Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติผ่านหลักการ 15 โครงการเมกะโปรเจกต์น้ำ มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เดินหน้า ทั้งระบบท่อ ผันน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ เตรียมชง ครม.ก่อนสงกรานต์ หากอนุมัติเริ่มโครงการได้ปี 2554

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2553 ที่มีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ มีมติให้เห็นชอบในหลักการโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ จำนวน 15 โครงการ วงเงินงบประมาณ 5,389 ล้านบาท ตามที่ ทส.ได้นำเข้าพิจารณา โดยเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน โดยวางระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน 90.70 ล้านไร่

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ จำนวน 15 โครงการ ประกอบด้วย โครงการระบบเครือข่ายน้ำ 19 โครงการ มูลค่า 940 ล้านบาท โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำที่ก่อสร้างไว้แล้ว 130 โครงการ มูลค่า 72 ล้านบาท โครงการผันน้ำห้วยหลวง - ลำปาว - ชี ระยะที่ 1 มูลค่า 630 ล้านบาท

โครงการผันน้ำปากชม - ลำพะเนียง - ชี มูลค่า 962 ล้านบาท โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มูลค่า 1,067 ล้านบาท โครงการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างด้านแหล่งน้ำ 96 ล้านบาท โครงการผันน้ำยวมตอนล่าง - ภูมิพล 374 ล้านบาท โครงการผันน้ำสตึงนัม - ประแสร์ 432 ล้านบาท

โครงการผันน้ำลุ่ม น้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก (รัชชประภา - ภูเก็ต) 84 ล้านบาท โครงการผันน้ำเมย - ภูมิพล 381 ล้านบาท โครงการผันน้ำภูมิพล - กำแพงเพชร 112 ล้านบาท โครงการผันน้ำนครสวรรค์ - อุทัยธานี 55 ล้านบาทโครงการผันน้ำแม่สาย - กก - ยม 99 ล้านบาท และโครงการผันน้ำกก - ปิง 76 ล้านบาท ทั้งนี้หาก ครม.อนุมัติแต่ละโครงการก็จะดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป

ด้านนายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ที่ประชุม กนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องวางแผนจัดการน้ำ โดย บางโครงการได้มีการศึกษารายละเอียดเบื้องต้นไว้แล้ว ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบแล้วอาจจะต้องมีการปรับกรอบ หรือให้จัดลำดับความสำคัญใหม่ เช่น จะเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือเอาความต้องการประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งงบประมาณด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.อุบลราชธานี ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาวิกฤติของระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลง ซึ่งจัดประชุมนัดแรก ได้มีมติร่วมกันเพื่อออกเป็นแถลงการณ์และข้อเสนอดังนี้ 1.ให้เอ็มอาร์ซี ขยายกรอบความร่วมมือโดยเชิญประเทศจีนและพม่าเข้าร่วมด้วย 2.ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยาระหว่างประเทศสมาชิกทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ 3.ให้สนับสนุนให้มีการบริหารจัดการการคมนาคมทางน้ำ (โขง) ร่วมกัน 4.ให้ร่วมมือในการอนุรักษ์และป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ลำน้ำร่วมกัน

5.ให้ส่งเสริมและสนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟูอาชีพประเพณีวัฒนธรรม สังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในลุ่มน้ำโขง 6.การสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงต้องได้รับฉันทามติของประเทศสมาชิกให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินการนายสุทัศน์ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคประชาชน จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอ็มอาร์ซี ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย.นี้

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net