Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างตัวแทนมวลชนเสื้อแดง ที่มี นายวีระ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับฝ่ายรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ ภายใต้ข้อเสนอของฝ่ายแรกให้ “ยุบสภาเลือกตั้งใหม่” รอบแรกได้จบลงแล้วในวันนี้ (28 มี.ค.53) และจะมีการเจรจารอบต่อไปในวันที่ 29 มีนาคม เวลา 18.00 น.

การเจรจาที่ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือ แกนนำฝ่ายเสื้อแดงเสนอให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ว่าจะเอาด้วยกับแนวทางของฝ่ายใด โดยให้แต่ละฝ่ายหาเสียงได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างปราศจากการขัดขวางจากฝ่ายตรงข้าม ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกติกาต่างๆนั้นค่อยดำเนินการหลังการเลือกตั้ง

แต่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าควรแก้กติกาการเลือกตั้ง หรือแก้รัฐธรรมนูญก่อนเพื่อทอดเวลาให้อารมณ์ขัดแย้งทางการเมืองสงบลง และร่วมกันกำหนดเงื่อนไขการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความราบรื่น เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเสื้อแดง และทุกฝ่ายในสังคมด้วย

แต่ละฝ่ายต่างยืนยันว่า ข้อเสนอของฝ่ายตนอยู่บนจุดยืนที่ต้องการให้ “ประเทศไทยชนะ ไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด” ปัญหาคือ อย่างไรคือประเทศไทยชนะ?

ถ้าตีความจากความเห็นของทั้งสองฝ่าย ดูเหมือน “ประเทศไทยชนะ” ในความหมายของฝ่ายรัฐบาล คือประเทศสงบสุข การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างไม่มีความรุนแรง แต่ละฝ่ายเคารพกฎหมาย ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ตามมา แต่ “ประเทศไทยชนะ” ในความหมายของฝ่ายเสื้อแดงคือ ประเทศหลุดพ้นจากสภาพ “รัฐอำมาตยาธิปไตย” เป็น “รัฐประชาธิปไตย”

เห็นได้จากความเห็นของนายแพทย์เหวง ที่สะท้อนความคิดเห็นที่แตกแยกอย่างลึกซึ้งกว้างขวางภายในสังคมว่า เป็นความแตกแยกระหว่างความคิดที่ยอมรับรัฐอำมาตยาธิปไตย กับความคิดที่ต้องการรัฐประชาธิปไตยที่แท้จริง

หรือความแตกแยกที่เป็นอยู่นี้เกิดจาก “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” ที่ฝ่ายอำมาตย์ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยนิดในสังคมเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ที่เป็นไพร่ หรือคนชนบท คนด้อยโอกาสในสังคมเมือง

แต่คุณอภิสิทธิ์แสดงความกังวลว่า หากการหาเสียงเลือกตั้งทำให้เกิดการขยายความรู้สึกเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมากขึ้น จะยิ่งทำให้สังคมแตกแยกไม่สิ้นสุด

ผมเห็นว่า นี่เป็นประเด็นสำคัญที่คู่เจรจาเพียงแต่พูดผ่านๆ อาจเป็นเพราะแต่ละฝ่ายต่างพยายามคิดหาจุดร่วมว่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้อย่างไร หรืออาจเห็นว่าประเด็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะหาข้อยุติได้ด้วยการเจรจา

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” เป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายเสื้อแดง “จุดติด” การชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ที่ทำให้คนกรุงเทพฯยอมรับได้มากขึ้น นอกเหนือจากการยืนยันแนวทางสันติวิธีแล้ว สิ่งที่ทำให้คนเสื้อแดงสามารถโน้มน้าวมโนธรรมของสังคมได้คือการชูประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น”

เพราะนั่นนอกจากจะเป็นการปลุกให้คนชั้นล่างในสังคมมองเห็นปัญหา “ความไม่เท่าเทียมในความเป็นคน” และความไม่เท่าเทียมทุกด้านแล้ว ยังเป็นการชี้ชวนให้คนชั้นกลางในเมืองหันมามอง “ต้นตอ” ของปัญหาความไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

ฉะนั้น เมื่อคนเสื้อแดงจุดประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” จนกลายเป็นกระแสสำนึกของคนจำนวนมากที่มาร่วมชุมนุม และสามารถกระตุ้นมโนธรรมทางสังคมได้ในระดับหนึ่งแล้ว คำตอบเรื่อง “ชัยชนะของประเทศไทย” จะไม่มีทางเป็นไปได้หาก “สำนึกทางชนชั้น” จะจบลงด้วยการเจรจาประนีประนอมยุบสภา ด้วยเงื่อนไขอย่างเช่น หลังยุบสภาไม่ควรขยาย “ความรู้สึกทางชนชั้น” เพราะกลัวบ้านเมืองจะแตกแยกยิ่งขึ้น (ดังข้อกังวลของอภิสิทธ์)

หรือถ้าพูดกันแรงๆ หลังยุบสภาแล้ว หากการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายเสื้อแดง ไม่ชูประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” และไม่เสนอแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม พึงสันนิษฐานได้เลยว่า แกนนำหรือพรรคการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงได้หลอกลวงและทรยศต่อประชาชนคนชั้นล่างจำนวนมหาศาลที่ตรากตรำลำบากมาร่วมชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า

เงื่อนไขของการยุบสภาที่จะทำให้ “ประเทศไทยชนะ” จึงไม่ใช่แค่การมีกติกาใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับ การเลือกตั้งไม่เกิดความรุนแรง และทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ต้องเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การชูประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” เป็น “วาระหลัก” ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

ซึ่งหมายความว่า การเจรจาจะต้องไม่ใช้ความกังวลว่าการชูประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ในการหาเสียงจะทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้นมาเป็นเงื่อนไขของการยุบสภา แต่ประเด็นดังกล่าวควรต้องเป็นประเด็นที่แต่ละฝ่ายจะแข่งกันเสนอนโยบายว่าจะมีทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร

ฉะนั้น หากการยุบสภาจะมีความหมายมากกว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจ หรือการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำแล้ว การยุบสภาจำเป็นต้องนำไปสู่ “วาระ” การสลายความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น หรือสลาย “รัฐอำมาตยาธิปไตย” เพื่อปิดประตูรัฐประหารอย่างถาวร

และเพื่อสร้าง “รัฐประชาธิปไตย” ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจกำหนดอนาคตของประเทศได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น!

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net