17 เม.ย. 53 - กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียุบสภาทันที เพราะนอกจากการตัดสินใจผิดพลายสลายชุมนุมแล้ว ที่ผ่านมาพบรัฐบาลไม่มีความจริงใจแก้ปัญหาแรงงาน แนะพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งมีนโยบายให้ผู้ใช้แรงงานชัดเจนนำไปใช้จริง
ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังนี้
……
จากสถานการณ์ความรุนแรงในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ของการใช้กำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลในการสลายการชุมนุม (ขอพื้นที่คืน) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกัน 24 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 800 คน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้เกิดภาพลบต่อรัฐบาลที่บอกว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน และอาจมีผลต่อปัญหาการจ้างงานในอนาคต
สภาวการณ์ภายใต้ประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในระหว่างที่มีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ผู้ใช้แรงงานและองค์กรของผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้ ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่รัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ได้เข้ามาดูแลปัญหาของผู้ใช้แรงงาน นโยบายด้านแรงงานที่เคยแถลงไว้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากการก่อตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วมยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลกลับสนับสนุนการลงทุนกับนักธุรกิจโดยไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้าง
รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของสาเหตุ เช่น การให้การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ ที่ 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม ปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงานไม่ได้รับการแก้ไข มีการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงอย่างแพร่หลายและเป็นการกดขี่ขูดรีดแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม
กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ขอให้รัฐบาลในฐานะผู้มีหน้าที่ๆ จะต้องปกป้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางยุติความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาทันที เพื่อยุติปัญหาการเผชิญหน้าและยุติปัญหาการใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อีก การยุบสภาจะเป็นทางออกที่มีการสูญเสียน้อยที่สุด และเป็นการคืนอำนาจให้กับผู้ใช้แรงงานรวมถึงประชาชนทั่วไป ในการที่จะกลับไปเลือกตั้งผู้แทนของตนเองใหม่
2. หลังจากที่มีการยุบสภา ระหว่างรอการเลือกตั้งให้ให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนำเสนอนโยบายด้านแรงงานที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง เช่น การให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวของคนงานและการเจรจาต่อรองร่วมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ คือ ให้มีการยกเลิกการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง
3. ให้รัฐบาลรับผิดชอบและให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับการบาดเจ็บและความเสียหายจากเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 อย่างเป็นธรรม
4. ห้ามมิให้รัฐบาลปิดกั้นเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลที่เป็นจริง รวมถึงสื่อต่างๆ ให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ให้เกิดการยั่วยุให้ประชาชนในสังคมเกลียดชังกัน
กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก
17 เมษายน 2553