Skip to main content
sharethis

ผอ.รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยัน รพ.รามาธิบดีไม่เคยมีการนำเลือดคนเสื้อแดงมาตรวจ ปัดไม่รู้จัก นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ ด้านแพทยสภาเตือน "พี่น้องมหิดล" อาจเข้าข่ายกระทำผิดวิชาชีพแพทย์กรณีตรวจเลือดม็อบ ชี้ต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจริยธรรมแพทยสภา 8 เมษานี้

จากกรณีที่กลุ่มพี่น้องมหิดล นำโดย น.พ.กุศล ประวิชไพบูลย์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลออกมาตรการดูแลประชาชนที่ไปชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่อาจติดเชื้ออันเนื่องมาจากการเทเลือดไปตามสถานที่ต่างๆ และได้มีการแถลงข่าวถึงการเก็บตัวอย่างเลือดของกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจยังห้องแล็ปโรงพยาบาลรามาธิบดีว่า พบเชื้อไวรัสติดต่อร้ายแรง 3 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสตับอักเสบซี และเชื้อไวรัสเอชไอวี (เชื้อเอดส์) นอกจากนี้จากการตรวจผลดีเอ็นเอยังพบว่าเลือดดังกล่าวมีส่วนผสมของเลือดหมู และเลือดคนผสมกัน

วันนี้ (1 เม.ย.53) เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผอ.รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่มีการอ้างว่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดีว่า ไม่รู้จัก นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ และคิดว่านายแพทย์คนดังกล่าว ก็คงไม่ได้ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรามาธิบดี และไม่ได้เป็นคนของโรงพยาบาล

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา ก็ไม่พบว่า มีการส่งเลือดมาตรวจ อีกทั้ง โรงพยาบาลรามาธิบดี ไม่เคยให้บริการตรวจเลือดในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น ยืนยันว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีไม่ได้ตรวจเลือดผู้ชุมนุมอย่างแน่นอน ส่วนที่มีการอ้างว่า ทางรามาฯ เป็นผู้ตรวจเลือด อาจเพราะเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงขอชี้แจงว่าการจะเอาเลือดใครมาตรวจจะต้องมีการลงทะเบียนมีผู้นำส่งตรวจ จู่ๆ ใครจะเอาเลือดมาตรวจไม่ได้ ถ้ามีจริงทางหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาจะต้องรู้

ในส่วนความคิดเห็นจากองค์กรแพทยสภาต่อกรณีดังกล่าว มติชนออนไลน์รายงานว่า นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจริยธรรมแพทยสภาที่จะมี การประชุมในวันที่ 8 เมษายนนี้ โดยต้องมีการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์นำวิชาชีพเวชกรรมไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่วิชาชีพแพทย์หรือไม่ และต้องแยกเรื่องดังกล่าวออกจากประเด็นการเมือง ซึ่งหากมีเชื้อเอชไอวีจริงผู้ที่โดนสาดใส่ตามร่างกายก็สามารถมาร้องต่อแพทยสภาได้ หากมีการติดเชื้อ ส่วนโอกาสการติดเชื้อเอดส์ ถือเป็นเรื่องยากเนื่องร่างกายมีผิวหนังป้องกัน ยกเว้นแต่มีบาดแผลและถูกสาดด้วยเลือดที่มีเชื้อเข้มข้น

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามหลักวิชาการทางการแพทย์ หากใครก็ตามที่ได้รับเลือด หรือคิดว่าตนเองเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอดส์ เช่น กรณีที่เลือดเข้าตา ปาก หรือแผล สามารถขอรับยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ ซึ่งต้องรับยาในระยะเวลาเร็วที่สุดภายใน 24-48 ชั่วโมง และต้องตรวจเลือดซ้ำทุก 3 เดือน หากไม่พบก็ถือว่าไม่ติดเชื้อ ซึ่งได้แนะนำผู้ที่คิดว่าตนเองเสี่ยงให้รับยาเร็วที่สุดตั้งแต่วันแรก แต่หากยังกังวลก็สามารถไปรับการตรวจเลือดได้อีก

"เชื้อไวรัสตับอักเสบ ถือว่าติดต่อได้ยาก จะต้องโดนเข็มแทง หรือรับโดยตรงปริมาณมาก จึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง แต่เชื้อเอดส์ถือว่าน่าเป็นห่วงที่สุด หากเข้าตาถือว่าอันตรายมากกว่าบริเวณอื่น เพราะหากเข้าปากยังมีน้ำย่อยค่อยทำลายได้ หรือหากมีแผลตามมือ เท้า ประกอบกับขึ้นอยู่กับขนาดแผลและความเข้มข้นของเชื้อ โอกาสก็จะสูงตามไปด้วย  แต่หากพบเพียงแผลถลอกเล็กน้อยโอกาสเสี่ยงก็น้อยลง  ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้สื่อข่าว ที่โดนเลือดเข้าตา ก็ได้แนะนำให้รับยาจากกรมควบคุมโรคไปแล้ว" นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องผลการตรวจเลือด คงจะประสานไปยังทางโรงพยาบาลที่รับตรวจเสียก่อน

 

ที่มา: เรียบเรียงจากมติชนออนไลน์ และเดลินิวส์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net