Skip to main content
sharethis

ศอฉ. ชี้แจง ‘สุเทพ’ ยังเป็น ผอ.ศอฉ. แต่เปลี่ยนให้ ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โวยได้รถทหารคืนแต่ไม่ได้คืนอาวุธ ขู่หากผู้ชุมนุมอยู่ที่ราชประสงค์เท่ากับปกป้องการก่อการร้าย ลั่นตอนนี้กำลังเตรียมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เพื่อ ‘ขอคืนพื้นที่’ ส่วนการรับผิดชอบไม่แค่คนสั่งการแต่หมายถึงกำลังพลทุกนาย โต้ ‘ชัยสิทธิ์’ ยันยึดหลักสากลไม่ได้สลายตอนกลางคืน แต่ผู้ชุมนุมเข้ามาผลักดันเจ้าหน้าที่เอง

 

 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกและโฆษก ศอฉ. เมื่อ 17 เม.ย. (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

 

‘สรรเสริญ’ แจงสุเทพยังเป็น ผอ.ศอฉ. ส่วนอนุพงษ์เป็นผู้กำกับปฏิบัติ

วานนี้ (17 เม.ย.) เวลา 11.30 น. ณ แหล่งสมาคมนายทหาร กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงชี้แจงสื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ศอฉ. ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธานการประชุมดังนี้

จากที่มีการประกาศแต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบคนใหม่ จากเดิม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ปรากฏมีการนำเสนอข้อมูลที่มีความคาดเคลื่อนไป ทั้งนี้ ในศอฉ. ผู้ที่รับผิดชอบในภาพรวมทั้งหมดคือผอ. ศอฉ. รองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถัดจากผอ.ศอฉ. จะมีผู้กำกับการปฏิบัติ ซึ่งยังเป็น รองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เหมือนเดิม และในลำดับถัดไปคือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ มีการเปลี่ยนแปลงจาก รองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เป็นพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ทำหน้าที่แทน

โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ในศอฉ. มีทั้งฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมือง ผู้ที่เป็น ผอ.ศอฉ. จะเป็นผู้กำหนดแนวทางและนโยบายในภาพรวม ซึ่งจะต้องมีการประสานกับภาครัฐบาลเพื่อให้ทราบแนวทางและนโยบายของรัฐบาล แล้วมาแปลงรายละเอียดเป็นนโยบายที่จะสั่งการลงไปยังศอฉ. ให้ปฏิบัติในแนวทาง โดยผู้กำกับการปฏิบัติยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ จะเป็นผู้กำกับรายละเอียดการปฏิบัติของหน่วยต่าง ๆ ภายในศอฉ. ซึ่งมีทั้งหน่วยกำลัง หน่วยส่งกำลัง หน่วยทีมกฎหมาย ที่ปรึกษา การรักษาพยาบาล และอีกหลายเรื่อง ฉะนั้นผู้กำกับการปฏิบัติจะกำกับในทุกๆ เรื่อง ส่วนลำดับสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงคือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ จะเป็นผู้ที่สั่งการในเรื่องการใช้กำลัง ที่เปลี่ยนจากรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ เป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อให้การควบคุมสั่งการ มีสายการบังคับบัญชาที่สั้นขึ้น ไม่ต้องขออนุมัติขึ้นไปถึงรองนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ในการกำกับการปฏิบัติในภาพรวม และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ ก็ยังรับผิดชอบในภาพรวมเหมือนเดิม จึงเรียนมาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

โวยได้รถทหารคืนแล้ว แต่ยังไม่ได้คืนอาวุธ

พร้อมกันนี้ ในเรื่องความห่วงใยเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ได้รับคืน ซึ่งได้มีการแจ้งความไป โดยได้รับคืนในส่วนยานพาหนะมาแล้ว แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เคยไปตั้งอยู่บนเวทีของคนเสื้อแดงที่บอกว่ายึดอาวุธได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเป็นห่วงกลัวว่าจะมีผู้ไม่หวังดี ผู้ที่สร้างสถานการณ์ความรุนแรง นำอาวุธเหล่านี้ไปใช้เพื่อสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง และโยนความผิดให้คนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่ง

"ฉะนั้นจึงขอวิงวอนแกนนำคนเสื้อแดงว่า สิ่งที่ท่านได้เคยนำไปวางกองอยู่บนเวทีว่าเป็นอาวุธที่ยึดได้ ขอให้รีบนำมาคืนเจ้าหน้าที่โดยด่วน ซึ่งเราได้แจ้งความไปแล้ว อาวุธสงครามถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง เอาไปเก็บสะสมไว้ หรือเอาไปยึดไว้ไม่ได้ มีความผิด" โฆษกศอฉ.กล่าว

 

ลั่นเป็นธรรมดาที่ต้องเสียใจที่เพื่อนร่วมอาชีพเสียชีวิต แต่ยังเห็นเสื้อแดงเป็นเพื่อนร่วมชาติ

นอกจากนี้ ศอฉ.ได้มีการกำชับสั่งการ และมีการทำความเข้าใจ เพราะปรากฏว่าเป็นที่ลือกันในเชิงข้อมูลข่าวสารคล้ายทำนองว่า เจ้าหน้าที่ทหารมีความเจ็บแค้นต่อผู้ชุมนุม ต้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ทุกคน ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ มีหัวใจ มีความรู้สึก เป็นธรรมดาที่ต้องรู้สึกเสียใจต่อกรณีที่เพื่อนร่วมอาชีพต้องได้รับบาดเจ็บ ต้องเสียชีวิต แต่ยืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ทุกนายไม่ได้มีความรู้สึกเจ็บแค้น เราจะเจ็บแค้นกับพี่น้องประชาชนไม่ได้ จึงได้มีความเข้าใจกันในที่ประชุม ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกันว่าตนเองยังมีความรู้สึกกับกลุ่มผู้ชุมนุมเหมือนเดิม ว่าคนเสื้อแดงเป็นคนไทย เป็นเพื่อนร่วมชาติ ไม่ใช่ศัตรูของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการทุกนาย และอยากวิงวอนด้วยว่าขอให้คนเสื้อแดงทุกคนมองเจ้าหน้าที่ในลักษณะเช่นเดียวกัน แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่าต้องเผชิญหน้ากันเวลาที่จะบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของสถานการณ์ แต่ในภาพรวมเราต้องรู้สึกต่อกันอย่างนี้เพราะเราคือคนไทย เพื่อให้สามารถพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ และลดความรุนแรงลงได้

 

ยันเจ้าหน้าที่ไม่มีความมั่ว แต่ผู้ก่อการร้ายทำให้เกิดความชุลมุน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการหารือกันหรือไม่ว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดเหตุการชุลมุนขึ้นอีก โฆษกศอฉ. กล่าวว่า ความชุลมุนที่เกิดขึ้น ต้องเข้าใจในภาพรวมว่าเจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้กฎหมาย โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของการใช้กำลัง ไม่ได้มีความมั่วเกิดขึ้นในฝ่ายของเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่เกิดคือกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุมนำอาวุธมาใช้ ยังความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเอง จึงเกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมเอง และเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติงานในครั้งต่อไป เจ้าหน้าที่จะต้องมีความระมัดระวังตัวมากกว่านี้ ต้องมีความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติที่สามารจะปกป้องชีวิตเจ้าหน้าที่เองด้วย ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน

 

หากผู้ชุมนุมยังอยู่ที่ราชประสงค์เท่ากับปกป้องการก่อการร้าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อบอกว่ามีผู้ก่อการร้ายอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมฯ ศอฉ. มีแนวทางอย่างไรต่อไปเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายเร็วขึ้น โฆษกศอฉ. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพยายามทำ โดยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สังคมโดยรวม และพยายามสื่อความหมายนี้ลงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมอยู่ในพื้นที่ราชประสงค์ว่า อาจจะถูกหยิบเป็นเหยื่อของความรุนแรง ขอวิงวอนพี่น้องที่เป็นญาติ หรือคนรู้จักกับผู้ชุมนุมได้สื่อสารเรื่องนี้ให้ผู้ชุมนุมทราบ และออกจากพื้นที่ชุมนุม ถ้าผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ได้เร็วเท่าไร เราก็สามารถจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายได้เร็วเท่านั้น แต่ถ้าท่านยังอยู่ ก็เท่ากับท่านปกป้องกลุ่มก่อการร้าย และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เจ้าหน้าที่ สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบัน ตัวแปรอยู่ที่ท่าน ผู้ชุมนุมผู้ไม่ได้รู้เรื่องกับการก่อการร้าย ถ้าท่านออกเร็ว บ้านเมืองจบเร็ว

 

ตอนนี้กำลังเตรียมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ สำหรับการ ‘ขอคืนพื้นที่’ แยกราชประสงค์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศอฉ. มีการหารือถึงความจำเป็นที่ต้องขอคืนพื้นที่แยกราชประสงค์หรือไม่ โฆษกศอฉ. กล่าวว่า เรื่องการขอคืนพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมาย มีหลายคนพยายามถามตนว่าการขอคืนพื้นที่ การสลายการชุมนุม ทำหรือไม่ ขอเรียนว่า ศอฉ. จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายในภาพรวม คนที่เคยทำผิดต้องได้รับผิด การขอคืนพื้นที่ การปฏิบัติในหลากหลายลักษณะ ได้รวมอยู่ในการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างต้องทำ เพียงแต่เมื่อไรเท่านั้นที่จะมีความพร้อม ขณะนี้เรากำลังเตรียมการในทุก ๆ เรื่องให้พร้อม ทั้งการฟื้นฟูกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ให้มีความพร้อมควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับสังคมและกลุ่มผู้ชุมนุม

 

กำลังพลทุกนายใน ศอฉ. ต้องรับผิดชอบด้วยกันทุกคน ไม่ใช่แค่คนสั่งการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการสั่งการใด ๆ ที่เกิดข้อผิดพลาด ผู้บัญชาการทหารบกหรือรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ โฆษกศอฉ. กล่าวว่า กำลังพลทุกนายใน ศอฉ. มีส่วนรับผิดชอบด้วยกันทุกคน เพียงแต่สถานะความรับผิดชอบแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานคนสุดท้ายก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าทำเกินคำสั่ง โฆษกก็ต้องรับผิดชอบถ้าชี้แจงทำความเข้าใจไม่ตรงกับสิ่งที่ ศอฉ. ต้องการ หัวหน้าผู้รับผิดชอบผู้กำกับการปฏิบัติ ผอ.ศอฉ. รับผิดชอบร่วมกันทั้งหมดตามภาระหน้าที่

ต่อข้อถามว่า คนที่รับผิดชอบหลักจะดูแลในกรณีที่เกิดเหตุอะไรขึ้น โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า อย่างที่เรียนให้ทราบจะมีหน้าที่หลักหรือรองอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนรับผิดชอบตามภาระหน้าที่ของแต่ละคน

ต่อข้อถามว่า คนที่ออกคำสั่งนั่นคือคนที่รับผิดหลักใช่หรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ไม่ใช่ ทุกคนรับผิดชอบตามภาระหน้าที่ที่ได้รับคำสั่ง อย่าไปพยายามมองว่าใครคือเบอร์สูงสุดที่จะต้องรับผิด เพราะทุกคนรับผิดชอบอยู่แล้วตามภาระหน้าที่ "ท่านรองนายกรัฐมนตรี สุเทพฯ ก็ต้องรับผิดชอบในฐานะผอ.ศอฉ.และผู้กำกับการปฏิบัติ ท่าน ผู้บัญชาการทหารบกก็รับผิดชอบในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะต้องสั่งการการใช้กำลังของหน่วย"

 

โครงสร้างใหม่ ผบ.ทบ.สามารถสั่งกำลังได้ทันที

ต่อข้อถามว่า ดูนโยบายการของหัวหน้าผู้รับผิดชอบการใช้กำลังของหน่วยเป็นอย่างไรบ้างได้มีการหารือในที่ประชุม ศอฉ.หรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยอะไรในที่ประชุม และยังไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างของ ศอฉ. แต่อย่างใด โครงสร้างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ทำให้สายการสั่งการในการใช้กำลังของหน่วยสั้นขึ้น แทนที่จะต้องไปรายงานท่านรองนายกฯสุเทพฯ เพื่อขออนุมัติก่อนจะสั่งใช้กำลัง ท่านผบ.ทบ.ก็สามารถที่จะสั่งได้ อย่างไรก็ตามโดยความเป็นจริงแล้ว ท่านผบ.ทบ.ก็จะต้องรายงานให้รองนายกฯ สุเทพฯ ทราบ แต่อนุมัติการใช้กำลังผบ.ทบ.สามารถดำเนินการสั่งการได้ทันที

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ว่าตรงนี้เป็นคำสั่งให้ ผบ.ทบ.ทำอะไรหรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า อย่าไปมองอย่างนั้น เราพยายามทำให้การควบคุมสั่งการเป็นไปด้วยความกระชับและรวดเร็วสามารถตอบรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้

 

ยันยึดหลักสากลไม่ได้สลายตอนกลางคืน แต่ผู้ชุมนุมเข้ามาผลักดันเจ้าหน้าที่เอง

ต่อข้อถามว่า เมื่อเช้าพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ได้ให้ความเห็นว่าการสลายการชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำผิดหลักการตามหลักสากล เพราะการปฏิบัติการวันนั้นได้ทำในเวลา 18.00 น. โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ไม่ถูกต้องครับ เราดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเวลากลางวันและโฆษกฯ ก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่าในยามค่ำนั้น เป็นอุปสรรคต่อทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและเป็นปัญหาต่อผู้ชุมนุมด้วย เพราะฉะนั้นเวลา 18.15 น. จึงไม่มีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพราะมีการตั้งแนวขอบโดยรอบแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเวลา 18.15 น. นั้นเป็นการที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับเข้ามาผลักดันเจ้าหน้าที่ออกไป ดังนั้นความเข้าใจของท่านจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

 

ยันบุคคลที่ต้องมารายงานตัว หากไม่ผิดก็จะปล่อย

ต่อข้อถามว่า เมื่อช่วงเช้าได้มีบุคคลที่ถูกออกหมายเรียกได้มารายงานตัวเพิ่มหรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบ ส่วนที่ พล.ต.ท. ชัชจ์ กุลดิลก ระบุว่าจะใช้หน่วยกองบัญชาการช่วยรบที่ชลบุรีเพื่อเตรียมไว้ขังผู้ที่มารายงานตัวนั้น โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ไม่ใช่ เรื่องของการมีหมายเรียกคือเรามีข้อมูลเบื้องต้นว่า ท่านอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนต่อการชุมนุมที่ผิดกฎหมายอยู่ในขณะนี้ จึงเรียกท่านมาขอข้อมูลและขอความร่วมมือซักถามรายละเอียด ซึ่งหากซักถามแล้วไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจน เราก็ปล่อยท่านไปตามปกติ หมายจับคนละเรื่องกัน ใครที่มีหมายจับจับได้ก็จะไปอยู่ในพื้นที่ที่เรากำหนดไว้ แต่ว่าไม่ใช่พื้นที่เป็นทัณฑสถานหรือห้องขังของคนปกติ แต่เป็นพื้นที่ที่ต้องให้เกียรติตามสมควรและจัดไว้ต่างหาก

ต่อข้อถามว่า อย่างบางท่านอยู่ต่างประเทศจึงไม่สะดวกที่จะมารายงานตัวตรงนี้จะต้องดำเนินการอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ไม่มีครับ เพราะเมื่อวาน (16เม.ย.) ที่ดูรายชื่อของบุคคลที่กำหนดเป็นหมายเรียกไม่มีที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งพลตำรวจตรี อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้รายงานแล้วว่า บุคคลที่พำนักอาศัยในต่างประเทศไม่มีผลข้อผูกพันตามหมายเรียกที่ว่า

ต่อข้อถามว่า บุคคลที่ถูกออกหมายเรียก 51 คน ศอฉ.รับรองความปลอดภัยใช่หรือไม่ถ้าบุคคลดังกล่าวจะมารายงานตัว โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ในขั้นการมารายงานตัวก็มีความปลอดภัยอยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่ของเรา แต่รายงานตัวเสร็จกลับไปท่านก็ใช้ชีวิตตามปกติของท่าน

นอกจากนี้ โฆษก ศอฉ. ยังกล่าวถึงกรณีที่โรงแรม เอสซี ปาร์คได้รับแกนนำ นปช.เข้าพักว่าเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพลตำรวจตรี อำนวยฯ ได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวานว่ากลุ่มผู้ที่เข้าไปพำนักซึ่งมีหมายจับ ไปพำนักอยู่ในโรงแรม เอสซี ปาร์ค นั้นถือว่าเป็นการให้ที่พักพิงแก่บุคคลผู้มีหมายจับว่ามีความผิดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจในข้อมูลทั้งหลายเราก็เรียนเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อมูลก่อนเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ศอฉ. ชี้แจงสื่อ รองนายกฯ สุเทพยังเป็นผอ.ศอฉ. แต่เปลี่ยนให้ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉิน, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 17 เม.ย.

http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=43940

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net