อะไรนะ สงครามชนชั้น!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายหลัง นปช. ประกาศสงครามชนชั้น! พลันนักการเมืองไทยและชนชั้นนำทางสังคมทั้งหลายต่างอุทานออกมาด้วยความหวาดหวั่นว่า "อะไรนะ! สงครามชนชั้น" แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีก็รีบออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีสงครามชนชั้น มีแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนจน-คนรวย! และการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบท!

อะไรคือสงครามชนชั้น จากปากคำของ นปช.? เพราะประเทศไทยเป็นระบบทุนนิยมมาตั้งนานแล้ว และความขัดแย้งทางชนชั้นหลักที่แท้จริงก็คือ ชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานทั้งระบบ แต่เสื้อแดงหลายคนบอกว่า เป็นชนชั้นไพร่กับอำมาตย์? เป็นความรู้สึกทางชนชั้นที่ถูกเอาเปรียบและเลือกปฏิบัติ ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ได้ช่วยออกมาอธิบายให้เข้าใจตามหลักวิชาการว่า "วาทกรรมไพร่แดง" คือ "ไพร่ในกรณีนี้ไม่ใช่ไพร่ตามทฤษฎีมาร์กซ แต่เป็นความรู้สึกร่วมระหว่างสามัญชนที่เห็นว่า ความไม่เป็นธรรมในชีวิตประจำวันของพวกเขาสัมพันธ์กับการแทรกแซงการเมืองโดยอภิสิทธิ์ชน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สองเรื่องนี้เชื่อมโยงกันจริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ความรู้สึกเมื่อคนส่วนใหญ่เห็นคนหยิบมือเดียวมีบทบาทการเมืองล้ำเส้นจนเตือนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม ไพร่ในบริบทนี้ ไม่ใช่ชนชั้นทางเศรษฐกิจ แต่เป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองแบบข้ามชนชั้นระหว่างสามัญชนที่ไม่มีสิทธิพิเศษในการตัดสินใจทางการเมืองขั้นสูงสุดในปัจจุบัน ไพร่เป็นอัตลักษณ์ชั่วคราวที่อยู่เหนือความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ภาษา ชาติพันธุ์ หรือภูมิลำเนา อภิมหาเศรษฐีกับชาวนารายย่อยจึงเป็นพวกเดียวกันได้ในเวลานี้ เช่นเดียวกับที่คนชนบทอีสาน เป็นพวกเดียวกับคนชั้นกลางบางส่วนในกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน"...

เขาช่วยอธิบายว่า สงครามชนชั้นครั้งนี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางชนชั้นตามทฤษฎีมาร์กซ แต่เป็นเพียงความรู้สึกทางชนชั้นที่ถูกเลือกปฏิบัติ กับอภิสิทธิ์ชนนั่นเอง มาถึงตอนนี้ นายทุนขูดรีดกับนักธุรกิจการเมืองทั้งหลายคงหายใจโล่งขึ้น เพราะถ้ามันเป็นสงครามทางชนชั้นจริง มันก็ต้องปฏิวัติน่ะสิ!!

ผาสุก พงษ์ไพจิตร สำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ ออกมาให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งวันนี้ อาจจะเป็นความขัดแย้งของกลุ่มทุนที่พลิกผันกลับกัน!! ผสมกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยคนจำนวนมากในเขตชนบท โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าในชีวิตน้อยกว่ากลุ่มอื่นในสังคม และ "จับใจ" ในนโยบายประชานิยม สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีความหมายกับตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและยกระดับครอบครัวได้...

แต่ แน่นอน! ยังมีอีกเงื่อนไขหนึ่งก่อนการลุกขึ้นสู้อีกครั้งของมวลชนเสื้อแดงในครั้งนี้ ภายใต้การนำของ นปช. และกลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือ การถูกศาลฎีกาพิพากษายึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็น "ผู้แทน" ทางใจของเขา นั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นที่มาของความปั่นป่วนของการเมืองไทยในขณะนี้ หลายเรื่องผสมทับซ้อนกันอยู่ บ้างก็ถูกหยิบอ้างเหมารวมให้เป็นความขัดแย้งหลักทางสังคม เพื่อเป็นผลประโยชน์ในการต่อรองของกลุ่มทุนที่พลิกผันกลับกัน และนั่น สังคมไทยจะต้องทำความเข้าใจมันโดยไม่เหมารวม..

