Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาเมื่อปีที่แล้วของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ หัวข้อ "นโยบายและการผลักดันปฏิรูปสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์" “ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยปกติหรือมีความขัดแย้งสูง ขอให้สื่อช่วยคิดช่วยหาแนวทางทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยไม่บิดเบือนความจริง รวมทั้งไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนที่มีวาระในเชิงการเมือง”

หมายเหตุ - การปาฐกถาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวข้อ "นโยบายและการผลักดันปฏิรูปสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์" ในงานราชดำเนินเสวนานัดพิเศษเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 52 เวลา 13.40 น. ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

“มีเป้าหมายว่าอยากจะเห็นเอ็นบีทีมีลักษณะคล้ายๆ กับโทรทัศน์สาธารณะ แต่ยังคงมีพื้นที่สำหรับการชี้แจงงานของราชการหรือรัฐอยู่ เพราะหลายเรื่องจำเป็นต้องมีพื้นที่ในการชี้แจงการทำงาน เช่น การอธิบายชี้แจงนโยบาย โครงการ มาตรการที่ผลักดันออกไปให้เกิดความเข้าใจว่าทำอะไรด้วยเหตุอะไร ไม่ใช่การใช้ประโยชน์ในทางการเมือง หลายคนอาจจะบอกว่าเส้นแบ่งทำได้ยาก แต่โดยสำนึกแล้วแบ่งได้ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายค้านเพื่อชี้แจงการทำงาน ทั้งนี้ อยากจะส่งเสริมให้การใช้สื่อเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนเสนอมุมมองที่แตกต่างกันในมุมมองของนโยบายเป็นหลัก”

000

“ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยปกติหรือมีความขัดแย้งสูง ขอให้สื่อช่วยคิดช่วยหาแนวทางทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยไม่บิดเบือนความจริง รวมทั้งไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนที่มีวาระในเชิงการเมือง เพราะวันนี้ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมือง คือการช่วงชิงพื้นที่สื่อด้วยการทำอะไรให้ผิดปกติให้มากที่สุดเพื่อให้สื่อนำเสนอ นับวันสังคมก็จะเสพแต่ความไม่ปกติในสังคม ถ้าสื่อทะลุข้อคิดตรงนี้ได้จะช่วยได้มากในการนำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความเป็นปกติ รวมทั้งจะทำให้การทำงานของทุกฝ่ายรวมทั้งสื่อสารมวลชนง่ายขึ้น การกระทบกระทั่งระหว่างสื่อกับรัฐก็จะลดลงด้วย”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 13 มกราคม 2552
กล่าวที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

(แฟ้มภาพ: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกอากาศสดรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ 4 เมษายน 2553, ที่มา: www.pm.go.th)

 

000

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 52 เวลา 13.40 น. ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง "นโยบายและการผลักดันปฏิรูปสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์" ในงานราชดำเนินเสวนานัดพิเศษ

พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาสรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า

 

วันนี้สื่อมีความสำคัญมากขึ้นด้วยเหตุผลใหญ่ 2 ประการ คือสภาวะแวดล้อมของโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร ทำให้สื่อมีบทบาทอิทธิพลในการสร้างค่านิยมให้กลุ่มเยาวชน และทุกคนมีความกังวลกับความขัดแย้งในสังคม ซึ่งรัฐบาลก็ความพยายามลดความขัดแย้ง เพื่อทำให้บ้านเมืองและสภาวะของการเมืองกลับสู่ปกติให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งเชื่อว่าสื่อมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้ จึงต้องมาดูว่าจะทำงานกันอย่างไร แต่ภายใต้ความเชื่อแนวคิดพื้นฐานแล้วทุกคนต้องการเห็นการทำงานของสื่อบนหลักการของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และบนหลักการของความเป็นมืออาชีพในการทำหน้าที่สะท้อนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เสนอความคิดเห็น มุมมองต่าง ๆ ต่อประชาชน

การจะปฏิรูปต้องประกอบด้วยสองส่วนคือ ต้องดูโครงสร้างดูระบบ ถ้าไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างระบบได้หลาย ๆ เรื่อง เชื่อว่าผู้ปฏิบัติในวงการสื่อสารมวลชนจะทำงานตามเป้าหมายเสนอความจริงสู่สังคมได้ลำบาก ทั้งนี้ สิ่งที่คุกคามการทำงานของสื่อทุกยุคทุกสมัยมีทั้งอำนาจรัฐที่ถ้าใครสามารถควบคุมสื่อได้จะมีโอกาสได้รับชัยชนะในการต่อสู้ ทำให้หลายครั้งคนที่เข้าสู่อำนาจรัฐมีความคิดใช้อำนาจรัฐเอาสื่อมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองซึ่งเป็นจุดที่เป็นปัญหามาโดยตลอดโดยเฉพาะสื่อของรัฐ และอำนาจทุน ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอำนาจรัฐกับอำนาจทุนไปอยู่ในที่เดียวกันทำให้ยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น ซึ่งรูปแบบของการแทรกแซงที่ได้ผลมากคือการกดดันฝ่ายอำนาจทุน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้สื่อสารมวลชนก็คือธุรกิจ ทำให้มีการใช้อำนาจทุนเข้ามากดดัน จึงเป็นช่องทางสำคัญในการเข้ามาแทรกแซงหรือบิดเบือนสื่อสารมวลชน ดังนั้นมาตรการที่สำคัญในการแก้ปัญหาหรือการปฏิรูปจึงต้องดูทั้งสองด้าน โดยในส่วนอำนาจรัฐ ในกลุ่มแรกที่ต้องทำคือเรื่องกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายบางเรื่องที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น กรณีกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ รวมทั้งต้องเร่งรัดออกกฎหมายของวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง และองค์กรกำกับและกติกาในเรื่องนี้ คือ กสทช.

"ในฐานะที่เป็นผู้เสนอกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการเมื่อ 12 - 13 ปีที่แล้ว ก็พบความเป็นจริงว่าถึงวันนี้กฎหมายบังคับใช้มา 10 กว่าปีก็ยังไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ในวันที่เราเสนอ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการยังเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าอยู่ในฝ่ายตรวจสอบมา 7-8 ปี บอกได้เลยว่าถ้าใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อเอาข้อมูล ไม่มีทางตรวจสอบทัน ที่สุดก็จะเห็น ฝ่ายค้านทำงานก็ยังต้องอาศัยวิธีการแนวทางอื่น ๆ ที่จะได้ข้อมูล ยังไม่เคยเห็นชุดไหนสามารถที่จะไปยื่นใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการแล้วตรวจสอบได้อย่างจริงจัง ถ้าเราเริ่มต้นจากการทำให้ข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิทธิของประชาชนที่จะรับรู้ ยกเว้นข้อมูลที่มีเหตุผลเฉพาะตามกฎหมาย แล้วปฏิบัติอย่างนี้ได้จริง นั่นคือการปูทางที่ดีสำหรับการมีสื่อที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ ดีกว่าต้องมาตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์บนการคาดการณ์เอาว่าข้อมูลจริง ๆ เป็นอย่างไร"

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องเร่งรัดออกกฎหมายของวิทยุโทรทัศน์และวิทยุ กระจายเสียง และองค์กรกำกับและกติกาในเรื่องนี้ คือ กสทช. ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2542 และมีปัญหาเรื่องของสื่อสารมวลชนไปพันกับเรื่องโทรคมนาคมมาโดยตลอด จนถึงวันนี้ก็ยังมีความเห็นเป็นสองฝ่ายว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือสองเรื่อง แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งวันข้างหน้าเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้เป็นสองเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องบริการข่าวผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์ ที่เป็นข่าวทันสถานการณ์ที่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะที่สุดก็ไปเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการซึ่งไปพันกับเรื่องโทรคมนาคม พอเป็นเรื่องเดียวกันก็จะเป็นธุรกิจหรือผลประโยชน์มหาศาล จนกระทั่งการจะมีองค์กรกำกับที่ทุกคนมั่นใจนั้นเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้ มีความห่วงใยในเรื่องของการมีหลักประกันของสื่อบางประเภท เช่น สื่อของชุมชน สื่อที่ต้องทำงานในเชิงสาธารณะ ซึ่งได้ให้นโยบายว่าควรจะมีการกำหนดสัดส่วนของกฎหมายไว้ เพื่อเป็นหลักประกันในการกระจายสื่อ

"อยากจะเห็นภาพคร่าว ๆ ว่า ต้องการผลักดันกฎหมายนี้เร็ว ต้องการกรรมการที่จะเกิดขึ้นได้จริง มีความเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ในส่วนของการจัดสรรคลื่นความถี่มีหลักเกณฑ์อยู่ เช่นการจัดสรรเรื่องสื่อชุมชน และสื่อทุกสื่อควรจะได้มีการสร้างความตื่นตัวที่จะมีมาตรฐานบางอย่างในการนำเสนอเนื้อหาสาระในรายการต่าง ๆ และการกำหนดช่วงเวลาในการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นสื่อของใคร เนื้อหาที่เป็นสาระสร้างสรรค์ควรจะเป็นความรับผิดชอบของสื่อทุกประเภทและทุกเจ้าของ"

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการปรับรูปแบบองค์การของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีซึ่งเป็นสื่อของรัฐว่า เป็นโจทย์ที่ยาก โดยมีเป้าหมายว่าอยากจะเห็นเอ็นบีทีมีลักษณะคล้าย ๆ กับโทรทัศน์สาธารณะ แต่ยังคงมีพื้นที่สำหรับการชี้แจงงานของราชการหรือรัฐอยู่ เพราะหลายเรื่องจำเป็นต้องมีพื้นที่ในการชี้แจงการทำงาน เช่น การอธิบายชี้แจงนโยบาย โครงการ มาตรการที่ผลักดันออกไปให้เกิดความเข้าใจว่าทำอะไรด้วยเหตุอะไร ไม่ใช่การใช้ประโยชน์ในทางการเมือง หลายคนอาจจะบอกว่าเส้นแบ่งทำได้ยาก แต่โดยสำนึกแล้วแบ่งได้ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายค้านเพื่อชี้แจงการทำงาน ทั้งนี้ อยากจะส่งเสริมให้การใช้สื่อเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนเสนอมุมมองที่แตกต่างกันในมุมมองของนโยบายเป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีแนวคิดให้สื่อทุกแขนงจัดสรรช่วงเวลา และพื้นที่ในการนำเสนอสิ่งที่มีสาระ และเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการทำงานของสื่อว่า

ไม่อยากให้เป็นเรื่องของรัฐหรือการเมืองเข้าไปยุ่ง สื่อควรจะมีการกำกับดูแลกันเอง แล้วมีการประเมินบทบาทของสื่อเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการทำหน้าที่ให้เป็นไปตามเป้าหมายหรืออุดมการณ์ที่พูดกันไว้แต่ต้น เพราะมีหลายอย่างที่น่าเป็นห่วง เช่น การนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์ที่ค่อยๆ หายไปกลายเป็นการคุยข่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเป็นอันตราย เพราะการคุยข่าวมีลักษณะของการชี้นำ ไม่เหมือนการเสนอรายการข่าวที่เป็นการอ่านข่าว หากมีการคุยข่าวอย่างเดียวไม่มีรายการข่าวปกติเลยก็น่าเป็นห่วง ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อต้องหารือกันถึงกรอบความพอดี มาตรฐาน และจรรยาบรรณ

นายกรัฐมนตรีกล่าวฝากข้อคิดว่า

ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยปกติหรือมีความขัดแย้งสูง ขอให้สื่อช่วยคิดช่วยหาแนวทางทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยไม่บิดเบือนความจริง รวมทั้งไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนที่มีวาระในเชิงการเมือง เพราะวันนี้ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมือง คือการช่วงชิงพื้นที่สื่อด้วยการทำอะไรให้ผิดปกติให้มากที่สุดเพื่อให้สื่อนำเสนอ นับวันสังคมก็จะเสพแต่ความไม่ปกติในสังคม ถ้าสื่อทะลุข้อคิดตรงนี้ได้จะช่วยได้มากในการนำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความเป็นปกติ รวมทั้งจะทำให้การทำงานของทุกฝ่ายรวมทั้งสื่อสารมวลชนง่ายขึ้น การกระทบกระทั่งระหว่างสื่อกับรัฐก็จะลดลงด้วย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทำงานตลอด 17 ปีที่ผ่านมาไม่เคยคุกคามแทรกแซงสื่อ อาจจะตอบโต้สื่อบ้างในการใช้สิทธิเวลาที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสื่อ แต่ก็ใช้น้อยมาก และจะพยายามรักษาแนวทางนี้ไว้ ทั้งนี้ เข้าใจดีว่าการมาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมีการถูกตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ยืนยันที่จะใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อรักษาหลักการที่สำคัญกว่า คือการยอมรับการตรวจสอบและสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยหวังว่าการอดกลั้นนี้จะได้รับการตอบสนองด้วยคุณภาพและความรับผิดชอบของสื่อในการตรวจสอบรัฐบาล

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

นายกรัฐมนตรีเชื่อสื่อมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 13 ม.ค. 52 http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=183090

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net