Skip to main content
sharethis

เครือข่ายชาวบ้าน 28 องค์กรทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์สนับสนุนการต่อสู้ของ นปช. หนุนคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนด้วยการยุบสภา

เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) องค์กรชาวบ้านจำนวน 28 องค์กรทั่วประเทศ ร่วมกันออกแถลงการณ์ “สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ นปช. คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ทุกคนเท่ากัน หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” เรียกร้องคืนอำนาจ” โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

000

 

 

แถลงการณ์
สนับสนุนการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยของ นปช.
คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน
ทุกคนเท่ากัน หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยใน ปัจจุบัน ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย นำโดย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัวแทนระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นความขัดแย้งทางชนชั้นอีกรูปแบบหนึ่ง และสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างไพร่ผู้ไร้อภิสิทธิ์ไม่มีเส้นกับผู้ดี อำมาตย์อภิสิทธิ์ชนในสังคมทุนนิยมไทยสมัยปัจจุบัน

ความขัดแย้งทาง การเมืองถึงขั้นวิกฤตในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยการกระทำการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้เอื้อให้อำนาจนอกระบบอำนาจอำมาตย์ครองอำนาจเหนือทางการเมือง ตลอดทั้งมีขบวนการและกระบวนการลดทอนเบียดขับอำนาจของประชาชนผู้ใช้สิทธิของ ตนเองผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยการรัฐประหารซ่อนรูปและอำนาจของกระบวน การยุติธรรมอย่างน่าประณามยิ่ง ในที่สุดการครองอำนาจของฝ่ายอำมาตย์ ก็ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในค่ายทหารพื้นที่กองทัพ

ขณะที่ ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม จำนวนมหาศาลและกว้างใหญ่ไพศาล ก็หาได้สยบยอมจำนนต่ออำนาจอธรรมดังกล่าว กลับมีความกระตือรือร้นต่อสู้คัดค้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยที่ประชาชนได้ร่วมมือกัน ต่อสู้อย่างกล้าหาญท้าทายกับระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำสังคมไทยมายาวนาน เพื่อเสรีภาพ เสมอภาค ความเป็นธรรม และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อย่าง ไรก็ตาม ความขัดแย้ง ณ ปัจจุบันนี้ จะนำพาสังคมไทยสู่ทางสองแพร่ง ระหว่าง เส้นทางสู่ความล้าหลังด้อยพัฒนาค่ำครึของระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย กับเส้นทางที่ความก้าวหน้าพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้

เราในนามองค์กรข้างล่าง ล้วนเป็นผู้ใช้แรงงานทั้งในเมืองในชนบท ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในฐานะสำนึกแห่งไพร่ ที่ต้องปลดปล่อยพันธนาการระบอบอำมาตย์และระบบทุนนิยมล้าหลังให้หมดสิ้น เพื่อเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา

เราในฐานะผู้มีส่วน สำคัญในการสร้างสรรค์ประเทศ มีข้อเรียกร้องและความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันดังนี้

1. เราขอสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติวิธีของแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) องค์กรนำในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้

2. เราขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาตามข้อเรียกร้องของนปช. เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน ผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่นับวันรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างสันติวิธี เพื่อดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยซึ่งทุกคนไม่ว่าไพร่หรือผู้ดี มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันในการเลือกผู้บริหารผู้ปกครองประเทศ

3. เรามีความคิดเห็นว่า รัฐบาล พรรคการเมือง ร่วมรัฐบาล และองค์กรต่างๆ ต้องยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ในขณะนี้ และควรให้อำนาจประชาชนมีกระบวนการส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น เช่น การให้สิทธิผู้ใช้แรงงานเลือกตั้งตัวแทนในสถานที่ประกอบการ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทุกระดับ การกระจายการถือครองที่ดิน การมีมาตรการภาษีที่ก้าวหน้า การสร้างรัฐสวัสดิการ เป็นต้น

4. เราขอเรียกร้องให้เครือข่ายของระบอบอำมาตยาธิปไตย ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มสว 40 ตลอดทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการบางส่วน โดยการยุติพฤติกรรมสร้างภาพ บิดเบือน ใส่ร้าย ทำลายความชอบธรรมการชุมนุมอย่างสันติวิธีของนปช. และให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

5.ท่ามกลางการเรียกร้องให้ยุบสภา นายประเวศ วะสี กลุ่ม 40 สว และองค์กรต่างๆซึ่งล้วนมีจุดยืนเพื่อระบอบอำมาตยาธิปไตย นั้น ได้เสนอให้มีการปฏิรูปประเทศไทย แท้จริงแล้ว เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อบิดเบือนประเด็นการต่อสู้ของ นปช. นั่นเอง

6. เรามีความคิดเห็นว่า การปฏิรูปโครงสร้างความเลื่อมล้ำในสังคมไทย การปฏิรูปประเทศไทย ที่ผ่านมาและเป็นอยู่นั้น อุปสรรคสำคัญเกิดจาก ระบอบอำมาตยาธิปไตยที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางและระบบราชการ การปฏิรูปประเทศไทยจึงต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะต่างๆ เช่น เสนอกฎหมายโดยตรง ที่สำคัญ พรรคการเมืองต่างๆต้องเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก ขณะที่องค์กรต่างๆก็เสนอนโยบายเพื่อผลักดันกดดันต่อพรรคการเมืองได้เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นด้วยยุบสภา คืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน

 

1. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)

2. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์น้ำเซิน (คอซ.)

3. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)

4. เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูค้อ-ภูกระแต จังหวัดเลย

5. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)

6. แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)

7. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี

8. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)

9. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์

10. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จังหวัดอุดรธานี

11. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จังหวัดสกลนคร

12. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยภูมิ

13. กลุ่มประชาชนไทแวงน้อย-แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น

14. กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น

15. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จังหวัดชัยภูมิ

16. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จังหวัดนครพนม

17. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จังหวัดยโสธร

18. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)

19. กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)

20. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง

21. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จังหวัดพิษณุโลก

22. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง (คสปล.)

23. สหพันธ์เยาวชนคลองเตย (สยค.)

24. เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย

25. เครือข่ายชุมชนเมืองบ่อนไก่ กทม.

26. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จังหวัดร้อยเอ็ด

28. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net