Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

*ชื่อบทความเดิม : ปฏิรูปประเทศไทยต้องถามประชาชน ไม่ใช่ถาม “เครือข่ายอำมาตย์ ราษฎรอาวุโส นักวิชาการ TPBS และอำมาตย์ NGO”

 

แม้จะดูเหมือนว่าขณะนี้การ “ยุบสภา” จะเป็นจุดลงตัวในการแก้ไขวิกฤตการเมืองไทย เพียงแต่ต้องเจรจาเงื่อนไขเวลาให้ลงตัว แต่เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มคนสีชมพูที่อดีตรวมเสื้อเหลือออกมาเรียกร้องไม่ให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ไม่ยุบสภา ขณะที่วันที่ 3 เมษายน นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ บอกว่าจะยุบสภาก็เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเท่ากับอำมาตย์ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เดินเกมใหม่ไม่ให้ยุบสภา ก็เป็นไปได้

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มเครือข่ายอำมาตย์ 40 ส.ว. นักวิชาการ NGO องค์กรสิทธิ บางส่วน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง สื่อนิยมอำมาตย์ TPBS, NBT, NATION, คตส.บางคน ราษฎรอาวุโส สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ก็ได้เสนอวาระปฎิรูปประเทศไทย เป็นทางออกแทนการยุบสภาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะ การจัดเวทีของ TPBS เรื่องพลเมืองกับทางออกประเทศไทย เมื่อวันนี้ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งคนเข้าร่วมล้วนเป็น ภาคประชาชนเหลืองทั้งนั้น ผู้จัดคงตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น

ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า การยุบสภาและการปฏิรูปประเทศไทยนั้น คือ

1. การยุบสภา ในประวัติศาสตร์การเมือง ณ วันนี้ เป็นการยุบสภาเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแน่นอน ก็เพราะว่า ความขัดแย้งปัจจุบันลุกลามไปทั่วทุกหัวระแหง ทางออกอย่างสันติวิธีคือการยุบสภา คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนเท่านั้น การเลือกตั้งประชาชนทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ใคร พรรคการเมืองใด ขึ้นมาบริหารประเทศ ทุกคนต้องยอมรับ

2. การยุบสภา เป็นการป้องกันการฉวยโอกาสรัฐประหาร และการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งการรัฐประหาร และการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น จะทำให้สังคมการเมืองไทยถอยหลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเหลือคณาได้ เพราะอำนาจรัฐประหารและรัฐบาลแห่งชาติถ้าเกิดขึ้นในครั้งนี้ อำนาจจะควบคุมการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จมากที่สุด และสิทธิเสรีภาพก็จะถูกจองจำ เส้นทางการเมืองไทยจะไม่ต่างกับเผด็จการอำมาตย์ทหารพม่าแต่อย่างใด

3. ภายหลังการยุบสภาในครั้งนี้ ทุกองค์กรทุกสถาบันการศึกษาต้องร่วมกันจัดกระบวนการศึกษาอย่างขนานใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนเท่ากัน และไม่ให้ความขัดแย้งลุกลาม เกลียดชัง แตกแยกภายในชาติรุนแรงอย่างที่เป็นห่วงกัน

4. การเรียกร้องเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่ดี ควรทำให้ตลอดต่อเนื่องมิใช่ฉวยโอกาสก่อกระแสท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องยุบสภา เพื่อเบี่ยงเบนประเด็น เป็นแนวร่วมให้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยตั้งใจและไม่รู้ตัวก็ตาม

5. เมื่อมีการสำรวจกลุ่มคน องค์กรต่างๆ อำมาตย์ NGO นักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย (อำมาตยาธิปไตยมากกว่า) ทั้งสื่อต่างๆ หลายคนหลายส่วนโดยเฉพาะ TPBS ล้วนเกี่ยวข้องกับการได้ผลประโยชน์หลายด้านจากการมีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เช่น บางคนเคยเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการลากตั้ง บางองค์กรได้งบประมาณโครงการต่างๆจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น บางคนสังกัดองค์กรสิทธิมนุษยชนที่สองมาตรฐาน หนุนช่วยด้านสิทธิเฉพาะพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ นอกจากนี้แล้วบทบาทที่ผ่านมาเคยร่วมกับพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยและสนับสนุนรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเปิดตัวและไม่เผยร่างก็ตาม

6. การปฏิรูปประเทศไทย การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยนั้น คำถามก็คือว่า ต้องถามใครหรือให้ใครเป็นผู้นำ นายประเวศ วะสี นายอานันท์ ปันยารชุน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นายโคทม อารียา นายอคิน รพีพัฒน์ นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นายพลเดช ปิ่นประทีป เรวดี ประเสริฐเจริญสุข สมพงษ์ พัดปุย จำนง จิตนิรัตน์ บรรเจิด สิงคะเนติ ปริญญา เทวณฤมิตรกุล และคนอื่นๆ ที่สร้างภาพลักษณ์กัน (ล้วนเป็นเครือข่ายอำมาตยาธิปไตยทั้งสิ้น)

คนเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน เขาเป็นคนดีมีศีลธรรม ใครบอกละ? แม้อาจจะปรารถนาดีแต่ก็ แต่ละคนหาได้เชื่อมโยงผ่านการเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะคนจนที่พวกเขาอ้างถึงในการปฏิรูปประเทศไทยแต่อย่างใด

 นอกจากเขาตั้งกันเองยกย่องกันเอง และพยายามใช้วิธีการต่างๆให้ประชาชนยกย่องพวกเขาด้วย

บางคนสมัยที่เคยมีอำนาจ นายไพบูลย์ฯ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และพลเดชฯ เป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ก็ไม่เคยผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเท่าเทียม กันอย่างจริงจังนอกจากนโยบายสังคมสงเคราะห์ และการจัดสรรงบประมาณให้เหล่าอำมาตย์ NGO ด้วยกัน

7. เครือข่ายเหล่านี้ ชอบสรุปรวบรัดว่า ภาคประชาชน เท่ากับ สมัชชาคนจน เครือข่ายที่ดินป่าไม้ และอีกหลายเครือข่าย ที่ผ่านการจัดตั้งอุถัมป์ค้ำชูโดย NGO ผ่านการครอบงำทั้งความคิดแบบอำมาตยาธิปไตยและเงินทุนของอำมาตย์ NGO

เครือข่ายเหล่านี้มักทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมมึนชา เข้าใจผิดว่าปัญหาตนเอง มีเฉพาะ ดิน น้ำ ป่า วิทยุชุมชนและอีกหลายประเด็น และเน้นแก้ปัญหาเป็นพื้นที่ เป็นจุดๆ แต่แท้จริงและประชาชนเขาคิดปัญหาครบวงจรชีวิต คิดถึงปัญหาภาพรวมด้วย เขาจึงชอบนโยบาย รักษาพยาบาล โอกาสการศึกษาของบุตรหลานของพรรคไทยรักไทยในอดีต

และอาจจะมีผู้นำนิสัยขุนนาง มาใช้ในองค์กร NGO เพื่อสั่งการได้ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำจุน

8. อำมาตย์ NGO จงใจทำให้ประชาชนในเครือข่ายคิดว่าประชาธิปไตยเท่ากับปัญหาของเขาเองหรือ ประชาธิปไตยทางตรง จึงปฏิเสธประชาธิปไตยรัฐสภา ยกเว้นเมื่อเครือข่ายอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล

อำมาตย์ NGO มักทำให้ประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวกับเขา นักวิชาการ รวมทั้งสื่อโดยเฉพาะ TPBS พยายามสร้างความเข้าใจว่า ภาคประชาชนของเขาเท่านั้นที่เป็นภาคประชาชน TPBS ลองจ้างนักวิจัยสำรวจดูซิ ภาคประชาชนที่ว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นอย่างไร

ทางปริมาณคนในประเทศทั้งหมด 60 กว่าล้านคน คนจน 40 ล้าน ภาคประชาชนของ อำมาตย์ NGO มีสักเท่าไหร่

อำมาตย์ NGO ชอบทำให้ประชาชนในเครือข่ายเขามึนชา ต่อเรื่องประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง มนุษย์เท่ากันไม่ว่าไพร่หรือผู้ดี

ประชาชนระดับฐานไม่ใช่ผู้นำที่ถูกอุปถัมภ์ เคยร่วมเคลื่อนไหวกับอำมาตย์ NGO ล้วนแต่เป็นประชาชนที่ชอบประชาธิปไตย และไม่เอาด้วยกับระบอบอำมาตยาธิปไตย

อำมาตย์ NGO เขาไม่ชอบระบบการเลือกตั้ง เขาไม่เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เขาจึงชอบการแต่งตั้ง เขาไม่สนับสนุนให้ประชาชนในเครือข่ายเข้าสู่เทศบาล สภาตำบล เขาไม่ชี้แนะให้ผู้นำเครือข่ายทำงานกับคนอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในเครือข่าย แต่เขาชอบสภาองค์กรชุมชน หรือแหล่งรวมคนอกหักสมัครนายกเทศบาลตำบลสอบตกทั้งหลาย

9. แท้จริงแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย การปฏิรูประเทศไทยนั้น ย่อม เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทย ที่โยงใยกับปัญหาการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่? อย่างไร? ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรในการเคลื่อนไหวแค่ไหน? ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือไม่ ?

และมีแต่สังคมประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำเปิดทางให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มสร้างอำนาจอย่างเสรีต่อรอง กดดัน สร้างพลัง เพื่อให้ชนชั้นที่เอาเปรียบ ยอมกระจายการกระจุกตัวของที่ดินที่ตนเองครอบครองอยู่ ยอมที่จะจ่ายภาษีก้าวหน้า เพื่อกระจายความมั่งคั่งที่ตนเองเสพสุขอยู่บนความทุกข์ของคนจำนวนมาก ฯลฯ

10.และปัญหารากเหง้าในเงื่อนไขสภาพทางการเมืองที่สำคัญในช่วงประวัติศาสตร์ปัจจุบัน คือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย มีปรัชญาความเชื่อว่า คนยังโง่อยู่ ไม่มีความรู้ จึงต้องเป็นพลเมืองชั้นสอง จึงต้องมีคนที่เหนือกว่าปกครองดูแล จึงเป็นเพียงไพร่ ที่มูลนายต้องบังคับควบคุมดูแล เหมือนเฉกเช่นสมัยในอดีตสังคมศักดินา นั่นเอง

ดังนั้นที่อำมาตย์ NGO พากันเสนอเรื่องปฏิรูปประเทศไทยผ่าน TPBS ในวันที่ประชาชนเสื้อแดงกำลังเร่งเอาประชาธิปไตยนั้น ความจริงก็ต้องถามประชาชน ไม่ใช่ถาม เครือข่ายอำมาตย์ ราษฎรอาวุโส นักวิชาการ TPBS และอำมาตย์ NGO

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net