Skip to main content
sharethis

11 เม.ย. 53 - กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี (ยศส.) นักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกลุ่มองค์กรภาคพลเมือง ออกแถลงการณ์ร่วมกันหยุดความรุนแรง  หยุดฉวยโอกาสจากโศกนาฏกรรม และร่วมกันหาทางออกให้กับบ้านเมือง โดยมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงทุกฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกันทางการเมือง
เรื่องขอให้ร่วมกันหยุดความรุนแรง  หยุดฉวยโอกาสจากโศกนาฏกรรม และร่วมกันหาทางออกให้กับบ้านเมือง

สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ได้จัดการชุมนุมใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553  และได้มีความพยายามยกระดับการชุมนุมให้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเจาะเลือดนำไปสาดเทตามสถานที่ต่างๆรวมทั้งบ้านพักส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี จนถึงการยึดพื้นที่การชุมนุมเพิ่มที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งสร้างผลกระทบแก่ประชาชนทุกระดับรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก จนนำมาสู่การที่รัฐบาลต้องทำการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน บังคับใช้ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กระทั่งล่าสุดในวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่จะทำการสลายการชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนตะนาว และสี่แยกคอกวัว จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 19 ราย และมีผู้บาดเจ็บรวมกันกว่า 825 คน

จากเหตุการณ์สะเทือนใจดังกล่าว  พวกเราพลเมืองไทย  นักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกลุ่มองค์กรภาคพลเมืองตามรายนามข้างท้าย ผู้ปราถนาความสันติสุขและความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมือง จึงมีความคิดเห็นดังต่อไปนี้

พวกเรารู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้คนไทยจะแตกต่างขัดแย้งกันทางความคิด  แต่ในการหาทางออกให้กับบ้านเมืองของเรา มิพึงควรให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอด 78 ปีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพวกเราคาดหวังว่าครั้งนี้จะเป็นการนองเลือดจากเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย

พวกเราขอประณามทุกฝ่ายหรือทุกคนที่ตั้งใจให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น หรือต้องการฉวยโอกาสจากเหตุการณ์รุนแรง เพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก พวกเราขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า ในการต่อสู้ทำลายล้างกันนั้น เราไม่ยอมรับว่าจะมีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ  หากมีแต่ผู้ที่แพ้มากกว่า แพ้น้อยกว่า และประเทศไทยของเราที่แพ้มากที่สุด และเสียหายย่อยยับจากการมุ่งแต่จะเอาชนะกัน 

พวกเราขอเรียกร้องว่าในกรณีการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้น จะต้องมีการติดตามนำผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม และให้รัฐบาลพึงระลึกว่าสิทธิการชุมนุมคือสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐบาลพึงจำกัดสิทธิดังกล่าวเท่าที่จำเป็นแก่เหตุอันเกินขอบเขตสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้น และทางกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็ต้องพึงระลึกถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่กระทำสิ่งที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไปในสังคม รวมทั้งสิทธิส่วนบุคคลของคู่กรณีความขัดแย้งทางการเมืองด้วย

พวกเราขอเสนอทางออกของความขัดแย้งเวลานี้ว่า ทุกฝ่ายต้องยุติความคิดที่จะมุ่งเอาชนะกัน แล้วเข้าสู่กระบวนการคิดหาทางออกของบ้านเมืองร่วมกัน  ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดจากความล้มเหลวของสังคมในการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและการทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย  ดังนั้นทางออกในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะต้องประกาศวาระแห่งชาติให้มีการปฏิรูปประเทศไทยในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างและการปฏิรูปการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคพลเมือง ทั้งนี้ฝ่าย นปช. เองก็ควรให้ความร่วมมือในกระบวนการดังกล่าวนี้ด้วย  เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรมของประชาชนระดับรากหญ้าที่ นปช. ชูเป็นประเด็นในการต่อสู้ทางการเมือง

ในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยดังกล่าวนั้น ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยจากประชาชนทุกภาคส่วน ทุกระดับ ชนชั้น กลุ่มอาชีพ อายุ เพศ สถานะ และสัญชาติ ให้มีส่วนร่วมอันนำไปสู่การสร้างเวทีประชาคมตั้งแต่ระดับตำบลขึ้นมาถึงระดับชาติ เพื่อสรรค์สร้างข้อเสนอระดับชาติที่จะเป็นกรอบแนวทางในการปฏิรูปกฎหมาย นโยบายสาธารณะในประเทศทั้งระบบอย่างจริงจัง นำไปสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรมโดยก้าวข้ามผ่านความขัดแย้ง การมุ่งเอาชนะระหว่างบุคคลหรือกลุ่มขั้วต่างๆ ที่มีแต่จะทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงทางออกแห่งปัญหาของส่วนรวม
 
ด้วยความปราถนาเห็นสังคมไทยคืนสู่สันติสุขและมีความเป็นธรรม

11 เมษายน 2553

1. ศุภ โกลละสุต นิสิตคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ อดีตเลขาธิการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2551
3. ศศิธร เริงวิทย์  อดีตกรรมการนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4. ขุนกลาง ขุขันธิน
5. กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี (ยศส.)
6. พัชรวีร์ พรหมวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7. นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอดีตสมาชิกวุฒิสภา
8. นิว พงศาเจริญนนท์
9. สมชาย หอมลออ
10. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
11. สุธัมมะ ธรรมศักดิ์
12. โศร์ภิษฐ์ บุญเยี่ยม
13. อรุชิตา อุตมะโภคิน
14. กลุ่มอารยชนรามเพื่อนอาสา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
15. ปรีดา คงแป้น  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
16. บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
17. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม
18. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)
19. สุนี ไชยรส  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี2540
20. ผศ. มาลี พฤษพงศาวลี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
21. ทิชา ณ นคร  ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก
22. ภาคิไนย์  ชมสินทรัพย์มั่น  อดีตกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตแห่งประเทศไทย ประจำภาคตะวันออก ปี2548
23. ศาสตราจารย์ ดร. ชัยยงค์ พรหมวงศ์
24. กลุ่ม ครม.คนรุ่นใหม่
25. สมลักษณ์ หุตานุวัตร อนุกรรมการส่งเสริมและประสานเครือข่าย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
26. ชูชัย ฤดีสุขสกุล  เครือข่ายภาคประชาสังคม
27. ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
28. ม.ล.วัลวิภา จรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
29. เครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net