Skip to main content
sharethis

ปิดฉากประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง "อภิสิทธิ์"วอนทุกชาติร่วมมือ กัมพูชา-เวียดนาม-ลาว ลงนามปฏิญญาหัวหินเอ็มอาร์อาร์ซี เล็งดึงจีน-พม่าร่วมเป็นภาคีเต็มรูปแบบ แดนมังกรพร้อมเลิกสร้างเขื่อน

5 เม.ย.53 เว็บไซต์มติชน รายงานว่าการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 จัดโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) และรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ปิดฉากลงแล้ว โดยการประชุมวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 เมษายน เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำ 4 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมประเทศคู่เจรจาอีก 2 ประเทศคือ พม่า และจีน จากนั้นเวลา 10.30 น. ผู้นำของแต่ละประเทศได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำโขง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของโลก และหล่อเลี้ยงประชาชนกว่า 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หากปราศจากการบริหารจัดการที่ดี แม่น้ำโขงอาจได้รับผลกระทบ การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าจดจำ เพราะเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกของผู้นำประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซี เพื่อส่งสัญญาณสู่ประเทศริมน้ำโขงทั้งตอนบนและตอนล่าง รวมทั้งประเทศที่เกี่ยวข้องให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน และมีส่วนให้เกิดการเร่งรัดความร่วมมือ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนทำให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

"ปัจจุบันแม่น้ำโขงแห้งขอด มีมลพิษทางน้ำ และมีการลดลงของทรัพยากรทางน้ำในแม่น้ำโขง ยิ่งไปกว่านั้นประเทศริมฝั่งน้ำต่างประสบปัญหาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน น้ำท่วมฉับพลัน น้ำแล้ง และภาวะหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนโดยตรง ลำพังประเทศเดียวไม่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ เราต้องการความร่วมมือเพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านี้ หวังว่าความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะนำไปสู่การพัฒนาระดับนานาชาติ และเชื่อว่าในอนาคตแม่น้ำโขงจะเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการจัดสรรทรัพยากรน้ำแก่นานาประเทศ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ากนั้น สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายบัวสอน บุปผาวัน นายกรัฐมนตรีของลาว และนายเหงียน ตัน ดุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ทยอยกล่าวสุนทรพจน์ ก่อนร่วมกันลงนามปฏิญญาหัวหินเอ็มอาร์อาซี โดยนายอภิสิทธิ์ สรุปปฏิญญาหัวหินเอ็มอาร์ซี ตอนหนึ่งว่า ประเทศในเอ็มอาร์ซีให้คำมั่นสัญญาที่จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ผ่านแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงแบบบูรณาการ ระหว่างปี 2553-2558 โดยในปีต่อไปจะเน้นความร่วมมือทางด้านการใช้น้ำ ทรัพยากรอย่างหลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะมาจากสาเหตุจากธรรมชาติและจากมนุษย์ เพื่อปกป้องระบบนิเวศอย่างยั่งยืนและถาวร

ต่อมานายอภิสิทธิ์ แถลงผลการประชุมเอ็มอาร์ซี ว่าการประชุมครั้งนี้มีความหมายมากสำหรับประเทศในลุ่มน้ำโขงและคู่เจรจา เพราะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการใช้ทรัพยากรที่รองรับเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลอดสายแม่น้ำโขงเรื่องความอุดมสมบูรณ์และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยในการประชุมครั้งนี้ได้นำเอาสภาพปัญหาทั้งหมดมาหารือกันอย่างครบถ้วน สิ่งสำคัญที่ประชุมเน้นคือ ยอมรับกันว่าปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเอกชนและภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ สิ่งที่เน้นพิเศษคือ การให้ประเทศคู่เจรจามีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ

"ที่ประชุมเห็นว่า จะดึงจีนและพม่าเข้ามามีส่วนร่วมในเอ็มอาร์ซีจนเป็นภาคีเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรให้เลขาธิการเอ็มอาร์ซีได้ประสานกับเวทีอื่นๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและสับสน รวมทั้งประสานกับญี่ปุ่น สหรัฐ ออสเตรเลีย และสถาบันต่างๆ ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกันให้การใช้น้ำให้เกิดความเป็นธรรม การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสังคมและผลกระทบต่างประเทศนั้นๆ ด้วย" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงที่ท่าทีของจีนกรณีที่ประเทศสมาชิกต้องการดึงเข้ามาอยู่ในเอ็มอาร์ซี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การที่จีนได้แสดงออกในการให้ข้อมูล ทำให้เชื่อว่า จีนปรารถนาเข้ามามีบทบาทร่วมมือใกล้ชิดมากขึ้น

ด้านนาย สง เตา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเอ็มอาร์ซีว่า จีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรในลุ่มน้ำล้านช้าง หรือแม่น้ำโขงให้เกิดความร่วมมืออย่างยั่งยืน และขณะนี้จีนให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาและอนุรักษ์ลุ่มน้ำเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเท่าเทียมกันในทุกๆ ประเทศ

"ส่วนกรณีความห่วงใยของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างนั้น จีนมีมาตรการหลายอย่างในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการเหล่านั้นแม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการพัฒนา จีนก็พร้อมจ่าย โดยเฉพาะการยกเลิกการสร้างเขื่อนเมงสงที่จะมีผลกระทบต่อสายพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง พร้อมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูงในการลงทุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ" นายสง เตา กล่าว

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหาวิกฤตการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการเชิญผู้เกี่ยวข้องกรณีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนต่อแม่น้ำโขงของ กมธ. อาทิ ผู้แทนกระทรวงการต่างระเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) องค์กรนานาชาติด้านการอนุรักษ์ (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ไทยในภาคเหนือและอีสาน มีข้อมูลที่ตรงกันว่าการสร้างเขื่อนในจีนส่งผลกระทบต่อพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างชัดเจน โดยเฉพาะเขื่อนเสี่ยววาน ที่ป้อนไฟฟ้าให้มณฑลยูนนาน เพราะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดเขื่อนหนึ่งในโลก กักเก็บน้ำไว้ถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เป็นเพียง 1 ใน 4 เขื่อน ในแผนการก่อสร้างของจีนทั้งหมดที่กั้นลำน้ำโขงรวม 10 เขื่อน

"น่าห่วงหากมีการสร้างเขื่อนในจีนเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำที่จีนจะกักไว้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และมากขึ้นไปอีกเมื่อสร้างครบ 10 เขื่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องร่วมมือกับไทยในการร่วมกันแก้ปัญหา" นายไกรศักดิ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net