Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน ชี้รัฐบาล เจรจา นปช.ไม่มองปัญหาคนจน จวกแก้ปัญหาการเมืองด้วยการยุบสภาทำกระบวนการแก้ปัญหาเดิมหยุดชะงัก ย้ำหากจะยุบสภาต้องแก้ปัญหาคนจนก่อน

วันนี้ (31 มี.ค.53) เครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ ในนามเครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แสดงเห็นต่อการเจรจาของรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อหาทางออกปัญหาวิกฤติการของประเทศว่า ทุกฝ่ายยังไม่ได้มีการหยิบยกปัญหาของชาวบ้านคนจน และชุมชนขึ้นมาถกเถียงเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขอย่างแท้จริง อีกทั้งข้อเสนอให้มีการยุบสภาอาจทำให้การแก้ปัญหาของเครือข่ายชุมชนต่างๆ ต้องหยุดชะงักไปได้

แถลงการณ์เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชนระบุด้วยว่า รัฐบาลและทุกฝ่ายควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาคนจนโดยมีการวางแนวทางแก้ปัญหาของชุมชนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมก่อนการยุบสภา โดยมีข้อเสนอดังนี้
 

 

แถลงการณ์ ฉบับที่ 1

ของ

เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน

ตามที่รัฐบาลมีการเจรจาหาทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ กับ กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. และมีข้อเสนอให้ยุบสภา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยนั้น

เครือข่ายชุมชนฯ เห็นว่าทุกฝ่ายยังไม่ได้มีการหยิบยกปัญหาของชาวบ้านคนจน และชุมชนขึ้นมาถกเถียงเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขอย่างแท้จริง การเจรจาเป็นไปในแนวทางเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองส่วนบนเท่านั้น ซึ่งได้แก้ปัญหาในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง จึงเป็นการตอกย้ำว่าเป็นการเมืองที่ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาคนจนอย่างแท้จริง คน จนเหล่านั้นมีทั้งในกลุ่มเสื้อแดง เสื้อเหลือง และกลุ่มที่ไม่สังกัดสีใดๆ และผ่านมากลุ่มคนจนต่างๆ ได้พยายามเสนอ/ผลักดันการแก้ปัญหากับทุกๆ รัฐบาลมาโดยตลอดแต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

ในรัฐบาลนี้ก็เช่นกัน เครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ จากทั่วประเทศได้ผลักดันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา และ รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการ/กลไกในการแก้ปัญหาแล้ว อาทิเช่น คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุด คณะกรรมการแก้ปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย อนุกรรมการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ อนุกรรมการแก้ปัญหาผลกระทบจากการสัมปทานแร่ทองคำ ฯลฯ

ซึ่งหากมีการยุบสภาการแก้ปัญหาของเครือข่ายชุมชนต่างๆ ต้องหยุดชะงักไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลและทุกฝ่ายควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาคนจน/คนชายขอบ โดยมีการวางแนวทางแก้ปัญหาของชุมชนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ก่อนการยุบสภา จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1.กรณีปัญหามาบตาพุด เรื่องการจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ การผลักดันกลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 อย่างตรงตามเจตนารมณ์

2.วางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน

3.เร่งรัดผลักดันผ่านพระราชบัญญัติสัญชาติว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น ซึ่งอยู่ในสภานิติบัญญัติลำดับที่ 108 เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนไทยที่ถูกละเมิดสิทธิมายาวนาน

4.เร่งรัดการแก้ปัญหาที่ดิน ซึ่งอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ 1) ประกาศใช้ระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องโฉนดชุมชน และรับรองพื้นที่นำร่องเพื่อการแก้ปัญหาที่ดิน จำนวน 76 แห่ง 2) เร่งรัดการพิสูจน์สิทธิที่ดินซึ่งชุมชนร้องเรียนว่าออกเอกสารมิชอบจำนวน 10 แห่ง 3) เร่งรัดการจัดทำแผนที่ 1: 4000 เพื่อกันป่าออกจากชุมชน ในพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน

5.รัฐบาลประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของชาวเลในอันดามัน ให้ครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมและสุสาน

6.รัฐบาลประกาศยุติการให้สัมปทานและการขยายโรงงานการทำเหมืองแร่ทอง ในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

7.รัฐบาลยุติการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แร่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ และสิทธิชุมชน

8.ยกเลิกนโยบายการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง

9.ยกเลิกการอนุญาตขุดลอกตะกอนลุ่มน้ำตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพราะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน

10.กระทรวง มหาดไทยยุตินโยบายการย้ายที่ทำการอำเภอสามชุก เพราะขาดกระบวนการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสามชุกตลาดร้อยปี และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน

11.ขอให้รัฐบาลยุติแผนพัฒนาภาคใต้ตามข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก อันจะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม

12.เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสำรวจและขึ้นทะเบียนปัญหาของชุมชนที่ครอบคลุมทั้งปัญหา ที่ดิน ทรัพยากร และปัญหาคนชายขอบ

 

เครือข่ายเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน

1. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
2. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคม และการเมือง (คปสม.)
3. เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต
4. เครือข่ายชุมชนจังหวัดพังงา
5. เครือข่ายฟื้นฟูเกาะลันตา
6. เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคน ไทยฯ
7. เครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี
8. เครือข่ายชุมชนศรัทธาชายแดนใต้
9. เครือข่ายคนฮักน้ำของ
10. เครือข่ายฟื้นฟูเมืองเก่า สามชุกตลาดร้อยปี
11. เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ และสิทธิชุม
12. เครือข่ายเยาวชนจากทะเลสู่หุบเขา
13. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง
14. เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชน
15. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ลำปาง
16. เครือข่ายห้าพันธมิตรด้านสิ่งแวด ล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
17. เครือข่ายอนุรักษ์หนองแซง สระบุรี
18. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำตะกั่ว ป่า-คุระบุรี พังงา
19. เครือข่ายเยาวชนสำนึกรักบ้านเกิด ชายแดนใต้

วันที่ 31 มีนาคม 2553

 

 

ที่มา: ทีวีไทยเน็ตเวิร์ก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net