Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"การยุบสภา เป็นทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ เพราะอาจเป็นการป้องกันการปฎิวัติ หรืออาจเป็นการยับยั้งการทำสงครามทางชนชั้น"

“การลงประชามติ ต้องทำหรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำอย่างไร การยุบสภา ทำเพื่อใคร ” นี่คือ คำถามที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยปัจจุบัน จนอาจนำไปสู่การ “ปฏิวัติ”โดยทหารอีกครั้ง หรืออาจนำไปสู่การต่อสู้ของประชาชนชาวไพร่ กับ เหล่าอำมาตยาธิปไตย ภายใต้หลักการของ“สงครามชนชั้น”

ผู้เขียน ขอเสนอแนวคิด อันอาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ด้วยความสุจริตใจ ด้วยจิตวิญญาณ และด้วยจิตสำนึกต่อหน้าที่ ในการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ดังนี้
 

ประเด็นแรก “การลงประชามติ ต้องทำหรือไม่”
จากแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเสนอให้มีการลงประชามติ ในเวลาประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม และจะเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ในปลายเดือน พ.ย. ทำให้อาจประกาศยุบสภาได้ในปลายเดือน พ.ย. นี้ และคาดว่า กกต.น่าจะเลือกตั้งใหม่ได้ประมาณ เดือนมกราคม 2554 กล่าวคือ นับจากนี้ไปอีกประมาณ 10 เดือน โดยที่รัฐบาลจะมีการเสนอ ครม. ให้จัดการลงประชามติ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น คือ 1. ที่มาของ ส.ส., 2. ที่มาของ ส.ว. 3. มาตรา 190, 4. แก้ไขโทษยุบพรรค 5. การดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6. การห้าม สส., สว. ก้าวก่ายการทำงาน

ประชามติ มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ว่า “มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง ; มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายที่สำคัญ ที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ”

การลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนใช้สิทธิในการแสดงออกถึงความต้องการทางด้านการเมืองการปกครองของประเทศ ซึ่งการลงประชามติ เพื่อให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงแตกต่างจากการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวนี้ เพราะที่ผ่านมาเป็นการให้ประชาชนให้ความเห็นชอบในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ในครั้งนี้เป็นเพียงบางมาตราเท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2478 ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ดำเนินการลงประชามติ และต่อมาได้จัดให้มีการลงประชามติอีกถึง 12 ครั้ง โดยเป็นการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง นอกจากนั้นประเทศกัมพูชา ก็ยังเคยจัดให้มีการลงประชามติให้มีการการยอมรับรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2515 หรือประเทศพม่าในปี พ.ศ.2516 เป็นต้น

การให้ประชาชนลงประชามติ ในเรื่องที่สำคัญ แม้จะเป็นสิ่งดีที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการตัดสินใจ แต่ก็พึงต้องระมัดระวังว่าอำนาจในประเทศขณะนั้นเป็นของผู้ใดหรือกลุ่มใด เพราะอาจเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มคนที่ควบคุมอำนาจอยู่ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส สมัยนายพลเดอโกลล์หรือสมัยมาร์กอส ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่ปกครองแบบเผด็จการ เขาได้ใช้ฐานเสียงให้ประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญ 87.6% ทำให้เขาอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 6 ปี

หลักทั่วไปก่อนการทำประชามติ จะต้องจัดให้มี กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) ซึ่งก็หมายถึง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องดังกล่าว โดยต้องจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ไดัข้อสรุปความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ก่อนที่จะจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องนั้น กล่าวคือ เป็นทั้งการรับและการให้ข้อมูลแก่สาธารณชน เพื่อขอรับทราบความคิดเห็น (Public Proposal) หรือเป็นการปรึกษาหารือ (Public consultation) นั่นเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้รัฐบาลก็คงจะให้เหตุผลว่าได้เคยทำกันมามากมายแล้ว ทั้งในแวดวงวิชาการและในกระบวนการทางรัฐสภา แต่หากจะพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าว รัฐบาลจะต้องหาคำตอบต่อโจทย์ต่อไปนี้

ประการแรก ประชาชนในท้องถิ่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจไม่เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญแต่ละมาตรานั้นสำคัญอย่างไร การรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน จะดีเพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องให้ทหาร , ฝ่ายปกครอง เข้าไปชี้นำประชาชนเช่นที่เคยเป็นมา มากกว่าการสร้างให้เกิดความเข้าใจ

ประการที่สอง การลงประชามติทั้ง 6 ประเด็น จะเป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้องจริงหรือไม่

และข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อผู้เล่นการเมือง หรือพรรคการเมือง รวมทั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคต หรือจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะตอบสนองต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่เป็นอยู่ รวมไปถึงผลกระทบโดยตรงที่จะมีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคนทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไรหรือไม่

นั่นคือคำตอบว่า การจัดให้มีการลงประชามติ เป็นเพียงหน้าฉากทางการเมือง เพื่อเส้นทางสู่ชัยชนะของนักการเมือง มิใช่เส้นทางสู่ชัยชนะของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย                               

ผู้เขียนจึงเห็นว่า“ การลงประชามติในครั้งนี้ จะเป็นเพียง ทางเดินที่ตีบตันทั้งในปัจจุบันและในอนาคต “
 

ประเด็นที่สอง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำอย่างไร”
นอกจากการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยการลงประชามติ ไปจนถึงการแก้ไขในรัฐสภา แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการปฎิวัติรัฐประหาร แต่ในครั้งนี้ก็อาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน จากการทำสงครามทางชนชั้น ระหว่างชาวไพร่ ผู้นิยมชมชอบอดีตนายกฯทักษิณ กับทหารผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รับใช้ระบอบอำมาตยาธิปไตย ก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอย่างไร ด้วยวิธีใด หรือ ด้วยในเวลาใดก็ตาม ย่อมต้องเผชิญกับความขัดแย้งอย่างรุนแรง ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผู้เขียนจึงเห็นว่า “ การแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลในครั้งนี้ จึงเป็นเพียง ทางเดินที่แคบซึ่งไม่อาจนำไปสู่เส้นทางเดินอันสะดวกสบายในปัจจุบันและในอนาคต “
 

ประเด็นที่สาม “การยุบสภา ทำเพื่อใคร”
การปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่อาจปฎิเสธ สุนทรพจน์ ของ อับราฮัมลินส์คอน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวในวันซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศความเป็นรัฐชาติแห่งตน ที่ว่า “ เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ” การยุบสภา จึงเป็นการตอบสนองต่อปรัชญาดังกล่าว เพราะการยุบสภามิใช่เพียงเป็นของ นปช. ,รัฐบาล ,ทหาร ,หรือใครๆ หากแต่เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของ “ประชาชน” นั่นเอง

แต่หากมีบางคนต้องการพิสูจน์ว่า ผู้ร้องขอให้ยุบสภาเป็นคนส่วนน้อยหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ย่อมทำได้ด้วยการลงประชามติ ซึ่งก็ยิ่งจะเป็นการเพิ่มรอยปริให้เห็นถึงรอยแตกแยกและความขัดแย้งที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งการลงประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้มีขึ้น ก็มิได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศว่า มีความต้องการให้เกิดการยุบสภาด้วยหรือไม่ เช่นกัน                      

ผู้เขียนจึงเห็นว่า “การยุบสภา” จึงเป็นทางออก ทางเดียวที่เหลืออยู่ เพราะอาจเป็นการป้องกันการปฎิวัติ หรืออาจเป็นการยับยั้งการทำสงครามทางชนชั้น และยังอาจเป็นการลดความขัดแย้งทางสังคม เพื่อการนำไปสู่การคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net