หากยกเรื่อง "ตัวแปร" ของละครตัวสำคัญที่ชื่อ "ทักษิณ" พักไว้ก่อนแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ผมคิดว่า อาจเพราะมันมาถึงยุคที่อำนาจรัฐมันสั่นสะเทือน, จากความไม่มีเสถียรภาพ และจะได้ผ่านจากยุคเอกภาพไปสู่อนาธิปไตยมากขึ้นในอนาคต เหมือนที่มีคนเคยทำนายเรื่องสงครามครั้งต่อไปของมนุษยชาติคือ  "สงครามปาหิน" ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก "อำนาจรัฐ" ที่ไม่เป็นเอกภาพจากการ "แบ่งปัน"ผลประโยชน์กลุ่มพลังทางสังคมและเศรษฐกิจ "รัฐ" ซึ่ง "เลนิน" เคยแปลว่า "คณะผู้ประกอบการของนายทุน" นั้น บัดนี้ มันแบ่งผลประโยชน์ชนชั้นนายทุนไม่ลงตัวแล้ว อาจเนื่องเพราะความต้องการผูกขาด กอบโกย ตามวิสัยและทิศทางทุนนิยมเสรี และมันมาถึงยุคที่อำนาจรัฐสมัยใหม่ ถูกท้าทายด้วยประชาชนในยุคใหม่ ที่มีค่านิยมสมัยใหม่ว่า "อำนาจเป็นของประชาชน" และเรามีอำนาจที่จะเรียกร้อง คัดค้าน ขับไล่ หรือแสดงอำนาจให้ "นักการเมือง" และ "กลไกรัฐ" แบบเก่าได้เห็น "ประชาชน" ในที่นี้นั้น หมายรวมถึงประชาชนที่มีเสื้อคลุมทุกกลุ่ม ทุกสี รวมทั้งสีแดงและสีเหลือง เช่นเดียวกัน!

ความขัดแย้งที่ "ชนชั้นนายทุน" แบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์กันไม่ลงตัวนี้ ก็ได้ประกาศทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันในปัจจบัน โดยเอาพลังมวลชนและปัจจัยส่วนต่างๆ ที่สามารถเป็นศาตราที่ตนเองมีเข้าห้ำหั่นกัน แน่นอน เหตุนี้ แท้จริงแล้ว "สงครามชนชั้น" จึงยังไม่เกิด เพราะสังคมไทยเป็นสังคม "ทุนนิยม" แต่มีวัฒนธรรมแบบ "ศักดินา" คลอบคลุมไปทั้งระบบเท่านั้นเอง และมักจะใช้วัฒนธรรมแบบศักดินานี้หากินในระบอบทุนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ชนชั้นแห่งความขัดแย้งที่แท้จริงคือ นายทุน กับ แรงงานทั้งชนชั้น เท่านั้น เพียงแต่ว่า ลักษณะความขัดแย้งในปัจจุบัน ประชาชนหลายส่วนที่เข้าร่วมขบวนเสื้อแดงมีความรู้สึกทางชนชั้นในลักษณะ ถูกเอาเปรียบ ดูถูก เหยียดหยามและความไม่เป็นธรรมทางสังคมของระบอบที่เลือกปฏิบัติของประเทศไทยเวลานี้, ในนามของความรู้สึกของคนชนบทกับคนเมือง ซึ่งไม่ใช่การรู้สึกถูกขูดรีดทางโครงสร้าง แต่ถูกเอาเปรียบเลือกปฏิบัติในด้านการพัฒนา และระบบพวกพ้อง จนเกิดความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและอำนาจ ความขัดแย้งของการเมืองและพลังเสื้อแดงในครั้งนี้ คนชนบทส่วนใหญ่จึงต้องการบอกต่อสังคมว่า "คนมันเท่ากัน" ไม่มีใครต่ำ-สูง และถือเป็นกระแสสูงมาก ที่รัฐบาลและชนชั้นนำทั้งหลายต่างต้องรับฟัง และอย่าเพิกเฉย!! และหากตัดส่วนของ "ทักษิณ" ออกไป ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ประชาชนได้ตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูงในรอบทศวรรษ..

ส่วน "ซ้ายในแดง" บางส่วนจะประเมินและวิเคราะห์ว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนของการปฏิวัติประชาธิปไตยนายทุน เพราะแม้ประเทศนี้จะเป็นระบอบทุนนิยม แต่โครงสร้างส่วนบนถูกครอบงำอำนาจแบบศักดินาอยู่ จำต้องปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยก่อนนั้น (เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยของนายทุน) ไม่ใช่ปฏิวัตินายทุน (เพื่อให้เป็นสังคมนิยม) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะหลายคนก็อาจแค่คาดหวังตาม "หัวใจ" ของตนเองที่เคยพลัดหลงในอดีต (อย่าลืมว่า แม้แต่ความหมายของ "การปฏิวัติของนายทุน" ก็เพื่ออิสรภาพจากระบบขุนนาง ศักดินาทั้งหลาย แต่ชนชั้นล่างจะไม่ได้อะไรจากมัน นอกจากเป็นเครื่องมือของเขา) เนื่องเพราะประเทศไทยในปัจจุบันเป็น "ทุนนิยม" มาตั้งนานแล้ว ที่ "ขูดรีด" รุนแรงและเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทย ทุนกลุ่มเก่าหรือไม่ก็ล้วนกดขี่ทางชนชั้นในทัศนะของมาร์กซ และนักปฏิวัติ “ซ้าย” ก็ไม่อาจแอบอิงยึดถือยืนอยู่ฝ่ายใดได้ ชนชั้นเราจึงมีเพียง ชนชั้นนายทุน กับแรงงานทั้งชนชั้น  เป็นหลักเท่านั้น ที่ฝ่ายหลังมีเพียง"อำนาจแรงงาน" ให้ซื้อขาย-ประมูลกันในตลาดแรงงาน แม้ไม่เหมือนทาสในระบบศักดินาที่ชีวิตขึ้นต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนในอดีต แต่ชนชั้นแรงงานก็เปรียบเหมือนทาสที่ขึ้นต่อชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้น เพียงแต่มีอิสระที่จะเลือกผู้ซื้ออำนาจแรงงานที่ให้มูลค่ามากกว่าเท่านั้นเอง แต่ "มูลค่าส่วนเกิน" ตามหลักเศรษฐศาสร์การเมืองทั้งหมดที่แรงงานสร้างขึ้น ก็ถูกยกให้นายทุนแต่เพียงผู้เดียว จนดูเหมือนว่า ยิ่งทำงานสร้างมูลค่ามากขึ้นเท่าไหร่ ราคาของแรงงานก็ด้อยค่าลงเท่านั้น เพราะมันย้ายถ่ายโอนผลประโยชน์ไปให้ชนชั้นนายทุนทั้งหมด และความเหลื่อมล้ำจากความขัดแย้งนี้ มันทำให้ "ทุนนิยม" กินตัวเองจนล่มสลาย หรือไม่ก็เกิด "สงครามชนชั้น" ขึ้นอย่างแท้จริงในที่สุด จากความขัดแย้งทางชนชั้น จากความเหลื่อมล้ำและความยากจน! ช่วงหลังวิกฤติ "แฮมเบอร์เกอร์" ในวงการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงเริ่มไม่มีใครเชื่อใครอีกแล้ว  คนรุ่นใหม่ในยุโรปจึงเริ่มหันไปอ่าน Das Capital ของมาร์กซกันใหม่ เพราะเขามีคำตอบที่ชัดเจนกว่านักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ทั้งหมด ต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ระบบทุนนิยม ขูดรีดเลวร้ายที่สุดในตอนนี้ การต่อต้านนายทุนทั้งชนชั้นและระบบกรรมการสิทธิ์ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของ "การต่อสู้ทางชนชั้น" หรือปลายทางของความรู้สึกเอาเปรียบและไม่เท่าเทียมทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งได้แสดงออกผ่าน "เสื้อแดง" จำนวนมากในเวลานี้

ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งให้ความหมายต่อสถานการณ์เพียงตามความเชื่อและความโน้มเอียงทางการเมืองอย่างเดียว ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ นักสันติวิธีคนสำคัญยังเคยตั้งคำถามทำนองว่า ถ้าพวกเขาถูกจ้างวานมาอย่างเดียว รัฐบาลก็จ้างเขากลับโดยจ่ายคืน 2 เท่าก็น่าจะจบ แต่ถ้าไม่จบ มูลเหตุและที่มามันต้องมีมากกว่านั้น!

อาจกล่าวได้ว่า พลังประชาชนของสัญญะทั้ง 2 สี ได้มีพลานุภาพต่อการเมืองไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นพลังหยินและหยางต่อการเมืองไทยอย่างสำคัญที่ทำลายพิษร้ายทั้ง "ร้อน" และ "เย็น" ออกไปจากระบบไม่มากก็น้อย "เหลือง" และ "แดง" ต่างมีความตื่นตัวที่คล้ายกัน นั่นคือ ไม่ขอยอมรับความไม่ชอบธรรมแล้วนั่งทำตาปริบๆ อีกต่อไป  เหลืองพูดถึงปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัญหาการฉ้อฉลอำนาจ แดงพูดถึงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมนอกระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย กิจการทางการเมืองและการพัฒนาควรเป็นของรัฐบาลพลเรือนไม่ใช่ทหาร หรือผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหาประชาธิปไตย และสักวันหนึ่งมันจะต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลง คำถามและข้อสงสัยของสังคมในเวลานี้ก็คือ "การนำ" การต่อสู้ของเสื้อแดงนั้น มาจากกลุ่มนักการเมืองและชนชั้นนายทุนที่เสียผลประโยชน์ ทำให้ความบริสุทธิ์ถูกกังขา นอกจากมวลชนผสมของฝ่ายก้าวหน้าแล้ว ระบบการจัดตั้งของเสื้อแดงยังผ่านระบบโครงสร้างมวลชนของ ส.ส. เป็นหลัก ดังนั้นส่วนหนึ่งผ่านระบบอุปถัมป์ ขณะที่เสื้อเหลืองมาจากพลังฝ่ายก้าวหน้าส่วนหนึ่ง ผสมกลุ่มพลังทางการเมืองอนุรักษ์นิยม รวมถึงสื่อมวลชนและชนชั้นกลางในเมืองที่ตื่นตัวทางการเมืองเป็นหลัก แม้ว่าการนำจะถูกช่วงชิงจากชนชั้นนำบางส่วนไปบ้างแต่การคานดุลของพลังการเคลื่อนไหวยังมีอยู่ และถูกกำกับชี้นำด้วย 5 แกนนำที่มีอิทธิพลต่อขบวน

ข้อดีของ "แดง" คือ เป็นการตื่นตัวทางการเมืองของคนชนบทเป็นหลัก ที่ถูกเอาเปรียบจากการพัฒนา มีบาทแผลและร่องรอยที่เด่นชัด  เป็นความรู้สึกทางชนชั้นที่ถูกเลือกปฏิบัติ  การดูถูก การโดนรังแก ผ่านมาจนกระทั่ง "ผู้แทน" ของเขาโดนรังแก เป็นความรู้สึกร่วมหลังจากการยึดโยงกับ "ผู้นำ" ของเขาที่ซื้อใจกันมาเมื่อ 9 ปีก่อน วันนี้ ดังที่ได้สรุปไปแล้ว คนยากจนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง แม้บางส่วนมาจากการ Propaganda แต่เขากำลังเรียนรู้มันในทางการเมือง และความรู้สึกลุกขึ้นสู้จากการเอาเปรียบ จากความไม่เท่าเทียมทางสังคมและกลไกรัฐแบบเดิม มันได้ตื่นขึ้นแล้ว.. และวันหนึ่งเขาจะนำตัวเองได้โดยไม่ยึดกับ "ผู้นำ" เฉพาะกาลที่เอาผลประโยชน์ของตนเองมาต่อรองด้วยอีกต่อไป..

ข้อดีของ "เหลือง" คือ แน่นอน มาตรฐานของประเด็นการคอร์รัปชั่นของการเมืองไทยตลอดกว่า 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งฝังรากลึก ได้รับการท้าทาย ได้รับการสั่งสอนและยกระดับขึ้น นักการเมืองระบบเก่าเริ่มไม่มีที่ยืนอยู่ "อำนาจที่ประชาชนให้ไปเป็นคนละเรื่องกับข้ออ้างที่จะเอาเอาอำนาจนั้นมารับใช้เพื่อตนเองตามอำเภอใจได้" เพียงแต่ว่า ในการลุกขึ้นสู้ เสื้อเหลืองได้ใช้ยุทธิวิธียึดกุมอุดมการณ์รัฐ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีลักษณะอนุรักษ์นิยม เป็นปราการจากการโดนปราบปรามจาก "รัฐ" ของนักการเมืองและนายทุน เพราะหัวใจเป็นเหมือน "เงา" ของรัฐ รัฐจึงทำลายเงาตัวเองไม่ได้ (เพราะเท่ากับทำลายตนเอง) นั่นทำให้ "เหลือง" ดำรงอยู่ในปัจจุบันได้อย่างทรงพลัง อย่าลืมว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนสู้กับ "เผด็จการนายทุน" ที่ยึดกุมอำนาจรัฐ และโครงสร้างรัฐที่ฉ้อฉลคอร์รัปชั่นเบื้องหน้า แม้ว่าขบวนยังไม่แตะต้องกลุ่มโครงสร้างที่คอร์รัปชั่นเบื้องหลังอื่นๆ แต่มันก็คือจุดเริ่มต้น ที่ทุกกลุ่มทุนขูดรีดเริ่มตื่นตระหนกและเกรงกลัว อย่าลืมว่า เราเคยผ่านการสู้กับเผด็จการทหารมาหลายครั้ง และเรามีประสบการณ์ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่!

วันนี้ ชนชั้นนายทุนขูดรีดแทบทุกกลุ่ม ภายใต้เสื้อคลุมต่างๆ ได้เกรงกลัวภาคประชาชนอย่างเห็นได้ชัด และเป็นภาคประชาชนในส่วนของทั้งเหลืองและแดง วันหนึ่ง เราควรหวังว่า เหลืองและแดง ในระดับมวลชนจะมารวมกันได้ และต่อสู้เพื่อชนชั้นล่าง เพื่อความเท่าเทียมทางสังคม ในความขัดแย้งหลัก และสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา (ไม่ใช่พวก "สองไม่เอา" แต่คือ "เอาทั้งสอง" ฮา)

แม้ว่า ปัญหาและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้มันซับซ้อน และไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น หลายคนได้หยิบเอาความขัดแย้งหลายเรื่องมายกเหตุและอ้างอิงปนกันมั่วไปหมด แต่อาจเพราะว่าระเบิดมันถูกจุดชนวน กลุ่มพลังทางการเมืองและผู้มีผลประโยชน์ได้ลงขันกันเลือกข้างและห้ำหั่นกัน เพื่อดูว่าใครจะอยู่ใครจะไป ดังนั้น การ Propaganda จึงเป็นความพยายามของแต่ละกลุ่มเพื่อช่วงชิงอำนาจการนำ การวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งจึงไม่อาจเหมารวมได้ เหมือนพวกปัญญาชนนามแฝงทั้งหลายที่ชอบเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์แบบเหมารวมความขัดแย้ง โดยไม่หวั่นว่า วันหนึ่งมวลชนของตนเองอาจถูกตลบหลังหรือตกเป็นเหยื่อเพื่อการปรองดองผลประโยชน์ของชนชั้นนำได้ ซึ่งก็คือชนชั้นนายทุนขูดรีดและชนชั้นผู้ปกครองทั้งหลาย!

ในสังคมประชาธิปไตย แม้พรรคเสียงข้างน้อยรวมกันจัดตั้งรัฐบาลได้หากเสียงเกินครึ่งหนึ่ง เหมือนอารยะประเทศ แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ แค่วันหนึ่งหากชนชั้นนายทุนที่พลิกผันกลับกันสามัคคีปรองดองกันใหม่ เราคงเห็นพรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทยก็เป็นได้..

สถานการณ์ที่ซับซ้อนนี้ เราจึงอย่ามัวมา Propaganda ร่วมด้วยช่วยกันกับพวกเขาเลย ดังเช่น "ผู้นำ" ทางการเมืองต่างๆ กำลังกระทำอยู่ รวมถึงที่เราเห็นนักเคลื่อนไหวนามแฝงที่เยอะไปหมดตามเวปไซด์ที่พยายามชูปากกาผ่านสถานการณ์เสื้อแดงว่า "สงครามชนชั้น" ได้เกิดขึ้นแล้วต่างๆ นานา โดยไม่วิเคราะห์ "ความจริง" ของความขัดแย้ง เพราะถ้าหากเป็นสงครามชนชั้นจริงแล้ว พวกเขาต้องต่อต้าน "ทักษิณ" ด้วย ที่รวยมาจากสัมปทานชาติ และเป็นชนชั้นนายทุนขูดรีด ผู้ซึ่งไม่อาจเป็นผู้นำในการต่อสู้ของ "สงครามชนชั้น" แต่อย่างใด ยกเว้นเพียงแต่ว่า พวกเขาละไว้เพียงความเข้าใจส่วนตนว่า เป็นชนชั้นศักดินาและไพร่ฟ้าเท่านั้น หรือไม่ก็ลืมตื่นขึ้นมาจากยุคสมบูรณาญาฯ เมื่อกว่า 80 ปีก่อน

สถานการณ์ไม่สุกงอมพอที่จะเป็นสงครามชนชั้น และเราไม่อาจยกอ้างการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา เป็นเหตุผลของการเลือกข้าง "นายทุน" หรือ "อำมาตย์" และสมอ้างการปฏิวัตินายทุนที่หลอกลวงชวนเชิญมวลชนเข้าสู่สงคราม เพราะการแตกหักชั่วคราวของอำนาจครั้งนั้นก็ล้วนมีสาเหตุมาจากชนชั้นอำนาจรัฐที่หักโค่นกันเอง การเคลื่อนไหวทางสังคมของขบวนการประชาชนชั้นล่างของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนหน้านั้น ก็เป็นเพียงอีกเรื่องหนึ่งที่ชนชั้นนำยกเป็นข้ออ้างจากความชอบธรรมของพลังประชาชน แต่การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมทางสังคมหรือการยกระดับบรรทัดฐานของปัญหาการคอร์รัปชั่น ไม่ควรถูกทาสีว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เราต้องโจมตีชนชั้นนำที่ยึดครองผลิตผลของการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนไป ไม่ว่าจะในนามคนสีใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เราน่าจะถือโอกาสจากสถานการณ์และความขัดแย้งของกลุ่มทุนที่พลิกผันกลับกันนี้ เรียกร้องให้ชนชั้นนำทางสังคมและ "รัฐ" นอกจากแก้ไขปัญหา "ประชาธิปไตย" แล้ว ต้องรีบแก้ปัญหาโครงสร้าง "ความไม่เป็นธรรมทางสังคม" โดยรีบด่วนด้วย เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มันมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ และรัฐบาลของ "ชนชั้นนายทุน" ต้องรีบแก้ไขปัญหานี้ ก่อน "สงครามชนชั้น" มันจะเกิดขึ้นจริงๆ!!

โดยเฉพาะ นโยบายทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหารากเหง้าส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน-คนรวย ระหว่างเมืองและชนบท เช่น นโยบายการพัฒนาที่เท่าเทียมเป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง การปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะทรัพย์สมบัติสาธารณะและสิทธิชุมชน มันถึงเวลาแล้ว ที่ต้องมีกฏหมายเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อให้เป็นรายได้ของรัฐ ปฏิรูปและจำกัดการถือครองที่ดิน ออกกฏหมายภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า การสร้าง "รัฐสวัสดิการ" อย่างน้อยแบบสแกนดิเนเวีย การปฏิรูประบบการศึกษาที่แข็งกระด้างและดัดจริตของไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพความรู้ที่ยึดโยงกับสังคม แก้ปัญหาระบบสาธารณะสุขที่เลือกปฏิบัติและไม่มีประสิทธิภาพ การประกันการว่างงานของแรงงานทั้งชนชั้น ฯลฯ ก่อนที่ความขัดแย้งของชนชั้นอย่างแท้จริงมันจะปะทุขึ้น และสงครามปาหินจะเป็นจริงและระบาดไปมากกว่านี้ ดังที่เราเห็น "จราจล" ในประเทศต่างๆ มากมายเป็นตัวอย่างแล้วที่ผ่านมา..

เป็นไปได้อย่างไร ที่ "รัฐ" ของขุนศึก ทหาร ข้าราชการแบบอำมาตย์ และนายทุนชนชั้นนำที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้ทรัพย์ครัวเรือนตามกลุ่มรายได้เมื่อปี 2549 พบว่า ครอบครัวรวยสุด 20% แรกมีทรัพย์สินถึง 69% ของทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่ม 20% สุดท้ายหรือที่จนสุด มีทรัพย์สินเพียง 1% เท่านั้น ขณะที่เงินออมในธนาคาร ตามข้อมูลวันที่ 11 มิ.ย. 2552 พบว่ามีบัญชีที่มีเงินมากกว่า 10 ล้านบาทจำนวน มี 7 หมื่นบัญชีเท่านั้น คิดเป็น 0.1 ของบัญชีทั้งหมด แต่ทั้งหมดนี้กลับมีเงินฝากเป็น 42% ของเงินฝากในประเทศ และเมื่อพิจารณาจากความต่างด้านรายได้ ระหว่างคนจนสุด 20% และรวยสุด 20% แล้วพบว่าประเทศไทยอยู่ที่ 13% เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งมีเพียง 3.4% เกาหลีใต้ 4.2% และสหรัฐอเมริกาซึ่งมี 8.4% เท่านั้น..

"สงครามชนชั้น" มันน่ากลัวกว่ามหกรรมเสื้อแดงในวันนี้อย่างแน่นอน เพราะมันจำเป็นต้องปฏิวัติยึดอำนาจรัฐที่ชนชั้นนายทุนทั้งหลายหวงแหน เพื่อทำลายระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล(ทั้งระบบ) เพื่อปลดแอกชนชั้นแรงงานมนุษย์ที่ขึ้นต่อนายทุนทั้งชนชั้น ซึ่งถูกซื้อขายไม่ต่างจากสภาพของจักรกลในราคาที่มีค่าเพียงเวลาที่ถูกใช้เป็นแรงงาน ซึ่งไม่เพียงพอต่อปัจจัยพื้นฐานของชีวิตด้วยซ้ำ เพราะชนชั้นนายทุนกอบโกยเอาส่วนแบ่งไปจากสังคมมากเกินไปจนความเป็นสังคมกำลังล่มสลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของความไม่เป็นธรรมทั้งมวลและลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

แล้วเมื่อถึงวันนั้นจะหาว่าไม่เตือน! ได้ยินไหม ทักษิณ อภิสิทธิ์ และทุกๆ คน..
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท