Skip to main content
sharethis

รพ.รามาฯแถลงยอมรับมีตรวจเลือดจริง เจอเชื้อไวรัสอันตราย 3 ชนิดปนอยู่ 1 ใน 300 ตัวอย่าง ยันไม่เกี่ยวการเมือง-แค่รับตรวจจากโรงพยาบาลภายนอกส่งมา ไม่รู้ที่มา ส่วนแพทยสภาบอกเอาผิด"กุศล"ยากเพราะไม่ได้เปิดเผยชื่อเจ้าของเลือด มองมุมกลับเป็นการคุ้มครองประชาชน หันมาเอาผิดหมอเจาะเลือดเสื้อแดง อาจผิดหลักวิชาชีพ รอชี้ขาด 8 เม.ย.

รามาฯแถลงรับตรวจเลือดเจอเชื้อ
2 เม.ย.53 นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา ร่วมแถลง กรณี นพ.กุศล ประวิทย์ไพบูลย์ กลุ่มพี่น้องมหิดล ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าได้มีการส่งตัวอย่างเลือดของกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รพ.รามาธิบดี และผลตรวจพบเชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี แต่ต่อมาผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับผลพิสูจน์ดังกล่าวนั้น

นพ.รัชตะแถลงว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ เมื่อมีข่าวดังกล่าว รพ.รามาธิบดีได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นกับภาควิชาพยาธิวิทยา ได้ข้อมูลว่าไม่ปรากฏชื่อ นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ โฆษกกลุ่มพี่น้องมหิดล ส่งเลือดไปตรวจสอบ จึงได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 เมษายน ได้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติมอย่างละเอียดอีกครั้ง จึงพบว่าในวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าโรงพยาบาลภายนอกได้ส่งตัวอย่างเลือดให้ รพ.รามาฯ ตรวจถึง 300 ตัวอย่าง และพบว่า มี 1 ตัวอย่าง ที่มีเชื้อไวรัส 3 ชนิดปนอยู่ด้วยกัน คือ เชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี

"ตัวอย่างเลือดดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า เป็นเลือดของบุคคลใด เพียงแต่ต้องการทราบว่ามีเชื้อทั้ง 3 ชนิดหรือไม่ ซึ่งโดยปกติ โรงพยาบาลก็รับตรวจเลือดทางไวรัสทั้งของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล และจากโรงพยาบาลภายนอก ทั้งของรัฐและเอกชน โดยมีแนวปฏิบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนการรายงานผลการตรวจจะเป็นความลับ มีระบบปกปิดชื่อ นามสกุล ของผู้ป่วย แม้แต่ผู้ปฏิบัติงานตรวจเลือดก็จะไม่ทราบว่า ตัวอย่างเลือดดังกล่าวมีที่มาอย่างไร มีเพียงผู้ส่งเลือดมาตรวจที่จะเป็นผู้รับผลการตรวจเลือดเท่านั้น" นพ.รัชตะกล่าว

ไม่เกี่ยวการเมือง-แค่ตรวจเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ห้องปฏิบัติการของ รพ.รามาฯ ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ว่ามีการปนเปื้อนของเลือดสัตว์ด้วยหรือไม่ และเลือดที่ตรวจเป็นของบุคคลคนเดียวหรือหลายคน นพ.รัชตะกล่าวว่า รพ.รามาฯทำการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัส ไม่ได้ตรวจเพื่อระบุว่าเป็นดีเอ็นเอของสัตว์หรือคน ส่วนจะเป็นเลือดของคนเพียงคนเดียวหรือหลายคน ก็ระบุไม่ได้อยู่ดี แต่ยืนยันว่าโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นประชาชนชาวไทยอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองทั้งสิ้น 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการฟ้องร้อง นพ.กุศล หรือไม่ที่มีการระบุว่าผลตรวจดังกล่าวมาจาก รพ.รามาฯ นพ.รัชตะกล่าวว่า ไม่มีการฟ้องร้องใดๆ เพราะตามหลักจรรยาบรรณก็ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยที่มีการตรวจพบเชื้อ นอกจากจะเป็นการยินยอม แต่กรณีนี้ไม่มีการเอ่ยชื่อ ส่วนที่มีชื่อ รพ.รามาฯ ก็เป็นเพียงผู้ทำการตรวจวิเคราะห์เท่านั้น

ออกตัวไม่รู้เลือดมีที่มาอย่างไร
นพ.วสันต์กล่าวว่า เลือดดังกล่าวได้ส่งตรวจเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งได้ทำการตรวจวิเคราะห์และทราบผลช่วงเวลา 19.00 น.ของวันเดียวกัน โดยพบเชื้อทั้ง 3 ชนิดจริง แต่กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ มีพบไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รพ.รามาฯ ไม่ทราบมาก่อนว่า เลือดดังกล่าวมีที่มาอย่างไร และไม่ทราบทั้งชื่อเจ้าของเลือด ผู้ส่ง และผู้รับผล เพราะการตรวจวิเคราะห์เลือดมีการบริการอยู่แล้ว คิดอัตราการตรวจเลือด 2,000 บาทต่อ 1 เชื้อ โรงพยาบาลอื่นๆ อีกประมาณ 10 แห่ง ก็เปิดบริการเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปกติเชื้อไวรัสในเลือดจะตายในกี่ชั่วโมง นพ.วสันต์กล่าวว่า หากในอุณหภูมิปกติ 40 องศาเซลเซียส จะสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสภายใน 1-2 ชั่วโมง แต่หากแช่แข็งจะอยู่ได้ราว 18-20 ชั่วโมง ซึ่งตัวอย่างเลือดทั้ง 300 ตัวอย่าง ถูกนำส่งโดยการแช่แข็ง

ผอ.รามาฯ สงสัย"หมอกุศล"หวังผลการเมือง 
รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเมื่อวันที่ 2 เมษายนว่า อาจต้องดำเนินคดีกับ นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ ที่ออกมาอ้างว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีเกี่ยวข้องกับผลการตรวจเลือดของกลุ่มคนเสื้อแดง แล้วพบเชื้อไวรัสติดต่อร้ายแรง ส่งผลให้โรงพยาบาลเสียหาย ทำให้ประชาชนและคนเสื้อแดงเข้าใจผิดนั้น

"ยืนยันว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีไม่มีหน้าที่ หรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปตรวจเลือดดังกล่าวแต่อย่างใด แต่การที่ น.พ.กุศล ออกมาระบุเช่นนี้ จะเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ ก็เป็นไปได้ เนื่องจากการนำเลือดไปตรวจ อาจมีการนำไปปรุงแต่งเพิ่มเติมได้ ซึ่งควรที่จะต้องพิสูจน์ต่อไป" รศ.นพ.ธันย์ กล่าว

รศ.นพ.ธันย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะต้องมีการชี้แจงให้กับประชาชนและกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าใจ แต่คงไม่ถึงขนาดต้องไปขึ้นเวทีเพื่อชี้แจงคนเสื้อแดงแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ น.พ.กุศล ให้ข่าวในลักษณะเช่นนี้ ตนมองไม่เห็นว่าจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ หรือความเข้าใจที่ดีต่อกัน ได้อย่างไร 

"หมอกุศล"อ้างไม่ได้อยู่ฝ่ายใด
นพ.กุศล ประวิทย์ไพบูลย์ กลุ่มพี่น้องมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ถูกคุกคามอย่างหนัก โดยเฉพาะที่คลีนิคในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พบมีกลุ่มคนไม่ทราบชื่อไปคอยสังเกตการณ์ และถ่ายรูป จนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างต้องขอให้ปิดทำการชั่วคราว เพราะเกรงเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าไม่ได้อยู่ฝ่ายใดทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องการปกป้องและให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะกับประชาชน ผลการตรวจเลือดก็ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการซึ่งนอกเหนือจาก รพ.รามาฯ ยังมีอีก 2 ห้องปฏิบัติการที่ได้ผลการตรวจออกมาในลักษณะเดียวกัน ส่วนผลการตรวจที่พบว่ามีเลือดสัตว์ผสมอยู่มาจากคณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ นอกจากการมอบข้อมูลดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีการมอบข้อมูลนี้ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วย 

แพทยสภาบอกเอาผิด"กุศล"ยาก
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า หากมีการเปิดเผยชื่อเจ้าของเลือด โดยไม่ได้รับอนุญาตและนำเผยแพร่ถือว่ามีความผิด แต่หากเป็นบุคคลนิรนาม ไม่ระบุชื่อบุคคล ไม่รู้ว่าเป็นเลือดของใคร ก็ไม่สามารถเอาผิดด้านจรรยาบรรณได้ เรื่องนี้หากมองอีกมุม ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชน เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เตือนให้ดูแลรักษาสุขภาพ และเตือนไม่ให้มีการกระทำแบบนี้อีก เพราะเสี่ยงอาจเกิดอันตราย และได้รับเชื้อโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ หากกลุ่มคนเสื้อแดงต้องการร้องเรียนแพทย์คนดังกล่าวก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันว่า ผลการตรวจเลือดของแพทย์คนดังกล่าวไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม การจะเอาผิดด้านจรรยาบรรณของแพทย์ผู้นี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคโดยตรง แต่สามารถไปฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีทางอาญาได้

เน้นเอาผิดหมอเจาะเลือดเสื้อแดงอาจผิดหลักวิชาชีพ
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพทยสภาโดยตรง คือ ประเด็นแพทย์ที่ทำการเจาะเลือดกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นมีความผิดหลักวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 8 เมษายนนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการแพทยสภา และจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือด้วย หากเข้าข่ายมีความผิดด้านจรรยาบรรณก็จะนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภาเพื่อพิจารณา และเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล หากพบว่าผิดจริงก็จะมีโทษตั้งแต่ตักเตือน พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต

"การนำเข็มมาเจาะเลือด หากไม่ได้ปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ ถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการทำร้ายร่างกายแม้ว่าจะได้รับความยินยอม ก็เหมือนกับคนไข้ที่อยากตาย และขอให้แพทย์ดำเนินการ ซึ่งตามกฎหมายก็ทำไม่ได้ ดังนั้น การเจาะเลือดครั้งนี้ จึงไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ถือว่าไม่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของแพทยสภาพิจารณา" นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า บุคลากรทางการแพทย์คนใดหากจะเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่าใช้คำนำหน้าชื่อ "นายแพทย์" และไม่ควรแต่งเครื่องแบบแพทย์ไปร่วมเคลื่อนไหวด้วย

ที่มา: เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net