สรุปเจรจา 3 ชั่วโมง เสื้อแดงขีดเส้น 2 สัปดาห์ยุบสภา รอคำตอบ-หารือพรุ่งนี้

การเจรจา 2 ฝ่าย 6 คน เพื่อหาทางออกระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ท้าวความปัญหาความขัดแย้งร้าวลึก วิเคราะห์ปัญหาเห็นไม่ตรงกันเกือบทุกประเด็น อภิสิทธิ์เสนอแก้กติกาก่อนยุบสภา นาทีสุดท้าย ‘ตู่’ ฟันธงยันให้เวลา 2 สัปดาห์ยุบสภา รอคำตอบพร้อมหารืออีกรอบวันพรุ่งนี้

28 มี.ค. เดินทางมาถึงสถาบันพระปกเกล้า ต่อมาเวลา 16.00 น. นายวีระ มุสิกพงษ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. เดินทางมาถึงสถาบันพระปกเกล้า เพื่อร่วมหารือกับฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ในห้องประชุมใหญ่ การเจรจาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก และมีการถ่ายทอดสดเกือบทุกช่อง การเจรจาดำเนินไปราว 3 ชั่วโมง สิ้นสุดในเวลา 19.30 น. โดยมีการหยุดพักเข้าห้องน้ำประมาณ 10 นาที
 
ในการเริ่มต้นการเจรจา นายวีระ ได้เป็นผู้เริ่มต้นว่า ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันเริ่มต้นมาตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหาร จนมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งจนถึงปัจจุบันนั้นชัดเจนว่าไปต่อไปไม่ได้ ข้อเรียกร้องให้ยุบสภานั้นเท่ากับให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้เลือกรัฐบาล เลือกสภา และเลือกรัฐธรรมนูญไปในตัว พร้อมทั้งยืนยันว่า หากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญชนะการเลือกตั้ง คนเสื้อแดงก็ยอมรับผลและจะยุติการเคลื่อนไหวที่จะทำให้รัฐบาลลำบากใจในความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายอื่นก็ต้องพูดจากันต่อไป หากเขาแพ้แล้วไม่ยอมรับก็อยู่นอกเหนือไปจากการควบคุมของคนเสื้อแดง
 
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุนการรัฐประหาร และคาดการณ์ไว้แล้วว่าแม้ผู้กระทำจะมีเหตุและผลอย่างไรก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างปมความขัดแย้ง แต่ไม่เห็นด้วยที่จะโยนทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปที่การรัฐประหาร ต้องย้อนหลังไปกว่านั้นอีก ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญ40 ก็ล้มเหลวไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์และทุกส่วนก็เห็นด้วยกันว่าต้องแก้ไข ขณะที่ประวัติของการเมืองท้องถนนก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 สำหรับแนวคิดการแก้รัฐธรรมนูญนั้นเมื่อถามไปในรายละเอียดก็จะมีความแตกต่างกันมากทางความคิดและไม่ได้คำตอบสุดท้าย ทั้งปรากฏความคลางแคลงใจ 2 ลักษณะ คือ เพื่อตัวเองหรือไม่ เพื่อนิรโทษกรรมหรือไม่
 
เขากล่าวว่า หากเห็นว่าการยุบสภาเลือกตั้งใหม่เป็นการประชามติเลือกรัฐธรรมนูญไปด้วยนั้นคงจะไม่ค่อยตรงนัก เพราะประชาชนไม่ได้เลือกตั้งด้วยเหตุผลเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่อาจด้วยการหาเสียงเรื่องนโยบายของพรรคการเมือง นอกจากนี้ หากจะมีการเลือกตั้งวันนี้จะใช้กติกาอะไร หากใช้กติกาที่มีอยู่ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นอีกแล้วทุกอย่างจะวนกลับมาที่เดิม จึงอยากเสนอว่ามาวางกติการ่วมกันก่อนดีหรือไม่  ประการต่อมา การยุบสภาไม่เป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมือง แต่หากยุบสภาไป บางฝ่ายไม่ยอมรับแล้วมีปัญหาแบบนี้อีกก็เท่ากับไม่แก้ปัญหา ที่สำคัญรัฐบาลนี้ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า มีวาระอยู่แล้ว
 
วีระกล่าวตอบว่า โดยประเด็นหลักคือไม่อยากให้นายกฯ ยอมรับกติกาของ คมช. ฝ่ายเลือกตั้งน่าจะตั้งหลักให้ตรงกันว่ากติกาที่ถูกจัดทำโดยผู้ยึดอำนาจจะต้องได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากสังคม โดยตนถึงกับใช้คำว่าเป็น “โจรกบฏ”  และขอให้การปล้นของคนพวกนี้เป็นรุ่นสุดท้ายเสียที บ้านเมืองจะมีปัญหาคอรัปชั่นประพฤติผิดใดๆ ก็ให้ว่ากันไปตามกฎเกณฑ์กติกา อาจจะช้าหน่อยแต่ไม่มีใครหนีพ้น วิธีการยึดอำนาจเป็นทางลัดที่ไม่ควรจะยอมรับร่วมกันโดยเด็ดขาด แต่พอยอมรับของเขามาครึ่งๆ มันก็เป็นปัญหาอย่างที่เป็น
 
“สรุปแล้วจะชวนท่านว่า เรามาช่วยกันรังเกียจคณะยึดอำนาจ และเครื่องมือต่างๆ ของเขาด้วยกันจะดีไหม ถ้าดีก็จะไปด้วยกันข้างหน้า ถ้าจะใช้เขาอยู่เรื่อยไป พวกผมยอมรับไม่ไหวจริงๆ สรุปว่า เราอยากมาสร้างกติกาประชาธิปไตย แต่ว่าชวนมา 2 ปีแล้ว ชวนแก้ก็ไม่สำเร็จ มาคราวนี้ก็เลยว่ารวบหัวรวบหางอย่ารอให้ครบเทอม เพราะถึงตอนนั้นก็ไม่รู้จะแก้ได้อีกไหม ทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องของเผด็จการมายึดอำนาจ แต่รวมถึงเครื่องมือของเผด็จการที่ใช้ ทั้งตัวกฎหมาย ตัวองค์กร ตัวบุคคล ซึ่งสร้างปัญหา” วีระกล่าว  
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าว่า ที่อยากได้กติกาประชาธิปไตยที่อาจเรียกได้ว่า “ใสๆ” นั้นใครก็อยากได้ แต่รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขต้องแก้โดยสภาผู้แทนและวุฒิสภาด้วย ซึ่งยังไงก็ไปยุบเขาไม่ได้ เป็นจุดที่ยังค้างอยู่ จึงเกรงว่าปัญหาจะวนกลับมาที่เดิม ส่วนคำยืนยันว่ารับผลเลือกตั้งนั้น ฝ่ายหนึ่งเขาก็บอกว่าคนส่วนใหญ่ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดแล้ว ทำไมไม่ยอมรับบ้าง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนแม้ไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญก็นำพาต่อข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงโดยพยายามตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษา และสุดท้ายได้ข้อสรุปการแก้ไขใน 6 ประเด็นเสนอให้สภาแก้แล้วแต่สุดท้ายพออดีตนายกฯ บอกว่าไม่เอาก็ล้มโต๊ะไป
  
จตุพร กล่าวตอบโต้ว่า พวกตนมีความเชื่อว่าสภาชุดนี้ไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ส่วนการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เพราะคุณทักษิณโทรมาบอกแบบนั้นแต่เป็นตนเองต่างหากที่พูดนำด้วยไม่เชื่อว่าจะมีการแก้จริง และไม่ต้องการให้เพื่อนสมาชิกมีปัญหาระหว่างทาง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ คปพร. นำโดยหมอเหวงเสนอเข้าสภาด้วยรายชื่อ 70,000 ชื่อ อยู่ในลำดับ1 ของวาระเร่งด่วนในการพิจารณาของสภามาเป็นปีๆ ก็ไม่ไดรับการเหลียวแล อย่างไรก็ดี วันนี้ตั้งใจมาพูดเรื่องเดียวคือให้ยุบสภา และเป็นสิทธิท่านเช่นเดียวกันว่าจะไม่ยุบ ส่วนตนก็จะพูดกันต่อไป ที่เสนอเช่นนี้เพราะบรรยากาศแบบนี้บ้านเมืองมันไปไม่ได้ นายกฯ ไม่ควรถูกคนต่อต้านทุกที่ ถ้าประชาชนเห็นว่าท่านถูกท่านจะกลับมาอย่างสง่างาม
 
เขากล่าวอีกว่า ประเด็นคลิปเสียงนายกฯ ที่นายอภิสิทธิ์ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่าอาจถูก กกต.ให้ใบแดงหากนำไปหาเสียงนั้นก็ขอให้ไปฟ้องตนเองตามกระบวนการยุติธรรม และในอนาคตระหว่างหาเสียงหากจะมีกรรมการบริหารพรรคไปพูดอะไรแล้วจะถูกยุบพรรคก็ไปว่ากัน แต่ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวบอกว่าประชาชนต้องการใคร
 
ชำนิ กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังหาคำตอบว่าจะยุบเพื่ออะไร แต่อธิบายอย่างจตุพรจะกลายเป็นเรื่องรัฐบาลกับคนเสื้อแดง เป็นเรื่องความชอบไม่ชอบโดยส่วนตัว นายกฯ บอกแต่ต้นว่าไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการยุบสภา แต่กำลังพูดว่ายุบแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร การเกิดขึ้นของการรัฐประหาร 19 กันยา ก็เป็นสิ่งเหนือความคาดคิดของเราทุกคน ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า กรณีของรัฐธรรมนูญนั้นมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตย และมีความชอบและไม่ชอบอยู่แล้ว ตนได้เป็นคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญพบว่าไม่มีปัญหา ดังนั้น กระบวนการบังคับใช้ไม่ใช่ปัญหาของระบบการเมืองปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องความรู้สึกเรื่องที่มา ความชอบหรือไม่ชอบ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มันตอบคำถามนี้ไม่ได้ แต่ควรเริ่มต้นว่าจะจัดการกับรัฐธรรมนูญนี้อย่างไรในกระบวนการทางรัฐสภาปัจจุบัน เพราะการรัฐประหารมันก็ผ่านไปแล้ว เกิดขึ้นแล้ว รัฐธรรมนูญ 50 ก็ดำรงอยู่แล้ว เป็นปัญหาอยู่แล้ว
 
เหวง กล่าวว่า แก่นแท้ของความขัดแย้งนี้คือการไม่เป็นประชาธิปไตยของสภาพการเมืองในปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งเชิงปรัชญาที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง การบอกว่าไม่ควรพูดถึงรัฐประหาร 19 กันยาไม่น่าจะถูกต้อง คนเสื้อแดงเพียงต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง ให้อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย ถ้าปฏิเสธเรื่องนี้ก็เท่ากับปฏิเสธประชาธิปไตย หากไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่าโครงสร้างที่แท้จริงของประเทศในวันนี้มีปัญหา คณะรัฐประหารสร้างโครงสร้างทางการเมืองที่ดำรงอยู่ขณะนี้ เช่น กกต. ปปช. คตส. และมีระบอบอำมาตยาที่เข้ามาแทรกแซงการเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกทางคามคิดอย่างรุนแรง นอกจากนี้เหวงยังวิจารณ์การควบคุมการชุมนุมที่นำทหารจำนวนหลายหมื่นมาไว้ในวัด รวมถึงการเพิ่มงบประมาณทหารเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย
 
“รัฐไทยขณะนี้ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย เป็นรัฐทหาร และนายกฯ มาจากการอุ้มสมของรัฐอำมาตยาธิปไตย และนี่เป็นแก่นแท้ของความขัดแย้งทางความคิด” เหวงกล่าวและว่า การยุบสภาจะสามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่แตกร้าวอย่างรุนแรงได้ เรื่องสีเสื้อที่แตกต่างไม่ใช่แก่น แต่เป็นเรื่องความแตกแยกทางความคิด ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีอื่น ยกเว้นการคืนอำนาจให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินว่าประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ ท้ายที่สุดได้โต้แย้งว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นเกิดขึ้นาภยใต้ปากกระบอกปืน การประกาศกฎอัยการศึกหลายพื้นที่ ไม่ถือเป็นการรับฟังในบรรยากาศประชาธิปไตย
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงบทบาทของทหารที่ผ่านมา รวมถึง กอ.รมน. ว่า การใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้นเพราะไม่ต้องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งริดลอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมากกว่า ส่วนการตรึงกำลังทหารนั้นพวกเขาไม่ได้ติดอาวุธ และเป็นไปเพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมด้วย ขณะที่แกนนำบางคนก็ละเมิดกฎหมายชัดเจน มาตรการที่ใช้อยู่ทั้งหมด ถ้ายอมรับว่าอังกฤษเป็นแม่แบบประชาธิปไตย หลายเรื่องที่ทำกันอยู่อังกฤษไม่ให้ทำ เช่น ไปบ้านพักของเอกชน ทำให้เกิดความหวาดกลัว ดังนั้น เรื่องแก่นจึงเป็นเรื่องต้องถกกันยาว จะมาสรุปง่ายๆ ไม่ได้ ส่วนเรื่องประชามตินั้น ตอนนั้นมีองค์กรระหว่างประเทศมาสังเกตการ มีการทำรายงานให้การยอมรับการทำประชามติ
 
เขากล่าวอีกว่า ยุบสภาพรุ่งนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ตนเป็นนายกฯ ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประชาชน สั่งซ้ายหันขวาหันได้ อารมรณ์ตกค้างยังมีอยู่มาก ต้องค่อยๆ หันมาสร้างกติการ่วมกันก่อน คลายอารมณ์คนเสียก่อน กำหนดเวลากันก็ได้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไร แต่ถ้าทำวันนี้อารมณ์ความรู้สึกรุนแรงกันหลายฝ่าย อย่าคิดว่าฝ่ายที่แสดงออกรุนแรงมีอารมณ์รุนแรงเพียงฝ่ายเดียว บางฝ่ายรับไม่ได้แต่เก็บอรมรมณ์รุนแรง ความเกลียดชังไว้ ตนต้องรับฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย
 
“ถามหมอก็ได้ว่าที่ต่อสู้มาหลายสิบปี มีนายกฯ คนไหนพร้อมมานั่งฟังอย่างนี้ ผมมาฟังแล้ว ผมยอมรับเหตุผลของท่าน แม้ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ผมก็มีหน้าที่ต้องฟังคนอื่น ตัวแทนของกลุ่มอื่นๆ อีก แล้วหาคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย อย่าเอาฝ่ายใดเป็นใหญ่ และอย่าตอบเฉพาะ 6 คน ต้องตอบให้ได้ทั้ง 63 ล้านคน” อภิสิทธิ์กล่าว
 
จตุพร กล่าวว่า ไม่ได้มาเพื่อยื่นคำขาดอะไร แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาข้อเรียกร้องมีข้อเดียวคือ ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ตอนที่นายกฯสมัครจัดอภิปรายสองสภา ท่านก็เคยพูดเรื่องหนึ่งคนแสนคน และความรับผิดชอบทางการเมือง ท่านเห็นว่าการชุนุมของพันธมิตรฯ เวลานั้นรัฐบาลควรรับฟัง เป็นต่างประเทศเขาลาออกไปแล้ว แต่วันนี้ผมยังมองไม่เห็นว่าการดำรงอยู่ของท่านมันจะแก้ความขัดแย้งได้อย่างไร และการแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดเรื่องนิรโทษกรรมเลย และคุณทักษิณก็บอกว่าอย่าเอาเรื่องของท่านมาเจรจา เราเพียงต้องการให้ประชาชนเจ้าอของประทเศตัดสินใจ แต่สถานการณ์ขณะนี้การดำรงอยู่ของท่านยิ่งสร้างบาดแผลรอยร้าวลึก
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า สมัยรัฐบาลสมัครนั้น ตนอภิปรายกรณีมีการเรียกร้องให้นายสมัครลาออก ไม่ใช่ยุบสภา ที่ให้ลาออกเพราะคนเรียกร้องคิดว่าพรรคท่านอาจชนะเข้ามาอีก ที่อภิปรายวันนั้นประเด็นคือ คนแสนคนมาถ้ามีเหตุผลก็ต้องชี้แจง หนึ่งคนก็ชี้แจง และได้บอกด้วยว่าให้ลาออกคงไม่ได้ ไม่กล้าเสนอให้ท่านนายกฯ สมัครลาออก เพราะเท่ากับยอมจำนนต่อแรงกดดันนอกสภา และตนก็มีส่วนได้เสียอยู่ แต่บังเอิญตอนนั้นสถานการณ์อาจมีปัญหาการจัดการอะไรก็แล้วแต่ ตนจึงเสนอว่ายุบสภาเถอะ
 
นายกรัฐมนตรีเสนอต่อว่า อยากให้คุยเรื่องรัฐธรรมนูญให้ขาด เอากระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับ และน่าจะใช้เวลาไม่มากแล้ว เพราะมีการศึกษาไว้เยอะแล้ว ประเด็นที่สอง เรากำลังเริ่มปูทางไปสู่สมานฉันท์ ท่านบอกทหารเข้ามาเพ่นพ่าน ความจริงถ้าไม่มีความชุมนุมใหญ่ก็ไม่มีทหารเพ่นพ่าน ส่วนที่ตู้มต้ามนั้นตนไม่เคยกล่าวหาใคร ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการสืบสวน แต่ในบางส่วนของคนเสื้อแดงตนไม่แน่ใจ เพราะมีทั้ง นปช. แดงสยาม เสธ.แดง ซึ่งไม่ได้พูดเหมือนกันเสมอไป เราต้องพายยามให้ทุกอย่างกลับสู่ความสงบในเวลาที่ไม่นานเกินไปนัก
 
นายวีระ สรุปว่า เสื้อแดงเป็นคนจำนวนหนึ่ง มีก้อนความคิดของเขา มีระเบียบวินัยโดยสมควร แต่สั่งการคงไม่ได้ ส่วนใหญ่รักความสงบ รักความสันติ นี่คือคนเสื้อแดงที่เปรียบเหมือนลูกคนหนึ่งของรัฐบาลที่ท่านต้องพิจารณาปัญหาเป็นพิเศษ เพราะปัญหาของลูกอีก 4 คนเขาไม่รีบ ยกเว้นเขาออกมาแสดงออกด้วยก็ไม่ไดว่ากัน  ประการที่สอง ความแตกต่างของวิธีการว่าจะยุบสภาแล้วค่อยทำกติกา หรือทำกติกาก่อนแล้วค่อยยุบสภา
 
“ปัญหาของเสื้อแดงคือเรารอคยอการทำกติกามาตลอดเวลา แต่มันสิ้นหวัง ไม่ใช่กับรัฐบาลอย่างเดียว แต่กับรัฐสภาด้วย จึงมีความเห็นว่าต้องยุบสภา ถ้าความคิดก้อนไหนชนะก็ว่ากันไป ถ้าหากว่านายกฯ เห็นว่าน่าทำกติกาก่อนก็คงต้องใช้เวลานาน แค่ร่าง คปพร. 7  สภาก็ไม่เคยสนใจของเขาเลย คาอยู่อย่างนั้น นี่คือความสิ้นหวังต่อการพึ่งพิงสภา” วีระกล่าว
 
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ความพยามเลือกตั้งแล้วทำกติกานั้นเราก็ทำมารอบนึงแล้วแต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม วันนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เราสามารถกำหนดตารางเวลาได้เลย ส่วนประเด็นลูกห้าคน ลูกสี่คนที่เฉยไม่ใช่เขาไม่มีข้อเรียกร้อง บางคนเขาเก็บไว้ในใจ บางคนเขาบอกเขารอเวลา บางคนเขาบอกว่าถ้าตามใจหนึ่งคนเขาจะเรียกร้องบ้าง คนเสื้อแดงก็ย้ำเรื่องความเสมอภาคอยู่แล้ว ดังนั้น ใครจะร้องหรือไม่ร้องต้องทำทุกคน
 
จตุพร  กล่าวว่า คนเสื้อแดงพร้อมจะเลือกแบบไปตายเอาดาบหน้า เพราะขนาดพรรคร่วมเสนอแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ยังไม่รับ ดังนั้น ให้ง่ายที่สุดก็คือให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ถ้าประชาชน 4 คนที่ท่านพูดเห็นด้วยกับท่าน ท่านก็ได้ 280 เสียงไปจัดตั้งรัฐบาลอย่างที่ท่านแสดงความมั่นใจไว้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าวันนี้รัฐบาลจริงใจในการเจรจา แต่ถ้าบอกว่าวันนี้ไปด้วยกันไม่ได้ก็ยาก มันอยู่ที่คนเสื้อแดงต่างหาก เพราะวันนี้รัฐฐาลมาแล้ว “ผมไม่มีสิทธิให้สังคมไปตายเอาดาบหน้า”  ด้านนายจตุพรกล่าวโต้ว่า ลูกที่ไม่ได้ร้องของรัฐบาลนั้นความจริงเขาร้องมานานกว่าเพื่อน และเขาก็มีพรรคการเมืองของเขาก็ต้องเสนอตัวให้ประชาชนพิจารณา “ถ้าเราเคารพเสียงประชาชนจริงตามที่เราต่างก็กล่าวอ้าง เราก็ต้องให้ประชาชนตัดสิน”
 
กอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ควรพูดถึงเรื่องกติกาข้างหน้า การแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่เคยง่าย ข้อเสนอว่าให้คนชนะการเลือกตั้งไปดำเนินการแก้ไขนั้นมีคำถามหลายอย่างดังที่กล่าวมา รูปแบบในต่างประเทศนั้นสามารถจัดให้มีการเลือกตั้ง ขณะที่ใบลงคะแนนอีกใบหนึ่งสำรวจด้วยว่าต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญประเด็นไหน และไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งก็ต้องแก้ตามนั้น เราก็สามารถเอาประเด็นต่างๆ มานั่งคุยต่อได้
 
หลังการพักเข้าห้องน้ำ มีการพูดคุยกันต่ออีกเล็กน้อยก่อนที่นายจตุพรจะเสนอว่า คนเสื้อแดงเสนอให้เวลารัฐบาล 2 สัปดาห์ในการดำเนินการยุบสภา และอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่ จากนั้นมีการหารือกันว่าในวันรุ่งขึ้น (29 มี.ค.) เวลา 18.00 น.อาจมีการหารือกันอีกครั้งหลังนายกฯ เสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท