พฤติกรรมพันธมิตรฯ เป็นเช่นไร การชุมนุมเป็นไปโดย "สันติ-อหิงสา" จริงหรือไม่ เหตุผลในการชุมนุมมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด ในเมื่อรัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งนั่นมาจากการเลือกตั้ง ประเด็นข้อกล่าวหาจะต้องได้รับการถกเถียงและให้น้ำหนักอย่างรอบด้าน เช่นกรณีล่าสุด โฆษก ปชป. ออกมาระบุว่า มีการจ้างรถปิคอัพ-คนเชียร์จัดตั้งในกทม. มาสร้างกระแสว่าคนกทม.เห็นด้วยกับการชุมนุม

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1269060933&catid=01) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการให้ข้อมูลในลักษณะข่าวลือเพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม หากสื่อนำเสนอข่าวนี้ ก็ควรจะมีการติดตามด้วยว่า มีหลักฐานหรือไม่ แหล่งข่าวของฝ่าย ปชป. เป็นใคร มีตัวตนจริงหรือเปล่า ฯลฯ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอำนาจต่างๆ ในการเมืองไทย สื่อควรทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มิใช่เลือกปฏิบัติดังเช่นทุกวันนี้”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net