พรก.ฉุกเฉิน จะบรรลุเป้าหมาย 4 ประการ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในที่สุดรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ คือ

ประการแรก คืนความเป็นปกติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ต่างๆ ให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพฯ
ประการที่สอง ยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนที่สร้างความแตกแยกและทำผิดกฎหมาย
ประการที่สาม ให้สามารถดำเนินคดีกับแกนนำได้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ประการสุดท้าย เพื่อระงับการก่อวินาศกรรม

เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายอยู่แล้ว เพราะก่อนการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง “14 มีนา 53” มีการโหมประโคมข่าวความรุนแรงของคนเสื้อแดง โดยสื่อของรัฐ สื่อกระแสหลัก สื่อสีตรงกันข้าม นำภาพความรุนแรงในอดีตมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มีการวิเคราะห์ คาดการณ์ถึงความรุนแรงต่างๆที่อาจเกิดตามมาจนเกิดความหวาดกลัว วิตกกังวลแก่ผู้คนในสังคมอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า ตลอดการชุมนุมทางการเมืองกว่า 4 ปีมานี้ ไม่มีการชุมนุมครั้งใดที่ทำให้ประชาชนหวาดวิตกล่วงหน้ามากเท่าการชุมนุมครั้งนี้

ความหวาดกลัวจึงสร้างความชอบธรรม (โดยความรู้สึก) ให้แก่การประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ แต่ก็เกิดระเบิดรายวัน ถึงแม้จะพิสูจน์ยังไม่ได้ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดคู่ขนานกับการชุมนุม

การชุมนุมที่พยายามยึดแนวทางสงบสันติจึงคู่ขนานไปกับความรุนแรงรายวัน เป็นความรุนแรงรายวันที่จับมือใครดมไม่ได้ ไม่ใช่เพราะบรรดา “หัวโจก” ของแต่ละฝ่ายจะไม่รู้ว่าเป็น “ใคร” แต่สถานการณ์มันอาจมาถึงจุดที่การใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหา

คิดหรือว่า พรก.ฉุกเฉิน จะทำให้บรรลุเป้าหมาย 4 ประการ เพราะเป้าหมายประการแรกเพื่อเอาใจ “พี่น้องชาวกรุงเทพฯ” ที่พวกอำมาตย์ ชนชั้นนำ นักวิชาการ สื่อตัวแทนคนชั้นกลางในเมืองยังเชื่อว่า “คนกรุงเทพฯ” มีพลังต่อรองในเรื่องฉันทามติทางการเมืองเหนือกว่าคนต่างจังหวัดหรือคนชนบท

จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลและแนวร่วมที่เป็นกองเชียร์ก็ได้ทำให้คนต่างจังหวัด คนชนบทเป็น “คนอื่น” จากคนกรุงเทพฯไปแล้ว (ทั้งที่ในความเป็นจริงคนกรุงเทพฯคนต่างจังหวัดในปัจจุบันผสมกลมกลืนจนแยกออกจากกันยาก) ตั้งแต่เกิดกระบวนการล้มรัฐบาลที่พวกเขาตั้ง แล้วโหมประณามว่าพวกเขาไร้การศึกษา ถูกซื้อด้วยเงิน ม็อบรับจ้าง ไร้อุดมการณ์ นิยมความรุนแรง ฯลฯ จนนำมาสู่การจัดกองกำลังมหาศาลป้องกันไม่ให้พวกเขาทำร้ายคนกรุงเทพฯ

แต่พัฒนาการทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว รากหญ้ากำลังสอนประชาธิปไตยแก่รัฐบาลและคนกรุงเทพฯว่า เมื่อคุณพูดถึงประชาธิปไตยก่อนอื่นคุณต้องเคารพความเสมอภาคของ “1 คน = 1 เสียง” ฉะนั้น ฉันทามติทางการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนกรุงเทพฯ (เท่านั้น) อีกต่อไป คนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯจะล้มรัฐบาลไม่ได้ง่ายๆอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายประการแรกเพื่อต้องการเอาใจคนกรุงเทพฯ (หลังจากสร้างความหวาดกลัวนำร่อง) ไม่น่าจะบรรลุผล และไม่น่าจะได้รับฉันทามติเพิ่มจากคนกรุงเทพฯ (ซึ่งเป็นฉันทามติที่รัฐบาลถือเป็น “ที่พึ่งสุดท้าย”)

ส่วนเป้าหมายประการที่สอง มันก็บิดเบือนกันทุกฝ่าย จริงบ้างเท็จบ้างกันทุกฝ่าย ประเด็นสำคัญคือ คนทั่วประเทศมีความเห็นต่างทางการเมืองหลายเรื่องอย่างชัดเจน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่อง “ความชอบธรรม” ของรัฐบาล ที่ฝ่ายเชียร์เห็นว่ามาถูกครรลองประชาธิปไตย แต่ฝ่ายไล่เห็นว่าเป็นรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม

เมื่อเกิดวิกฤตฉันทามติเช่นนี้ทางแก้ที่ถูกไม่ใช่การใช้กฎหมายปราบปรามฝ่ายตรงกันข้าม แต่ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ นี่คือครรลองที่ตรงไปตรงมาของระบอบประชาธิปไตย!

เป้าหมายประการที่ 3 ถ้าดำเนินคดีกับแกนนำ เรื่องราวของ “จำลองอยากให้จับ” ทำให้เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์พฤษภา 35 เชื่อว่าทุกคนคงจำกันได้ดี

เป้าหมายประการที่ 4 เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำสำเร็จ เพราะตั้งแต่เหตุระเบิดลงที่ชุมนุมของพันธมิตรฯ ห้องทำงานของ ผบ.ทบ. จนมาถึงพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าหน้าที่รัฐจับมือใครดมได้บ้าง

ฉะนั้น เป้าหมายทั้ง 4 ข้อ เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลไม่อาจบรรลุได้ หรือเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าในทางปฏิบัติอาจไม่บรรลุผลตามนั้น แต่ต้องการบรรลุผลทางการเมืองคือต้องการปรามฝ่ายตรงข้าม และต้องการแรงสนับสนุนจากกองเชียร์ (ที่เป็นคนกรุงเทพฯ) เท่านั้นเอง!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท