“Why can’t we choose” ทำไมเราถึงเลือก(ข้าง)ไม่ได้: สันติวิธีกับสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักวิชาการวิเคราะห์กันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้คือความขัดแย้งหลายระดับที่ทับถมกัน ตั้งแต่ปัญหาผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่กดขี่กระดูกสันหลังของสังคมไทยมานมนาน และที่สำคัญคือปัญหาความไม่ลงรอยกันทางจินตนาการว่าอุดมการณ์การและระบอบการเมืองแบบใดเหมาะกับสังคมไทย ผู้คนแบ่งขั้วเป็นสองฝักฝ่าย ทั้งยังตั้งคำถามว่า “คุณอยู่ข้างใคร” เพื่อนชาวออสซี่ที่ติดตามการเมืองไทยมานานถึงกับถามผู้เขียนว่า “ไอที่เกิดแถวบ้านยูเนี่ยมันเหมือนความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เลย ว่ามั๊ย?” 

เมื่อความขัดแย้งทำให้ผู้คนแบ่งเป็นสองฝักฝ่ายอย่างเด่นชัดเช่นนี้ ที่ทางของสันติวิธีที่แต่ละฝ่ายใช้เพื่อขับเคลื่อนความขัดแย้งเป็นอย่างไร? คงเป็นแบบนี้กระมัง...เมื่อฝ่ายหนึ่งยึดทำเนียบ บุกสถานีโทรทัศน์ และปิดสนามบิน ผู้คนซึ่งฝักใฝ่อีกฝ่ายประนามว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สันติวิธี เป็นการละเมิดกฎหมายและกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย ทว่าเมื่อฝ่ายที่เคยประนามลุกขึ้นมาทำคล้ายฝ่ายแรกบ้าง ฝ่ายแรกลืมการกระทำในครั้งอดีตของตนเองอย่างฉับพลัน แล้วหันมาทักท้วงว่าการสาดเลือด (ที่อุตส่าห์บริจาคกันมา) การเดินขบวนรอบเมืองหลวง และการปิดถนนสายธุรกิจเป็นเรื่องเลวร้าย ทำลายความศิวิไลซ์ของเมืองกรุง สร้างความรำคาญเดือดเนื้อร้อนใจให้ใครหลายฝ่าย... จะมีใครนึกบ้างไหมว่าถึงแม้ทั้งสองสีมีอุดมการณ์ต่างกัน (รายละเอียดของอุดมการณ์นั้นเป็นอะไรก็อีกเรื่อง) แต่ “วิธีการ” ที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตนนั้นช่างคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายใช้สันติวิธี

คำประกาศเช่นนี้อาจสร้างความระคายเคืองให้แก่ต่อม “จริยธรรม” ของผู้คนทั้งสองสีและที่ไม่สังกัดสี ใครเล่าจะเห็นว่าปฏิบัติการต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันให้แก่ประชากรเมืองกรุงมาตั้งแต่ปี 2548 คือสิ่งที่เรียกว่า “สันติวิธี” (หมายเหตุ การปาระเบิด เผาทรัพย์สิน หรือใช้อาวุธทำร้ายผู้คู่กรณีไม่ใช่สันติวิธี คนสติดีๆ ก็แยกแยะได้ไม่ยาก) ในฐานะนักเรียน “สันติวิธี” ผู้เขียนใคร่ขอวิเคราะห์ว่าอาการระคายเคืองที่ต่อมจริยธรรมดังกล่าวมีต้นตอหลักๆ สองประการ

ประการแรก ปฏิบัติการสันติวิธีหลายอย่างที่ทั้งสองสีใช้ ไล่ตั้งแต่ การชุมนุมเป็นเวลายาวนาน ปิดถนน เดินขบวน พนักงานหยุดทำงาน สาดเลือด (ที่ไม่ใช่เลือดสาด) รวมถึงปิดสนามบิน ไม่สอดคล้องกับความเข้าใจเกี่ยวกับสันติวิธีในสังคมไทย ทั้งที่ปฏิบัติการเหล่านี้มิใช่สิ่งแปลกปลอมแต่อย่างใดในประวัติศาสตร์ของปฎิบัติการสันติวิธี เมื่อปีค.ศ. 1930-1 คานธีดำริแคมเปญเดินเท้าไปยังเมืองชายทะเลดานดี เพื่อฝ่าฝืนกฎหมายเกลือของรัฐบาลจักรวรรดิอังกฤษ แม้ชาวบ้านสนับสนุนปฏิบัติการนี้ แต่การฝ่าฝืนกฏหมายดังกล่าวจุดประกาย “อารยะขัดขืน” ทั่วอินเดีย ซึ่งรบกวนวิถีชีวิตประจำของคนอินเดียโดยทั่วไป คานธีเห็นว่าปฏิบัติการสันติวิธีอาจมีลักษณะบังคับ หรือสร้างความกดดันต่อคู่กรณีรวมถึงผู้คนในสังคมได้ นอกจากกรณีอินเดีย ปฏิบัติการสันติวิธีในที่อื่นๆ ก็สั่นคลอน “ความปกติ” ของสังคมไม่ต่างกัน เช่น การคว่ำบาตรสินค้าคนขาวโดยชาวผิวสีในสหรัฐอเมริกาเมื่อมีการเรียกร้องสิทธิพลเมืองสร้างความลำบากให้ผู้คนถ้วนหน้า หรือที่เซอร์เบียกลุ่มผู้ประท้วงเรือนแสนปิดถนนในตัวเมืองเบลเกรดเป็นเวลาสามเดือนระหว่างปีค.ศ. 1996-7 เมื่อการเมืองถึงจุดระอุในปีค.ศ. 2000 ผู้ชุมนุมเข้ายึดตึกรัฐสภา และที่ทำการรัฐบาล ร้านรวงต่างๆ ปิดให้บริการ พนักงานรัฐพากันลาออก เรียกได้ว่าทั้งประเทศชะงักงัน

สังคมไทยมีปัญหากับสันติวิธีซึ่งปรากฏหน้าตาเช่นนี้ เพราะลึกๆ แล้วไม่ถูกจริตกับด้านที่ “ไม่น่ารัก” ไม่พูดจากันดีๆ ของสันติวิธี เป็นไปได้ว่าสังคมไทยมักกลบเกลื่อนความขัดแย้งด้วยมารยาทอันผิวเผิน พยักหน้าพะงับพะเงิบเวลาไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจกับการกระทำของอีกฝ่าย (แต่พอลับหลังค่อยไปนินทา) ข่าวร้ายคือ นักปฏิบัติการและนักทฤษฎีสันติวิธีฟันธงว่าสันติวิธีแบบพี่ไทย อันได้แก่ “การประนีประนอม” (compromise) อันที่จริง ไม่ใช่ สันติวิธี ส่วน “การเจรจา” (negotiation) (คำอีกที่ได้ยินกันเกลื่อนกลาด) แม้เป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง แต่เป็นกระบวนการที่แยกจากปฏิบัติการสันติวิธี

ในแง่นี้สันติวิธีจึงมิได้ทำงานผ่านการนั่งโต๊ะเจรจา ฉะนั้น อะไรคือกลไกลของสันติวิธี? กลไกสำคัญของปฏิบัติการสันติวิธีคือ การเมืองเรื่องความชอบธรรม เมื่อใดก็ตามที่ผู้ซึ่งอ้างว่าตนใช้สันติวิธี หลุดกรอบไปใช้ความรุนแรง (รวมถึงการทำลายทรัพย์สิน) เมื่อนั้นความชอบธรรมที่ปฏิบัติการสันติวิธีหยิบยื่นให้ย่อมลดลง ขณะเดียวกัน หากผู้ใช้สันติวิธียึดมั่นในวินัยและตรรกะเรื่องความชอบธรรมของสันติวิธี รวมถึงผ่านการฝึกฝน และวางยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบว่าจะใช้ปฏิบัติการสันติวิธีแบบไหนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของตน และเปลี่ยนฐานความชอบธรรมจากฝ่ายตรงข้ามมาอยูฝ่ายตนได้ ความชอบธรรมในสายตาสาธารณะตลอดจนความสนับสนุนย่อมปรากฏเป็นรางวัล การปราบปรามด้วยกำลังอาวุธยิ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายที่ยึดมั่นในสันติวิธี ความได้เปรียบทางการเมืองและอำนาจในการต่อรองจึงตามมา อนึ่ง พึงระลึกว่าความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม โดยเห็นว่าฝ่ายนั้นเป็นศัตรู เอื้อให้การใช้ความรุนแรงเกิดได้ง่ายขึ้น เมื่อฝ่ายที่เคยยึดมั่นในสันติวิธี ใช้ความรุนแรงบนฐานความเกลียดชังเมื่อใด ความชอบธรรมย่อมหดหาย อำนาจในการต่อรองย่อมถดถอย

ประการที่สอง ผู้คนมักเข้าใจว่าสันติวิธีสนใจเป้าหมายเท่ากับหรือมากกว่าวิธีการ ในความเป็นจริงแล้ว สันติวิธีให้ความสำคัญกับวิธีการ (ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสันติวิธี) อาจมากกว่าเป้าหมายด้วยซ้ำ เหตุผลหลักคือการยึดมั่นกับเป้าหมายเท่ากับการยึดเหนี่ยวกับ “อนาคต” ที่ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย เช่น รัฐบาลก่อสงครามในนามสันติภาพ ฝ่ายซ้ายอ้างว่าควรปฏิวัติด้วยกระบอกปืนเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม หรือกลุ่มก่อการ(ร้าย)ประกาศว่าที่ต้องวางระเบิดหรือฆ่าบั่นคอเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ดินแดน และสิทธิในการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาที่ตนสังกัด เป้าหมายอัน “ดีงาม” จึงขัดกับวิธีการอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญคือไม่มีใครรู้ว่าปฏิบัติการรุนแรงซึ่งคร่าชีวิตผู้คนและสร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างเศรษฐกิจและระบอบการเมือง ช่วยให้บรรลุเป้าหมายอันดีงามเหล่านี้ได้หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สังคมที่สะบักสะบอมจากสงครามความรุนแรงคงไม่อยู่ในสภาพที่เอื้อให้เดินทางไปสู่สันติภาพ ความเป็นธรรม และอิสรภาพได้ ด้วยเหตุนี้วิธีการจึงสำคัญกว่าเป้าหมาย

การใช้สันติวิธีที่เปิดโอกาสให้คู่กรณีพิจารณาและปรับจุดยืนของตน คือการหล่อหลอมเป้าหมาย หรือรูปร่างหน้าตาของสังคมที่ฝ่ายต่างๆ อยากให้เป็น ดังที่คานธี สะท้อนว่า “วิธีการเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ ส่วนเป้าหมายคือต้นไม้ ความเชื่องโยงของวิธีการและเป้าหมายจึงไม่อาจแยกจากกันได้... หลายคนบอกว่า ‘วิธีการท้ายที่สุดก็เป็นแค่วิธีการ’ ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า ‘วิธีการท้ายที่สุดคือทุกอย่าง’....หากเราใส่ใจกับวิธีการ เป้าหมายก็จะฟูมฟักตัวเอง” ดังนั้น สันติวิธีจึงไม่อาจเลือกข้างอุดมการณ์ทางการเมืองได้ เพราะท้ายที่สุด วิธีการที่ผู้ซึ่งฝักใฝ่ในอุดมการณ์แต่ละฝ่ายใช้ จะชี้เองว่าผู้คนในสังคมควรเลือกข้างใด   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท