เขื่อนปากชม กับความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่น (2)


ความมั่นคงทางอาหารบ้านคกเว้า

แหล่งอาหาร แหล่งชีวิต

บ้านคกเว้าตั้งอยู่ริมแม่นํ้าโขง ประวัติการก่อตั้งหมู่บ้านได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อนๆ นับอายุย้อนหลังได้ประมาณ 200 ปี ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้รับฟังเรื่องราวว่า ในอดีตบรรพบุรุษของพวกเขาออกเดินทางเพื่อแสวงหาแหล่งอาหารและถิ่นฐานใหม่ โดยเดินทางจากเมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบุรี ในเขตลาวมายังบริเวณที่เรียกว่าแก่งจันทร์ เนื่องจากได้ยินว่าบริเวณนี้เป็น "แหล่งปลา" จากพ่อค้าที่มากับเรือเล่าให้ฟังถึงปลาที่ชุกชุมมากในเขตนี้ บรรพบุรุษชาวบ้านคกเว้าจึงได้ข้ามแม่นํ้าโขงจากอีกฝั่งมาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้กับแก่งจันทร์

ตาบุ๊ เข้าร่วมเสวนากลุ่มย่อยในหัวข้อประวัติบ้านคกเว้าร่วมกับผู้อาวุโสในชุมชนอีก 5 คน และเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้านที่ได้รับฟังมาจากคนรุ่นปู่ย่าว่า

"สมัยก่อนนั้นที่เมืองแก่นท้าวหากินลำบาก ชาวบ้านได้ยินจากคนถ่อเรือที่มาขายของ ขายเกลือตามลำนํ้าโขงว่า แถวๆ แก่งจันทร์มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีปลาเยอะ กระโดดขึ้นมาให้จับตามแก่ง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า สมัยนั้นปลามีเยอะมากชนิดที่ว่าเอากระชอนมาตักนํ้าก็มีปลาติดขึ้นมาเต็มกระชอน ชาวบ้านจึงได้มาตั้งหมู่บ้านแถวๆ แก่งจันทร์ เพื่อหาปลาเป็นหลัก"

แต่เดิมที ชาวบ้านตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "คกเบ้า" เป็นการผสมคำ 2 คำ เข้าด้วยกัน คือ "คก" หมายถึง แอ่งนํ้าวน ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์หนึ่งในแม่นํ้าโขง และ "เบ้า" หมายถึง บ่อร่อนสายแร่ทองคำที่อยู่ตามริมแม่นํ้าโขงในแถบนี้

หลายสิบปีภายหลังต่อมา ทหารชายแดนซึ่งมาเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนในหมู่บ้าน ได้รับหน้าที่สำรวจสำมะโนครัวประชากร และได้เสนอตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น "คกเว้า" ซึ่งมีที่มาจากเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ราชการ ซึ่งนั่งเรือในแม่นํ้าโขงผ่านเข้ามาใกล้บริเวณแก่งจันทร์ และเรือเกือบจะล่มเมื่อกำลังจะผ่านแก่งจันทร์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่เล่าขานกันปากต่อปากไปทั่วทั้งเมือง ซึ่งคำว่า "เว้า" ในภาษาท้องถิ่นหมายถึง พูดหรือเล่า หลังจากนั้น หมู่บ้านจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า "คกเว้า" อย่างไรก็ตาม ชื่อบ้าน "คกเบ้า" ตามเดิม ยังเป็นที่รู้จักและเรียกกันโดยชาวบ้านท้องถิ่นและในหมู่บ้านใกล้เคียงมาจนถึงทุกวันนี้

อาหารเพื่อการยังชีพของชุมชนบนฐานภูมินิเวศน์ธรรมชาติ

บ้านคกเว้าอยู่ในเขตการปกครองของ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย ปัจจุบันมีทั้งหมด 95 ครัวเรือน ประชากร 391 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ถือสัญชาติไทย ส่วนสมาชิกในหมู่บ้านอีก 4 คน ไม่ได้ถือสัญชาติไทย แต่ได้แต่งงานข้ามสัญชาติเป็นผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านคกเว้า

ลักษณะทางกายภาพของภูมิประเทศบ้านคกเว้าประกอบด้วยพื้นที่ริมนํ้าโขงและภูเขา รวมเป็นพื้นที่ 2,500 ไร่ พื้นที่บนภูเขาบางส่วนอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ป่าภูเขาแก้วและดงปากชม ครอบคลุม 853,500 ไร่ ในเขต อ.ปากชม และ อ.เชียงคาน

ชาวบ้านใช้วิถีชีวิตสอดคล้องและพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติตามลักษณะภูมิประเทศโดยธรรมชาติ ที่ดินบริเวณริมนํ้าโขงมีค่อนข้างจำกัดสำหรับการเพาะปลูก โดยช่วงระหว่างกลางเดือนตุลาคม - พฤษภาคม ชาวบ้านสามารถทำสวนเกษตรริมโขงได้ตามระดับการขึ้นลงของนํ้าตามฤดูกาล

ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารการกินแบบพื้นฐาน โดยปลูกกินเองจากสวนครัวใกล้ริมนํ้า และเชิงภูเขา การรวบรวมข้อมูลชุมชนจากการเสวนากลุ่มย่อยร่วมกับชาวบ้าน เรื่อง อาหารริมตลิ่งและบนดอนทรายแม่นํ้าโขง (19 กันยายน 2552) พบว่า 80% ของครัวเรือนพึ่งพาอาหารธรรมชาติจากระบบนิเวศน์แม่นํ้าโขงเป็นหลักมากกว่าการซื้ออาหารจากตลาด เช่น ปลา, แมลง, สัตว์ต่างๆ และพืชผักที่เกิดตามธรรมชาติบริเวณริมโขง รวมทั้ง พืชผักและสัตว์ป่าที่อยู่ในระบบนิเวศน์ภูเขา เช่น เห็ด, หน่อไม้, สัตว์ป่า, แมลง ส่วนอีก 20% ของครัวเรือน พึ่งพาอาหารจากตลาด ไปพร้อมกับการกินอาการธรรมชาติที่หาได้จากระบบนิเวศน์แม่นํ้าโขงและภูเขา

การประมงในแม่นํ้าโขง เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน พบว่า 80% ของครัวเรือน จับปลาเพื่อดำรงชีวิต อีก 20% ของครัวเรือน จับปลาเพื่อขาย นอกจากนี้ 30 ครัวเรือน จากทั้งหมด 95 ครัวเรือน มีเรือจับปลาของตนเอง

ชาวบ้านที่จับปลาส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือหาปลาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับการขึ้นลงของนํ้าตามฤดูกาล, ระบบนิเวศน์ย่อย และพันธุ์ปลาในแม่นํ้าโขง ทั้งนี้ มีเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านอย่างน้อย 32 ชนิด ที่ชาวบ้านยังคงใช้จับปลามาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านบางชนิดไม่เป็นที่นิยมใช้ และเลิกใช้จับปลามากว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากเกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ของแม่นํ้าโขง เช่น นาม, จั่น, บุ่ง, ลอบบุ่ง, โต่ง, เต้า และ ตุ้มซา

หากมองผ่านเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่เลิกใช้จับปลาในช่วง 10 ปีมานี้ อาจเป็นสัญญาณบอกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ของแม่นํ้าโขง ซึ่งกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านด้วย ทั้งนี้ ความเสื่อมโทรมลงของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือผลของโครงการพัฒนาหลายอย่างที่ทั้งกำลังดำเนินการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างบนแม่นํ้าโขงสายหลัก นอกจากนี้ ชาวบ้านคกเว้า และชาวบ้านจากหมู่บ้านที่ฝั่งลาวบางคน จับปลาจากแม่นํ้าโขงด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม โดยใช้ระเบิดและไฟช็อตปลา ประกอบกับการที่ชุมชนยังไม่มีข้อตกลงหรือข้อกำหนดร่วมในการส่งเสริมให้มีการทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อปกป้องแม่นํ้านานาชาติ ย่อมทำให้ความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่นลดลงไปด้วยเช่นกัน

ในอดีต ชาวบ้านไม่ได้มองแม่นํ้าโขงเป็นเส้นแบ่งชายแดนประเทศแบบเข้มงวด หรือ เป็นทางการตามกฎหมายเกี่ยวกับดินแดนที่รัฐชาติได้กำหนดขึ้น สมัยก่อน พื้นที่ฝั่งตรงข้ามบ้านคกเว้าเป็นป่าเขา ยังไม่มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงข้ามแม่นํ้าโขงไปทำไร่ข้าวบนภูเขา รวมทั้งล่าสัตว์ป่าและเก็บพืชผักจากพื้นที่นั้น แต่ในระยะ 50 ปีหลังที่ผ่านมา ชาวบ้านเลิกข้ามนํ้าไปทำกินในพื้นที่ภูเขาฝั่งตรงข้าม นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ประเทศลาวและมีทหารเข้ามาประจำในพื้นที่นั้น อีกทั้ง เมื่อแนวความคิดเรื่องสิทธิในการใช้ที่ดินของประชาชนภายใต้เงื่อนไขสัญชาติของรัฐชาติ ทำให้เส้นพรมแดนที่แบ่งออกเป็นประเทศต่างๆ ค่อยๆ หยั่งรากในความรับรู้ของประชาชนมากขึ้น ชาวบ้านฝั่งไทยจึงหยุดทำการเกษตรที่ฝั่งลาว และมาขยายการบุกเบิกพื้นที่การเกษตรบนภูเขาในฝั่งประเทศไทยเพิ่มเติม

โดยแรกเริ่มนั้น การเกษตรบนภูเขาของชาวบ้านเป็นการเพาะปลูกข้าวไร่ภูเขาเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน ทุกครัวเรือนใช้ที่ดินทำสวน ปลูกพืชหลากหลายชนิดตลอดทั้งปี รวมทั้ง มีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว - เชิงพาณิชย์ มากขึ้น ซึ่งในด้านหนึ่งคือความท้าทายที่ชาวบ้านต้องคำนึงว่าจะหาทางเลือก หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการบำรุงพืชผลในการเกษตรอย่างไร เพื่อการผลิตและวิถีชีวิตที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว

อาหารจากแม่น้าโขง

แม่นํ้าโขงในเขตบ้านคกเว้า มีระบบนิเวศน์ย่อย 8 ประเภท ที่มอบความหลากหลายทางชีวภาพให้ประชาชน นับเป็นบุญคุณของระบบนิเวศน์ย่อยเหล่านี้ ที่เอื้อให้ชาวบ้านบ้านคกเว้าและชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกมาก สามารถเข้าถึงอาหารธรรมชาติได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีรายได้จากปลาและสัตว์นํ้าในแม่นํ้าโขง เช่น กุ้ง, ปู, กบ, เขียด, ตั๊กแตน เป็นต้น นอกจากนี้ อาหารแม่นํ้าโขงยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเปลี่ยนเป็นรายได้ที่กระจายและหมุนเวียนในตลาดการค้าขายอย่างน้อย 4 ระดับ ดังนี้ 1. ชาวประมงพื้นบ้าน 2. พ่อค้าคนกลางขายปลา 3. ร้านอาหาร, ตลาดขายส่ง 4. การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลา เช่น ปลาร้า, ปลาตากแห้ง

ระบบนิเวศน์แม่นํ้าโขงที่ชาวบ้านได้พึ่งพา ยังรวมถึงการทำสวนเกษตรริมนํ้าและบนดอนทรายโขงในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งตามฤดูกาลระดับนํ้าในแม่นํ้าโขงจะลดลงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม - พฤษภาคม และชาวบ้านสามารถปลูกพืชผักหลากหลายชนิดบนที่ดินริมโขงและดอนทรายในช่วงนี้

อาหารในระบบนิเวศน์ภูเขา

ทิวเขาบริเวณบ้านคกเว้า ประกอบด้วย ภูป่าฮัง, ภูใหญ่, ภูหวด, ภูป่าแฮ่ และภูป่าว่าน เป็นที่มาของลำห้วย 19 สาย โดยลำห้วย 15 สาย มีนํ้าไหลตลอดปีให้ชาวบ้านใช้เพื่อการเกษตร ส่วนอีก 3 สาย มีนํ้าไหลเฉพาะในฤดูฝน ลำห้วยเหล่านี้ไม่เพียงเป็นแหล่งนํ้าชลประทานตามธรรมชาติแก่ชาวบ้านที่ใช้เพื่อการเกษตรและเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นบริเวณที่ชาวบ้านเก็บหาอาหารและสมุนไพรได้ เช่น ปลา, ปูภูเขา, กบภูเขา, พืชผักกินได้ที่เติบโตตามธรรมชาติบริเวณริมห้วย

ส่วนระบบนิเวศน์บนภูเขามีอาหารและสมุนไพร เช่น เห็ด, หน่อไม้ นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนล่าสัตว์ป่าและเก็บแมลงเป็นอาหารและรายได้ เช่น กะรอก, กระแต, อีเห็น, หมูป่า, ไก่ป่า, งู เป็นต้น

นอกจากอาหารธรรมชาติแล้ว พื้นที่ภูเขาเอื้อให้คนในชุมชนสร้างรายได้ได้ตลอดทั้งปี จากการเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน รวมถึงพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวมาแรงอย่างยางพารา ที่ชาวบ้านหลายคนเริ่มลงทุนปลูกบ้างแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศบนภูเขา มีขนาดแปลงดินค่อนข้างชัดเจนและคงที่ ต่างจากบริเวณริมตลิ่งที่แปลงดินสำหรับการเกษตรขึ้นอยู่กับการไหลขึ้นลงของระดับนํ้าโขง

ปัจจุบัน ชาวบ้านเพาะปลูกพืชไร่และพืชสวนหลายชนิดบนพื้นที่ภูเขา ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

1. ไร่ข้าวภูเขา


2. พืชสวน: มะเขือเทศ, มะเขือ, ตะไคร้, โหระพา, พริก ฯลฯ


3. สวนผลไม้: ส้มโอ, มะขาม. ลิ้นจี่, ลำไย, เงาะ, มะม่วง, ฝรั่ง, กระท้อน


4. พืชเชิงเดี่ยว: ข้าวโพด, มันสําปะหลัง, มะละกอ, กล้วย, ถั่วดำ, ยางพารา.

หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้เรียบเรียงจากงานวิจัยเรื่อง "ความเป็นไปได้ของผลกระทบจากเขื่อนปากชมต่อความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่น" กรณีศึกษา บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย โดย ทิพย์อักษร มันปาติ โรงเรียนแม่นํ้าโขง, ธันวาคม 2552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท