ความอันตรายของวาทกรรม “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงกันมากขึ้นทุกขณะในสังคมไทยช่วงเวลาหลายปีมานี้ ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้า ปัญหาที่เกิดตามมาคือทำไมทั้งๆที่ทุกฝ่ายต่างก็พูดถึงและสมอ้างตนเองว่าเป็นนักประชาธิปไตยจึงมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างรุนแรงเช่นดังปัจจุบัน แน่นอนเราย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าพวกอนุรักษ์นิยม อำมาตยาธิปไตยไม่มีทางที่จะถูกเรียกว่าเป็นนักประชาธิปไตยได้เลย แม้ว่าพวกเขาจะเข้าใจกันไปเองว่าพวกเขากำลังสร้างระบอบประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) อยู่ก็ตาม ปัญหาคงจะง่ายขึ้นกว่านี้มากหากพวกอำมาตย์ประกาศตนให้ชัดเจนไปเลยว่าพวกเขาไม่ใช่นักประชาธิปไตยและมีอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตย แต่สาเหตุที่พวกอำมาตย์ยังอ้างได้ว่าเขามีความเป็นประชาธิปไตยนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการผลิตวาทกรรม “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” หรือแม้แต่ “ประชาธิปไตยที่กินได้” วาทกรรมเหล่านี้ถูกสร้างและผลิตซ้ำจากปัญญาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวาหรือซ้ายก็ตาม

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าที่ผู้เขียนเห็นว่าวาทกรรมเหล่านี้มีปัญหาและอันตรายนั้นก็คือความอันตรายต่อตัวระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเองนั้นแหละ เพราะเจ้าตัววาทกรรมที่ว่านี้มันแฝงเร้นไว้ด้วยความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่นั้นเอง

ปัญญาชนอย่าง ธีรยุทธ บุญมี ที่เขียนเชียร์รัฐประหารและระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างเป็นระบบนั้นคือตัวแทนที่ชัดเจนที่สุดในการสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” เพื่อมาทำลายระบบประชาธิปไตยเอง โดย ธีรยุทธ เรียกว่า “ประชาธิปไตยโดยแก่นสาร” ซึ่งเขาสร้างคู่ตรงข้ามขึ้นมาว่าคือ “ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ” ความหมายของธีรยุทธก็คือประชาธิปไตยโดยรูปแบบนั้นหมายถึงระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเขามองว่ามันเป็นเพียงรูปแบบที่ปราศจากเนื้อหาของความเป็น “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” หรือที่เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตยโดยแก่นสาร” นั้นเอง ดังนั้น หากการรัฐประหารกระทำไปด้วยศีลธรรมและยึดผลประโยชน์ของประชาชน(ตามความคิดของธีรยุทธ)แล้ว เขาก็จะสนับสนุนและเรียกมันว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอีกนั้นเอง(แถมยังเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอีกด้วย!!)  พูดง่ายๆก็คือธีรยุทธกำลังทำให้ประชาธิปไตยไม่เท่ากับการเลือกตั้งหรือทำให้ระบบเลือกตั้งไม่ใช่หัวใจสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ของระบอบประชาธิปไตย

ความคิดในลักษณะนี้เคยถูกนำเสนอไว้นานแล้วในอดีต ตัวอย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ ที่เคยกล่าวในทำนองว่า “ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงประชาชนเป็นใหญ่ หากแต่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนต่างหากที่เป็นใหญ่” และพุทธทาสยังกล่าวในเชิงดูถูกคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อีกว่า “ถ้าให้ประชาชนเป็นใหญ่ แล้วถ้าประชาชนส่วนใหญ่บ้าๆบอๆมีกิเลส ก็ฉิบหายกันหมด” ดังนั้น พุทธทาสจึงเห็นว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่รูปแบบ แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่ง “จะปกครองด้วยระบอบหรือระบบใดไม่สำคัญ จะเป็นราชาธิปไตยก็ได้ ขอแต่ให้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใช้ได้” (พุทธทาสกล่าวในทำนองนี้จริงๆ แต่ผมไม่มีหนังสือที่ท่านเขียนไว้อยู่ในมือตอนนี้ จึงไม่ได้อ้างอิงไว้)

ดังนั้น หากเรายอมรับและใช้ตรรกแบบที่ว่าไปนั้น ก็แปลว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งก็ได้ แม้จะเป็นราชาธิปไตยหรืออำมาตยาธิปไตยก็สามารถเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน

แม้พวกฝ่ายซ้ายหรือนักต่อสู้เพื่อคนจนบางคนเองก็ตาม ก็ยังใช้วาทกรรม “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” เช่นกัน อย่างเช่น พวก “สองไม่เอา” โดยลึกๆแล้ว พวกนี้ไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย พวกนี้ดูถูกคนเสื้อแดงที่เลือกทักษิณเพราะเห็นว่าไม่มีความก้าวหน้าเหมือนพวกตน ไม่ก้าวหน้าที่ไม่ยอมต่อต้านระบบเสรีนิยม ไม่ก้าวหน้าที่ไม่ยอมรับระบบรัฐสวัสดิการ พวกสองไม่เอาที่แท้ก็คือพวกนักลัทธิฉวยโอกาส ที่ทำลายประชาธิปไตยโดยอ้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” นั้นเอง เพราะพวกนี้เห็นว่าระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบทักษิณ

พวกสองไม่เอาจับประเด็นกันอีรุงตุงนังมั่วกันไปหมด ไปเอาประเด็นทางเศรษฐกิจมาปนกับมิติทางการเมือง จนสุดท้ายตัวเองก็หลงยึดติดกับวาทกรรมแบบที่ตัวเองสร้างขึ้น จนลืมคิดไปว่าประชาชนนั้นมีสมองและเหตุผลของเขาเอง ไม่จำเป็นที่คนจนจะต้องต่อต้านเสรีนิยมเสมอไป ไม่จำเป็นที่ความก้าวหน้าและสังคมที่เป็นธรรมต้องเท่ากับระบบรัฐสวัสดิการหรือสังคมนิยมเสมอไป สิ่งสำคัญน่าจะเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนมีอำนาจอย่างเท่าเทียมและสูงสุดอย่างแท้จริงทางการเมืองต่างหาก แล้วประชาชนจะช่วยกันเลือกเองว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมีความเป็นธรรม

ดังที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวว่า “ประชาธิปไตยต้องกินไม่ได้ ต้องเป็นในเชิงรูปแบบให้มากที่สุด มีเนื้อหาให้น้อยที่สุด คือทำอย่างไรจะสร้างรูปแบบที่ไม่ favor (เอื้อต่อ) ใครทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายซ้าย เป็นฝ่ายขวา เป็นเสรีนิยม เป็นทุนนิยม เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ไม่พอเพียง แล้วให้เรื่องพวกนี้เป็น public debate (การถกเถียงของสาธารณะ)” [1]

ตามที่สมศักดิ์กล่าวไว้นั้นแหละคือความหมายที่แท้จริงของระบบประชาธิปไตย ต้องแยกเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจออกจากการเมืองแบบประชาธิปไตย ต้องให้ความสำคัญของระบบเลือกตั้งให้มาก แล้วเมื่อทางการเมืองเรามีประชาธิปไตยแล้ว ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจึงตามมาหลังจากนั้น

ดังนั้น คำขวัญที่เราต้องป่าวประกาศให้หนักแน่นก็คือ ระบอบประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง !

 
 
อ้างอิง
1 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สำคัญอยู่ที่สปิริตของระบบการเมือง-กฎหมาย, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 4, หน้า 89

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท