สัมภาษณ์: บก."Voice of Taksin": ประเมินนปช. ในวาทกรรม "ไพร่-อำมาตย์"

เมื่อ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ประวิตร โรจนพฤกษ์ สัมภาษณ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ นิตยสารการเมืองที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากค่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้สมยศยังเป็นสมาชิกกลุ่ม “แดงสยาม” กลุ่มเสื้อแดงกลุ่มย่อยที่ถูกนิยามว่าเป็นเสื้อแดงปีกซ้ายด้วย

แม้ในการชุมนุมใหญ่รอบนี้ ได้มีการประกาศแยกทางระหว่าง “เสื้อแดง” สองปีกคือ “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” ที่นำโดย “สามเกลอ” และกลุ่มแดงสยามแล้ว แต่สมยศยังคงติดตามสถานการณ์เคลื่อนไหวของ “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” อย่างใกล้ชิด

และต่อไปนี้คำอธิบายของสมยศ ว่าด้วยสถานการณ์สังคมไทยในยุคที่การยัดข้อหา “ไม่จงรักภักดี” ถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กันอย่างเนืองๆ นอกจากนี้เขายังวิจารณ์และประเมินผลสะเทือนขบวน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน และอนาคตข้างหน้าของการเมืองไทยด้วย

สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการวอยซ์ออฟทักษิณ

 

000

ประวิตร - ตอนนี้ขบวนการเสื้อแดงถือว่ากลายเป็นขบวนการรอยัลลิสต์ไปแล้วหรือไม่ เมื่อมีการจุดเทียนถวายพระพรไปก็มากกว่า 2 รอบแล้ว มีกรณีของท่านผู้หญิงวิระยา (ชวกุล) แถมมีการโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างพันธมิตรว่าไม่จงรักภักดี มองเรื่องนี้อย่างไร

สมยศ - สังคมไทยไม่สามารถ Identify ใครได้ในประเด็นนี้ เพราะว่าไม่มีใครกล้าพูดความจริงว่าเขารอยัลลิสต์หรือไม่รอยัลลิสต์ แต่หน้าที่ของพลเมืองไทยต้องเป็นรอยัลลิสต์ เป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนดในหลักสูตรการศึกษา เป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนดในกฎหมาย เป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนดโดยความเชื่อ ซึ่งคุณไม่สามารถคิดหรือเชื่อไปทางอื่นได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถสรุปได้เลยว่าเสื้อแดงรอยัลลิสต์ หรือไม่รอยัลลิสต์ แล้วใครจะกล้าพูดว่าฉันไม่ใช่รอยัลลิสต์ ท่านกล้าพูดไหมครับ แล้วทุกคนต้องพูดด้วยว่าเป็นรอยัลลิสต์ ถึงแม้พูดคุณก็ถูกกล่าวหาได้ว่าไม่ใช่รอยัลลิสต์

 

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศแยกทางบนเวทีอย่างชัดเจนระหว่างแกนนำ นปช. กับ กลุ่มแดงสยาม?

เขาแยกกันมานานแล้ว

 

การไม่ให้แกนนำแดงสยามขึ้นเวที นี่เกี่ยวข้องกับความกลัวข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีหรือไม่ ที่กลุ่มแดงสยามวิพากษ์ต่อสถาบันเป็นพิเศษ เป็นความเห็นที่ต่างกันจริงๆ เลย หรือแยกกันตี

คงไม่ใช่แยกกันตี เป็นความแตกต่าง และแตกแยกที่ชัดเจนยิ่ง ในมุมมองหรือทัศนะที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นความแตกต่างทางแนวทางหรือเป้าหมายการต่อสู้

 

รู้สึกอย่างไรกับการที่นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ถูกยกเลิกจัดจำหน่ายโดยร้านหนังสือบางร้านเช่นร้านนายอินทร์ ในช่วงเวลาเมื่อไม่นานที่ผ่านมา โดยที่สื่อค่ายพันธมิตรฯ ระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มีบทบาทในการกดดันให้ร้านนายอินทร์ไม่จัดจำหน่ายนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณต่อไป

เราเข้าใจความจำเป็นของร้านนายอินทร์ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคม ที่มีทั้งผู้ที่นิยมชมชอบนิตยสาร เขาเข้าไปที่ร้านนายอินทร์เพื่อหาซื้อหนังสือของเรา และก็มีคนที่จงเกลียดจงชังหรือไม่เห็นด้วยก็เข้าไปแสดงทัศนะต่อร้านค้า เช่น มีคนไปตะโกนด่า ซึ่งเราก็เสียใจที่ร้านค้าต้องได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง

เราเข้าใจในความจำเป็นที่ร้านต้องหลีกเลี่ยงในกระแสความขัดแย้ง ก็ยังหวังว่าจะร้านจะทบทวนเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสื่ออย่างเป็นธรรม และเพื่อให้การทำธุรกิจของเราเป็นไปโดยปกติ เพราะนี่นอกจากเป็นเรื่องของทัศนะทางการเมืองแล้วก็เป็นเรื่องธุรกิจด้วย ซึ่งไม่ควรนำมาผูกพันต่อกัน

 

ร้านอื่น มีลักษณะแบบนี้บ้างไหม และได้คุยกับร้าน หรือร้านเขาแจ้งอย่างไร

ส่วนใหญ่ร้านจะแจ้งว่า ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการร้องเรียน หรือปัญหาเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนสำหรับร้านค้าที่จำหน่าย

ส่วนบางร้าน ถูกแรงกดดัน เช่นมีคนนำหนังสือไปเขวี้ยงใส่เคาเตอร์ที่ร้านแพร่พิทยา สาขาหนึ่ง รู้สึกเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ล่าสุดเกิดขึ้นในเรื่องปกตราครุฑ ซึ่งร้านค้าก็ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง และเขาก็แจ้งมาอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้เกิดที่บีทูเอสบางสาขา แต่สาขาหลักๆ เขายังขายได้ตามปกติ

 

เหตุการณ์แบบนี้ถือเป็นการคุกคามสื่อและเสรีภาพการแสดงออกหรือเปล่า และคิดอย่างไรกับการที่พวกบรรดาสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่ปกติจะพยายามมีบทบาทแถลงปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่ดูเหมือนไม่มีแถลงการณ์ใดต่อเรื่องนี้ หรือแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์

ประเด็นนี้ยังไม่ถึงขั้นคุกคาม เป็นผู้บริโภคที่มีลักษณะเจตนาโดยเฉพาะ หรือผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่เห็นด้วย หรือเป็นรอยัลลิสต์เอามากๆ

ข้อเรียกร้องของสื่อในค่ายพันธมิตรฯ อย่างเอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ที่เรียกร้องให้ปิดสื่อเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่แค่ วอยซ์ออฟทักษิณแต่เป็นสื่อเสื้อแดงอื่นๆ ด้วย

เห็นว่าฉบับอื่นเริ่มได้รับผลกระทบ เริ่มรู้สึกว่าเป็นปัญหาเรื่องแดงกับเหลืองในร้านจำหน่าย แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้รับผลกระทบ ในทางตรงกันข้ามทำให้ยอดขายดีขึ้นด้วย เท่าที่เราประเมินนะ หมายถึงผู้บริโภควิ่งเข้าหาแล้ว

 

ช่วงที่เสื้อแดงเคลื่อนขบวน หรือแม้กระทั่งในม็อบเอง สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือจำนวนรูปของพระเจ้าอยู่หัวน่าจะน้อยกว่าผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองมากอย่างชัดเจน คิดว่าตรงนี้สะท้อนอะไรหรือเปล่า

มีอะไรเป็นตัวชี้วัดล่ะว่าน้อยหรือมาก

 

ก็คือฝ่ายเสื้อเหลืองค่อนข้างชัดเจนถ้าดูรูปถ่าย ผมก็สังเกตเองในการชุมนุม โอเคว่าเหลืองใช้เยอะไปหรือเปล่าก็ถกเถียงได้ เพราะเหลืองชูธงชัดเจนว่าปกป้องเจ้า แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือในการชุมนุมเสื้อแดง รูปของในหลวงน้อยกว่าชัดเจน คุณตีความว่าอย่างไร

คนเสื้อแดงเขาคงไม่อยากใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือ สิ่งที่เขาทำพยายามปกป้องตนเองจากข้อกล่าวหาของฝ่ายตรงกันข้าม

เพราะอย่างน้อยอธิบายได้ว่าคนเสื้อแดงที่ไปร่วมชุมนุมเป็นผู้จงรักภักดี แต่เนื่องจากว่าเขาได้รับผลกระทบจากการอ้างความจงรักภักดีของกลุ่มเสื้อเหลือง ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถดำเนินการเฉกเช่นเดียวกันได้ เป็นเหตุให้เขาอาจจะมีรูปน้อยกว่า เพราะว่าจุดยืนโดยพื้นฐานของแกนนำไม่ประสงค์ที่จะให้สถาบันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นแดงก็คงไม่นำมาใช้เป็นเครื่องมือ

กรณีที่มีการจุดเทียน ก็เป็นกรณีที่พยายามตอบโต้ข้อกล่าวหามากกว่าการแสดงจุดยืนทางการเมือง

 

สุดท้ายฝ่ายเหลืองหาว่าเป็นการจัดฉาก หรือเป็นความจงรักภักดีจอมปลอม

ก็แล้วแต่ เพราะว่าฝ่ายแดงก็กล่าวหาว่าเหลืองจงรักภักดีแบบจอมปลอม

 

คุณเคยกล่าวกับผมเมื่อไม่นานมานี้ว่า เมืองไทยก็ทำได้อย่างจำกัดในการแสดงออกเชิงความคิดเท่าทันหรือวิพากษ์ต่อสถาบัน ช่วยขยายความได้ไหมว่าขอบเขตตอนนี้เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีขบวนการเสื้อแดงเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเปลี่ยน ได้เปลี่ยนไปอย่างไร

เปลี่ยนไป ในแง่ที่วิวัฒนาการทางสังคม เริ่มสำรวจสถาบันต่างๆ ในสังคมมากขึ้น นี่คือความตื่นตัวของผู้คน เนื่องจากเรายอมรับให้พระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในรัฏฐาธิปัตย์ที่สำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง

แล้วมีการวิวัฒนาการในการตรวจสอบสถาบันมากขึ้น

ขณะเดียวกันความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีต่อสถาบัน อย่างเช่น มีการบอกว่าสมควรยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้สถาบันเป็นประชาธิปไตย เราปรารถนาที่จะใช้มีการยกเลิกกฎหมายนี้ เพื่อทำให้สังคมไทยมีเสรีภาพมากขึ้น

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้อจำกัดทางกฎหมายที่ทำให้ประชาชนยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ในการเขียน ในการพูด ในการแสดงความคิดเห็น ข้อกฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง

 

ส่วนตัว คิดอย่างไรที่สื่อต่างชาติโดยเฉพาะทางตะวันตก เสนอข่าวบทวิเคราะห์ทางการเมือง บทบาท และสถานะของสถาบัน ค่อนข้างที่จะลงไปในรายละเอียดและลึกพอสมควร จนกระทั่งบางฉบับเช่น The Economist เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย ขณะที่เมืองไทยเองในวิกฤตการเมืองปัจจุบันทำให้สื่อมีการเซ็นเซอร์ตัวเองเรื่องสถาบัน

ตะวันตกหรือฝรั่งก็มีมิติหรือสิทธิเสรีภาพแบบของเขา แต่ของเราไม่สามารถมีสิทธิเสรีภาพเหมือนของเขาได้ ด้วยความคิดความเชื่อของคนไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความคิดความเชื่อที่มิอาจแตะต้องได้ เพราะถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ

 

คนจำนวนหนึ่งก็มองว่า นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ มีบทความหรือข้อความที่เสนอเชิงเท่าทันต่อบทบาทของสถาบัน ตรงนี้เป็นห่วงเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความปลอดภัยของคณะทำงานหรือไม่

ไม่มี เพราะว่าเราใช้สิทธิเสรีภาพโดยพื้นฐาน และเราเห็นว่าเราควรจะมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อทำให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยจริงๆ และพระมหากษัตริย์จะไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นสถาบันอันเป็นที่เคารพรัก

 

ถ้ามีโอกาสื่อได้ จะบอกอะไรกับสื่อไทยกระแสหลักทุกวันนี้ ว่าด้วยการรายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบัน มีความจำเป็นไหมที่สื่อจะต้องเสนอข่าวและวิเคราะห์อย่างเท่าทันต่อสถาบันแทนที่จะประจบ

การเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบัน โดยมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ จะช่วยให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยมากขึ้น

 

อนาคตระหว่างเสื้อแดงกลุ่ม นปช. กับกลุ่มแดงสยาม ยังมีอยู่หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วถือว่าแยกออกมา โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันการใส่เสื้อแดง

เสื้อแดงแน่นอนว่ามีจุดร่วมเหมือนกันคือต่อต้านอำมาตยาธิปไตย แต่คำว่า "อำมาตยาธิปไตย" มีความแตกต่างในนิยามระหว่างกลุ่มแดงสยามกับ นปช. วันหนึ่งข้างหน้านิยามนี้จะตรงกัน ด้วยวิวัฒนาการทางสังคม

 

บางคนมองว่า การใช้คำว่าอำมาตยาธิปไตยเป็นเพียงเพราะว่าข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถใช้คำอื่นแทนได้

เป็นข้อจำกัดทางกฎหมาย และความเป็นเผด็จการในสังคมไทย

 

ยังมีเวทีขึ้นอีกไหม

มี (เวที) ตรงหน้ายูเอ็น ส่วนเวที นปช. จะไปก็ได้ ไม่มีปัญหา

 

หมายถึงว่าไปได้ แต่ขึ้นไม่ได้ถ้าเป็นเวทีใหญ่

ถ้าอยากขึ้นพูด แต่ตอนนี้อาจไม่เหมาะสมในสถานการณ์

 

นี่เกี่ยวข้องกับจุดยืนหรือเปล่า อย่างแกนนำบางคนที่ถูกมองว่าเป็นซ้ายมากกว่าคนอื่นอย่างคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งตอนหลังก็ไม่ค่อยได้ขึ้นบ่อยมากนะ เขาพยายามจะลดกระแสเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า

ไม่น่าจะใช่

 

มีผู้ถูกดำเนินคดี เพราะมีผู้โพสต์ข้อความที่เป็นภัยความมั่นคงในเว็บบอร์ด ล่าสุดคือกรณีของผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ช่วงเวลาแบบนี้น่าสนใจว่าเขาจะมีการจัดการหรือเปล่า

กรณีของวอยซ์ ออฟ ทักษิณ มีคนไปแจ้งความข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง

 

เรื่องการเจรจาก็ตามแต่ หรือการชุมนุมใหญ่วันที่ 3 เมษายน มองว่าอย่างไร

โดยภาพรวม นปช. ถูกนำโดยนักเลือกตั้ง โดยนักการเมือง ด้วยเหตุนี้ธรรมชาติของนักการเมืองก็จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ เพราะจริงๆ แล้วภาคประชาชนจริงๆ มีสัดส่วนน้อยมาก ดังนั้นความต้องการช่วงชิงอำนาจจึงเป็นเหตุผลหลัก นำมาสู่ข้อเรียกร้องเรื่องยุบสภา ซึ่งเขาเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น เขาถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในประเด็นที่ว่าถูกกดดันจากทหาร มีการย้ายขั้วย้ายข้าง ภายใต้แรงกดดัน

นี่ก็เป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐที่ถูกยึดไปโดยอำมาตยาธิปไตย ดังนั้นเขาจึงต่อสู้เรื่องนี้เป็นหลัก แต่ประเด็นนี้มีจุดอ่อนในแง่ที่ยังไม่ได้เสนอทางออกทางสังคม การเมือง ว่ายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ อะไรคือนโยบาย หรือข้อเสนอทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มันจึงขาดพลังที่จะเข้าร่วมอย่างเต็มที่

 

เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะแนะนำหรือมีความเห็นกับผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ อยากบอกว่าอย่างไร เพราะตอนนี้สิ่งที่พูดคือถ้ายุบสภาปุ๊บ ปัญหาเรื่องอำมาตย์ การเมืองไทย ก็จะจบสิ้นลง เป็นความคาดหวังที่เลื่อนลอยไปหน่อยหรือเปล่า

ความสำเร็จของ นปช. ในการชุมนุมครั้งนี้ อย่างน้อยเป็นความสำเร็จในแง่ที่ได้ทำให้คนเห็นถึงคุณธรรมจอมปลอมของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย เช่น กรณีเขายายเที่ยง กรณีสองมาตรฐาน ซึ่งสังคมได้เรียนรู้ประเด็นพวกนี้มากขึ้น นี่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

อันที่สอง ที่เขาประสบความสำเร็จ คือในแง่สันติวิธี ที่แกนนำสามารถควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามแนวทางสันติวิธี นี่ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญ และการต่อสู้ครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างผลสะเทือนทำให้คนตื่นตัว ถูกผิดเป็นอีกเรื่อง แต่คนตื่นตัวขึ้นอย่างกว้างขวางต้องมามองปัญหาทางการเมือง นี่ถือเป็นความสำเร็จ

 

มีอะไรที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงทั่วไปควรระลึกถึงไหมในการต่อสู้

ชัยชนะยังไม่ใช่อยู่ที่การยุบสภา คนเสื้อแดงต้องมองไกลไปที่โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เป็นอุปสรรคจริงๆ ถ้าไม่สามารถก้าวพ้นตรงนี้ได้ ก็จะไม่ไปสู่การที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

อุปสรรคตรงนี้คืออะไรกันแน่ ไม่ใช่การยุบสภาและไม่ใช่ที่รัฐบาล อาจจะเป็นตัวกติกา รัฐธรรมนูญ อาจจะเป็นกองทัพ อาจจะเป็นตุลาการ อาจจะเป็นองคมนตรี หรืออื่นๆ ซึ่งคนเสื้อแดงต้องค้นคว้าต่อไป

แต่ว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากเขาได้รับคำตอบของเขาแล้ว ทำให้มีความเห็นที่หลากหลาย บางคนก็อาจจะต้องการปฏิรูปทางการเมือง โดยจำกัดอำนาจบางประการ เช่น อำนาจนอกระบบ บางคนอาจจะคิดแค่มีรัฐบาลที่เข้มแข็งเป็นตัวแทนของเขาโดยที่ไม่ถูกโค่นล้ม

 

มีผู้กล่าวว่า "สงครามชนชั้นได้เกิดขึ้นแล้วโดยที่ไม่มีการประกาศ" มองว่าอย่างไร

ตอนนี้ก็มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นแล้ว Civil War เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันถ้านับจำนวนผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายพันธมิตรก็ 10 คนได้ ฝ่ายเสื้อแดงปรากฏศพที่เกิดจากการต่อสู้ทางการเมือง 3 ศพ หนึ่งศพเกิดจากการปะทะระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงในเดือนกันยายนปี 2551 สงกรานต์เลือด ถึงแม้ไม่ปรากฏศพ แต่ปรากฏศพลอยน้ำที่ยืนยันได้ว่าเป็นคนเสื้อแดงอีก 2 ศพ

เราถือว่าเป็นผลผลิตจากการปะทะกัน ถ้าดูจากคนบาดเจ็บ ก็มีคนพิการอีกไม่น้อยกว่า 20 คน บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 500 คน

 

การที่ฝ่ายรัฐออกมาปฏิเสธว่าการเอารัดเอาเปรียบ ความขัดแย้งทางชนชั้นไม่มีหรอก คนจนถ้าขยันทำมาหากินก็สามารถรวยได้

ปฏิเสธไม่ได้หรอก มันมีอยู่แล้ว และคนที่เสียชีวิตจำนวนมากเป็นไพร่ทั้งนั้นเลย

ตัวอย่างของเสื้อแดงณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสงค์ (เสียชีวิตจากการปะทะกับพันธมิตรฯ ในเดือนกันยายน 2551) เป็นคนจนธรรมดาในชนบท อาชีพทำสวน มากรุงเทพฯ เพราะไม่พอใจพันธมิตรฯ ฝ่ายพันธมิตรฯ สวนหนึ่งก็เป็นคนชั้นล่างมาจากชนบท

มองในแง่ชนชั้น เขาเป็นชนชั้นล่างแน่ที่เสียชีวิต บาดเจ็บและพิการจำนวนมาก อาชีพที่เราพบเขาเป็นพ่อค้าหาบเร่ แท็กซี่ คนพวกนี้คือคนจนคนระดับล่างทั้งนั้น การที่เขาออกมาต่อสู้จนเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ มันก็บอกแล้วว่า เขากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องชนชั้นของเขา

ถ้าฝ่ายแดงชัดเจนหน่อย ในแง่ที่ว่าเขาออกมาต่อสู้เพื่ออยากได้ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อการที่ว่าเขาออกเสียงเลือกตั้งให้คนใดแล้ว เขาควรมีสิทธิปกป้องคนๆ นั้น ซึ่งแสดงออกอย่างรูปธรรมคือต่อสู้ในประเด็นที่ว่าทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร

นี่กลายเป็นคำอธิบายเรื่องการดูถูกเหยียดหยามทางชนชั้น ฝ่ายเสื้อเหลืองจะบอกว่าการเลือกตั้งไม่เป็นความบริสุทธิ์เพราะเป็นการซื้อเสียง ส่วนคนจนจะบอกว่าไม่ใช่ เขาเลือกเพราะนโยบาย ทำให้เขาออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและชนชั้นของเขา

 

เสื้อแดงชุมนุมมาได้ 3 สัปดาห์แล้ว ขณะที่สื่อกระแสหลักมักเสนอข่าวดูถูกคนเสื้อแดงว่าเป็นควายบ้าง ถูกต้อนมา เช่น การส่งข่าวทางมือถือของไอเอ็นเอ็น เมื่อ 31 มีนาคม ส่งมาว่า เสื้อแดง "ต้อนม็อบชุมนุมใหญ่" เขาใช้คำว่า "ต้อน" ส่วนเมื่อวันที่ 29 มี.ค. การ์ตูนของ ASTVผู้จัดการรายวัน เขียนมาทำนองว่าวันจันทร์ถึงวันศุกร์มีไว้ให้รถใช้ เป็นรูปรถติดในกรุงเทพฯ ส่วนอีกช่องหนึ่งช่องขวาเขียนว่าเสาร์อาทิตย์ให้ควายเดิน ก็เป็นรูปควายเดินบนถนน มีรูปว่าทักษิณเป็นคนต้อนควายอยู่ปลายแถว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น แม็กกาซีนภาษาอังกฤษแจกฟรีอย่าง GURU เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้วมีบทบรรณาธิการ เขียนทำนองว่า คนเสื้อแดงโง่ขนาดใช้ก๊อกน้ำที่มีเซ็นเซอร์ไม่เป็นแล้วไปทุบหัวก็อกน้ำ เขียนในเชิงว่าไม่สามารถจะใช้ก๊อกน้ำเซ็นเซอร์แล้วมาเรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้มองว่าอย่างไร ตัวอย่างเรื่องนี้ในสื่อที่มีความคิดดูถูกเหยียดหยามว่าคนเสื้อแดงโง่มีเยอะ คิดว่าถ้าจะเขียนหนังสือเป็นหนังสือรวมเล่มได้ 1 เล่ม ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอทางการเมืองที่จะฝากผีฝากไข้ หรือเชื่อถือว่าเป็นขบวนการทางการเมืองหรือขบวนการประชาชนอย่างแท้จริง

นี่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการใช้วาทกรรมเรื่องไพร่ เป็นแรงจูงใจให้เขาออกมาเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ และกินใจคนชั้นล่าง ซึ่งสะท้อนออกมาในสังคมปัจจุบันด้วย เรื่องชนชั้นทั้งความแตกต่างด้านรายได้ ความแตกต่างด้านโอกาส และความแตกต่างเชิงทัศนคติที่มอง ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้คนพวกนี้ออกมาต่อสู้มากขึ้น และจัดขัดแย้งมากขึ้นอย่างรุนแรง

แต่ว่าสังเกตดูมีคนจำนวนหนึ่ง กินใจกับคำว่าไพร่ ไม่ต้องอธิบายมาก มันกลายเป็นวาทกรรม ถือว่าเขานำเสนอได้อย่างแหลมคม

ถ้าฝ่ายแดงจะชัดเจน เพื่อเห็นว่าเมื่อเขาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้คนใดแล้วเขาควรมีสิทธิออกมาต่อสู้ปกป้อง ถูกรัฐประหาร นี่กลายเป็นคำอธิบายเรื่องการดูถูกเหยียดหยามทางชนชั้น ฝ่ายเสื้อเหลืองบอกว่าซื้อเสียง คนจนว่าไม่ใช่ ทำให้เขาออกมาต่อสู้ปกป้องศักดิ์ศรีชนชั้นเขา

 

ที่เวทีใหญ่ของ นปช. มีเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าหลายคนที่รักประชาธิปไตยหรือรักสิทธิเสรีภาพรับไม่ได้เลย คือใช้วาทกรรมที่เหยียดคนรักเพศเดียวกันมาก มีข้อกล่าวหาว่าแกนนำหนึ่งในกลุ่มอำมาตย์เป็นเกย์ เป็นขันที และแกนนำเสื้อแดงบนเวที นปช. รวมถึงตัวอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคือคุณจรัล (ดิษฐาอภิชัย) ไม่เห็นจะดำเนินการอะไร และนับวันจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ มีการด่าภรรยาของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วยภาษาที่ไม่ดีเท่าไหร่

การใช้คำเหล่านี้ โดยเฉพาะการเหยียดเพศสภาพคุณมองว่าอย่างไร

ก็เห็นว่าเป็นจุดอ่อนเสื้อแดงนะเรื่องนี้ เห็นด้วยว่าเป็นจุดอ่อนมากๆ นะ ผมไม่เห็นด้วยนะเคยติติงตลอด ทำให้ประเด็นการต่อสู้ผิดเพี้ยนไป ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เพศ

 

ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษ ก็เหมือนโหมดออโต้ไพล็อต เหมือนเครื่องบินที่บินไปเอง คือการด่าเรื่องเพศสภาพมีทุกวัน วันละทุกๆ สามชั่วโมง ใช้คำทุกอย่างเกี่ยวกับเพศสภาพที่งัดออกมาได้ ทั้งที่คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งน่าจะเป็นคนรักเพศเดียวกัน ตอนที่เสื้อแดงเคลื่อนแดงเคลื่อนตัวไปเมื่อ 20 ม.ค. คนที่พัฒน์พงษ์จำนวนหนึ่งเขาก็ออกมาต้อนรับ เป็นเซ็กส์เวิร์คเกอร์ เป็นสาวประเภทสองด้วยซ้ำไป การใช้คำดูถูกคนเหล่านี้ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะสะท้อนขบวนการประชาธิปไตยได้อย่างไร โดยที่คนสองคนที่น่าจะตระหนักเรื่องสิทธิหน่อย จรัลก็อยู่ที่นั่น นพ.เหวง (โตจิราการ) ก็อยู่ที่นั่น ก็ไม่เห็นทำอะไร

ก็เห็นด้วย ซึ่งควรจะตำหนิติเตียนมากๆ ในเรื่องนี้

 

มีบางคนมองว่าถ้า นปช.เสื้อแดงกระแสหลัก เล่นไพ่สถาบันกษัตริย์นิยม แล้วถึงจุดหนึ่งในอนาคต เขาอาจจะปราบฝ่ายซ้ายที่เป็นเสื้อแดง มองว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

เป็นไปได้แน่นอน

 

ต้องมีการเตรียมการอะไรหรือไม่

ไม่ต้องเตรียม ถึงเวลาก็แล้วแต่สังคมจะพาไป

ถ้าเขาคิดว่าจะตัดเนื้อร้ายทิ้ง ระวังจะเกิดการอักเสบอย่างแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท