ภาวะแห่งการตื่นตัวและเรียกร้องทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ยุคสมัยแห่งความยุ่งยาก” ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางการเมืองของประชาชนจนโครงสร้างทางการเมืองซึ่งบริหารงานโดยรัฐบาลนั้นตามไม่ทัน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องถอยจากอำนาจ เพื่อให้การเลือกตั้งได้กำหนดดุลอำนาจที่แท้จริงของสังคม และปรับโครงสร้างทางการเมืองให้เท่าทันความก้าวหน้าของประชาชน
 
การตอบสนองข้อเรียกร้องแบบเดิมๆ
ช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเคยชินกับการเป็นผู้ป้อนสิ่งต่างๆ ให้แก่ประชาชนเรื่อยมา โดยบางครั้งก็ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในบางพื้นที่และน้อยครั้งมากที่ประชาชนจะออกมาเรียกร้องความต้องการต่างๆ จากรัฐบาล อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน การออกมาเรียกร้องของประชาชนที่เรียกว่า การชุมนุมทางการเมืองนั้น ก็มักจะถูกมองว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย ก่อความไม่สงบแก่บ้านเมืองที่สื่อทั่วไปใช่คำว่าม็อบ (Mob) การตอบสนองของรัฐบาลก็มีลักษณะของการซื้อเวลาเท่านั้น จึงเกิด“ภาวะแห่งการจำยอม” ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจบุญญาบารมี และในอดีตก็มีเพียงไม่กี่ครั้งที่การชุมนุมจะยืดเยื้อยาวนาน  
 
การขาดการปรับตัวและการปฏิเสธ
หลายรัฐบาลที่ยังคงตกอยู่ในวังวนความคิดเดิมๆ ที่ว่าประชาชนยังไม่มีความรู้เพียงพอ ยังไม่เข้าใจถึงสิทธิของตนเอง สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลขาดการปรับตัวให้ทันตามความก้าวหน้าของประชาชน” สังเกตได้จากหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องของประชาชนได้ หรือบางหน่วยงานทำให้รัฐเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากในการดูแล นอกจากรัฐบาลจะขาดการปรับตัวแล้ว “รัฐบาลยังปฏิเสธความก้าวหน้าของประชาชน” ด้วยการคิดว่าประชาชนถูกชักจูงมา ถูกจ้างมา จึงเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนไม่มีความหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต โดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการในการเรียกร้องทางการเมืองย่อมพุ่งสูงขึ้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต
 
การตื่นตัวและเรียกร้อง
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันนี้ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีของการเมืองไทยก็คือ ความตื่นตัวทางการเมืองไปทุกองคาพยพของสังคม โดยเฉพาะในประชาชนรากหญ้าหรือชนชั้นล่างของสังคมที่รู้ถึงสิทธิทางการเมือง รู้ว่าเมื่อพวกเขารวมตัวกันมากขึ้นจะยิ่งเพิ่มพลังในการเรียกร้องจากรัฐ พวกเขาพยายามจะเรียกร้องการเลือกตั้ง ต่อต้านการรัฐประหารหรือการที่ทหารจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง พวกเขาจะไม่ยอมที่จะถูกดูถูกว่าเป็นตัวถ่วงของประชาธิปไตยอีกต่อไป สภาวการณ์แห่งการตื่นตัวและเรียกร้องนี้ทำให้ “รัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะจำยอมได้อีกต่อไป”
 
ในการชุมนุมครั้งนี้ได้สร้างธรรมเนียมใหม่ทางการเมืองไทยที่สำคัญคือ “การเจรจา” ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความต้องการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแม้จะไม่ได้ข้อยุติแต่ก็ทำให้เห็นว่าการรัฐประหารหรือการแทรกแซงทางการเมืองของทหารเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงและไม่ได้ให้ข้อยุติทางการเมือง เพราะสุดท้ายก็จะเห็นภาพของประชาชนมานั่งคุยกันว่าจะเอายังไงต่อไปกันดี...
           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท