Skip to main content
sharethis

คำอภิปรายเมื่อ 5 ปีที่แล้วของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่ดูแลสิทธิของประชาชน ใช้แล้วเหมือนมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ขึ้นกับว่าจะเลือกใช้ในสถานการณ์ไหน ใช้แล้วคนหวาดระแวง-เกิดความแตกแยก

หมายเหตุ - คำอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548

000

พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินถือว่ามีความสำคัญ แต่รู้สึกเสียดายที่นายกรัฐมนตรีไม่เข้ามาร่วมประชุม เพื่อรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นความเห็นให้รัฐบาลปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย และความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งในเบื้องต้นทุกคนอยากเห็นความสงบเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรู้สึกสะเทือนใจเมื่อผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์ความรุนแรง โดยพร้อมที่จะประณามการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ พวกเรารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเหน็ดเหนื่อยในการแก้ปัญหา ซึ่งในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่มีพระราชเสาวนีย์ในการแก้ไขปัญหา

ฝ่ายค้านไม่ลังเลที่จะสนับสนุนเครื่องมือแก้ไขปัญหาของรัฐบาล แต่ที่ผมต้องลุกขึ้นอภิปรายเพราะพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถลงมติอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ เนื่องจาก 1.การตรากฎหมายฉบับนี้อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของปัญหา และการบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานของฐานความคิดนี้ก็มาจากความสุ่มเสี่ยง นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น 2.กระบวนการตรากฎหมายและบทบัญญัติกฎหมาย สะท้อนถึงความคิดที่สับสน กระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่ดูแลสิทธิของประชาชน และ 3.ช่องว่างที่นำสู่ความผิดพลาดในการใช้กฎหมายกลับเพิ่มเติมความหวาดระแวงของคน และความแตกแยกที่จะมีขึ้น

1.โดยพื้นฐานความคิดของการออกกฎหมายครั้งนี้ ต่างจากวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ที่รัฐบาลเปิดประชุมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษ โดยให้รัฐสภาแสดงความเห็นในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกฯได้ลุกขึ้นตอบว่า แม้บางเรื่องมีความเห็นที่ต่างกัน แต่วันนั้นท่านยอมรับคำท้วงติงของสมาชิกว่า แนวทางแก้ไขปัญหา 2-3 ปีที่ผ่านมา เดินไปอย่างผิดพลาดเพราะเข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้แก้ได้ด้วยความรุนแรง และด้วยวิธีการง่ายๆ จนละเลยนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่วันนี้กฎหมายดังกล่าวหวนกลับมาบนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหา พื้นฐานความคิดที่ต่างกันจึงไม่สามารถอนุมัติ พ.ร.ก.ได้ เพราะเป็นการออก พ.ร.ก.โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

การอ้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งว่า ในต่างประเทศมักจะเห็นความร่วมมือของทุกพรรคการเมือง รวมถึงสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งฝ่ายค้านได้ดำเนินการมาก็อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือ แต่วิธีการที่รัฐบาลดำเนินการก็ต่างจากต่างประเทศโดยสิ้นเชิง เช่นเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษก็ต้องการมีเครื่องมือเป็นกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้ตรา พ.ร.ก.เป็นสิ่งแรก แต่ได้ประกาศว่าจะเดินหน้าเพื่อขอความเห็นจากฝ่ายค้านและประชาชน แต่สิ่งที่เกิดในประเทศไทย การระดมความเห็นจากสังคมเรากลับไม่ได้รับโอกาสนี้

เมื่อรัฐบาลถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนายกฯและรัฐมนตรีก็ประกาศว่าพร้อมที่จะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งขณะนี้มีคนสับสนว่าจะแก้ไขกฎหมายได้หรือไม่ แม้วันนี้จะเป็นเพียงรับหรือไม่รับกฎหมายเท่านั้น แต่ถ้ารัฐบาลคิดแบบนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีในการระดมทุกภาคส่วนช่วยปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่ของกฎหมาย โดยเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ในการแก้ไข โดยให้ ส.ส. ส.ว. องค์กรภาคประชาชน และนักวิชาการร่วมแก้ไข แต่น่าเสียดายที่นายกฯปฏิเสธข้อเสนอนี้ ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอให้มีการแก้ไข ดังนั้น สิ่งที่ง่ายที่สุดของฝ่ายค้านคือ การวางเฉย และบอกว่าในเมื่อรัฐบาลคิดเองทำเองก็ปล่อยให้รัฐบาลทำไป และหากมีการขีดเส้น 90 วัน หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ นายกฯก็ควรรับผิดชอบ ซึ่งผมบอกว่าอย่าไปใช้เงื่อนเวลากดดันรัฐบาล ทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายค้านไม่สามารถรับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ เพราะ 1.กฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงกับสภาพของปัญหา แม้ว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะมีเชื้อของปัญหาจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แต่กลับรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากปัจจัยภายนอกถึงพัฒนาการการก่อการร้ายของโลก และความผิดพลาดของนโยบาย ซึ่งประสบการณ์หลายแห่งทั่วโลกควรจะสอนให้เข้าใจว่าเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว หัวใจสำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนด้วยกัน และประชาชนกับรัฐพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องไม่แยกออกจากกัน แต่ตนไม่สบายใจที่รัฐบาลแยกส่วนระหว่างกรรมการสมานฉันท์กับการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการสร้างความสมานฉันท์ต้องไม่ขัดกับการใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะขัดก็ต่อเมื่อมีการไม่ใช้กฎหมายอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมาย และสภาพปัญหาที่รุนแรงขึ้นบ่งบอกชัดว่า ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลขาดอำนาจหรือไม่มีกฎหมายใช้ แต่ช่องว่างความหวาดระแวงเกิดจากเจ้าหน้าที่บางส่วนไม่เคารพกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

2. กฎหมายฉบับนี้มีประเด็นที่กระทบต่อกฎหมายโดยรวม และส่งผลกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ จากคำชี้แจงของรัฐบาลคือ เพื่อปรับปรุงกฎหมาย และไม่ต้องการใช้กฎอัยการศึก นั่นคือเป็นกฎหมายที่ต้องการแก้กฎอัยการศึก แต่กฎอัยการศึกมีสถานะพิเศษ จะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญ มาตรา 222 ได้รับรอง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก โดยบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้ และเลิกใช้ในกฎอัยการศึก ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมสามารถทำได้ นั่นคือรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่า ในยามที่เป็นศึกสงคราม สถานการณ์คับขัน อนุญาตให้มีการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการประกาศและยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ในสถานการณ์จริง กฎหมายทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่วันนี้รัฐบาลกลับตรากฎหมายมาอีก 1 ฉบับ เหมือนมาใช้แทนกฎอัยการศึก แต่มีหลักการยกเว้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้อย่างมาก เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลพยายามชี้แจงคือ กฎอัยการศึกน่ากลัว โดยเฉพาะในสายตาของชาวต่างประเทศ ที่จริงแล้วการดึงอำนาจออกจากฝ่ายทหารมาอยู่ในมือของฝ่ายบริหารทั่วไปคือ นักการเมือง ก็อาจเห็นว่าน่าโปร่งใสมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็เสมือนว่ารัฐบาลทำงานเหมือนมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ขึ้นกับว่าจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญในสถานการณ์ไหน พอมีสถานการณ์ฉุกเฉินก็มีรัฐธรรมนูญอีกฉบับ ซึ่งความรับผิดชอบต่างกัน

นอกจากนี้มีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยและเสรีภาพ เช่นการมีอำนาจตรวจสอบหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 7 วัน และขยายเวลาได้ 30 วัน

3.พ.ร.ก.นี้มีช่องโหว่ของกฎหมาย หากนำไปปฏิบัติเจ้าหน้าที่ผิดพลาด เลยละเลยเรื่องการใช้อำนาจสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความหวาดกลัวและความหวาดระแวง ซึ่งหากผิดพลาดจะตกเป็นเหยื่อของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งต้องระวัง อย่าประเมินสถานการณ์อย่างฉาบฉวย ที่พูดว่านับแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.มีการจับกุมมากขึ้น แสดงว่าปัญหากำลังจะแก้ไขได้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่อย่าลืมว่าการข่มขู่ประชาชนอาจหนักกว่าเดิมและไม่ควรประมาท และ ครม.คงไม่ลืมว่าหลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยในหลวงทรงมีพระราชดำรัสให้ใช้อย่างรอบคอบและระวัง

ดังนั้น สิ่งที่พวกผมค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะพวกผมต้องการเห็นความสงบสุข และเชื่อว่าหนทางสู่ความสงบสุขนั้นคือการสร้างความไว้วางใจ และเชื่อว่ากฎหมายที่มีอยู่ก่อนหน้านี้เพียงพอที่จะให้รัฐบาลทำงานได้และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงรอความใจกว้างจากรัฐบาลที่จะขานรับว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ซึ่งคงจะผ่านด้วยเสียงข้างมากของรัฐบาล จะสร้างเวทีที่เป็นรูปธรรม โดยติดตามตรวจสอบการใช้กฎหมายฉบับนี้ และเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รายงานปัญหาที่เกิดขึ้น และเปิดใจกว้างสร้างเวทีให้กับทุกฝ่ายในการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น

 

ที่มา: "อภิสิทธิ์"ชำแหละ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนมี"รัฐธรรมนูญ2ฉบับ", มติชน 25 ส.ค. 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net