ประชาชนลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียกเลิกประกาศ พรก.ฉุกเฉินทันที ชี้ไม่มีเหตุผลในการออก พรก.ฉุกเฉิน และยกระดับความขัดแย้งให้มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น แถมลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปโดยไม่มีความจำเป็น เผยถ้ารัฐบาลเพิกเฉยจะร้องศาลปกครองต่อไป
เย็นวานนี้ (7 เม.ย.) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ได้มีผู้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงทันที โดยให้เหตุผลว่าข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขาดเหตุผลและไม่จำเป็น เพราะผู้ชุมนุม นปช. ชุมนุมอย่างสงบภายใต้ความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ
“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงของรัฐบาล นอกจากไม่เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ยังเป็นการยกระดับความขัดแย้งให้มีความตึงเครียดและเปราะบางเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังทำให้รัฐบาลกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับผู้ชุมนุม เป็นการขยายวงของความขัดแย้งกับประชาชนออกไปกว้างมากขึ้น และเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปโดยไม่มีความจำเป็น” จดหมายเปิดผนึกของประชาชนกลุ่มดังกล่าวระบุ
ผู้ลงชื่อยังระบุว่า หากรัฐบาลยังเพิกเฉย จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครองจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของรัฐบาลต่อไป โดยจดหมายเปิดผนึกมีรายละเอียดดังนี้
000
เรียน คณะรัฐมนตรี 7 เมษายน 2553 ข้าพเจ้า ผู้มีรายชื่ออยู่ท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอแสดงเจตจำนงต่อต้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงที่รัฐบาลภายใต้ การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 เม.ย. 2553 เมื่อเวลา 18.00 น. ที่มีใจความสรุปว่า แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรักษาสถานการณ์ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง แต่การเคลื่อนไหวของประชาชนเสื้อแดงได้พัฒนาไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงกระทบต่อภาพลักษณ์ในประชาคมโลก นอกจากนั้นในช่วงสองวันที่ผ่านมาผู้ชุมนุมยังขัดขืนเจ้าหน้าที่และบุกรุกเข้าไปในรัฐสภา ฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือแก่ผู้ชุมนุมใหม่ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ข้าพเจ้าฯ เห็นว่าข้ออ้างเพื่อประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ขาดเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” เป็นไปอย่างสงบ สันติและปราศจากอาวุธ ที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ หากแต่ความล้มเหลวในการจัดการกับผู้ชุมนุมนั้นเป็นความล้มเหลวในการบริหาร จัดการของฝ่ายรัฐบาลเอง มิได้เกิดจากการก่อความไม่สงบของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด การชุมนุมที่ดำเนินมายังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะใช้เป็นหลักฐานได้ว่าการชุมนุมได้ละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้รัฐบาลยุบสภา มิได้ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และมิได้มีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงของรัฐดังที่รัฐบาลได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด ข้ออ้างของรัฐบาลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม จึงไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม เนื่องจากผู้ชุมนุมมิได้พกพาอาวุธ หรือแสดงพฤติกรรมอันชัดเจนว่ามีจุดประสงค์ที่ต้องการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทำลายทรัพย์สินของราชการหรือเอกชน ในทางตรงข้าม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้มาตรการที่สร้างความตึงเครียดและกดดันการชุมนุม ส่วนการอ้างว่าผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในพื้นที่ของรัฐสภานั้น รัฐบาลไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศพรก.ฉุกเฉินได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมถูกยั่วยุจากการขว้างระเบิดแก๊สน้ำตามาจากภายในรัฐสภา รวมถึงภายหลังผู้ชุมนุมยังตรวจพบระเบิดแก๊สน้ำตา พร้อมปืนขนาด 11 ม.ม. 2 กระบอก และปืนเอ็ม 16 อีกหนึ่งกระบอก ซึ่งมีการซุกซ่อนไว้ภายในรัฐสภาด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบกับการปล่อยให้มีผู้พกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณ อาคารรัฐสภาด้วย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงของรัฐบาล นอกจากไม่เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ยังเป็นการยกระดับความขัดแย้งให้มีความตึงเครียดและเปราะบางเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังทำให้รัฐบาลกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับผู้ชุมนุม เป็นการขยายวงของความขัดแย้งกับประชาชนออกไปกว้างมากขึ้น และเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปโดยไม่มีความจำเป็น ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาในข้างต้น ข้าพเจ้าดังมีรายนามต่อท้ายจดหมายนี้ จึงไม่อาจยอมรับการประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงว่ามีความชอบธรรม และขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวในทันที หากรัฐบาลยังเพิกเฉย ข้าพเจ้าจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครองจากการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบของรัฐบาลต่อไป
ด้วยความเคารพ เทวฤทธิ์ มณีฉาย ขวัญระวี วังอุดม ทูนธรรม เหรียญทอง นภัทร สาเศียร อดิศร เกิดมงคล ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ ชาติ ไชยสิทธิ์ มัทนา โกสุมภ์ ภิภัทร์ภรณ์ ทองศรี |