ปฏิรูปประเทศไทย (ให้ล้าหลัง) โดยพันธมิตรฯ และเครือข่ายอำมาตย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การประชุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฯเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา นอกจากสนับสนุนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หุ่นเชิดของอำมาตย์ไม่ยุบสภา จัดการปราบปรามคนเสื้อแดง พันธมิตรฯยังได้ชูประเด็นสำคัญ คือปฏิรูปประเทศไทย สอดคล้องกับเครือข่ายอำมาตย์ เช่น  กลุ่ม 40 สว. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน NGO เครือข่ายพลเมือง สภาพัฒนาการเมือง สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ และสื่ออย่าง TPBS 

องค์กรต่างๆเหล่านี้ล้วนไม่สนับสนุนให้ยุบสภาและได้ออกมาเคลื่อนไหวปฏิรูปประเทศไทยนำร่องให้พันธมิตรฯองค์กรนำของพวกเขาไปก่อนแล้วและสอดประสานกันอย่างลงตัว
 
โดยเนื้อแท้แล้วพวกเขาเหล่านั้นไม่ยอมรับหลักการประชาธิปไตยแม้เพียงพื้นฐาน ที่ทุกคนเท่ากันใน การเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศแบบหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง และพวกเขานิยมระบอบอำมาตยาธิปไตยนั่นเอง และพวกเขาหลายคนชอบเข้าสมัครสมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระต่างๆแบบแต่งตั้งจากอำมาตย์มากกว่าการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่เป็นประจำ
 
การปฏิรูปประเทศไทยของพันธมิตรฯและเครือข่ายอำมาตย์ย่อมนำสู่สังคมไทยล้าหลังถอยหลังเข้าคลองและบิดเบือนการปฏิรูปประเทศอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากว่ามีเหตุผลอย่างน้อย 9 ประการที่ขัดแย้งกับพันธมิตรและเครือข่ายอำมาตย์ คือ
 
ประการแรก การปฏิรูปประเทศไทย ที่สำคัญคือการปฏิรูประบบราชการ กลไกราชการส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพ ซึ่งล้วนเป็นจักรกลของระบอบอำมาตย์ทั้งสิ้นที่คอยขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า เช่น  การรัฐประหาร  การแทรกแซงทางการเมือง  และมีระดับขั้นในการบังคับบัญชาโดยสมาชิกพื้นฐานเช่น ข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด  รวมทั้งภาคสังคมตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ ก่อให้เกิดการคอรัปชั่นดั่งกรณี GT 200   ตลอดทั้งใช้งบประมาณมากขึ้นของกองทัพในรอบ 18 ปี หลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 49
 
ประการที่สอง การปฏิรูปประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ด้วยไม่เพียงต้องสร้างนโยบายและกฎหมาย เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยในหลายมาตรา การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยต้องลดอำนาจนอกระบบ เช่น ให้อำนาจกับกระบวนการตุลาการมากเกินไปโดยไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งถึง 74 คน ฯลฯ และต้องเพิ่มพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากขึ้น เช่น การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด  การมีระบบศาลลูกขุน การให้สิทธิคนงานเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับในสถานที่ประกอบการ  ฯลฯ
 
ประการที่สาม การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม(เหมือนสูตรที่ NGO ท่องจำตลอดเวลา แต่กลับไม่นำมาใช้มาปฏิบัติ) ซึ่งต้องมีกระบวนการจากล่างสู่บนเหมือนเช่นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 40 ต้องมีการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนสาขาอาชีพต่างๆ มิใช่เพียงภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เพียงน้อยนิดของNGO อำมาตย์ทั้งหลายเท่านั้น
 
ประการที่สี่ การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องนำสู่ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ไม่เพียงแต่ทางการเมืองเท่านั้นต้องสร้างความเป็นธรรมเศรษฐกิจสังคมด้วยเช่นกัน  เช่น ต้องมีการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งในหลายประเทศที่จริงได้ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวเนซูเอล่า จีน ฯลฯส่วนหนึ่งก็เพราะว่าอำนาจทางการเมืองของกลุ่มอำมาตย์ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
 
ประการที่ห้า การปฏิรูปประเทศนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีให้ก้าวหน้า ไม่ใช่เก็บภาษีล้าหลังเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ในประเทศปัจจุบัน โดยผ่านภาษีบริโภค โดยไม่มีภาษีที่ดิน ภาษีมรดกเหมือนนโยบายที่สำคัญของคณะราษฎรที่นำโดย ปรีดี พนมยงค์ และมาตรการภาษีที่ก้าวหน้าต้องใช้ได้กับทุกคนไม่มีอภิสิทธิ์ชนคนใดมีข้อยกเว้น ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้สังคม เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการให้ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานของชีวิตจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนได้อย่างเท่าเทียม ถ้วนหน้า
 
ประการที่หก การปฏิรูปประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องปฏิรูปอำนาจรวมศูนย์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วย เช่น กรมป่าไม้  กรมที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ  เพื่อให้ชุมชนและภาคสังคมต่างๆมีส่วนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลย์และเป็นการไม่เปิดช่องให้นายทุนอภิสิทธิ์ชน ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย เช่นกรณี เขายายเที่ยง เขาสอยดาว เป็นต้น ขณะที่ประชาชนผู้ยากไร้อาศัยอยู่ในป่ากลับถูกกฎหมายที่ไม่มีความยุติธรรมจับกุมคุมขัง
 
ประการที่เจ็ด การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้มีความยุติธรรมเท่าเทียมกันไม่ใช่ระบบสองมาตราฐานอย่างที่เห็นและเป็นอยู่
 
ประการที่แปด การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องปฏิรูปความคิดจิตสำนึกให้คนในสังคมไทยรักประชาธิปไตย เคารพกติกาประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยไม่มีความเกลียดชังกัน  ซึ่งต้องปฏิรูประบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนด้วย
 
ประการที่เก้า การปฏิรูปประเทศไทย จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการยุบสภา ก่อนที่ความขัดแย้งจะลุกลามมากขึ้น และเมื่อหลายกลุ่มมีความคิดเห็นต่างกัน โดยกติกาประชาธิปไตยแล้ว ต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ให้พรรคการเมืองซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยหาเสียงสร้างนโยบายว่าจะปฏิรูปประเทศไทย จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อให้ประชาชน เจ้าของเสียงสวรรค์อันแท้จริงได้พิจารณาเลือก

ดังนั้นการปฏิรูปประเทศไทย ของพันธมิตรฯ รัฐบาลอภิสิทธิ์และเครือข่ายอำมาตย์จึงเป็นเพียงกระบวนการขัดขวางการยุบสภาเท่านั้น และบทเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็บอกให้รับรู้ได้ว่าการปฏิรูปตามแนวทางอำมาตย์ทั้งหลาย ย่อมนำพาสังคมไทยสู่ความล้าหลังและดำรงอภิสิทธิ์ชนไว้ในสังคมมากว่านำสู่ความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นประชาธิปไตย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท