Skip to main content
sharethis

4 เม.ย.53 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เครือข่ายสันติประชาธรรมและเครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์พฤษภา 2535 จัดเสวนาเรื่อง “ทำไมต้องยุบสภาในสามเดือน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ พนัศ ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 40 และอดีต ส.ว.ตาก, พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ณรงค์เดช สรุโฆษิต  คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ปราการ กลิ่นฟุ้ง ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนิน รายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

 

ลงประชามติก่อนแก้รธน. เหมือนเซ็นชื่อบนกระดาษเปล่า

พวงทอง กล่าวว่า เหตุผลที่นักวิชาการและเครือข่ายสันติประชาธรรมเสนอยุบสภาใน 3 เดือนนั้น เป็นเพราะรัฐบาลไม่สามารถบริหารงานได้อย่างปกติอีกต่อไป 4 ปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามล้มกระดานกันหลายครั้ง การให้เวลา 3 เดือนก็เพื่อให้มีเวลาสะสางงานโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ยังค้างอยู่ ส่วนพ.ร.บ.งบประมาณนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เวลา 9 เดือน แม้ไม่มีรัฐสภาแต่สามารถใช้ร่างที่เสนอโดยรัฐบาลได้ นอกจากนี้การทิ้งช่วง 3 เดือนก็จะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมนโยบายที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นว่าจะแก้วิกฤตอย่างไร ไม่ใช่เพียงพูดคำว่าสมานฉันท์ลอยๆ อย่างไรก็ตาม สังคมต้องร่วมกันสร้างมติร่วมกันในเบื้องต้นว่าไม่ว่าจะอย่างไรจะไม่ยอมให้มีการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีก หากมีปัญหาก็ควรแก้กันในระบบ

พวงทองกล่าวต่อว่า ไม่เห็นด้วยกับระยะเวลา 9 เดือนที่รัฐบาลเสนอเพราะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ทำไมได้ เช่น การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นก่อน โดยที่ประชาชนไม่รู้ว่าจะแก้ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร พรรคการเมืองจะตกลงกันได้หรือไม่ และบางข้อก็ไม่เกี่ยวกับวิกฤตนี้เลย เท่ากับเป็นการลงประชามติบนกระดาษเปล่า หากจะทำก็ต้องให้ประชาชนเห็นเนื้อหาทั้งหมดก่อน และการแก้ไขไม่ใช่แก้หยุมหยิม ต้องรื้อใหญ่ หากอยากทำประชามติจริงก็ควรเปิดให้ประชาชนเลือกเลยว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50

 

กลับไปไม่ใช่แพ้ ชีวิตสำคัญกว่า

พวงทองยังแสดงความวิตกกังวลกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในขณะนี้โดยระบุว่าก่อนหน้านี้มีความพยายามดิสเครดิตคนเสื้อแดงมาตลอดตั้งแต่ยังไม่มีการชุมนุม เช่น การจะเกิดความรุนแรง เมื่อมีกิจกรรมเทเลือดก็บอกว่ามีเชื้อโรคและเป็นเลือดสัตว์ ซึ่งเป็นการทำลายการชอบธรรมของการเคลื่อนไหว อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ต่างจากสมัยที่คอมมิวนิสต์เป็นเชื้อโรคร้ายต้องจำกัด หรือชาวฮูตูเห็นชาวตุ๊ดซี่เป็นแมลงสาปในประเทศรวันดา

“เหล่านี้สะท้อนอคติของคนกรุงเทพที่มีต่อคนเสื้อแดง ซึ่งลบออกยากมาก ขอเรียกร้องสื่อให้ลงไปคุยกับชาวบ้านหน่อย จะรู้ว่าพวกเขามีความทรงจำเกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองอย่างยาวนานมาก มีแต่คนกรุงเทพที่ความจำสั้น หวังกับรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า” พวงทองกล่าว

“สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วง รัฐกำลังรอให้กระแสสังคมเปิดไฟเขียวว่าเอาเลย คนเสื้อแดงหลายคนอาจพร้อมแลก แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควร ถ้าจะต้องแพ้วันนี้ก็ยอมไป อีก 9 เดือนข้างหน้าเรากลับมาใหม่ได้ ชีวิตของท่านย่อมต้องสำคัญกว่า พลังของท่านจะไม่หายไปไหน” พวงทองกล่าว

 

เชื่อรัฐบาลดึงเกมยาว มีเจรจาต่อ

พนัส ผู้แนะนำตนเองว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบอำมาตย์ (อัยการ) กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องการยุบสภาอย่างแน่นอน ส่วนการเจรจาเกิดขึ้นเพราะคนเสื้อแดงมีจำนวนมาก หากรัฐบาลประเมินว่าคนเสื้อแดงจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ก็อาจลากให้นานไปเรื่อยๆ โดยคาดหวังว่าเมื่อถึงช่วงสงกรานต์คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ย่อมต้องกลับบ้าน สุดท้ายแกนนำอาจจะหาทางลงไม่ได้และต้องยอมรับเงื่อนไขยุบสภาใน 9 เดือน หรือเมื่อถึงเวลานั้นจริงก็อาจโดยเบี้ยวอีกเพราะถือว่าไม่รับแต่แรก อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคาดว่าคงมีความพยายามที่จะเจรจากันต่อ

ในเรื่องความรุนแรงนั้น พนัสยังมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะหากพลาดพลั้งก็จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้เช่นกัน แต่จะอาศัยการดินเครดิตคนเสื้อแดงในทุกกิจกรรม และสร้างข้ออ้างผลกระทบต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะหากศาลปกครองวินิจฉัยว่าการชุมนุมของเสื้อแดงผิดก็จะยิ่งทำให้ความชอบธรรมของผู้ชุมนุมน้อยลงอีก และหากมีฝ่ายใดสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้นก็เข้าข่ายต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเท่ากับมีความชอบธรรมที่จะสลายการชุมนุม

พนัสยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่รัฐบาลไม่ยอมยุบสภาว่าเป็นเพราะทุกคนต่างคาดได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะอีกเหมือนประสบการณ์ในอดีต แม้แต่ในพื้นที่ของประชาธิปัตย์เดิมตอนนี้ก็มีข่าวจากเพื่อนฝูงที่เป็นนักการเมืองว่าเป็นของเพื่อไทยครึ่งหนึ่งแล้ว เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลสยดสยองมาก ส่วนเหตุผลที่พนัสเห็นด้วยกับการยุบสภาก็เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขสถานการณ์ที่เริ่มวิกฤตและโอกาสการปะทะกันเริ่มมีมากขึ้น หากสถานการณ์วิกฤตมาก 3 เดือนก็ยังถือยาวเกินไป ควรจะยุบทันที

 

เสียงข้างมากจากเลือกตั้ง ไม่เท่ากับเสียงข้างมากจากการรวม ส.ส.

พนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้การยุบสภายังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเอง แม้จะอ้างมาตลอดว่ามีเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างมากของประชาชน เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ผ่านมาประชาชนเลือกพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล แม้ว่ามันจะถูกยุบไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเจตจำนงของประชาชนเสียงข้างมากจะเปลี่ยน เพียงแต่ส.ส.ส่วนหนึ่งดันเปลี่ยนข้าง ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ยังไม่นับรวมการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ดังนั้น การยุบสภาจึงเป็นสิ่งสมควรกระทำแม้ไม่มีวิกฤตกฺตาม

“เราต้องวัดเสียงข้างมากจากคะแนนที่ประชาชนลงมติผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่นับจากมือ ส.ส.” พนัสกล่าว

 

ชี้เสื้อแดงชุมนุมยังไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าการชุมนุมครั้งนี้ถือว่าเกินเลยจากสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ พนัสตอบว่า ต้องดูว่าการชุมนุมนั้นได้เลยเถิดไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอย่างรุนแรง และอาจก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น มีการพกพาอาวุธ หรือไม่ แต่การชุมนุมจะไม่กระทบกระเทือนใครเลยเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยการเดินบนถนนก็ผิดกฎหมายแล้ว เมื่อเทียบระหว่างผ่านฟ้ากับราชประสงค์ก็ถือเป็นแบบเดียวกัน แม้มีการละเมิดกฎหมายอยู่ แต่ถือเป็นกฎหมายเล็กกว่ารัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่ยังไม่ไปปิดล้อมไม่ให้รัฐบาลหรือรัฐสภาจนทำหน้าที่ไม่ได้ เช่น กรณี 7 ต.ค.ศาลก็ได้ตีความไว้แล้วว่าไม่ใช่การชุมนุมที่อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้สิ่งที่ควรหยิบยกมาหารือกันคือ ปัญหาของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งมีผลริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาก และโดยส่วนตัวคิดว่าขัดรัฐธรรมนูญ มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายนี้สมัยที่ตนเป็นส.ว.แต่ไม่ผ่าน จนกระทั่งมาผ่านในสมัยรัฐบาลคมช. ซึ่งถือเป็นการประกาศภาวะการปกครองเผด็จการในคราบประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก

 

ประชาชนแตกหักกับรัฐได้ ถ้ารัฐละเมิดประชาชนรุนแรง

บุญส่ง กล่าวว่าเมื่อพูดถึงการใช้สิทธิ ในปฏิญญาสากลของนานาชาติในเรื่องนี้ซึ่งรัฐไทยก็ให้สัตยาบรรณไว้นานแล้วระบุว่า ประชาชนสามารถล้มรัฐบาลด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ แม้แต่การใช้ความรุนแรง หากเป็นรัฐบาลที่กดขี่และละเมิดประชาชนอย่างรุนแรง แต่ตามรัฐธรรมนูญไทย การใช้สิทธิกำหนดให้เป็นไปในแนวทางสันติ สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยยังไม่ลองทำคือ หากเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งละเมิดรัฐธรรมนูญน่าจะมีใครลองละเมิด พ.ร.บ.ฉบับนั้นเพื่อให้มีการวินิจฉัย ในครั้งนี้การชุมนุมของคนเสื้อแดงจะทำให้ พ.ร.บ.ความมั่นคงซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ ถูกหยิบยกขึ้นมาดูกันว่าใช้ได้หรือไม่

บุญส่งกล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ของรัฐบาลอภิสิทธิ์แต่เป็นของประเทศไทย และไม่สามารถสมานฉันท์แบบต่างฝ่ายต่างหยุด ธุรกิจเดินไปข้างหน้า แล้วทนอยู่กันในระบบที่ไม่ยุติธรรมกันได้อีกต่อไป สถานการณ์จะนำไปสู่การแตกหัก ไม่ว่าจะโดยสันติหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการแตกหักมีสองแบบ คือ คนส่วนใหญ่ชนะ กับคนส่วนน้อยชนะ และวิกฤตครั้งนี้ไม่มีคำว่าประเทศแพ้ หากคนส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชนะ แม้จะมีความเสียหายมากหรือน้อยก็ตาม เนื่องจากถือเป็นเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง

 

เสรีภาพในการแสดงความเห็น อิฐก้อนแรกปฏิรูปประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เฉพาะหน้าการยุบสภาก็เป็นการเปิดช่องสันติ และเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วสำหรับประเทศ เพราะวิกฤตครั้งนี้เกิดจากฝ่ายอำมาตย์ทำให้ประชาธิปไตยไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ในเบื้องต้นคิดว่ารัฐบาลคงจะประนีประนอมยอมยุบสภา แต่คงไม่ใช่เงื่อนไขเวลาทั้งแบบ 15 วันหรือ 9 เดือน อย่างไรก็ตาม เราควรมองเรื่องระยะยาวด้วย ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปทางการเมืองจริงๆ รัฐธรรมนูญจะต้องมีการแก้ไข ทั้งฉบับ 40 หรือ 50 ต่างก็มีปัญหาไปคนละแบบ แต่การแก้ไม่ควรมุ่งเน้นที่ความละโมบส่วนบุคคล ไม่ใช่มองแต่เรื่องทักษิณ ถ้าไม่พูดกันถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็ไม่มีทางที่รัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยได้เลย ตัวอย่างที่ต้องทำ เช่น ต้องทำให้สถาบันทุกสถาบันตรวจสอบได้โดยสาธารณะ ซึ่งต้องมีจุดเริ่มต้นจากสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุดก่อน นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะปัจจุบันเราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ข้อเท็จจริงกันอย่างตรงไปตรงมาได้เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมอยู่ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550

บุญส่งกล่าวถึงข้อเสนอว่า อยากให้สังคมย้อนกลับไปสู่หลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งเป็นประชาธิปไตยมาก นอกจากนี้ยังเสนอถึงคนเสื้อแดงด้วยว่า แม้ใครจะบอกให้กลับไปก่อนแต่แกนนำก็คงไม่กลับ หากรัฐบาลจะยื้อ คนเสื้อแดงก็ควรเล่นสงกรานต์กันในกรุงเทพฯ เสียเลยโดยเชิญทุกสีมาร่วมเล่นด้วย

 

ยุบสภาไม่พอ ต้องจัดการอำนาจนอกระบบ

ปราการ กล่าวว่า การยุบสภาเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ที่จะปลดแอกภาวะเผด็จการออกจากสังคมไทย แต่คิดว่ายังไม่เพียงพอต้องทำส่วนอื่นด้วย การยุบสภาจะเพื่อให้มีการเลือกตั้งฝ่ายบริหารจะทำให้เข้าใกล้ประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เงื่อนไขเวลาก็มีความสำคัญ เพราะมีความพยายามจัดวางขุนศึกยบางคนให้ขึ้นสู่อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร หากยุบสภาเร็วก็อาจตัดวงจรนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอีกก็เชื่อได้ว่าจะมีกลุ่มพันธมิตรฯ มาชุมนุม มีทหารออกทีวีกดดันรัฐบาล มีการใช้อำนาจตุลาการเข้าจัดการอีก ดังนั้น การยุบสภาจึงไม่สามารถจัดการกับอำนาจนอกระบบได้

 

ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ยอมรับนโยบายด้วย

ปราการกล่าวว่า นอกเหนือจากการยุบสภา เราจึงควรคิดป้องกันอำนาจนอกระบบด้วยโดยการยืนยันให้การเลือกตั้งเป็นใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เพียงยอมรับให้พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องยอมรับความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายสาธารณะของพรรคนั้นด้วย นอกจากนั้นยังต้องให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่ภายใต้อำนาจหรือการควบคุมของรัฐบาลซึ่งยึดโยงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชาการ ทหาร หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในช่วงหลัง 2475 เคยมีการเสนอรูปแบบว่าสถาบันจะมีวิธีการใช้อำนาจอย่างไรให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยมาแล้ว ซึ่งก็คือการดำเนินการผ่านองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง หรือการที่รัฐบาล รัฐสภาต้องรับสนองพระบรมราชโองการ พระราชกรณียกิจ อีกองค์กรหนึ่งคือองคมนตรี ซึ่งก็มีข้อเสนอทั้งแนวทางที่ให้จำกัดการใช้อำนาจในทางสาธารณะ หรือเสนอให้ยกเลิกไปเลย เพราะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ก็คือคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว

 

ด้าน ณรงค์เดช กล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาในครั้งนี้ เพราะไม่ใช่ทางของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างใดๆ และไม่มีผลต่อการจัดสรรอำนาจของประเทศไทย

“ยุบสภาครั้งนี้ก็คือกระบวนการเกี๊ยเซียะกันอีกรอบของนักการเมือง” ณรงค์เดชกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ข้อดีข้อเดียวของการยุบสภาคือ การเลื่อนเวลาแห่งความขัดแย้ง การปะทะออกไป แต่ก็ยังไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง นายกรัฐมนตรีก็ยังต้องฟังนายกฯ ภาคเอกชนทั้ง 3 สมาคม สำหรับทักษิณ ชินวัตรนั้น ณรงค์เดชเห็นว่าอาจมีปัญหาหลายอย่าง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือเป็นตัวจุดประกายให้คนจนคิดได้ว่าสิทธิเสียงของเขาไม่ใช่แค่จ่าย 500 บาทเวลาไปเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี หากการชุมนุมคราวนี้สามารถกดดันให้ยุบสภาได้คนเสื้อแดงก็จะได้ดั่งใจ อารมณ์ความรู้สึกเรื่องความไม่เป็นธรรมก็จะเบาบางลง แต่หากไม่ยุบสภาให้ความคับแค้นคงอยู่อย่างนี้เป็นการเลี้ยงความรู้สึกไว้น่าจะเป็นดีกว่า เพราะอีกไม่กี่ปีดุลอำนาจในประเทศไทยก็อาจมีการเปลี่ยนแปลง

หลังจากนั้นมีการเปิดให้ผู้ฟังการเสวนาร่วมแลกเปลี่ยน อุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับการที่นักวิชาการบอกว่ายุบสภาไม่ช่วยอะไร เพราะตอนนี้จำนวนของคนเสื้อแดงนั้นขยายตัวอย่างมาก แม้จะชุมนุมเรียกร้องทวงสิทธิหลายครั้งแต่เขายังรู้สึกเหมือนไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ถ้าครั้งนี้กลับไปมือเปล่าแทนที่จะเป็นความคับแค้นที่สร้างพลังก็อาจก่อผลในด้านกลับ นอกจากนี้คนเสื้อแดงรู้ดีว่า การยุบสภาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทางชนชั้น แต่มันเป็นข้อเรียกร้องต่ำที่สุดที่จะสามารถเรียกร้องได้แล้วในตอนนี้

สมาภรณ์ นักกิจกรรมและคนเสื้อแดง กล่าวว่า การบอกว่ายุบสภาก็ไม่ช่วยอะไรนั้นไม่เป็นผลดีต่อขวัญกำลังใจของคนเสื้อแดง เพราะแม้ข้อเรียกร้องนี้จะเปลี่ยนโครงสร้างไม่ได้ แต่ในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เราได้เห็นคนชั้นล่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนขับซาเล้ง คนขายลูกชิ้น รปภ.ที่กล้าลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์คนชั้นนำ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย นอกจากนี้ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้กอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนชั้นล่างซึ่งถูกเหยียบย่ำมาโดยตลอด และนี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างที่นักวิชาการพูดถึง

วัฒนะ วรรณ จากองค์กรเลี้ยวซ้าย กล่าวกว่า ปัญหาของเอ็นจีโอหรือนักวิชาการฝ่ายซ้ายในขบวนการเสื้อแดงคือมุ่งอธิบายแต่โครงสร้างการเมือง โดยไม่พยายามอธิบายเรื่องเศรษฐกิจมากพอว่าจะมีรูปแบบอย่างไร เป็นรัฐสวัสดิการในแบบไหน มีนโยบายที่เกื้อหนุนคนชั้นล่างเพียงใด

ขณะที่บุญผิณ จากกลุ่มกรรมกรแดง กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นอีกกลุ่มที่ท้าทายคนเสื้อแดงในภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานที่ว่างงานเกือบ 2 ล้านคน ภาคเกษตรที่กำลังค่อยๆ ตาย ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรหยุดอยู่นอกจากาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจะเข้ามาสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ใช่หลอกอย่างที่แล้วมา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net