Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การใช้คำว่า “อย่าพาคนไปตาย” กับแกนนำ นปช.ในบทความนี้ ไม่ได้ใช้ในความหมายเชิงประณาม หรือเพื่อทำลายความน่าเชื่อถืออย่างที่ฝ่ายตรงข้ามใช้กัน

แต่ใช้ในความหมายเชิง “ข้อเท็จจริง” ว่า ถ้าแกนนำประเมินสถานการณ์แล้ว น่าเชื่อว่าวิธีการต่อสู้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อเกิดสถานการณ์แทรกซ้อนที่อยู่เหนือการควบคุมของตนเองเป็นต้นแล้ว จะสุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายของผู้คน แกนนำก็ยังขืนเสี่ยงให้ดำเนินการเช่นนั้นต่อไปแล้วก็เกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นมาจริงๆ เช่นนี้แล้วย่อมเรียกได้ว่าแกนนำ “พาคนไปตาย” (แม้ไม่ได้มีเจตนา/ผลประโยชน์ใดๆอยู่เบื้องหลังก็ตาม)

 
ทำไมแกนนำจึงต้องไม่พาคนไปตาย (แม้ในความหมายดังกล่าว) เพราะว่าบทบาทที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของแกนนำในการชุมนุม คือ การป้องกันอันตราย หรือการรักษาความปลอดภัยของมวลชน
 
แกนนำต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ชีวิตของมวลชนเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด เพราะนอกจากจะมีค่าในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้ว ยังมีค่าอย่างยิ่งในฐานะเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายในการต่อสู้เพื่อบรรลุอุดมการณ์ร่วมกัน
 
ปราศจากมวลชนที่ร่วมเสียสละต่อสู้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่แล้ว ลำพังแกนนำต่อให้ฉลาดล้ำเลิศเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้การต่อสู้มีพลังไปสู่ชัยชนะได้ ฉะนั้น หากมีการคิดใช้ชีวิตของมวลชนเป็น “เครื่องมือ” เพื่อชัยชนะทางการเมือง ย่อมเป็นความอำมหิตอย่างยิ่งที่สังคมอารยะใดๆไม่อาจยอมรับได้
 
หากพิจารณาข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาในครั้งนี้ จะเห็นว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ประสงค์ชัยชนะทางการเมืองเพียงอย่างเดียวแน่นอน เพราะคนเสื้อแดงได้ชูว่าระ “ไพร่ล้มอำมาตย์” ควบคู่กันไปด้วย ฉะนั้น เป้าหมายใหญ่ของการต่อสู้จึงอยู่ที่ “ชัยชนะทางความคิด” เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
 
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ชัยชนะเฉพาะหน้าทางการเมืองเป็นเพียงเป้าหมายรอง แต่เป้าหมายหลักคือล้มระบบอำมาตย์ (ที่ไม่ใช้ล้มสถาบัน แต่อาจต้องออกแบบกติกาเกี่ยวกับอำนาจของสถาบันให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น)
 
ปัญหาในเวลานี้คือ แกนนำเสื้อแดงกำลังต่อสู้เสมือนว่า ชัยชนะทางการเมืองคือเป้าหมายหลัก แล้วเอาเรื่องล้มอำมาตย์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก (ที่ว่าเป็นเป้าหมายหลักเพราะว่ามีแต่บรรลุเป้าหมายนี้ได้แล้วเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าการเปลี่ยน “ขั้วอำนาจ” ทางการเมืองจึงอาจเกิดมีได้) มาสร้าง “วาทกรรม” ปลุกเร้ามวลชนเสมือนเป็นเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้าทางการเมือง
 
เพราะมียุทธศาสตร์เช่นนี้หรือไม่? ยุทธวิธีของแกนนำเสื้อแดงจึงปฏิเสธการเจรจารอบที่ 3 แต่เร่งยกระดับการชุมนุมกดดันรัฐบาลให้ยุบสภาทันทีท่ามกลางสถานการณ์ที่มีระเบิด และการยิงเอ็ม 79 เป็นรายวัน และการเตรียมกำลังเต็มอัตราศึกของรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สุมเสี่ยงต่อความรุนแรงนองเลือดอย่างยิ่ง
 
จริงอยู่เหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน 2553 เป็นความผิดพลาดในการสลายการชุมนุมที่ทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่แกนนำจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้อย่างสิ้นเชิงจริงหรือ?
 
เพราะไหนจะเรื่องปฏิเสธการเจรจาแล้วเร่งการชุมนุมกดดันรัฐบาลในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง การบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ การยิงต่อสู้กันของทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่า
 
ไหนจะเรื่องราวยุทธวิธี 3 ประสาน ของ “นายใหญ่” ที่ถูกตีแผ่ออกมาเรื่อยๆ และไหนจะการปรากฏภาพของ เสธ.แดงในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงบ่อยขึ้นๆ และขยันให้สัมภาษณ์ที่ไม่ได้เพิ่มคะแนนให้กับความน่าเชื่อถือในแนวทาง “สันติ อหิงสา” ของมวลชนเสื้อแดงใดๆ เลย
 
สภาพการณ์ที่เป็นจริงในวันนี้ยังมองไม่เห็นว่าเสื้อแดงจะประสบชัยชนะทางการเมืองในทันทีได้อย่างไร และยิ่งเร่งให้ชนะเร็วในสถานการณ์ที่ยังสุ่มเสี่ยง ซ้ำยังไปทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนเมืองมากขึ้น (ดังที่พันธมิตรฯ เคยทำกรณียึดสนามบินสุวรรณภูมิ) ชัยชนะทางความคิดอันเป็นเป้าหมายใหญ่ยิ่งดูจะอยู่ห่างไกลความเป็นจริงออกไปมากขึ้น
 
แต่ถึงแม้จะชนะทางการเมืองทันทีในวันนี้ ชัยชนะทางความคิดก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน สู้ออมกำลัง ปิดประตูความสูญเสียทั้งแก่ชีวิตเลือดเนื้อมวลชนเสื้อแดงเอง แก่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนเมือง ที่สำคัญแก่ความน่าเชื่อถือของอุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงเอง
 
ผมเห็นว่า แกนนำเสื้อแดงควรหวนคืนสู่โต๊ะเจรจา ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลกำหนดกรอบเวลาในการเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องทำก่อนการเลือกตั้ง แนวทางตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นองเลือด วันที่ 10 เมษายน และควรขอใช้พื้นที่ “สื่อของรัฐ” เพื่อเสนอข้อเท็จจริงของฝ่ายตนให้สมดุลกับฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเสื้อเหลืองด้วย
 
แกนนำเสื้อแดงจุดกระแสติดแล้วเรื่อง “ไพร่ล้มอำมาตย์” ทำให้ทุกฝ่ายในสังคมหันมามองปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ต่อไปนี้แกนนำต้องเข้าสู่เวทีการใช้เหตุผลให้มากขึ้น ลดการปลุกเร้าอารมณ์รุนแรง การด่าทอ แต่เน้นการเสนอข้อเท็จจริง แนวคิด อุดมการณ์ และนโยบายที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบอำมาตย์อีกต่อไป  
 
แต่ถ้ายังดึงดันสู้ต่อไปตามยุทธวิธีเดิม ทั้งๆที่รู้ว่าสุมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายของมวลชน ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง มวลชนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด คนชนบทก็อาจมีค่าเพียงแค่ถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ของผู้กระหายอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net