Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายนในประเทศไทย ได้กลายเป็นเหตุการณ์โด่งดังไปทั่วญี่ปุ่นเมื่อหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับพร้อมใจกันลงข่าวช่างภาพชาวญี่ปุ่นจากสำนักข่าวรอยเตอร์ นายมุระโมโตะ ฮิโรยูกิ ถูกกระสุนปืนเสียชีวิตระหว่างกำลังทำข่าวการชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพฯ การเสียชีวิตของนายมุระโมโตะ ทำให้ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ของญี่ปุ่นเสนอข่าวการชุมนุมประท้วงในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นการหาสาเหตุการเสียชีวิตของช่างภาพรายนี้

ผู้เขียนเฝ้ารอบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยตระหนักว่า การเสียชีวิตในลักษณะนี้ของชาวญี่ปุ่นในต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงเพียงใดสำหรับสังคมญี่ปุ่น และในที่สุดหนังสือพิมพ์กระแสหลัก เท่าที่ทราบจำนวน 5 ฉบับ (Asahi, Yomiuri, Mainichi, Nihon-Keizai, Sankei) ก็ตีพิมพ์บทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในวันเดียวกันคือวันที่ 13 เมษายน ผู้เขียนจึงใคร่นำมาแบ่งปันกัน ณ ที่นี้

โดยขออ้างอิงหนังสือพิมพ์ที่มีผู้อ่านมากที่สุด 3 ฉบับของญี่ปุ่น คือ หนังสือพิมพ์อะซาฮี, หนังสือพิมพ์โยมิอุริ และหนังสือพิมพ์ไมนิจิ (ไม่เรียงลำดับตามยอดจัดพิมพ์)

0 0 0

อะซาฮี: เหตุการณ์นองเลือดที่กรุงเทพฯ - จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีความชอบธรรม
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์อะซาฮี เริ่มด้วยการรายงานข่าวการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกับทหาร และข่าวการเสียชีวิตของนายมุระโมโตะ และเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เร่งดำเนินการให้เกิดความสงบและหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้นายมุระโมโตะเสียชีวิต

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังในการคืนความสงบสุขแก่เมืองหลวงของประเทศด้วยวิธีการที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้กำลังอาวุธ และควรร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการตรวจสอบสาเหตุการตายของนายมุระโมโตะอย่างถึงที่สุด”

จากนั้นหนังสือพิมพ์อะซาฮีก็วิจารณ์การเมืองไทย โดยกล่าวว่าประเทศไทยแบ่งเป็นฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งประกอบไปด้วยชนชั้นผู้ยากไร้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งคนจนในเมือง กับฝ่ายผู้ต่อต้านหรือฝ่ายไม่เอาทักษิณ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการผู้แวดล้อมราชวงศ์รวมทั้งกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง (ผู้เขียนเข้าใจว่าหมายถึงกลุ่มที่คนเสื้อแดงเรียกว่า ‘อำมาตย์’)

หนังสือพิมพ์อะซาฮีตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้เป็นปัญหาเรื่องช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งมักพบในประเทศที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้ใช้ระบอบรัฐสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่รัฐสมัยใหม่พึงกระทำ

“รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2008 ไม่ได้ผ่านพิธีกรรม (baptism: ผู้เขียน) ที่เรียกว่าการเลือกตั้ง, ถึงแม้จะต้องเดินอ้อมสักหน่อย แต่การจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นที่มาของรัฐบาลที่ชอบธรรมนั้น คงเป็นก้าวแรกที่จะยุติความวุ่นวายเฉพาะหน้านี้ได้”

โยมิอุริ: เหตุการณ์นองเลือดที่ประเทศไทย ความสามารถในการนำพาประเทศถูกตั้งคำถาม
หนังสือพิมพ์โยมิอุริขึ้นต้นบทบรรณาธิการด้วยการรายงานเหตุปะทะและการเสียชีวิตของนายมุระโมโตะเช่นกัน หลังจากนั้นก็ได้อธิบายถึงต้นตอแห่งความขัดแย้งว่า มีศูนย์กลางอยู่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหม่และประชาชนผู้ยากไร้ในประเทศ ขัดแย้งผลประโยชน์กับกลุ่มอำนาจเก่า อันประกอบไปด้วยกลุ่มทุนเก่าและชนชั้นกลางในเมือง และปิดท้ายด้วยความคิดเห็นว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเบื่อหน่าย

“ความบาดหมางและการต่อสู้กันไปมาของกลุ่มสีแดงและสีเหลืองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ ไม่เพียงสร้างความเบื่อหน่ายแก่ประชาคมนานาชาติเท่านั้น แม้ประชาชนไทยเองก็คงอิดหนาระอาใจอยู่ไม่น้อย กล่าวได้ว่า ความสามารถในการนำพาประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังถูกตั้งคำถาม”

ไมนิจิ: สิ่งสำคัญอันดับแรกคือทำความจริงให้กระจ่าง
ปิดท้ายด้วยบทบรรณาธิการจากหนังสือพิมพ์ไมนิจิ ที่หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนดังฉบับอื่น แต่เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งติติงการกระทำของทั้งฝ่ายรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ

“การปะทะกันดุจสงครามกลางเมือง ณ ใจกลางเมืองหลวงเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเกียรติภูมิแห่งรัฐลงไปมาก ทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจย่อมเสียหายอย่างรุนแรง ไทยควรเร่งจัดการตามวิถีแห่งประชาธิปไตยให้เกิดความสงบโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยเอง”

“การที่นายกฯอภิสิทธิ์ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม กล่าวกันว่าเป็นเพราะไม่มีความมั่นใจว่าจะชนะฝ่ายของอดีตนายกฯทักษิณได้ ซึ่งท่าทีเช่นนี้ หากมองจากหลักการของประชาธิปไตยแล้วถือว่าเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าข้อครหาต่อการเมืองแบบ “หว่านเงิน” หรือข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชันในสมัยรัฐบาลทักษิณจะมีมาก แต่คงไม่สามารถปฏิเสธการเลือกตั้งเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ได้ กล่าวทางฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง การใช้ผู้ชุมนุมเพื่อเป็นหนทางที่จะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งก็เป็นท่าทีที่ดึงดันและแข็งกร้าวจนเกินไป”

หนังสือพิมพ์ไมนิจิ ยังได้แสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากฉบับอื่นๆ คือ เรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้ไม่เลือกข้างได้มีที่ยืนในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเห็นว่าเป็นการเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้อย่างแหลมคม

“ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายนั้นร้าวลึกและยังมองไม่เห็นหนทางแก้ปัญหา แต่อย่างน้อยก็ควรเลือกวิถีทางการเมืองที่ไม่ทำร้ายหรือทำลายผลประโยชน์ของประเทศ และเปิดให้ประชาชนที่เป็นกลางได้มีส่วนร่วมสนับสนุนทางการเมืองบ้าง ถือว่าเป็นคำขอจากมิตรประเทศอย่างญี่ปุ่น”

0 0 0

แม้หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นอาจมีความเข้าใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทยแตกต่างกันไปบ้าง และอาจแตกต่างจากความเข้าใจของสื่อไทยเอง แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายทั้งในและนอกประเทศเรียกร้องคือ ให้รัฐบาลจัดการยุติสถานการณ์วุ่นวายในขณะนี้โดยเร็ว ซึ่งสื่อของญี่ปุ่นเสนอว่า ควรจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุด นั่นอาจเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นมีผลประโยชน์ทางธุรกิจกับไทยอย่างมหาศาล ความวุ่นวายยืดเยื้อในไทยย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วย

อนึ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพของผู้ชุมนุมในสายตาของสื่อญี่ปุ่น กล่าวคือ สื่อของญี่ปุ่นก็ยังคงมีภาพว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงเพื่อให้คุณทักษิณกลับมามีอำนาจดังเดิม สื่อ 2 ใน 3 ฉบับที่ยกมาในบทความนี้ใช้คำเรียกแทนผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่า “กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ (taksin motoshushou shijisha)” มีเพียง 1 ฉบับเท่านั้นที่ใช้คำว่า “กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล (hanseifu demotai)” ควรกล่าวด้วยว่า จากการที่ผู้เขียนได้สังเกตทั้งสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่น หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยเอง ส่วนใหญ่ของสื่อเหล่านั้นใช้คำเรียกแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่า “ฝ่ายทักษิณ (taksin ha)”

น.พ.เหวง โตจิราการ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ที่คนเสื้อแดงมาชุมนุมนี้ มาด้วยจิตสำนึกและเจตจำนงที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มิใช่มาด้วยคุณทักษิณบงการและไม่ได้ทำเพื่อคุณทักษิณ (“รายการคมชัดลึก (พิเศษ)”, 11 เมษายน พ.ศ. 2553.) คำถามคือ หากคนเสื้อแดงได้วางคุณทักษิณลงแล้วอย่างที่แกนนำว่าไว้จริง เราก็ยังไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภาพที่สื่อออกไปก็ยังคงเป็นที่กังขาของผู้คนทั่วไป ไม่เพียงเฉพาะในบรรดาคนไทยเอง แต่รวมไปถึงสื่อต่างประเทศด้วย 

ไม่ว่าสิ่งที่ น.พ.เหวงให้สัมภาษณ์ไว้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าการผูกติดคุณทักษิณไว้กับการชุมนุมย่อมไม่ส่งผลดีต่อคนเสื้อแดงเท่าไรนัก แต่จะทำอย่างไรจึงจะตัดคุณทักษิณออกไปจากคนเสื้อแดงได้เล่า?

 

............................................................................ 

*ผู้เขียนได้แปลบทบรรณาธิการฉบับเต็มของหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับไว้ หากผู้ใดสนใจสามารถอ่านได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
Asahi (http://issuu.com/apanida/docs/shasetsu_asahi_20100413)
Yomiuri (http://issuu.com/apanida/docs/shasetsu_yomiuri_20100413)
Mainichi (http://issuu.com/apanida/docs/shasetsu_mainichi_20100413)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net