Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ผมมีคำถามในใจว่า ทำไมการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยจึงไม่ทำกันตรงๆ เลย คือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะการยุบสภาก็คือการปฏิบัติตามครรลองประชาธิปไตยตามปกติ”

ในบทความชื่อ “ถอดสลักความรุนแรง-อภิวัฒน์ประชาธิปไตย”(ประชาไท, 12 /04/53) คุณหมอประเวศ วะสี เสนอว่า “การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งการปฏิรูปประเทศไทย คนไทยต้องฝ่าวิกฤตไปสู่การสร้างสังคมสันติสุขให้ได้ ส่วนจะใช้กลไกรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล หรืออะไรอื่นเพื่ออภิวัฒน์ประชาธิปไตย ก็สุดแต่จะตกลงร่วมกัน”

ผมมีคำถามในใจว่า ทำไมการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยจึงไม่ทำกันตรงๆ เลย คือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะการยุบสภาก็คือการปฏิบัติตามครรลองประชาธิปไตยตามปกติ การเลือกตั้งก็คือการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ตรงไปตรงมาที่สุด เพราะประชาชนทุกคนได้แสดงออกถึงการใช้อำนาจของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน

แต่เมื่อย้อนไปพิจารณาการจำแนกกลุ่มคนเสื้อแดงจึงทำให้ผมถึงบางอ้อ คุณหมอประเวศจำแนกกลุ่มคนเสื้อแดงเอาไว้ดังนี้

(1) คุณทักษิณ คงจะต้องการพ้นโทษ ได้เงินคืน และอาจจะอยากกลับมามีอำนาจ คุณทักษิณเป็นพลังขับเคลื่อนในทางอารมณ์และในทางทุนทรัพย์ เพราะการขับเคลื่อนขบวนการที่ใหญ่โตขนาดนี้ต้องใช้เงินมา

(2) คนที่รับจ้างคุณทักษิณ เงินมากขนาดนั้นต้องมีคนอยากรับจ้างเป็นธรรมดา

(3) แดงอุดมการณ์ คือฝ่ายซ้ายซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อความเป็นธรรม คนเหล่านี้มีบาดแผลในจิตใจที่เกิดจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่มีการสังหารนักศึกษาอย่างทารุน เขาควรได้รับการเยียวยาและเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมและความเข้าใจในการพัฒนาชาติตามที่เคยสัญญากับเขาไว้ (เคยเรียกเขาว่าผู้ร่วมพัฒนา)

(4) กลุ่มนิยมใช้ความรุนแรง พวกนี้มีจำนวนน้อยควรจำกัดการปฏิบัติการ

(5) คนจนทั้งในชนบทและในเมืองและคนที่เห็นใจคนจน คนจนนั้นต่ำต้อยในศักดิ์ศรีและไม่ได้รับความเป็นธรรม จมปลักอยู่ในความยากจนเพราะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ฉะนั้น เมื่อคุณทักษิณมาหยิบยื่นอะไรให้เขาบ้าง แม้ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจริงจังอย่างใด เขาก็หลงรักคุณทักษิณ คุณทักษิณเป็นพาหะในการต่อสู้ของเขา คำว่าไพร่โดนใจเขามาก คนยากคนจนคนที่รู้สึกต่ำต้อยคนที่ไม่มีโอกาสจะเข้าร่วมขบวนการณ์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน วันหนึ่งคนจนอาจจะรวมตัวกันมาฆ่าคนรวยก็ได้ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณอย่างใด คุณทักษิณก็คือคนที่รวยที่สุดคนหนึ่ง

 

ประชาธิปไตยโดยสาระคือการที่ประชาชนคนชั้นล่างสามารถกำหนดนโยบายที่แก้ปัญหาของเขาได้ ถ้าคนยากจนสามารถกำหนดนโยบายได้เขาก็จะหลุดพ้นจากความยากจนอย่างเด็ดขาดและถาวร เราจะต้องช่วยให้คนยากจนมากำหนดนโยบายได้ และป้องกันไม่ให้เขาถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อใครหรือเพื่อวัตถุประสงค์ใดอื่นที่ไม่ใช่เพื่อให้เขาพ้นจากความยากจนได้จริงและถาวร โดยเฉพาะต้องป้องกันไม่ให้เขาถูกพาไปตาย

ข้อ (1) ผมว่าคุณหมอพูดไม่หมด คือไม่พูดต่อว่าคุณทักษิณที่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจไป และถูกกระบวนการที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นดำเนินคดีกับเขานั้น เขามีสิทธิที่จะต่อสู้เพื่อตัวเองหรือไม่ ข้อ (2) น่าจะระบุให้ชัดว่าเป็นใครหรือกลุ่มใดบ้าง ข้อ (4) ผมเห็นด้วย แต่ความรุนแรงบางระดับ เช่น การปาขวดน้ำ ก้อนหิน ท่อนไม้ใส่ทหาร หรือทุบทำลายรถถัง (แม้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง) ย่อมไม่ใช่การแสดงออกของ “ผู้นิยมความรุนแรง” แต่เป็นการแสดงออกของ “ความโกรธทางศีลธรรม” ที่รู้สึกรุนแรงว่า พวกตนเองมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อประชาธิปไตย นอกจากรัฐบาลจะไม่รับฟังเหตุผลที่แท้จริงแล้วยังใช้กำลังทหาร รถถัง รถหุ้มเกราะมาสลายการชุมนุม (มันเป็น “ความโกรธทางศีลธรรม” ที่อาจสั่งสมมานานจนถึงจุดปะทุเมื่อเผชิญหน้ากับกองกำลังทหาร)

ส่วนข้อ (3) แม้อาจจะเป็นเรื่อง “บาดแผล” อย่างที่ว่า แต่ผมไม่คิดว่าพวกเขาต้องการหรือเรียกร้องการเยียวยาจาก “ใคร” (โดยเฉพาะ “ใคร” ที่เคยสัญญากับพวกเขาไว้) ถ้าเป็นเรื่องอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อความเป็นธรรม สิ่งที่พวกเขาต้องการก็น่าจะเป็นอย่างที่คุณหมอเสนอนั่นแหละครับ คือต้องการ “ประชาธิปไตย (ที่) โดยสาระคือการที่ประชาชนคนชั้นล่างสามารถกำหนดนโยบายที่แก้ปัญหาของเขาได้...” แต่ต้องเติมข้อความต่อไปว่า “...ต้องไม่มีอำนาจพิเศษมากำกับแทรกแซงรัฐบาลที่เขาเลือกมา ทั้งโดยลับและโดยเปิดเผย (เช่นทำรัฐประหาร)”

และข้อ (5) ผมติดใจกับมุมมองที่ว่า คนจน คนชั้นล่าง หรือคนชนบทถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ถูกพาไปตาย กับคำว่า “เรา” จะต้องช่วยให้คนจน... เพราะมีมุมมองเช่นนี้ “เรา” จึงไม่ควรตอบสนองข้อเรียกร้องของพวกเขา เช่น ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทันที (และต่อไปอาจจะออกแบบรัฐธรรมนูญป้องกันไม่ให้ศักดินาอำมาตยาธิปไตยสามารถกำกับแทรกแซงการเมืองได้) “เรา” ต้อง “คิดแทน” ต้องอภิวัฒน์ประชาธิปไตยให้พวกเขาก่อน

สรุปก็คือ พวกเขาถ้าไม่ป่วย (มีบาดแผล) ก็ตกเป็น “เครื่องมือ” ถูกชักจูงไปไหนก็ได้ พาไปตายก็ได้ พวกเขาจึงไม่ใช่ “เสรีชน” ที่สามารถมีวิจารณญาณอิสระเหมือนเรา ฉะนั้น “เรา” จึงสมควรเป็นผู้เยียวยา และช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถกำหนดนโยบายของตนเองได้

ผมคิดว่ารากเหง้าของปัญหาประชาธิปไตยจริงๆอาจจะอยู่ที่การที่ “เรา” ผูกขาดอำนาจในการคิดแทน ตัดสินใจแทนประชาชนอยู่ตลอดมา ทำให้ “เรา” ไม่วางใจการเลือกตั้ง ไม่วางใจประชาชนว่าเขาสามารถเลือกรัฐบาลที่ดีได้ เราต้องการสร้าง “ประชาธิปไตยสำเร็จรูป” ไปโยนให้ประชาชน ทั้งที่จริงๆแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยย่อมเกิดจากการที่ประชาชนได้เรียนรู้และพัฒนาการใช้อำนาจของตนเองอยู่ตลอดเวลา

และขณะนี้ประชาชนในต่างจังหวัด คนชนบท คนชั้นกลางระดับล่างในเมือง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ตื่นตัวในการใช้อำนาจของตนเองอย่างสูงยิ่ง หรือย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำไม “เรา” ยังต้องมาผูกขาดการคิดแทน ตัดสินใจแทนพวกเขาอยู่อีกเล่าครับ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net